ไผ่ไทย เทียบกับ หญ้าเนเปียร์ ในการเป็นพืชพลังงานทางเลือก (ตอน ๕)


ไผ่ เทียบกับ หญ้าเนเปียร์ ในการเป็นพืชพลังงานทางเลือก (ตอน ๕)

กระแสหญ้าเนเปียร์กำลังมาแรงมากในวันนี้ แต่นิสัยผมชอบแย้งคนเล่น จึงขอแย้งว่า...ให้ระวังจะทุกข์ซ้ำซาก เพราะนักวิชาการไทยไปเอาข้อมูลบิดๆมาเสนอ

ผมได้เขียนบทความไว้หลายปี หลายครั้งว่า ไผ่ไทยเรานี่แหละดีที่สุด  เช่น ไผ่สีสุกยักษ์  ที่ทนแล้งด้วย (สวยด้วยอีกต่างหากสีเหลืองทอง มีลายเขียวเล็กน้อย)  ผมไปเจอในอีสาน อ.จักรราช จ.นม.  ต้นสูงประมาณ ๑๕ -๒๐ ม.  ใหญ่ประมาณ ๑๕ ซม. เนื้อหนาประมาณ ๒ ซม.  ก็ธรรมดาไผ่พอแตกหน่อ ก็จะโตเต็มที่สูง ๑๕ เมตรภายใน ๑-๒ เดือนเท่านั้น  เขาจึงว่ากันว่า  เป็นพืชที่โตเร็วที่สุดในโลกไง

แต่พอโตเต็มที่แล้ว ใช่ว่าจะเอามาสร้างบ้านหรือสานกระบุงได้หรอกนะ เพราะเนื้อไม้ยังไม่แข็ง  ต้องปล่อยให้เขาสร้างความแข็ง ๓-๕ ปีแล้วแต่สายพันธุ์

แต่สำหรับการเอามาทำพลังงาน ผมเชื่อว่า เราสามารถตัดได้ภายในปีเดียว ว่าไปแล้วเราไม่ต้องการแข็งด้วยซ้ำไป เพราะว่ามันจะเสียพลังงานมากในการบดป่นเพื่อเอาไปเข้าเตาเผา

ตามที่ผมได้สัมภาษณ์ อ่าน เพื่อข้อมูลดู ไผ่ตงเพื่อการค้า  (ไม่ใช่สีสุกนะ)  ปลูกห่าง ๕ คูณ ๕ จะได้หน่อถึง ๕๐ หน่อต่อกอ  แสดงว่า ไร่หนึ่งได้ ๓๒๐๐ หน่อ 

แต่ไผ่ตงเสียที่ต้องการน้ำมาก  ส่วนไผ่สีสุกยักษ์ (ต้นใหญ่กว่าไผ่ตงเสียอีก) ไม่ต้องการน้ำมาก ...ที่นี้ถ้าผมสมมุติว่า ไผ่สีสุกยักษ์ออกหน่อเท่าไผ่ตง  คือ ๓๒๐๐ หน่อต่อไร (จริงๆ อาจน้อยหรือมากกว่านี้ เพราะค้นหาข้อมูลไม่เจอ คงเพราะนักวิชาการเกษตรไทยไม่สนใจศึกษา ไปศึกษาแต่หญ้าฝรั่งกันหมด)   ...ด้วยข้อมูลสมมติดังกล่าว   ผมคำนวณเนื้อไม้ได้ว่าจะได้เนื้อไม้ 480 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ปี

ถ้าความถ่วงจำเพาะ (ถพ.)  สัก ๐.๙  และมีน้ำปนสัก ๔๐% (ถือว่าสูงมาก เพราะยังเป็นไม้อ่อน)  ดังนั้นเราจะได้เนื้อไม้แห้ง  ๑๗๒  ตันแห้ง ต่อไร่ปี 

สำหรับเนเปียร์ แม้ว่าได้ ๑๐๐ ตันต่อไร่ต่อปี จริงตามที่อ้างกันมาแบบเว่อๆ ก็ตาม  แต่มีน้ำปน ๘๐ ปซ.  ดังนั้นจะได้เนื้อไม้แห้งเพียง ๒๐ ตันต่อไร่ปี  เท่านั้น

สรุปคือ เนเปียร์จะได้ไม้น้อยกว่าไผ่สีสุกยักษ์ ๘.๕ เท่า แถมต้องเหนื่อยยากเก็บเกี่ยวปีละ ๕ ครั้งในขณะที่ไผ่เก็บเกี่ยวปีละครั้ง

ไผ่ยังมีผลพลอยได้อื่นเหนือเนเปียร์หลากหลาย เช่น ใบหล่นลงมาเอามาหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ ใต้ร่มแดดรำไรก็เอาอะไรไปปลูกแซมได้ เช่น การห้อยกล้วยไม้   ห้อยเห็ดห้อยเป็นถุง หรือ การปลูกเห็ดไผ่ เห็ดหนวด ที่ชอบขึ้นกับไผ่ 

หรือแม้แต่มันเลือด ที่ชอบแดดรำไร  ปลูกกลางร่อง  แล้วปล่อยให้พันต้นไผ่ขึ้นไป  มันเลือดออกหัวกอละ ๕๐ กก. ต่อต้นต่อปี ปลูกดีๆ จะได้ชีวมวลมากหลาย

สมมติว่ามันเลือดได้ ๕๐ กก. ต่อตรม. จะได้  ชีวมวล ๘๐ ตันต่อไร่ปี  (มีน้ำปนสัก ๖๐ ปซ.)   แต่นี่เป็นแป้งนะ ไม่ใช่ไม้  แถมเป็นแป้งที่ไม่เน่าเร็วแบบมันสำปะหลัง  ไม่ต้องตากแห้ง เอาไปหมักทำอะไรได้สารพัด เช่น แก๊สชีวภาพ เอทานอล พลาสติกชีวภาพ  รวมทั้งเหล้า  หรือเป็นอาหารกินแทนข้าวก็อร่อยดี   (ไม่ต้องทำนาให้เหนื่อยยาก) 

วันนี้มันเลือดขายโลละ ๓๐ บาท  (มันสปล.โลละ ๒ บาทกว่าเท่านั้น)  ถ้าไร่ละ ๘๐ ตันก็ได้ ๒.๔ ล้านบาทต่อไร่  แต่พอเราปลูกมากๆ มันล้นตลาดก็คงตกลงมาเหลือ ๓ บาท ต่อกก.  (ยังแพงกว่าสปล. เพราะไม่ต้องตากแห้ง )  แค่นี้ก็ยังได้ ๒.๔ แสนบาทต่อไร  ...แถมไผ่ เห็ด ปุ๋ย เป็นของขวัญด้วยยังได้

แบบนี้แล้ว ยังจะปลูกเนเปียร์อีกหรือท่าน

ข้อเสียของไผ่เทียบกับหญ้าเนเปียร์คือ การเก็บเกี่ยว (แม้หนึ่งครั้งต่อปี) อาจยากสักหน่อย  แต่ผมว่าไม่เหนือความคิดมนุษย์ไปได้

ที่ผมเสนอคือ ให้ปลูกเป็นแถวแบบปลูกอ้อย ข้าวโพด  มันสปล.  (ไม่ปลูกเป็นกอแบบปลูกเอาหน่อ)  แล้วเอารถวิ่งตามร่องกลาง วิ่งตัดแบบวางเรียงในแนวยาว  (วิศวเกษตร เครื่องกล  ช่วยผมคิดด้วยสิ)  ตัดเอาเฉพาะต้นที่มันงอกล้ำออกมาในร่อง ส่วนต้นแม่ไม่ตัดนะ เพื่อให้มันออกหน่อให้เราในปีต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้เราไม่ต้องปลูกใหม่ ไม่ต้องทำหญ้าใดๆทั้งสิ้น  .....  จากนั้นเราก็มัดไผ่ที่ถูกตัดเข้าเป็นพวง แล้วเอารถหรือช้างก็ได้ ลากออกมา (จะได้เป็นการอนุรักษ์ช้างไปในตัว)  ยอดไผ่อ่อนตัดออกมา ก็เป็นอาหารช้างได้ด้วย

แหม..เขียนยามดึกนึกถึงไผ่แล้วรู้สึกหิวแกงจืดหน่อไผ่ตะหงิดๆ  ต้มกับกุ้งแห้ง เติมน้ำปลานิด  (ไม่ต้องมีเนื้อสัตว์อื่นใด)  แค่นี้ก็ซดกันคอโล่งแล้ว   ถ้าจะทำเป็นแกงส้ม ก็เอาน้ำพริกนรก มะขามเปียกใส่ลงไป ก็ได้แล้ว (สูตรแกงส้มของผมเอง ไม่สงวนลิขสิทธิ์  ลองทำกินเองหลายครั้งแล้ว หร่อยมั่ก) 

...คนถางทาง (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖) 


หมายเลขบันทึก: 519428เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2013 05:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2013 05:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยกับความคิดที่หาพืชพลังงานที่มีในไทยดีครับ

แล้ว ผักตบชวา..... อ. คถท ว่าเป็นอย่างไรครับ.......   

ว่าไปเดี๋ยวทดสอบให้ดูครับ.....  เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ตอนไหนนะครับ..... งาน 101 ก็ยังไม่ได้ทำให้เลย  หุหุ

ผักตบผมไม่ทราบเหมือนกัน เห็นว่าเป็นวัชชพืชที่โตเร็วเหมือนกัน  ข้อเสียคือต้องการน้ำมาก   ผมได้เขียนเรื่องผักบุ้งไปแล้วว่าเป็นอีกทางเลือก บางสายพันธุ์ทนแล้งมากด้วย  ขึ้นได้หมดทุกอากาศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท