ความฉลาดทางอารมณ์กับพุทธศาสนาสู่การพัฒนาคนและองค์การ


                            ความฉลาดทางอารมณ์กับพุทธศาสนาสู่การพัฒนาคนและองค์การ

                                                                                                                                        โกศล  สนิทวงษ์

                                                                             บทนำ

ความฉลาดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างมุ่งแสวงหาโดยให้ความสำคัญกับความฉลาดทางด้านสติปัญญามากกว่าความฉลาดด้านอื่นๆโดยแท้ที่จริงแล้วความฉลาดของมนุษย์นั้นไม่ใช่แค่มีความสำคัญเฉพาะด้านสติปัญญาเท่านั้นหากแต่ความฉลาดยังมีอยู่หลายประเภทอันได้แก่ความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence – EI)
ความฉลาดทางด้านสังคม (SocialIntelligence—SI) ความฉลาดทางด้านคุณธรรมหรือจริยธรรม(Moral
Intelligence—MI) เป็นต้นซึ่งความฉลาดตามที่กล่าวมาล้วนเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้มนุษย์มีความฉลาดอย่างสมบูรณ์และเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์และองค์การประสบความสำเร็จได้สำหรับแนวคิดทางด้านตะวันตกที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ได้มีGoleman (1995)ได้ให้ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ว่าเป็นความฉลาดที่สำคัญที่สุดที่เป็นปัจจัยผลักดันให้มนุษย์สามารถจัดการกับตนเองและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชาญฉลาดและส่งผลทำให้องค์การประสบความสำเร็จในอีกด้านหนึ่งกล่าวคือแนวคิดทางด้านตะวันออกโดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสนามีผู้ที่ได้กล่าวให้ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ไว้หลายท่านเช่นพระเทพโสภณ
(ประยูร ธัมมจิตโต) (2544) ได้ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์ว่าเป็นการใช้ปัญญากำกับการแสดงอารมณ์ที่ออกมาอย่างมีเหตุผลด้วยเหตุนี้หากเรานำเอาแนวคิดของความฉลาดทางด้านอารมณ์ทั้งแนวคิดด้านตะวันตกและตะวันออกมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้อย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้ผลการปฏิบัติงานของตนเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและส่งผลทำให้องค์การกลายเป็นองค์การที่มีสมรรถนะสูง(High Performance Organization—HPO) ในสังคมยุคฐานความรู้สู่เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของความฉลาดทางอารมณ์

ในปี ค.ศ. 1920 Throndike ได้กล่าวถึงสติปัญญาทางสังคม(Social Intelligence)ว่าเป็นความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นมีความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมแต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับการศึกษาด้านสติปัญญาและแบบทดสอบทางสติปัญญาต่อมาในปีค.ศ. 1970 Mintzberg ได้ชี้ให้เห็นว่าสมองซีกซ้ายและซีกขวามีบทบาทในการจัดการต่างกันโดยเน้นว่าผู้บริหารควรใช้สมองซีกขวาซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจการติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนการจัดสรรทรัพยากรต่างๆและใช้สมองซีกซ้ายในการวางแผนวิเคราะห์ข้อมูล ต่อมาในปี ค.ศ.
1990 Mayer andSalovey (1993) ได้บัญญัติคำว่า“ความฉลาดทางอารมณ์”ขึ้นเป็นครั้งแรกและได้สรุปว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นเรื่องของทักษะในการปรับตน3 ประการ คือขั้นรู้ตน, ควบคุมอารมณ์และเชาวน์อารมณ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1997 ได้ปรับปรุงแนวคิดต่างๆซึ่งช่วยให้เป็นพื้นฐานในการศึกษาของนักจิตวิทยารุ่นต่อมา ความฉลาดทางอารมณ์เริ่มเป็นที่รู้จักอีกครั้งในปี ค.ศ. 1995 นักจิตวิทยาชื่อ DanielGoleman  ได้สานแนวคิดนี้ต่อโดยเขียนหนังสือชื่อ“EmotionalIntelligence : Why It can Matter More Than IQ”  และนิตยสารไทม์ได้ตีพิมพ์บทความเรื่ององค์ประกอบของอีคิว(The EQ Factor) ซึ่งทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก สำหรับประเทศไทยความสำคัญเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ได้รับความสนใจจากทางนักวิชาการนักการศึกษาและนักจิตวิทยาหลายคนและมีการจัดตั้งชมรมอีคิวขึ้นที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทั้งนี้ความฉลาดทางอารมณ์ในทรรศนะของGolemanมีหลายส่วนคล้ายคลึงกับปรัชญาตะวันออกมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ว่ามีลักษณะคล้ายกับ “สติ”ในพุทธศาสนาโดยมีนักวิชาการบางท่านเรียก EQ ว่า “สติอารมณ์”

ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์         

ความฉลาดทางอารมณ์นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้จำนวนมากทั้งนักวิชาการในไทยและต่างประเทศซึ่งให้ความหมายที่ใกล้เคียงกันดังนี้

Mayer,J. and Salovey,
P. (1993) ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า“เป็นรูปแบบหนึ่งของความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นสามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ข้อมูลนี้ในการคิดและกระทำสิ่งต่างๆ”

DanielGoleman (1995) ได้ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า“เป็นความสามารถหลายด้านอันได้แก่การเร่งเร้าตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายมีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง
รอคอยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆและมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง

พระเทพโสภณ (ประยูร ธัมมจิตโต) (2544) ให้ความหมายว่าการใช้ปัญญากำกับการแสดงอารมณ์ที่ออกมาอย่างมีเหตุผล

วีรวัฒน์ ปันนิตามัย (2544)กล่าวไว้ว่า EQ
คือความรู้เท่าทันท่วงทีและความเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ของตนเองและของผู้อื่นที่สามารถประเมินเป็นช่วงค่าตัวเลขได้

ทฤษฎีที่เกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์

                ทฤษฎีอารมณ์ (Emotion Theory)กล่าวว่า อารมณ์หมายถึงสภาวะความหวั่นไหวของร่างกายเป็นความรู้สึกที่รุนแรงทำให้จิตใจปั่นป่วนและแสดงพฤติกรรมออกมาไม่เป็นปกติพฤติกรรมที่แสดงออกมักรุนแรงกว่าธรรมดาและมักควบคู่ไปกับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ นักจิตวิทยาพยายามตั้งทฤษฎีต่างๆขึ้นมาเพื่ออธิบายเรื่องของอารมณ์ว่าคืออะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยมี ทฤษฎีดังนี้

ทฤษฎีอารมณ์ของเจมส์-เลนจ์ (James-Lange Theory)
มีแนวคิดตรงข้ามกับแนวคิดสมัยก่อนที่ว่าสามัญสำนึกเป็นตัวบอกว่าเมื่อเราร้องไห้เพราะเราเศร้าโศกวิ่งหนีเพราะความกลัวแต่อารมณ์เกิดขึ้นโดยลักษณะดังนี้คือแรงกระตุ้นประสาทรับรู้ต่างที่ออกมาจากจุดสัมผัสและจากส่วนต่างๆของร่างกายไปยังสมองข่าวสารจากประสาทรับรู้นี้เกิดจากร่างกายที่เตรียมพร้อมดังนั้นอารมณ์เกิดขึ้นเพราะเหตุดังกล่าวเราไม่ได้ร้องไห้เพราะความเศร้าโศกแต่เรารู้สึกโศกเศร้าเพราะเรากำลังร้องไห้แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทำให้เราเกิดอารมณ์เป็นผลเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงLange ได้สนับสนุนแนวคิดนี้จนเป็นที่ยอมรับซึ่งมีใจความสำคัญตรงกันโดยเน้นว่าอารมณ์ของคนเราเกดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งเร้าอารมณ์หลังจากนั้นร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดพลังประสาทรายงานการเปลี่ยนแปลงไปยังสมองทำให้เกิดอารมณ์ฃ

         ทฤษฎีรับรู้ของอารมณ์ (Cognitive Theory)กล่าวว่าอารมณ์คือการแปรความเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกภายในที่บอกคุณภาพและลักษณะออกมาความรู้สึกภายในเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดจากปฏิกิริยาทางสมองโดยเฉพาะส่วนของHypothalamus และ Limbic System โดยทำหน้าที่ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความรู้สึกในจิตใจซึ่งความรู้สึกในจิตใจนี้ไม่ใช่ระดับความเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์แต่ความรู้สึกส่วนมากเกิดจากอารมณ์กระตุ้นภายนอกเมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ประสาทรู้สึกเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในมากขึ้น

องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

Wagner and Sternbergได้สรุปลักษณะของคนที่ความฉลาดทางอารมณ์สูงตลอดจนพฤติกรรมที่เอื้อต่อความสำเร็จในวิชาชีพในการบริหารและชีวิตสามารถแบ่งได้3 ประเภทคือ    

การครองตน (Managing Self) หมายถึงความสามารถในการบริหารจัดการตนเองในแต่ละวันให้บรรลุเป้าหมายได้สูงสุดเช่น การจัดลำดับของกิจกรรมที่ต้องทำการกระตุ้นชี้นำตนเองให้มุ่งสู่ผลสำเร็จ การสร้างแรงจูงใจที่ดีให้แก่ตนเองกล้าเสี่ยงไม่ท้อถอย รู้ขีดความสามารถและศักยภาพของตนเองดีโดยนักวิชาการหลายท่านมักเรียกข้อนี้ว่า
“มีความเข้าใจในตนเอง”

การครองตน (Managing others) หมายถึงทักษะความรู้ในการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาและความสัมพันธ์ทางสังคมความสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ มอบหมายงานให้ตรงกับทักษะ ความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติแต่ละคนให้รางวัลตามผลงานที่ปฏิบัติโดยนักวิชาการหลายท่านเรียกข้อนี้ว่า“มีความเข้าใจผู้อื่น”

การครองงาน (Managing career) หมายถึงการจัดความสำคัญความจำเป็นของตนให้สอดคล้องกับสิ่งที่องค์การให้ความสำคัญโน้มน้าวผู้ที่เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญเห็นดีเห็นงามด้วยซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบที่ดีแก่สังคม
องค์การ ตลอดจนประเทศชาติ

HowardGardner เขียนหนังสือชื่อ“Frames of Mindin 1983” โดยกล่าวถึงความฉลาดทั้ง7 ประการคือ

1) ภาษาศาสตร์

2) ตรรกวิทยา –คณิตศาสตร

3) ดนตรี

4) จลศาสตร์ทางร่างกาย

5) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

6) ความสัมพันธ์ของบุคคล

7) จิตวิญญาณ

ความฉลาดในข้อที่5) และ 6) ต่อมาถูกรวมเข้าด้วยกันและเรียกว่า“Emotional Intelligence”

DanielGoleman ยังได้อ้างถึงงานวิจัยที่Bell Lab ซึ่งทำการพิจารณาถึงผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานโดดเด่นและพยายามกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการทำงานปกติซึ่งผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีจะมีทักษะความสัมพันธ์และเครือข่ายระหว่างบุคคลที่ดีกว่าผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานปกติต่อมา
Richard Boyatzis ได้มาทำการศึกษาโดยได้รวมทักษะหรือความฉลาดของคนไว้เป็น4 กลุ่มใหญ่ซึ่งแสดงให้เห็นได้ตามตารางด้านล่างนี้ (Boyatzis, 1982)

ความฉลาดทางอารมณ์กับพระพุทธศาสนา

ความฉลาดทางอารมณ์ในพระพุทธศาสนามีฐานอยู่ที่สติทำให้รู้จักตนเองตรวจสอบตนเองควบคุมตนเองและสามารถที่จะพัฒนาคุณสมบัติของจิตที่เป็นฝ่ายกุศลให้ออกมาปฏิบัติการได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆดังนั้นอกุศลเจตสิกฝ่ายไม่ดีทั้งหลายจะต้องมีสติกำกับจึงจะแสดงออกได้อย่างเหมาะสมและเมื่อมีสติกำกับจึงทำให้เกิดความรู้คือปัญญาเพราะสติเป็นตัวเก็บข้อมูลตัวเองความถูกต้องสิ่งที่เกิดขึ้นในใจทั้งหมดเหมือนกับการสร้างกระจกส่องใจสติจะเป็นกระจกส่องใจแล้วก็รู้ว่าจะจัดการกับภาวะของจิตอย่างไรความรู้ในการจัดการกับตัวเองนั้นเป็นปัญญา สามารถเลือกตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมดังนั้นจึงควรจะพัฒนาปัญญาให้มากเพื่อสร้างความสมดุลของบุคลิกภาพในการแสดงออกเพราะสติและปัญญาเป็นตัวกำกับควบคุมสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลให้อยู่ในภาวะที่พอดี

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) อ้างในกรมสุขภาพจิต,2543)
ได้ให้ทัศนะว่าในการศึกษาหรือพัฒนามนุษย์นั้นมิใช่พัฒนาแต่ปัญญาเพียงอย่างเดียวแต่มีองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิต 3 ด้านประสานหรือบูรณาการกัน โดยเป็นปัจจัยแก่กันส่งเสริมกันคือพฤติกรรม  จิตใจและปัญญาหรือพูดด้วยคำศัพท์ในพระพุทธศาสนาว่า ศีลสมาธิ ปัญญาเมื่อดูเฉพาะด้านจิตใจให้มีความฉลาดทางอารมณ์ต้องมีการพัฒนาทั้งด้านพฤติกรรม (ศีล)จิตใจ (สมาธิ) และปัญญาครอบทั้ง 3 ด้านโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างปัญญากับอารมณ์ อารมณ์ในที่นี้ก็คือสภาพจิตนั่นเองเน้นบทบาทของปัญญาในการพัฒนาปรับสภาพจิตใจ ซึ่งปัญญาในพุทธศาสนามี 3 ขั้นดังที่พระเทพโสภณ (ประยูร ธัมมจิตโต) (2544) กล่าวเอาไว้คือ ขั้นที่หนึ่งสุตมยปัญญาเป็นปัญญา ที่เกิดจากการจดจำข้อมูล รับข้อมูล จัดระบบข้อมูลต่างๆ ในความคิดเป็นความรู้ขั้นจำอย่างเป็นระบบ
ขั้นที่สองคือจินตมยปัญญา เป็นความรู้ขั้นคิดวิเคราะห์ย่อยข้อมูลที่ได้จากขั้นที่หนึ่งขั้นที่สามคือภาวนามยปัญญา
เป็นความรู้เกี่ยวกับตนเอง ภายในตัวเองความรู้จักตัวเอง รู้จักที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเองความรู้อันนี้อาศัยการทำจิตให้สงบคืออาศัยสมาธิ ถ้าจิตไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์จิตก็จะผ่องใส สามารถเห็นความจริงทั้งภายในและภายนอกตัวเองสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ดังนั้นหากพูดถึงปัญญา EQ และ IQ ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็เปรียบได้ว่า IQ เป็นปัญญาขั้นที่หนึ่ง ส่วน EQ เป็นปัญญาขั้นที่สาม

ความฉลาดทางอารมณ์กับการพัฒนาตนเอง

เทคนิคการพัฒนา Emotional Intelligence สำหรับตนเอง มีขั้นตอนดำเนินการได้ดังนี้คือ

1. การรู้ความเป็นไปได้ของตนรวมทั้งความพร้อมในด้านต่าง ๆ รู้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย รู้เท่าทันอารมณ์
รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ รู้ว่าผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร และประเมินความสามารถตนเองได้ตามความเป็นจริง และนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม

2. มีความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกของตนเองเช่น จัดการกับความโกรธ ความไม่พอใจได้
โดยสามารถควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ จากการสามารถรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดจนปรับตัวต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกับตนเองได้

3. รู้จักสร้างกำลังใจให้ตนเองเพื่อให้เกิดความพยายามในการก้าวสู่เป้าหมายในชีวิต  โดยมีความตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่รับผิดชอบเมื่อพบปัญหาก็มีระบบคิดที่ถูกต้องเหมาะสมรู้จักมองโลกในแง่ดี และพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไขจนถึงที่สุด

เทคนิคการพัฒนา Emotional Intelligence ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นมีขั้นตอนดังนี้

1. มีความเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของอารมณ์ว่าบุคคลแต่ละคนมีความรู้สึกและอารมณ์พื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างจากของตนเองอันส่งผลให้มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปแต่ละคนจะมีอารมณ์และความรู้สึกที่ผันแปรแตกต่างกันไปยากที่จะนำความรู้สึกดี-ชั่วของตัวเราเองไปตัดสินได้ การตัดสินความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสถานการณ์เหตุผล วัย ปัจจัยทางสังคม และการกำหนดทางวัฒนธรรม

2. รับฟังโดยทำความเข้าใจและให้เกียรติผู้อื่นโดยการยอมรับและเข้าใจในสภาวะที่บคคลอื่นแสดงออก
ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจความมั่นใจอันนำผลให้เกิดการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลต่อ คุณภาพและผลผลิตที่บุคคลมีส่วนต่อองค์กรการปฏิเสธที่จะรับฟังหรือทำความเข้าใจกับภาวะอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่นเป็นการทำลายระดับความมั่นใจในตนเองในการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การเกิดความฉลาดทางอารมณ์

3. การแก้ไขความขัดแย้งบางครั้งการใช้เพียงเหตุผลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึกได้ควรยอมรับความรู้สึกโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาการแสดงออก
ผู้มีความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่าจะไม่ใช้วิธีการที่บั่นทอนความรู้สึกของคนอื่นแต่ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ได้ดีจะช่วยทั้งความรู้สึกของตัวเองและช่วยให้อีกฝ่ายสงบลงได้การที่บุคคลแสดงภาวะอารมณ์ออกในทางลบ แสดงให้เห็นว่าความต้องการทางอารมณ์ยังไม่ได้รับการตอบสนองยังมีความตึงเครียดในจิตใจ ผู้บริหาร
เพื่อนร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจภาวะอารมณ์ของตนเพื่อเข้าใจภาวะอารมณ์ของผู้อื่น เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงอารมณ์ ความรู้สึก โดยรับฟังด้วยความเข้าใจเห็นใจและยอมรับภาวะอารมณ์ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับตนเองและเพิ่มความมั่นคงทางจิตใจส่งผลต่อการพัฒนาทางความคิด การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพิ่มขวัญกำลังใจ ก่อให้เกิดความร่วมมือให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปฏิบัติงาน

4. ในกรณีที่บุคคลแสดงภาวะอารมณ์ทางลบในระดับที่รุนแรงในลักษณะคาดการณ์พฤติกรรมไม่ได้หรือไม่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้เลยพูดมากเกินปกติเปลี่ยนหัวข้อพูดคุยรวดเร็วหงุดหงิดง่ายมีปฏิกิริยามากเกินไปต่อเหตุการณ์เล็กๆน้อยซึ่งผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานควรหามาตรการและทางบำบัดแก้ไขในกรณีของผู้ที่ไม่สามารถสื่อความรู้สึกและภาวะอารมณ์กับผู้อื่นได้ผู้บริหารอาจโยกย้ายไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากนักทำคนเดียวได้สำเร็จหาพนักงานที่กล้าแสดงออกมาเป็นเพื่อนชวนพูดคุยกระตุ้นให้เขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกความคิดเห็นโดยรู้สึกว่ามีคนยอมรับฟัง

ความฉลาดทางอารมณ์กับการพัฒนาองค์การ

มีหลายองค์การประสบปัญหาด้านความฉลาดทางอารมณ์ของบุคลากรเช่นเกิดความขัดแย้งเนื่องจากมีความยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวเป็นสำคัญไม่รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้อื่นโดยมองว่าผู้อื่นด้อยกว่าตัวเองจึงส่งผลให้ขาดการทำงานเป็นทีมสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานผู้บังคับบัญชาและระดับพนักงานซึ่งสร้างปัญหาความไม่วางใจกันซึ่งกันและกันในแต่ละองค์การมีการพัฒนาความลาดทางอารมณ์ของบุคลากรที่แตกต่างกันแต่ล้วนแต่มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานซึ่งการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้องค์การเกิดประโยชน์ดังนี้

การสื่อสารในองค์การ สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ถูกกาลเทศะผู้ส่งสารและผู้รับสารเข้าใจตรงกัน
เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นนอกจากนี้ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สามารถเป็นผู้ฟังที่ดี

การปฏิบัติงาน ช่วยเกื้อหนุนการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นการยอมรับความคิดริเริ่ม ก่อให้เกิดการสร้างผลผลิตที่สนองต่อเป้าหมายส่งเสริมการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพช่วยลดการลา การขาดงาน การย้ายงาน ที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลและช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กันให้มากขึ้นช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานให้น่าทำงานและส่งผลต่อผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง

การให้บริการ ทำให้การให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์การเกิดความพึงพอใจสร้างความจงรักภักดีให้กับลูกค้าในการใช้บริการและหน่วยงานตลอดจนภาพลักษณ์ขององค์การ

การบริหารจัดการช่วยส่งเสริมให้ผู้นำหรือผู้บริหารรู้จักใช้คนและครองใจคนได้สามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตนต้องการได้สำเร็จ ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพ คนก็มีความสุขเกิดความรักงาน รักองค์การและเกิดความผูกพันมากขึ้น


สรุป

ความฉลาดทางอารมณ์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญเพราะเป็นทักษะที่ทรัพยากรมนุษย์ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีหากทรัพยากรมนุษย์ในองค์การใดมีความฉลาดทางอารมณ์ควบคู่ไปกับความฉลาดทางด้านสติปัญญาและมีคุณธรรมกำกับจะทำให้องค์การนั้นๆได้เปรียบในการแข่งขัน(Competitive Advantage) ในโลกพื้นฐานความรู้ (Knowledgebased Societyและจะทำให้องค์การประสบความสำเร็จดังนั้นทั้งในระดับบุคคลและองค์การจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้กับบุคลากรของตนเองโดยนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้มีการจัดหลักสูตรพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือส่งเสริมกิจกรรมต่างๆตลอดจนพัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในองค์การเพื่อลดความขัดแย้งในการทำงานและสร้างการทำงานเป็นทีมและนำพาองค์การก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้เพราะความฉลาดทางอารมณ์เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการทำงานและจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการพัฒนาทั้งในระดับตนเองและองค์การ

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาองค์กร
หมายเลขบันทึก: 519926เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท