พหุมิติของการรู้หนังสือ


พหุมิติของการรู้หนังสือ


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

           

               

              องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) กล่าวถึงเป้าหมายของการพัฒนาพลเมืองโลกในทุกประเทศ ในด้านการรู้หนังสือ หรือการอ่านออกเขียนได้  (literacy) ว่า การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (lifelong learning)  และเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตของบุคคล (UNESCO, 2012: online) เป้าหมายดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการรู้หนังสือว่าเป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานที่ประชากรทุกคนในทุกประเทศจะต้องได้รับจากรัฐอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง  เพราะการรู้หนังสือคือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้บุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาให้นักเรียนเป็นผู้รู้หนังสือ โดยเฉพาะครูและคณาจารย์ผู้สอนภาษา  จึงต้องตระหนัก  ถึงคุณค่าที่แท้จริงของการรู้หนังสือ ในฐานะสิทธิของมนุษย์ข้อนี้ด้วย  

              การรู้หนังสือ หรือการอ่านออกเขียนได้  โดยความหมายทั่วไป การที่บุคคลสามารถที่จะอ่านและเขียนหนังสือได้ การอ่านในที่นี้ เป็นกระบวนการทางปัญญาในการรับรู้เรื่องเสียงและอักษร คือ รู้ว่าอักษรแต่ละตัวแทนเสียงใด และจะประกอบอักษรต่าง ๆ อย่างไร  ให้สื่อแทนเสียงต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ การอ่านยังรวมถึงการรับทราบความหมายของคำอีกด้วย ส่วนการเขียนนั้น โดยทั่วไปหมายถึงความสามารถในการสะกดคำ  และเรียบเรียงคำให้เป็นประโยคหรือข้อความเพื่อสื่อสารได้  จากที่กล่าวมานี้ การสอนให้รู้หนังสือ ก็คือ  การสอนทักษะการสื่อสารในด้านของการรับสาร (อ่าน) และด้านการส่งสาร (เขียน) นั่นเอง โดยเฉพาะในด้านการอ่านนั้น เป็นทักษะที่สำคัญที่จะทำให้บุคคลพัฒนาตนเอง อันเนื่องมาจากผลของการอ่านที่จะทำให้เกิด  โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กว้างไกลและลึกซึ้งยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ว่าการรู้หนังสือ คือ การอ่านออกเขียนได้นั้น ดูเหมือนกับว่าเป็นการพิจารณาการรู้หนังสือในมิติของผลผลิตในระบบการศึกษาและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงชีวิตในวัยเรียนเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การรู้หนังสือเป็นศักยภาพของมนุษย์ในแทบจะทุกมิติ   

                มุมมองที่มีต่อบทบาทของการรู้หนังสือนั้น ย่อมเป็น “พหุมิติ” (multidimensional)  หรือมีมุมมองได้หลากหลาย ไม่จำกัดไว้แต่เฉพาะบทบาทในด้านการศึกษาเล่าเรียนในระดับขั้นพื้นฐานเท่านั้น  การรู้หนังสือจึงมีบทบาทเป็นทั้งเครื่องมือในการดำเนินชีวิตประจำวัน กระทั่งไปถึงบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังที่ Rassool (2009, 7-8)  ได้อธิบายมิติต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้พิจารณาการรู้หนังสือ ซึ่งทำให้สามารถจำแนกบทบาทของการรู้หนังสือได้หลากหลายมุมมองมากยิ่งขึ้น มิติดังกล่าว ได้แก่ 

                 1.  มิติเชิงสังคม  บุคคลเมื่อรู้หนังสือ สามารถอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่น ๆ ที่นำเสนอข้อมูลในรูปแบบตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพหรือแผนภาพที่สื่อความหมายได้ และสามารถที่จะเขียนสื่อความในลักษณะต่าง ๆ ได้ ย่อมสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติสุข สามารถที่จะใช้ข้อมูลจากการอ่าน หรือ   การสื่อสารด้วยการเขียนในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต หรืออำนวยความสะดวกในการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยทางสังคม เช่น การรู้หนังสือ ทำให้สามารถอ่านข้อความในหนังสือหรือวารสารประเภทต่าง ๆ และทำให้บุคคลเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่รับข้อมูลจากสื่อประเภทเดียวกัน 

                 2.  มิติเชิงเศรษฐกิจ  กิจกรรมในด้านการลงทุน การค้า หรือเป็นกลไกที่มีพลานุภาพยิ่ง ในการขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าในทุกสังคม  การรู้หนังสือเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในรูปแบบของการเพิ่มมูลค่าให้แก่ต้นทุน ซึ่งในที่นี้คือทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องมากจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าหรือได้รับการรับรองว่ามีราคาสูง ย่อมมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าว ย่อมมาจากการรู้หนังสือในสาขาวิชาเฉพาะนั้น ๆ นอกจากนี้ หากเป็นทรัพยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถที่จะสื่อสารกับผู้อื่น เช่น การเจรจา ประชาสัมพันธ์  การขาย ฯลฯ ได้ด้วยแล้ว  ก็ย่อมจะเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น  ที่กล่าวมานี้  จะเห็น  ได้ว่า  มาจากพื้นฐานจากการรู้หนังสือทั้งสิ้น การรู้หนังสือในประชากรของสังคมหนึ่ง จึงมิใช่ตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังบ่งบอกได้ถึงระดับเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของสังคมนั้น ๆ ได้อีกด้วย  

                   3.  มิติเชิงการเมือง  การเมืองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจของบุคคลต่อบุคคล ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปกครองและอีกฝ่ายเป็นผู้ถูกปกครอง  การรู้หนังสือเป็นสิ่งที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานอำนาจดังกล่าวได้ จะเห็นได้ว่าแต่โบราณมา กลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ ย่อมตกเป็นผู้ใต้ปกครองของกลุ่มผู้รู้หนังสือ  เพราะผู้รู้หนังสือจะใช้ความรู้ในเชิงหนังสือนั้นเอง ในการสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับทางสังคมขึ้นมา เพื่อจัดการให้ผู้ไม่รู้หนังสือปฏิบัติตาม  โดยหวังว่าจะควบคุมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย   กล่าวอีกนัยหนึ่ง การรู้หนังสือได้กลายเป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคลแต่ละเข้าคนถูกกำหนดให้เข้าไปอยู่ ณ ส่วน  ต่าง ๆ ของสังคม  ซึ่งก็จะส่งผลให้แต่ละบุคคลมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปด้วย การเสริมสร้างอำนาจให้แก่ประชาชนและการจัดการสังคม จึงต้องคำนึงถึงการรู้หนังสือของประชากรดังที่กล่าวมา ในขณะเดียวกัน การจัดการสังคมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จำเป็นจะต้องพัฒนาสมาชิกสังคมให้รู้หนังสือ เพื่อให้สามารถที่จะเข้าใจกฎ ระเบียบและปฏิบัติตามแบบแผนที่มีผู้กำหนดไว้ หรือปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เหล่านั้นได้ตามแต่จะเห็นสมควร

                   4.  มิติเชิงอุดมคติ   อุดมคติ อุดมการณ์หรือความเชื่อ เป็นเป้าหมาย และเป็นวิธีคิดที่แต่ละบุคคลมีต่อตนเองและสิ่งอื่น ๆ บุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีแตกต่างหลากหลายออกไป การรู้หนังสือมีบทบาทในฐานะสิ่งที่จะทำให้บุคคลเรียนรู้และเข้าถึงอุดมการณ์ ความคิดและความเชื่อเหล่านี้ได้ รวมถึงมีบทบาทในการถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่นในรุ่นต่อไป และนอกจากบทบาทในการช่วยให้เข้าถึงและถ่ายทอดแล้ว ยังมีบทบาทในการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ เหมาะแก่ยุคสมัยและศาสตร์อื่น ๆ ที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าอุดมคติบางอย่าง ความเชื่อบางประการโดนลบล้างไป จากการที่ผู้ศรัทธาหรือผู้เชื่อถือได้รับความรู้ใหม่มากยิ่งขึ้น ผ่านการอ่านหรือการเขียนสื่อสารกับผู้อื่น  การธำรงไว้และการพัฒนาซึ่งอุดมการณ์ แนวคิดและความเชื่อ จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ก็ต่อเมื่อบุคคลรู้หนังสือ และใช้ความรู้ทางหนังสือนี้ในการสร้างเสริมปัญญาความคิดของตนเอง

                   จากที่ได้กล่าวมา เมื่อพิจารณาการรู้หนังสือในมิติต่าง ๆ แล้ว การรู้หนังสือจึงมิได้มีบทบาทเฉพาะในการศึกษาวิชาความรู้ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีขอบเขตขยายมาถึงการจัดความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม รวมถึงการสร้างโอกาสและการสืบทอดอุดมการณ์อันหลากหลายอีกด้วย  เมื่อคิดในทางตรงกันข้าม ก็ในเมื่อ  การรู้หนังสือนั้นมีอยู่ในหลายมิติ การเรียนรู้และการพัฒนาการรู้หนังสือจึงน่าจะสามารถพัฒนาไปพร้อมกับมิติต่าง ๆ ดังกล่าวได้ด้วย ไม่ควรแยกหรือจำกัดไว้แต่ในมิติของการศึกษาเท่านั้น นอกห้องเรียน มิติในด้านสังคม วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจ จะต้องส่งเสริมและแสดงให้กับนักเรียนหรือเยาวชนว่า การรู้หนังสือจะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในแต่ละมิติได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ใช้ภาษาทั้งการอ่านและเขียน เพื่อพัฒนาตนเองให้สูงสุดในแต่ละมิตินั้น คำถามดังกล่าวนี้  ย่อมถือว่าเป็นประเด็นคำถามที่ท้าทาย  นักการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการรู้หนังสือของเยาวชนปัจจุบันเป็น  อย่างยิ่ง   

__________________________________________________



หมายเลขบันทึก: 520268เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท