วิวัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตอนที่ 1


ช่วงสุโขทัย อยุธยา

วิวัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

     แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทยมีพัฒนาการมาตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของความเป็นมนุษย์ไม่รุนแรงเหมือนปรากฏการณ์ในต่างประเทศ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อประชาชนโดยยึดหลัก “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลักในการปกครองประเทศชาติเสมอมา

 

     ในสมัยสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อกับลูก ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เสมือนบิดาให้ความเมตตากรุณาแก่บุตร จากหลักฐานดังกล่าวยังปรากฏว่ามีการรับรองสิทธิของราษฎรไว้หลายประการ ได้แก่ สิทธิที่จะล้มล้างผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม สิทธิในทรัพย์สินของราษฎร สิทธิในการสืบมรดก สิทธิของราษฎรในการเลือกประกอบอาชีพ สิทธิของราษฎรในการร้องทุกข์ถวายฎีกา สิทธิของราษฎรที่จะแสดงออก ส่วนการรับรองคุ้มครองสิทธิของความเป็นมนุษยชนปรากฏชัดในเรื่องสิทธิของเชลยศึก สิทธิของผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้ต้องหาหรือนักโทษทางอาญา

 

     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลการปกครองแบบเทวราชาจากเขมร มีแนวความคิดว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพ มีอำนาจปกครองสูงสุด เป็นเจ้าชีวิตและมีอำนาจเด็ดขาด แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ภายใต้กรอบของทศพิธราชธรรมจึงมิได้ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างใหญ่หลวงจนเป็นเหตุให้เดือดร้อนต่อไพร่ฟ้า ประชาชนทุกคนเสมอกันภายใต้พระราชอำนาจ ไม่ว่าเจ้า ขุนนาง หรือไพร่ เมื่อพิจารณาจากกฎหมายลักษณะต่างๆ ที่บังคับใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเห็นว่ามีการรับรองสิทธิไว้ในหลายลักษณะด้วยกัน ได้แก่ สิทธิของไพร่ สิทธิของทาสถือว่าเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองคุ้มครองไว้พอสมควรต่างจากทาสในความหมายของชาติตะวันตก มีกฎหมายรับรองสิทธิบางประการของทาสไว้ เช่น สิทธิในชีวิตของทาส สิทธิในการฟ้องคดีของทาส สิทธิในทรัพย์สินและการตกทอดทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของทาส สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของทาสหญิง สิทธิในการหลุดพ้นจากความเป็นทาส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายรับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของราษฎรไว้โดยเฉพาะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น สิทธิในทรัพย์ที่ทำมาหาได้ สิทธิในการครอบครองที่ดิน สิทธิในทรัพย์ของผู้ลี้ภัย สิทธิในการรับบำเหน็จโดยไม่คำนึงถึงชนชั้น และสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 51973เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณนะค่ะสำหรับสาระดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท