ใจกับกาย เบาสบาย


เราบำรุงกายเพื่อให้เป็นเรือนอยู่ เราบำรุงจิต บำรุงใจเพื่อสร้างกุศล ทั้งกายและใจรวมกันเป็นสะ พานให้เราสะสมบุุญบารมี ... เพื่อว่าวันหนึ่งที่กายกับใจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันให้เราเห็นจริง ๆ เราจะได้บรรลุถึงหน้าที่ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก่อนสละกายนี้ ใจนี้ไป

ขอใช้ช่วงเวลาที่เงียบสงบภายในท่ามกลางเสียงนกร้องให้จังหวะขับขานอยู่นอกบ้านเขียนบันทึกทบทวนตัวเองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา


กิจวัตรประจำวันที่ปรับเปลี่ยนไปจากปีก่อน ๆ ได้เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังเมื่อปลายปีที่แล้วนี้คือการออกกำลังกายเป็นประจำเกือบทุกวัน (เว้นวันที่เดินทางไปต่างจังหวัดและวันที่กลับบ้านดึก) และที่สำคัญคือสวดมนต์ภาวนา ไม่นับรวมการเดินทางไปไหว้พระตามวัดต่าง ๆ ที่มีบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากขึ้นอยู่กับช่วงโอกาสที่ออกไปทำกิจธุระนอกบ้าน



การออกกำลังกายช่วยให้ตัวเบาขึ้น กว่าจะเริ่มต้นรวบรวมจิตใจออกกำลังกายให้ได้เป็นประจำทุกครั้งที่อยู่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยปกติแล้วเป็นคนที่ชอบการนั่งเฉย ๆ อ่านหนังสือ ค้นคว้าและเขียนงานไปเรื่อย ๆ มากกว่า ซึ่งนักวิชาการ ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในออฟฟิสทั่วไป ก็มักจะมีบุคลิกลักษณะการทำงานเช่นนี้ แต่สุดท้ายแล้วกลับพบว่ามีโรคภัยมาเบียดเบียนได้ง่าย ทั้งที่งานสบายน่าจะดี แต่ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด 


นึกไปถึงสมัยคุณปู่ คุณย่าที่ชอบเข้าไปทำงานในสวน ในไร่ แม้ว่าอากาศจะร้อน ๆ แม้ว่าจะเหนื่อยเหงื่อไหลเต็มตัว แต่ทุกครั้งที่ท่านออกมาจากสวนพร้อมสับปะรด มะม่วง มะปราง กล้วยนานาชนิด กลับเห็นท่านมีความสุข    และมีพลังชีวิตมากมาย สุขภาพแข็งแรงอย่างมาก ขนาดอายุ ๗๐ กว่าปีก็ยังเดินเหินคล่องแคล่ว และกว่าท่าน  จะจากโลกใบนี้ไปก็ ๘๐ ปลาย ๆ จากไปเพราะความชรา มิใช่โรคภัยถามหา 


การออกกำลังกาย "Happy Body" จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ๆ พอ ๆ กับอากาศที่เราหายใจอยู่ทุกวันจริง ๆ รุ่นพี่ที่ทำงานหลายท่านยังไม่ทันเกษียณหรือเกษียณไปได้ไม่นานนักก็เป็นอันต้องจากโลกนี้ไปเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ได้อยู่ใช้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก้อนใหญ่หลังเกษียณทั้งที่ใช้เวลานานนับสามสิบสี่สิบปีในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ... นั่นเพราะการใส่ใจแต่เฉพาะการใช้สมองไปกับการทำงาน แต่ลืมบริหารร่างกาย


ข้าพเจ้ามีข้อแก้ตัวสาระพัดที่จะไม่ยอมออกกำลังกายในช่วงวัยรุ่น วัยสาว เพราะเอาเวลาไปหมกมุ่นกับการทำงานและการศึกษาต่อหลังเลิกงาน แต่มาวันนี้ วันที่เห็นตัวอย่างใกล้ตัว และมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าเราช้าเกินไปที่หันมาใส่ใจกับการออกกำลังกายอย่างจริงจัง แต่ก็คงไม่สายเกินไป...แรงผลักดันที่ทำให้เราหันมาใส่ใจกับตัวเองได้นั้นแต่ละคนฉุกคิดและก่อเกิดเป็นพลังงานผลักดันตัวเราไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ขอให้ระลึกไว้ว่าชีวิตคนเราประกอบด้วยความสมดุลย์สามส่วนคือ "กาย สมองและใจ" หากเราบกพร่องในการเติมเต็มส่วนใด จะทำให้ส่วนอื่นที่เหลือขาดพลังที่จะทำงานรับใช้ตัวเราต่อไป  



กิจวัตรอีกอย่างหนึ่งที่เกริ่นไว้ตอนแรกคือการสวดมนต์ภาวนา  "Happy Soul"  ทำให้ใจสงบ เบา คล่องแคล่วว่องไว สดใสเบิกบาน 



ในความเป็นจริง สวดมนต์หาได้แยกออกจากภาวนาไม่ แต่ก่อนถูกคนรู้ใจบังคับให้สวดมนต์ทุกคืนวันละ ๙ รอบ ซึ่งก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง มีข้ออ้างสาระพัดเช่นเดียวกับการออกกำลัง  แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ "ระลึกได้" ว่าถึงเวลาแล้วนะ ก็ได้กลับมาสวดมนต์ภาวนาอยู่เนือง ๆ อย่างเป็นปกติ เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารเลย ยามที่สวดมนต์จะเลือกช่วงเวลาที่ร่างกายสดใสเบิกบาน ไม่ได้เลือกช่วงที่ง่วงเหงาหาวนอนใกล้จะหลับ เราไม่จำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนที่จะล้มตัวลงนอนจริง ๆ  ซึ่งคงเป็นช่วงที่จิตไม่มีสมาธิแล้ว 


การสวดมนต์เป็นภาวนาทำให้จิตเป็นสมาธิ (ตั้งมั่น) จิตโน้มนำพิจารณาตามและนำไปสู่การปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน 



ธรรมโอวาทของ
พระญาณสิทธาจารย์
(หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่



 "ไม่ใช่สวดเล่นๆ สวดเปล่าๆ 
สวดให้เป็นศิริมงคลแก่ตนและหมู่คณะ 
บางแห่งท่านกล่าวไว้ว่า สวดมนต์ภาวนา
สวดมนต์ก็เป็นภาวนา ทำให้จิตตั้งมั่นได้
คือ เมื่อสวดไปจิตก็ตามไป
พิจารณาทำให้จิตสงบระงับไป"
"แม้บางครั้งบางอย่างเราจะไม่รู้ความหมายก็ตาม
แต่ในนั้นมันเป็นอุบายธรรม เป็นธรรมมงคล
เมื่อเราสวดไปไม่รู้ก็จะรู้ภายหลัง
เพราะอะไร ? ทุกอย่างถ้าสวด ถ้าว่า ถ้ากล่าวไปบ่อยๆ
ความเคยชิน ความชำนิชำนาญมันก็เกิดขึ้น
ถ้าเราอยากจะรู้จะเข้าใจก็มีในสวดมนต์แปล
สวดมนต์แปลนั้น เพิ่นแปลอธิบายไว้
ถ้าเราอ่านก็จดจำไปในนั้น ก็เป็นมงคล ฉะนั้น...มงคลอันนี้นั้นอยู่ที่เจริญ ไม่ใช่ว่ามงคลอยู่ที่ธรรม
มีตู้พระธรรมแล้วก็นั่งเฝ้าตู้พระธรรมอยู่ ไม่ไหว้พระสวดมนต์ ไม่ภาวนา ก็ได้ผลน้อยเต็มที"

คัดลอกเนื้อหาจาก
หนังสือละอองธรรม
สิงหาคม, ๒๕๕๕. หน้า๖๐-๖๖

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=43336



ขณะที่สวดมนต์ ยามที่ใจเราว่อกแว่กคิดโลดแลนไปนู้นนี่ เหมือนนักท่องเที่ยว นักผจญภัย เมื่อต้องอ่านเจอถ้อยคำภาษาบาลีที่อ่านยาก อ่านผิด จิตก็กลับมาจดจ่อที่ตัวหนังสือเช่นเดิม เป็นเช่นนี้ ทำให้เรามีความรู้สึกตัวอยู่บ่อย ๆ จิตหนีหายก็ดึงกลับ จิตแน่วแน่จมอยู่ภายในเกินไป ก็รู้ ทบทวนดูตัวเราไป ยามพบถ้อยคำที่ทำให้เห็นความจริง ก็เข้าใจนำไปปฏิบัติตาม สังเกตว่าบางอย่างไม่เคยทำได้ เพราะใจฟุ้งซ่าน ตั้งแต่สวดมนต์ก็เริ่มทำได้แล้ว  ที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ออกกำลังกายและสวดมนต์ภาวนา นอนหลับสบาย ไม่ฝันเลอะเทอะ ความฝันบางประเภทที่ไม่ใช่นิมิต มาจากความคิดฟุ้งซ่านยามตื่น



        ธรรมชาติที่งดงาม ยามที่เรามองเห็น น้อมจิตเบาสบายเช่นกัน


บันทึกนี้เขียนไว้เพื่อทบทวนตัวเอง "กายกับใจ" ณ วันนี้เหมือนอยู่ด้วยกัน แต่แท้จริงไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย  เราบำรุงกายเพื่อให้เป็นเรือนอยู่ เราบำรุงจิต บำรุงใจเพื่อสร้างกุศล ทั้งกายและใจรวมกันเป็นสะพานให้เราสะสมบุุญบารมี ... เพื่อว่าวันหนึ่งที่กายกับใจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันให้เราเห็นจริง ๆ เราจะได้บรรลุถึงหน้าที่ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก่อนสละกายนี้ ใจนี้ไป 


            

                                                         ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านค่ะ                                                                                        




หมายเลขบันทึก: 519827เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)



            


               เห็นพระประธาน ... จิตใจสบาย จังเลยนะคะ .... ขอบคุณค่ะ 

ขอบคุณบันทึกแห่งความสงบสุขค่ะ

ว้า .. อยากทำให้ได้นะคะ .. ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง  จะพยายามค่ะ

วันนี้นอนสมาธิถึงเที่ยงวันด้วยใจเป็นสุขค่ะ .. เพราะไร้สายรบกวนค่ะ

เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตจังครับอาจารย์...หลายหนผมเอา "อาหารเสริม" มาแทน "อาหารหลัก"...ต้องพยายามนะครับ...ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์    Sila    

ขอบคุณที่ได้มาอ่านแล้ว  เบาสบาย เลยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์เปิ้ลที่แวะมาเยี่ยมบ่อย ๆ ค่ะ 

ขอบคุณคุณ Kunrapee ค่ะ Happy Ba ช่วงวันหยุดค่ะ 

ขอบคุณคุณ Bright Lily ค่ะ ฝากรอยไว้ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในความเพียร ทำให้ผู้ที่ผ่านมาอ่านได้เกิดความเพียรไปด้วยค่ะ 

คุณหมอทิมดาบ สามารถแยกระหว่างอาหารหลักกับอาหารเสริม มิธรรมดแล้วค่ะ หลายคนมองไม่เห็นอาหารหลักเลย ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาจุดประกายความต่างของสองอย่างนี้ค่ะ 

คุณครูทิพย์ เบาสบาย เป็นความรู้สึกที่ปิติ แม้เพียงได้อ่าน หากปฏิบัติด้วย ยิ่งรู้สึกสบายใจ ไร้ห่วงกังวลค่ะ 


สวัสดีท้ายวันสงกรานต์จ้ะอาจารย์ศิลา

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ
ใจกายเย็นสบายเป็นเรื่องน่ายินดีค่ะ


มาพบบันทึกในวันหยุดสบายๆ ดีจัง ได้อ่านด้วยใจที่ฟุ้งซ่านน้อยลง ตั้งใจฝึกเดินเจริญสติทุกวันคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท