ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 34


- สรรพนาม บุรุษที่ 1 (อหมฺ)

- กริยาย่อย (กฺฤต) คุณศัพท์

- ข้อสังเกตอื่นๆ

1. สรรพนาม บุรุษที่ 1

เรา เรียนมานาน แต่ยังไม่ได้ใช้สรรพนามจริงๆ จังๆ บทนี้จะได้เรียนสรรพนามเสียที เริ่มที่สรรพนาม บุรุษที่ 1 ก่้อน คำตั้งก็คือ อหมฺ (บาลีว่า อหัง, มยัง) แจกเอกพจน์ ทวิพจน์ พหูพจน์ เรื่อยไปตามการก ยกเว้นอาลปนะ ไม่แจก เพราะไม่มีการเรียกตัวเอง  (ฮินดี หมฺ ว่า เรา เป็นพหูพจน์)

ดูการแจกรูปสรรพนาม บุรุษที่ 1

...

  एकः

द्वौ

बहवः

प्रथमा

  अहम्

   आवाम्

  वयम्

द्वितीया

  माम् | मा

   नौ| आवाम्

  नः | अस्मान्

तृतीया

  मया

  आवाभ्याम्

  अस्माभिः

चतुर्थी

  मे | मह्यम्

   नौ| आवाभ्याम्

  नः | अस्मभ्यम्

पञ्चमी

  मत्तः | मत्

   आवाभ्याम्

  अस्मत्तः | अस्मत्

षष्ठी

  मे | मम

   नौ| आवयोः

  नः | अस्माकम्

सप्तमी

  मयि

   आवयोः

  अस्मासु

ถ้าสังเกตจะพบว่ามีเค้าหลายตัว ทั้ง ม, อสฺม อาว, น ทางที่ดี จำให้ได้ก็พอ เพราะสรรพนามใช้บ่อย แทบทุกการก ยกเว้นทวิพจน์ ใช้น้อยกว่า บทต่อไปค่อยเรียนสรรพนามบุรุษที่ 2 และ 3 ต่อไป

อนึ่ง, สรรพนามไม่กำหนดเพศ ทุกเพศใช้ได้เหมือนกัน

นสฺ อาจเปลี่ยนเป็น โน เมื่อสนธิ ระวังให้ดีั, เม มีอยู่สองการก อาจสับสน, และอย่าสับสนกับคำ มา ที่เป็นคำปฏิเสธ 

อหังการ (อหํการ) มาจากคำนี้ (อหมฺ+การ) คือ ความผยองในตัวฉันเอง ความรู้สึกถึงการเป็นตัวเอง 

มมการ (มม+การ) [ภาษาบาลีว่า มมังการ] คือ การถือว่าเป็นของเรา

2. กริยาย่อย 

กริยาย่อย ถ้าเรียกตามภาษาสันสกฤตก็ว่า กฺฤตฺ कृत  คือ การนำธาตุมาเติมปัจจัยชนิดกฤตฺ เพื่อให้ได้ความหมายเป็นคุณศัพท์ที่แสดงกริยา ซึ่งสอดคล้องกับกาลต่างๆ โดยนำไปแจกรูปได้เหมือนนาม คล้ายกับ participle ในภาษาอังกฤษ

บทนี้จะไม่ลงรายละเอียด แต่ให้ภาพรวมไว้ก่อน ดังนี้

โดยทั่วไป ปัจจัยที่เติมก็คือ อนฺตฺ अन्त् (รูปอ่อนคือ อตฺ अत्) สำหรับปรัสไมบท, และ อาน आन สำหรับอาตมเนบท

แต่กริยาในกาลที่มีเค้าลงท้ายด้วยอะ ในปรัสไมบท เมื่อเติมแล้ว อะ ตัวหนึ่งจะหายไป (เป็น อนฺตฺ ไม่สนธิเป็น อานฺตฺ), ส่วนอาตมเนบทนั้นเป็น มาน (ยกเว้น ใช้ อาน บ้างในกรณีกริยาบอกเหตุ)

ตัวอย่างเช่น

  • ภู > ภวนฺตฺ (ซึ่งเป็นอยู่)
  • ภู > ภวมาน (ซึ่งเป็นอยู่ อาตมเนบท)
  • ตุทฺ > ตุทนฺตฺ (ซึ่งตีอยู่)
  • ทีวฺ > ทีวฺยนฺตฺ (ซึ่งเล่นอยู่)
  • จุรฺ > โจรยนฺตฺ (ซึ่งขโมยอยู่)

การแจกรูป จะใช้หลักการแจกนามลงท้าย อนฺตฺ ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อๆไป

3. ศัพท์บางคำห้ามขึ้นต้นประโยค ได้แก่ มา, เม, เนา, นสฺ เพราะไม่มีเสียงเน้น และห้ามอยู่หน้า , เอว หรือ วา 

4. สรรพนามบุรุษที่ 1 และ 2 นั้น บางครั้งอาจใช้พหูพจน์ แม้บุรุษจริงเป็นเอกพจน์ เพื่อแสดงความยกย่อง (พบบ่อยในบทสนทนาในละคร) โดยสรรพนาม(และคำอื่นด้วย)จะแจกรูปสอดคล้องกับกริยา ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบุรุษของประธานจริง

ศัพท์ (อักษรโรมันแสดงที่มาของคำ ว่ามีคำใดประกอบกัน) 

  •   อมฺฤต अमृत a-mṛ́ta (จากนปุ. น้ำอมฤต
  •   อุปนยน उपनयन upa-nayana (จาก √นี+อุป)นปุ. พิธีคล้องสายสิญจน์ของพราหมณ์
  •   กร कर kara (จาก √กฺฤ)ปุ. มือ, งวงช้าง, แสง, ค่าธรรมเนียม
  •   กาลิทาส kāli-dāsa ปุ. ชื่อกวี กาลิทาส
  •   กาศี काशी  kāśī ส. ชื่อเมืองกาสี (บาลีว่า กาสี)
  •   คุณ गुण guṇá (มาจาก √คฺรหฺ)ปุ. คุณสมบัติ, คุณความดี, ความยอดเยี่ยม. คำนี้แปลว่า สาย เชือก พวงมาลัย ฯลฯ มากมาย
  •   ทศรถ दशरथ dáśa-ratha ปุ. ชื่อท้าวทศรถ
  •   ทาส दास dāśa ปุ. ทาส
  •   ทูต दूत dūtá ปุ. ทูต
  •   ปาฏลิปุตฺร पाटलिपुत्र pāṭali-putra นปุ. ชื่อเมืองปาตลีบุตร (ปัจจุบันเรียก ปัตนา)
  •   มโนรถ मनोरथ manas-ratha ปุ. ความหวัง, ความปรารถนา
  •   วสฺตฺร वस्त्र vastra นปุ. ผ้า
  •   วิธิ विधि vidhi ปุ. พระพรหม
  •   วฺฤก वृक vṛ́ka ปุ. หมาป่า  คันไถ สายฟ้า
  •   เวท वेद veda ปุ. ความรู้ ศาสตร์ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการหลุดพ้น หรือความรู้เกี่ยวกับพระเ้จ้่า

คุณศัพท์

  •   นวีน नवीन ปุ.,นปุ. นวีนา नवीना ส. ใหม่
  •   สวฺ स्व ปุ.,นปุ. สฺวา स्वा ส. ตัวเอง, ของตัวเอง


แบบฝึุก

1. แปลสันสกฤตเป็นไทย


ที่เอาภาพมาลงไม่ใช่ขี้เกียจพิมพ์ ;)  แต่ต้องการให้อ่านตัวหนังสือแบบอื่นๆ บ้าง. อีกอย่างหนึ่ง ให้สังเกตจุด ใต้สระอา ซึ่งเป็นสนธิ อา กับ อา, ในฟอนต์ทั่วไปไม่มี.

2. แปลไทยเป็นสันสกฤต

14. ฉันสั่งให้เสื่อถูกทอ (แต่งตามแบบ เสื่อถูกทำให้ทอโดยฉัน ใช้ √กฺฤ)
15. จงแสดงหนังสือทั้งหลายแก่ฉัน
16. พราหมณ์ทั้งหลายพึงสอนเราทั้งสอง และทำพิธีสังเวยเพื่อเราทั้งสอง
17. พระราชากำหนดภาษีในอาณาจักรแล้ว
18. ฉันสั่งให้นาของฉัน(ถูก)ไถโดยทาสทั้งหลาย
19. จงให้น้ำและอาหารแก่ฉัน
20. พวกเขายังให้เด็กชาย(ถูก)นำไปจากฉัน
21. พระราชาทั้งหลายส่งทูตทั้งหลายไปยังปาฏลีบุตร
23. พระราชายังให้กวีท่อง (ใช้ กาถยติ) การสดุดีแห่งวิษณุ
24. เราทั้งหลายทรมานหัวใจของเราด้วยความปรารถนา

25. นักเรียนทั้งสองต้อนรับครู

หมายเลขบันทึก: 519791เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

...ตามมาให้กำลังใจ  ท่านอาจารย์ค่ะ .... 

คุณศรีฯ สรรพนาม ฝึกท่องนะครับ...

ขอบคุณครับพี่เปิ้ล บทที่ 34 แล้ว...

- ''กฺฤตฺ कृत  คือ การนำธาตุมาเติมปัจจัยชนิดกฤตฺ เพื่อให้ได้ความหมายเป็นคุณศัพท์ที่แสดงกริยา''

หมายความว่ามันทำหน้าที่ขยายกริยาเหรอค่ะ ?


-  ''วนีนา नवीना ส. ใหม่''  อักษรไทยอาจารย์เขียนผิดคะ


แก้ไขแล้ว ขอบคุณครับ

กฺฤตฺ คือ นำมาใช้ขยายนามกึ่งๆ ว่าเป็นกริยา ครับ เช่น คมฺ+ต(ต เป็นปัจจัย กฺฤตฺ) = คต (ลบ มฺ ทิ้ง) = ซึ่งไปแล้ว, ชโน  คตะ = คนที่ไปแล้ว หรือจะแปลว่า คนนั้นไปแล้ว เหมือนเป็นกริยาจริงเลยก็ได้ เพียงแต่มันไม่ใช่กริยาหลัก

เมื่อสร้างตัวเอง เกิดความรู้สึกของการเป็นตัวเองมากเข้าๆๆๆ... ก็ลืมไปว่า

แท้ที่จริงแล้ว... "ตัวเรา" ไม่เคยมี

ขอบคุณค่ะ  :)

ลืมไปครับ, อีกคำหนึ่ง มมการ (มม+การ) ภาษาบาลีว่า มมังการ

คือ การถือว่าเป็นของเรา

เคยอ่านผ่านตาค่ะ อหังการ  มมังการ  

เมื่อรู้สึกมีตัวมีตนมากๆ ก็หลงยึดถือว่าตัวตนนั้น...เป็นของเรา   :)

ท่านคิดคำไว้เหมาะครับ

"การ" แปลว่า สร้าง ดังนั้น ทั้ง อหังการ และมมังการ จึงเป็นการสร้างขึ้นมา(เอง)

- อาจารย์ค่ะภาษาฮินดีเวลาปริวรรตเป็นตัวไทยนี่มีหลักมาตรฐานอะไรเหมือนสันสกฤตไหมค่ะ หรือเขียนอย่างไรก็ได้


ส่วนใหญ่เหมือนภาษาสันสกฤตครับ แต่สระและพยัญชนะอื่นๆ ก็ใช้ตัวเสริม

ดูจากนี้ครับ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/E/002/1.PDF

'' สายสิญจน์ ''  มาจากสันสกฤตหรือเปล่าค่ะ คำว่า สิญจน์  เนี่ย

   -  ตัวนี้สระอะหรือเปล่าค่ะ ของอาจารย์ในข้อหนึ่งคะ ตัวมันเล็ก ไม่คุ้นกับอีกหลายตัวเลย ต้องมานั่งแกะตัวอักษรก่อน ..อิอิ

- โส ปฺรภุะ ภควโต ปฺรวุจฺยติ 
ชญานปูรฺวกมุเปติ ทุษฺกรํ

พระภควันต์ทรงเรียกพระโพธิสัตว์นั้นว่า "ผู้เป็นใหญ่"
เพราะ พระโพธิสัตว์นั้นกระทำกรรมที่ทำได้ยาก ซึ่งประกอบด้วยญาณเป็นรากฐานสำคัญในเบื้องต้น 


- ปฺรวุจฺยติ  คำนี้ใช้กริยาและอุปสรรคด้วยใช่ไหมค่ะ แปลว่าเรียกหรือเปล่าเอ่ย หนูหาไม่เจอคะอาจารย์



สิญฺจน มาจาก สิจแทรกเีสียงนาสิก แล้วเติมปัจจัย อน ได้รูปสำเร็จเป็นนาม

อะ แบบเก่าครับ

ปฺรวจฺยติ วจฺ+ปฺร แปลว่า เรียก ประกาศ สรรเสริญ ฯลฯ

ปฺร อุปสรรค และ วจฺ ธาตุ ครับ ถูกแล้ว

หนังสือพิมพ์ที่อินเดีย ตัวอักษรจะเลอะเลือนและช่องไฟไม่สม่ำเสมอ ต้องฝึกอ่านครับ ;)

อาจารย์ค่ะ ตัวอักษรนี้มันจะมีแบบเก่าแบบใหม่ทำไม ทำไมไม่ใช้แบบเดียวไปเลย

บางคนชอบแบบเก่า บางคนชอบแบบใหม่นี่นา

อีกอย่างหนึ่ง หนังสือเก่าๆ ก็ยังมีใช้อยู่

ตัว ณ และ ศ ก็มีสองแบบ

บางฟอนต์ สระ อี (ลอย) กับ โอ จะคล้ายกัน (แทบจะเหมือนกัน) ต้องพิจารณาศัพท์ด้วย

จุดใต้สระอา จริงๆคือมีอาสองตัวเหรอค่ะ อาจารย์ช่วยเขียนข้อสองให้ดูหน่อยค่ะ ยถา.. 

ยังไงค่ะ งง

ข้อสามลองปริวรรตมั่วดูไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า - ทศรถศฺริจฺ รูนปุนฺนานชนยตฺ  ^ ^

ยถา อาชฺญาปยติ เทวะ. (ยถา = เช่นนั้น)

ทศรถศฺจารูนฺปุตฺรานชนยตฺ. (ทศรถศฺ จารูนฺ ปุตฺรานฺ อชนยตฺ)

ข้อ 6 ได้แค่นี้คะ .. อุปนยเน พาลานนฺวีนานิ วสฺ...ปริธาปเยยุะ

ข้อ 8 คำที่สองก็ตัวอะไรก็ไม่รู้หลายชั้นมากคะ หนูจะมาตายเอาที่ตัวสังโยค แหะๆ


อุปนยเน พาลานฺนวีนานิ วสฺตฺราณิ ปริธาปเยยุะ ฯ 6
สฺวสาร อาคจฺฉนฺตีติ มหฺยํ นฺยเวทฺยต ฯ 8

 '' คมฺ+ต(ต เป็นปัจจัย กฺฤตฺ) = คต (ลบ มฺ ทิ้ง) = ซึ่งไปแล้ว,''

     อ๋อ... หนูนึกออกแล้วค่ะ เหมือนกับคำว่าสวรรค์คตเลย ซึ่งก็แปลว่าไปสู่สวรรค์แล้ว ถูกไหมค่ะ ^ ^

อ้าว .. ทำไมล็อกอินแล้วไม่ขึ้นชื่อค่ะ

คงมีปัญหาอะไรสักอย่างครับ ;)

ใช่แล้วครับ สวรรคต (ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้แล้ว) แต่ภาษาสันสกฤตมีสองแบบ คือ สฺวรฺค-คต และ สฺวรฺค-คต

คำว่า คต นี้ใช้เยอะ เช่น สุคต ตถาคต 

การเรียนรู้เรื่องปัจจัยที่ใช้เติมธาตุหรือคุณศัพท์ ช่วยให้เรียนสันสกฤตได้สนุกขึ้น เพราะัเจอศัพท์อะไรก็แยกได้หมด ทำให้เข้าใจศัพท์ได้ง่ายขึ้น (แต่ถืิอว่ามีประโยชน์น้อยกว่าการเรียนรู้การแจกนามกริยา ตำราส่วนมากจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญตรงนี้มากนัก)


ทำไม่ได้เยอะเลยคะ..

1. วันนี้สารถียังให้รถหยุด/วันนี้สารถีสั่งให้รถหยุด

2. เทวดายังให้เขารับรู้ฉันใด

3.ท้าวทศรถได้ให้กำเนิดบุตรชายรูปงามทั้งหลายแล้ว

4. ท่านพึงฟังบทร้อยกรองของกาลิทาส

5. แยกไม่ได้เลยคะ

6. ผ้าใหม่ทั้งหลายพึงวางใกล้ๆโดยพิธีคล้องสายสิญจน์ของพราหมณ์

7. -

8. ติดตรง '' ตีติ''

9. วาโยสฺ พเลน  ตรฺวสฺ ( อปาตฺยนฺต - หาไม่เจอคะ รู้แต่ว่าเป็นอดีตกาลอาตมเนบท )

10. -

11.-

12. ข้อนี้ งง ปฺรยาเค

13. คัมภีร์และหนังสือถูกแต่งขึ้นโดยราม



1. सूत । अधुना स्थापय रथम्। นี่แน่ะสารถี, จงหยุดรถตอนนี้/เดี๋ยวนี้

2. यथाज्ञापयति देवः । เทวดา(พระราชา)สั่งเช่นนั้น (ยถา = เช่นนั้น)

4. कालिदासस्य काव्यं मां श्रावयेः। ท่ีานพึงทำให้ฉันได้ยินกาวยะของกาลิทาส. (ท่านพึงท่องกาวยะของกาลิทาสให้ฉันฟัง). ศฺรุ เมื่อเป็นเหตุ. จะแปลว่า ทำให้ไำด้ยิน หรือท่องให้ฟัง

5. वैश्यान्करान्दापयेन्नृपः। ไวศฺยานฺ กรานฺ ทาปเยตฺ นฺฤปะ.

พระราชาพึงทำให้พ่อค้าทั้งหลายจ่ายค่าธรรมเนียม(ทั้งหลาย) ทาปย(ทา) = ทำให้ให้, ทำให้จ่าย

6.उपनयने बालान्नवीनानिवस्त्राणिपरिधापयेयुः। 

ในพิธีอุปนยนะ บุคคลทั้งหลายพึงทำให้เด็กชา่ยทั้งหลายสวมเสื้อผ้าใหม่(ทั้งหลาย)

7.भ्रातरोSस्मान्नगरंप्रास्थापयन्। ภฺราตรสฺ อสฺมานฺ นครมฺ ปฺราสฺถาปยนฺ

พี่ชายทั้งหลายส่งเราทั้งหลายแล้วสู่เมือง
8.स्वसार आगच्छन्तीति मह्यं न्यवेद्यत। สฺวสารสฺ อาคจฺฉนฺติ อิติ มหฺยมฺ นฺยเวทฺยต

(มัน)ถูกทำให้ฉันรู้ ว่า "พี่สาว/น้องสาวทั้งหลายกำลังมา"

(ฉันถูกบอกว่า "พี่สาว/น้องสาวทั้งหลายกำลังมา")

ประโยคนี้ใช้กรรมวาจกในส่วนหลัก ข้อความนี้ ถูกบอกแก่ฉัน

9.वायोर्बलेन तरवोSपात्यन्त। วาโยสฺ พเลน ตรวสฺ อปาตฺยนฺต

ด้วยกำลังแห่งลม ต้นไม้ทั้งหลายถูกทำให้ล้มแล้ว.

อปาตฺยนฺต (ปตฺ) อธิบายไว้ในบทที่แล้ว ว่า ปตฺ ทำเป็นกริยาบอกเหตุ จะยืดเสียง เป็น ปาตยติ (ปัจจุ เอก.) แต่ในที่นี้แจกรูป อดีต เหตุ. และกรรมวาจก =อะ+ปตฺ+อย(เหตุ.)+ย(กรรม.)+อนฺต > a-pāt-aya-ya-anta(แล้ว ลบ อยะ ออก) > a-pāt-ya-anta = apātya+anta => อปาตฺยนฺต

10. क्षत्रिया युद्धेSरीन्मारयन्ति। กฺษตฺริยาสฺ ยุทฺเธ อรีนฺ มารยนฺติ

นักรบทั้งหลายฆ่าศัตรูทั้งหลายในสนามรบ

11. कवयो sस्माकं गुणान्प्रथयेयुः कीर्तिं च वर्धयेयुरिति पार्थिवैरिष्यते।11

กวยสฺ อสฺมากมฺ คุณานฺ ปฺรถเยยุสฺ กีรฺติมฺ จ วรฺธเยยุสฺ อิติ ปารฺถิไวสฺ อิษฺยเต

(มัน)ถูกปรารถนาโดยพระราชาทั้งหลาย ว่า "กวีทั้งหลายพึงประกาศคุณความดีของข้าทั้งหลาย และเพิ่มพูนชื่อเสียง"... = พระราชาทั้งหลายมีความปรารถนาว่า...

12. अहं प्रयागे निवसामि रामः काश्यां तिष्ठति । อหมฺ ปฺรยาเค นิวสามิ รามสฺ กาศฺยามฺ ติษฺฐติ

ฉันอาศัยในเมืองประยาค รามอยู่ในเมืองกาศี

13. ग्रन्थोsस्माभी रच्यते पुस्तकं रामेण लेखयामः। คฺรนฺถสฺ อสฺมาภิสฺ รจฺยเต ปุสฺตกมฺ ราเมณ เลขยามสฺ

คัมภีัร์ถูกแต่งโดยเราทั้งหลา่ย, เราทั้งหลายยังให้หนังสือ(ถูก)เขียนโดยราม

(เลขยามสฺ ลิขฺ > ลิขฺ+อยะ+ยะ) 

ต้องทบทวนการสร้างกริยาบอกเหตุ และกรรมวาจก(ในบทที่ผ่านๆมา) ส่วนศัพท์นั้น จดตามลำดับ ก ข ค ง ก็จะหาง่าย (ถ้าค้นจากเวิร์ด ไม่ต้องเรียงก็ได้) ศัพท์เรียนมาแล้วทุกคำ

อร้าย.. ข้อแปด อาคจฺฉนฺติ อิติ  ยอมเขาเลยคะ คาดไม่ถึงจริงๆ ยังงงว่า เอ..ตี มาจากไหน

16. พราหมณ์ทั้งหลายพึงสอนเราทั้งสอง และทำพิธีสังเวยเพื่อเราทั้งสอง

และทำพิธีสังเวยเพื่อเราทั้งสอง  ประโยคนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับเทนส์ที่ใช้กับประโยคข้างหน้าเหรอค่ะ

-ตีติ นี่เจอบ่อยนะครับ

พึงสอน และพึงทำพิธี กาลเดียวกันครับ

แต่ประโยคยาวๆ แบบนี้ ถ้าใช้คนละกาลก็ได้ (ในกรณีอื่น)

อย่าลืมทบทวนที่ผิด ถ้าสงสัยก็ถามนะครับ ถ้าเข้าใจแล้วก็เริ่มแปลต่อ

ไปหยิบวรรคแรกของ शिव पञ्चाक्षर स्तोत्रम् มาคะ ลองมาแงะๆดู 

รบกวนอาจารย์ช่วยดูหน่อยคะ


     नागेन्द्रहाराय  

 - นาค ( ปุลลิงค์ อะการันต์)    = งู , นาค

 - อินฺทฺร ( คุณศัพท์ ปุลลิงค์ )  =  ที่เป็นใหญ่ ที่เป็นผู้นำ,หัวหน้า ,ที่ดีเลิศ 

  นาค + อินฺทฺร = นาเคนฺทฺร  นาคที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ราชาแห่งนาค

 - หาร (ปุลลิงค์ อะการันต์ )  = มาลัย

 หาร ผันเป็น หาราย  (การกที่สี่ เอกพจน์ ) = สำหรับ,แด่,เพื่อมาลัย

นาเคนฺทฺรหาราย  ไม่เข้าใจตรง ''หาราย''  ทำไมเรียงเข้าไปเลยละคะ แบบนี้เรียกว่าสมาสหรือเปล่า

เพราะสองคำข้างหน้านั้นมันสนธิกันแล้ว .. งงคะ

แม่น้ำมันทากินี  นี้มีประวัติและความสำคัญอย่างไรค่ะอาจารย์ พอดีไปเจอมาในบทสวดบทนี้ด้วยคะ

ขอบคุณคะ

नागेन्द्रहार เป็นสมาส แต่ว่าไม่เกี่ยวกับสนธินะครับ!

นาค+อินฺทฺร+หาร ตรง ค กับ อิน มีสนธิ, ตรง ร กับ ห ไม่สนธิ ก็ไม่สนธิ แต่ก็ยังสมาส คือ รวมเข้ากันได้

สมาสแบบนี้ แปลว่า ผู้มี... คือ ตัวท้าย ไม่ได้แปลว่ามาลัยเฉยๆ แต่แปลว่า ผู้มีมาลัยเป็นเจ้าแห่งงู/นาค

ตัวอย่างอื่น เช่น ปทฺมปาณิ ไม่ได้แปลว่า มือที่เหมือนดอกบัว/มือที่ถือดอกบัว แต่แปลว่า ผู้มีมือถือดอกบัว/เหมือนดอกบัว คือ เน้นว่า ผู้มี.. ดังนั้น สมาสแบบนี้เปรียบเสมือนเป็นคำขยายนามอื่น เวลาแปลต้องนึกว่ามีนามอื่นอยู่ในวงเล็บ เช่น ชยธฺวชปาณิ ก็ให้นึกว่า ชยธฺวชปาณิ(กฺษตฺริย) = (นักรบ)ผู้มีมือถือธงชัย (หรือ นักรบผู้ถือธงชัย)

แม่น้ำมันทากินี เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคาครับ แต่หมายถึงแม่น้ำคงคาก็ได้ ในบทสวดน่าจะหมายถึงแม่น้ำคงคา

 



ไม่ค่อยจะมั่นใจสักเท่าไหร่เลยคะ ยังสับสนกับโจทย์เล็กน้อย..


14. ฉันสั่งให้เสื่อถูกทอ (แต่งตามแบบ เสื่อถูกทำให้ทอโดยฉัน ใช้ √กฺฤ)

= กโฎ มยา กรฺยเต


15. จงแสดงหนังสือทั้งหลายแก่ฉัน

= มหยํ ปุสฺตกานิ ทิศ


16. พราหมณ์ทั้งหลายพึงสอนเราทั้งสอง และทำพิธีสังเวยเพื่อเราทั้งสอง

= พฺราหฺมณา อาวามธฺยาปเยยุศฺจ อาวาภฺยำ ยาชเยยุสฺ


17. พระราชากำหนดภาษีในอาณาจักรแล้ว

= ราชฺเย นฺฤปะ กรมกลฺปยตฺ


18. ฉันสั่งให้นาของฉัน(ถูก)ไถโดยทาสทั้งหลาย

= กฺเษตฺรํ มม ทาไสะ กฺฤษยเต อาชฺญาปยามิ


19. จงให้น้ำและอาหารแก่ฉัน

= มหยํ ชลมนฺนํ จ ยจฺฉ


20. พวกเขายังให้เด็กชาย(ถูก)นำไปจากฉัน

= พาลํ มตฺตสปนียนฺเต


21. พระราชาทั้งหลายส่งทูตทั้งหลายไปยังปาฏลีบุตร

= ปาฎลิปุตฺรํ  นฺฤปติรฺทูตานฺปฺรสฺถาปยนฺติ


23. พระราชายังให้กวีท่อง (ใช้ กาถยติ) การสดุดีแห่งวิษณุ

=  ราชะ กวิํ สตุติํ วิษฺโณะ กาถยติ


24. เราทั้งหลายทรมานหัวใจของเราด้วยความปรารถนา

= วยํ หฺฤทยานิ อสฺมากํ มโนรเถน วฺยถยามะ


25. นักเรียนทั้งสองต้อนรับครู 

= ศิษฺเยา คุรูนภิวาทยตสะ


อาจารย์ค่ะภาษาสันสกฤตติดอันดับภาษาที่ยากที่สุดในโลกไหมค่ะ เช่นหนึ่งในห้าหรือหนึ่งในสิบอะไรประมาณนี้ค่ะ หนูยังไม่เคยได้ยินการจัดลำดับอย่างเป็นทางการ หรืออาจจะไม่เคยอ่าน แต่เคยผ่านตามาบ้างเขาว่ากันว่าเยอรมันยากสุดๆจริง ฉะนั้นก็เชื่อขนมกินได้ว่าสันสกฤตก็ต้องยากและเรื่องมากชนะเลิศอยู่แล้วมั้งค่ะ ฮ้า  



16. พราหมณ์ทั้งหลายพึงสอนเราทั้งสอง และทำพิธีสังเวยเพื่อเราทั้งสอง

= พฺราหฺมณา อาวามธฺยาปเยยุศฺจ อาวาภฺยำ ยาชเยยุสฺ. ลืมสนธิ "-จ อาวาภฺยำ" > "-จาวาภฺยำ"


18. ฉันสั่งให้นาของฉัน(ถูก)ไถโดยทาสทั้งหลาย

= กฺเษตฺรํ มม ทาไสะ กฺฤษยเต อาชฺญาปยามิกรฺษยามิ. ใช้ "กรฺษยามิ" (ฉัน)สั่งให้ไถ. กฺเษตฺรํ มม ควรใช้ มม กฺเษตฺรํ ตรงนี้บอกไปหลายครั้งแล้ว


19. จงให้น้ำและอาหารแก่ฉัน

= มหยํ ชลมนฺนํ จ ยจฺฉ. ใช้กริยาบอกเหตุ "ทาปยติ" ดีกว่า


23. พระราชายังให้กวีท่อง (ใช้ กาถยติ) การสดุดีแห่งวิษณุ

=  ราชะ กวิํ สตุติํ วิษฺโณะ กาถยติ.  ราชะ กวึ วิษฺโณะ สตุตึ กาถยติ. กวิ และ สฺตุติ เป็นกรรม


24. เราทั้งหลายทรมานหัวใจของเราด้วยความปรารถนา

= วยํ หฺฤทยานิ อสฺมากํ มโนรเถน วฺยถยามะ. > วยมสฺมากํ หฺฤทยานิ  มโนรไถรฺวฺยถยามะ. มโนรถ ใช้พหูพจน์, อสฺมากํ นำหน้า หฺฤหยานิ

โจทย์ตกข้อ 22 ไม่เป็นไร ...


สรุปว่า ทำได้พอสมควร ไม่ขี้เหร่

แต่ที่ผิดก็ยังผิดเหมือนเดิม คือ คำแสดงความเป็นเจ้าของ ควรอยู่หน้านามของมัน

สนธิต้องละเอียดหน่อย ไม่ยาก แต่อาจเผอเรอ

กริยาต่างๆ ในแต่ละบท ให้ทบทวน และระลึกว่ากำลังเรียนเรื่องอะไรอยู่ จะได้ฝึกเรื่องนั้นๆ

พยายามอย่าใช้คำง่ายๆ เพราะจะทำให้ไม่ได้ฝึกฝน ใช้คำยาก เขียนโครงสร้างยาก ผิดแล้วจะได้เรียนรู้ ดีกว่าใช้รูปแบบง่ายๆ คำง่ายๆ ซึ่งผิดน้อย แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ...

วันนี้ได้ยินได้ฟังสมเด็จพระสังฆราชฯท่านประทานโอวาท ให้แก่พุทธศาสนิกชนเนื่องในวันมาฆบูชา แล้วก็รู้สึกซาบซึ้งมากๆคะอาจารย์ พร้อมกับมีคำถามนิดหน่อยด้วย

 


 25 ก.พ.56 นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า เนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2556 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาทเนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2556 ความตอนหนึ่งว่า พระพุทธศาสนา แสดงว่า พระสุคต คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด และแสดงว่าบุคคลย่อมงามในเบื้องต้นด้วยศีล งามในท่ามกลางด้วยสมาธิ งามในที่สุดด้วยปัญญา เพราะว่าศีลทำให้กาย วาจา หรือพฤติกรรมเรียบร้อยงดงาม สมาธิทำให้ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจสงบเยือกเย็นและมั่นคง ปัญญาทำให้ความรู้ความสามารถสะอาดบริสุทธิ์เป็นไปในทางสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่ชีวิต เมื่อประมวลเข้าด้วยกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือคุณเครื่องทำให้ชีวิตงดงาม วันมาฆบูชา คือ วันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยย่นย่อ ส่วนหนึ่งของหลักการสำคัญดังกล่าวก็คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็คือ หลักศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

- อยากทราบคำว่า พระสุคต ค่ะมีความหมายและแปลว่าอย่างไรในเชิงไวยากรณ์

 ป.ล . เมื่อเช้าหนูกับที่บ้านทำอาหารไปถวายเพลที่วัดมา จึงน้อมนำบุญมาฝากครูด้วยคะ ^ ^


เรื่องภาษายากง่ายนี่มีคนจัดอันดับไว้มากครับ แต่เท่าที่อ่านดู ไม่ค่อยจะเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไหร่

คือวัดจากตัวคนเรียน ไม่ได้มีเกณฑ์มาตรฐานอะไร อย่างภาษาจีน บางรายบอกว่ายากที่สุด ทั้งๆ ที่ไวยากรณ์ภาษาจีนนั้นง่ายมาก ที่ยากก็เพียงตัวเขียน หรือภาษาอาหรับ ไวยากรณ์อาจยุ่งหน่อย แต่ก็ไม่สู้ภาษายุโรป

ถ้าฝรั่งจัดอันดับ มักจะยกให้ภาษาตะวันออกและภาษาอินเดีัยแดงว่ายากมาก

แต่ภาษาฝรั่งอาจมียากแค่ภาษาสองภาษา

ในอันดับไม่มีภาษาสันสกฤต ละติน ฯลฯ คงจะเน้นเฉพาะภาษาปัจจุบัน

ถ้าจะจัดอันดับจริงๆ (ตามเกณฑ์มาตรฐาน) ภาษาสันสกฤต คงเข้าขั้น 1 ใน 5 ได้ครับ ;)

http://mylanguages.org/difficult_languages.php

http://www.antimoon.com/forum/t15083.htm

http://www.lexiophiles.com/featured-articles/top-list-of-the-hardest-languages-to-learn

http://zidbits.com/2011/04/what-is-the-hardest-language-to-learn/

ขอบคุณ และอนุโมทนาด้วยครับ

สุคต แปลได้ว่า ไปดีแล้ว  แต่เมื่อใช้เป็นนาม จะหมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ

สุ+คต เป็นคุณศัพท์

สุ แปลว่าดี ยิ่งใหญ่ ง่าย. คต ก็มาจากธาตุ คมฺ + ต(ปัจจัย กฤต)

ธาตุอะไรๆ เติม ต แปลว่า -แล้ว เช่น คีต(คี/ไค) วาต(วา) ชิต(ชิ) ชีวิต(ชีวฺ) 

อีกหน่อยจะเจอศัพท์พวกนี้ครับ

ข่าวดี ธาตุที่เราเรียนมานั้น มากพอที่จะแยกศัพท์ต่างๆ ที่เห็นในภาษาไทยได้พอสมควรเลยครับ

'' ฉันอยาก/ต้องการจะเห็นต้นไม้ '' 

- กริยาสองตัวนี้จะแต่งอย่างไรดีคะ จำได้ว่าอาจารย์บอกให้มีกริยาสองตัวด้วยกันไม่ได้

 - หรือจะต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่นๆแทน


มีวิํธีเดียว กริยาตัวที่สองเติม -ตุมฺ

วฺฤกฺษมฺ ทฺฤษฺฏุมฺ อิจฺฉามิ. (ทฺฤศฺ+ตุมฺ दृष्टुम् = เพื่อจะเห็น)

ปาตุมฺ เพื่อจะดื่ม  คนฺตุมฺ เพื่อจะไป ฯลฯ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท