ชีวิตที่พอเพียง : 120. เรียนรู้จากท่านอาจารย์โพธิ์


        ท่านอาจารย์โพธิ์ คือท่านเจ้าคุณพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกข์อันทรงชื่อเสียงนั่นเอง      ผมได้กราบท่านเมื่อวันที่ ๓๐ สค. ๔๙ ในงานสวนโมกข์เสวนาสัญจร ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ที่ ศ. ดร. โดนัลด์ สแวร์เร่อร์  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาศาสนาโลก ( Center for the Study of World Religions ) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา มาปาฐกถานำ   หัวข้อ   " พุทธศาสนากับการท้าทายของโลกสมัยใหม่ "     การพบครั้งนี้ทำให้ผมคิดว่าควรจะได้เล่าไว้ว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากท่านบ้าง

       ท่านเป็นคนเกาะสมุย  เรียนจบ ป. ๔ แต่เทศเป็นภาษาอังกฤษได้     โดยเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง  ฟังข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาอังกฤษทุกวัน     ท่านพุทธทาสชวนมาช่วยงานที่สวนโมกข์หลังจากท่านบวชแล้ว     โดยให้มาช่วยงานก่อสร้างเป็นงานหลัก  เมื่องานก่อสร้างเสร็จ ท่านก็กลับไปเกาะสมุยดังเดิม     ต่อมาท่านพุทธทาสก็ให้คนไปตามให้มาอยู่ที่สวนโมกข์ด้วยกัน     และต่อมาท่านพุทธทาสตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลแทนท่าน     ซึ่งช่วงแรกท่านพุทธทาสยังอยู่ ความเป็นประมุขสงฆ์ก็ยังอยู่ที่ท่านพุทธทาส      แต่เมื่อท่านพุทธทาสสิ้น     ท่านอาจารย์โพธิ์ก็ลำบาก     เพราะการปกครองพระในสวนโมกข์สมัยนั้นไม่ง่าย   

       มีคนกล่าวในช่วงนั้นว่า พระที่สวนโมกข์มีความเป็นตัวตนสูง     ทั้งๆ ที่ท่านพุทธทาสสอนให้ละ "ตัวกู ของกู"     ผมจึงได้เรียนรู้ความอดทน ความรอบคอบระมัดระวังของท่าน     ท่านตามคนไปปรึกษาเสมอ คนที่ไปบ่อยมากคือ อ. หมอประเวศ      สำหรับหมอบัญชานั้นไปเป็นประจำอยู่แล้ว     และคุณเมตตาก็ประจำอยู่ที่ธรรมทานมูลนิธิ     ผมไปนานๆ ครั้ง แต่ก็ได้ซึมซับความดีของท่าน

       ความดีและความสามารถของท่านเห็นได้จากกิจกรรมของสวนโมกข์ในปัจจุบันไม่ได้หย่อนไปจากสมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่      กลับจะคึกคักกว่าและเป็นระบบกว่าด้วยซ้ำ     ขาดก็แต่เพียงไม่มีคำสอนใหม่ๆ หลั่งไหลออกมาจากท่านพุทธทาสเท่านั้น  
       นอกจากรักษาและสืบเนื่องสวนโมกข์ ท่านอาจารย์โพธิ์ยังได้ไปสร้างสถานปฏิบัติธรรมที่เกาะสมุยบ้านเกิดของท่านด้วย   

       ในการขึ้นมากรุงเทพในงานสวนโมกข์เสวนาสัญจรครั้งนี้ ท่านได้เป็นผู้กล่าวเปิดและปิดการเสวนา    ผมติดใจคำกล่าวปิดของท่านว่า     ในช่วงต้นๆ ที่ท่านมาอยู่สวนโมกข์ ท่านพุทธทาสสอนเรื่อง "ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ซ้ำอยู่เป็นประจำ     เป็นคำที่การเสวนาในวันนั้นไม่ได้พูดถึง   ผมติดใจมาก  แม้ธรรมะก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  

วิจารณ์ พานิช
๓๑ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 52097เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2006 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
   ได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านอาจารย์โพธิ์เหมือนกันครับ รู้จักท่านมานาน แต่ช่วงปี 2531 ตอนที่บวชเรียน และทำหน้าที่ประธานรุ่นพระนวกะ ที่สวนโมกข์ ก็ได้ไกล้ชิดท่านมากขึ้น .. ท่านหนักแน่นและคงเส้นคงวามาก ผมเคยขอเอกสารหลักฐานเก่าๆสมัยท่านอยู่เกาะสมุย มาใช้ประกอบการเขียนเรื่อง สวนโมกข์กับชาวต่างประเทศ .. ท่านก็เมตตาช่วยค้นช่วยหาจนได้ของมีค่าและนำมาใช้ได้อย่างดี .. คำพูดของท่านบางทีก็สะกิดใจจนเราต้องไปแต่งเป็นกลอนไว้สอนตัวเองและผู้คนก็เคยมีครับ ดังเช่น บันทึกนี้ ของผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท