ทำบุญเอาหน้า


ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

ทำบุญเอาหน้า

อุบาสิกา สมาชิกวัดลอยฟ้าคนหนึ่งได้ตั้งคำถามมาบนกระดานสนทนาหน้า Facebook ว่า เคยได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ว่า ทำบุญเอาหน้า แต่ไม่เข้าใจชัดเจนนักว่าทำบุญเอาหน้านั้นทำอย่างไร การทำบุญเอาหน้าจะเป็นบุญหรือไม่ ขอความกรุณาอธิบายให้เข้าใจด้วย สงสัยมานานแล้ว 

ก่อนจะตอบปัญหานี้ขอทำความเข้าใจประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่เสียก่อน

ประเด็นที่พุทธศาสนิกชนมักจะเข้าใจทับซ้อนกันอยู่ก็คือ

เรื่องการทำบุญกับการให้ทาน มักจะเข้าใจรวมๆ กันว่าเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือเมื่อพูดถึงการทำบุญจะคิดถึงแต่เรื่องทานเพียงเรื่องเดียวไม่คิดถึงเรื่องอื่น เนื่องมาจากอาจจะไม่เข้าใจว่ามีวิธีการทำบุญเรื่องอื่นๆ อีก หรืออาจจะเข้าใจว่า วิธีการทำบุญแบบอื่นก็มีอยู่แต่ไม่คุ้นเคยเท่ากับเรื่องทานคือ การให้

                จะต้องแยกให้ออกว่า ทาน คือ การให้ เป็นวิธีการทำบุญอย่างหนึ่งในวิธีการทำบุญสิบประการ อันประกอบไปด้วย การให้ การสมาทานศีล การเจริญภาวนา การขวนขวายช่วยเหลือ การอ่อนน้อมถ่อมตน    การฟังธรรม การแสดงธรรม การอุทิศส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ การทำความเห็นให้ตรง

ส่วน คำว่า บุญ คือ ความปลาบปลื้ม ยินดี อิ่มใจ สบายใจ อันเป็นผลมาจากการประพฤติตนตามแบบบุญกิริยาวัตถุทั้งสิบประการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น เมื่อแยกส่วนประเด็นที่ทับซ้อนออกมาให้เห็นกันชัดๆ แล้ว ก็เข้าสู่ประเด็นการทำบุญเอาหน้าว่าทำอย่างไร

จริงๆ คำพูดนี้ต้องแก้ไขเสียใหม่ว่าการบริจาคเอาหน้าจะถูกต้องกว่า เพราะคนมักจะนึกถึงการให้หรือการบริจาคว่า เป็นการทำบุญ เพื่อสื่อความหมายของคำว่าทำบุญเอาหน้า เช่น การที่ผู้รับบริจาคประกาศให้คนทั่วไปทราบว่าท่านสุภาพบุรุษท่านนี้ ท่านสุภาพสตรีท่านนี้ ได้บริจาคเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้เพื่อสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรืออาจจะนิยมติดชื่อผู้ที่บริจาคไว้ตามส่วนต่างๆ ของสถานที่บริจาค เช่น ถ้าเป็นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ทางวัดหรือกลุ่มผู้หาทุนมักจะติดชื่อผู้บริจาคไว้ที่เสา ประตู หน้าต่าง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่ทางฝ่ายหาทุนจะคิดราคาออกมา ทั้งค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เคยเห็นบางวัดกำลังจะสร้างโบสถ์หรือศาลาใหญ่ๆ ก็มักจะตีราคาว่าเสาต้นละ $3,000หน้าต่าง $1,500 ประตู $6,000 เพราะเป็นจุดเด่นราคาอาจจะแพงกว่าส่วนอื่นๆ ราคาที่ยกมานี้เป็นราคาที่เคยทราบมาเมื่อหลายปีที่แล้ว

ปัจจุบันนี้อาจจะแพงกว่านี้อีกหลายเท่าตัวตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่จุดเด่นๆ อย่างลานจอดรถ บางวัดก็มีเจ้าภาพบริจาคช่องจอดรถ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เขียนชื่อกำกับเอาไว้ คนที่ไม่เคยไปวัดนั้นมาก่อน ไปถึงวัดแล้วก็ไม่กล้าจอดรถตามช่องที่ทางวัดจัดไว้เพราะเข้าใจว่าเป็นที่จอดรถประจำตัวของเจ้าของชื่อนั้น

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป การประกาศชื่อผู้บริจาคก็มีส่วนดีคือ ทำให้คนอื่นได้อนุโมทนาทานหรือพลอยยินดีในทาน เป็นเหตุให้คนที่ไม่มีโอกาสได้บริจาคได้รับบุญในข้ออนุโมทนามัย ซึ่งแปลว่าบุญสำเร็จได้ด้วยการแสดงความยินดีกับการทำบุญของคนอื่น ซึ่งไม่เฉพาะแต่การให้ทาน การรู้จักอนุโมทนาและยินดีกับการทำดีของคนอื่นนั้นเป็นการกำจัดความอิจฉาริษยาที่ฝังลึกอยู่ในใจให้ลดน้อยหรือหมดไป หลายๆ วัดคณะกรรมการบางคนบางกลุ่มเข้าไปเป็นกรรมการไม่ได้บำเพ็ญประโยชน์อะไรให้วัดมากนัก แต่ขอเป็นกรรมการเพื่อเอาหน้าคอยควบคุมดูแล ติเรื่องโน้น วิจารณ์เรื่องนี้ไปตามเรื่อย พอเห็นใครทำความดีอะไรด้วยความเสียสละ แทนที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจก็อิจฉาริษยา ขัดขวาง ต่อต้าน ตำหนิติเตียนให้เสียกำลังใจ จึงมีข่าววัดไทยในอเมริกาบ่อยๆ ว่ากรรมการทะเลาะกันจนกระทั่งต้องขึ้นโรงขึ้นศาล สาเหตุอย่างหนึ่งมาจากการแข่งกันเอาหน้าและอิจฉาริษยากันนี่เอง แต่การเป็นกรรมการวัดเอาหน้า     มันซ่อนเร้นลึกซึ้งแนบเนียนจนมองไม่ออกเหมือนการบริจาคเอาหน้าที่ชัดเจนโล่งแจ้ง

จะเห็นได้ว่าหลายๆ วัดกรรมการวัดจะเสพติดตำแหน่งกันงอมแงม บางคนเป็นกรรมการอำนวยการหรือกรรมการบริหารคนละสิบปียี่สิบปีก็ไม่ยอมออกให้ใครเขาเข้าไปอาสาช่วยงานบ้าง บางรายออกไปแล้วแทนที่จะช่วยงานในฐานะพุทธศาสนิกชนผู้สนใจและปฏิบัติธรรมต่อไป กลับทำใจปล่อยวางไม่ได้เพราะติดใจรสชาติภาวะผู้นำ ก็หาเรื่องก่อกวนขัดขวางหาทางฟ้องร้องจองเวรคนที่เขาอาสาเข้ามาทำงานต่อไม่หยุดหย่อน บางทีต้องจ่ายเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเหรียญเพื่อต่อสู้กันเพื่อชิงตำแหน่งสมมติไว้บำเพ็ญประโยชน์     ก็เพราะอยากได้หน้าและความอิจฉาริษยาไม่อนุโมทนา นี่เองที่ผลักดันให้ทำไปอย่างหน้ามืดตามัว ความอิจฉาริษยามันกัดกินใจลึกล้ำ พิษภัยซึมลึก ถ้าไม่ดูด้วยวิปัสสนาที่สงบและคมเข้มพอจะมองไม่เห็นเอาเสียเลย

                การประกาศรายชื่อผู้บริจาคจึงมีส่วนดีเพื่อให้ผู้อื่นได้อนุโมทนาหรือพลอยยินดี เพื่อทำลายความอิจฉาริษยาในใจให้ลดน้อยและหมดไปตามลำดับ จะได้เข้าถึงภาวะแห่งความเบาใจ ขณะเดียวกันคนที่ยังไม่เคยเห็นพิษภัยของความอิจฉาริษยาที่กัดกินใจ การประกาศรายชื่อโจ่งแจ้งมากเกินไป ก็ทำให้ความอิจฉาริษยาเติบโตได้เหมือนกัน

การบริจาคแล้วประกาศชื่อไปทุกจุดจึงมีทั้งข้อดีข้อเสีย ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ใครดูแล้วจะอิจฉาหรืออนุโมทนาก็ทำใจเอาเอง ใจจะเอียงไปทางไหนก็สุดแล้วแต่การฝึกฝนอบรมมามากน้อยเพียงใด จะสู้ความโน้มถ่วงหน่วงหนักได้หรือไม่ก็ต้องพิจารณากันดู

บริจาคอย่างไร เรียกว่าบริจาคเอาหน้า

เจตนาของการบริจาคของผู้บริจาคเองเป็นเครื่องตัดสินว่า บริจาคเอาหน้าหรือไม่ จะไปปรักปรำใครๆ ว่าบริจาคเอาหน้าทั้งหมดย่อมไม่ถูกต้อง จะทำให้ตนเองเป็นบาปจิตใจเศร้าหมองเสียเปล่าๆ ถ้าเจตนาจะบริจาคเพื่อให้ใครๆ เขายกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เสียสละหรือเป็นคนใจบุญเป็นนักบุญ หรือแสดงให้เห็นว่าเป็นคนมั่งมี มีตำแหน่งหน้าที่ดี เป็นการบริจาคเอาหน้าแน่นอน
 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่านักระดมทุนหรือผู้รับบริจาคตามวัดวาอารามไม่น้อยแต่ไม่ทั้งหมด เข้าใจความรู้สึกของคนบริจาคเอาหน้าได้ดี จึงมีกระบวนการแต่งหน้าที่สวยสง่าคุ้มค่ากับการบริจาค เช่น การยกย่องให้เป็นประธานในระดับต่างๆ

จะเห็นได้ว่างานกฐินหลายๆ วัดด้วยกันแทนที่จะมีประธานกฐินเพียงคนเดียว ก็ต้องมีประธานกฐินฝ่ายฆราวาส ประธานกฐินฝ่ายสงฆ์ ประธานผ้าป่าใหญ่ ประธานกองผ้าป่ากองหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ถึงห้าร้อยหรือหนึ่งพันมีประธานหมด

ในส่วนลึกก็คือเป็นการระดมทุนจากคนที่อยากจะเป็นผู้นำ แต่ไม่มีโอกาส แต่พอจะมีเงินบริจาคเป็นกอบเป็นกำมีบริวารมีเพื่อนฝูง ส่วนเงินนั้นจะมาจากส่วนตัว ครอบครัว หรือจะไปเรี่ยไรใครมาอีกก็สุดแล้วแต่จะคิดวิธีการออกมา

รอบสุดท้ายประธานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประธานกฐิน ประธานกองกฐินหนึ่งถึงหนึ่งพัน ประธานผ้าป่า ประธานกองผ้าป่าหนึ่งถึงพันหรือไม่มีที่สิ้นสุดเพราะทอดกันทั้งปี ประธานสังฆทาน ประธานประกวดนางนพมาศ ประธานลอยกระทง ประธานฝ่ายมหรสพก็แข่งขันกันทำยอดเงิน

ใครทำยอดเงินมากรายงานตัวเลขออกมาสู่สาธารณะผ่านกระดานป้ายของวัด ผ่านหนังสือพิมพ์  เว็บไซต์หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ความสะดวก ก็จะรับหน้ากันไปตามลำดับ กองไหนหมวดไหนทำรายได้มากก็ได้หน้ามาก ส่วนไหนทำรายได้น้อย ก็ได้หน้าน้อยไปตามลำดับ

ใครจะได้หน้ามากหรือน้อยก็ขอเชิญเข้ามาเถอะ วัดยินดีต้อนรับทุกระดับประทับใจ แต่วัดได้เงินไปทั้งหมดก็แล้วกัน เรียกว่า เจ้ามือกินรวบตัวจริงจะได้ไหม

ธุรกิจการขายหน้าจึงเป็นธุรกิจที่นักระดมทุนทั้งหลายทำกันเป็นล่ำเป็นสันทั่วโลกในหลากหลายรูปแบบไม่ใช่เฉพาะวงการวัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ลองจับตากระบวนการทำกฐินของวัดต่างๆ ในปีนี้เป็นกรณีศึกษากันดูว่า แต่ละวัดจะงัดกลยุทธ์(วิธีการหลอกล่ออย่างลึกล้ำ) ใดๆ มาห้ำหั่นเชือดเฉือนกัน วัดไหนจะได้เงินกี่หมื่นกี่แสนเหรียญติดตามดูอย่างใกล้ชิด บางที่บางแห่งมีข่าวว่า แข่งขันกันลึกๆ เพื่อแสดงอำนาจวาสนาของศรัทธาญาติโยมกันอย่างระทึกใจ หากยังไม่เข้าเป้าทะลุยอดที่ตั้งไว้ก็ต้องต่อยอดกันต่อไป หาเงินกันเพลินจนลืมไปว่าความหมายของงานกฐินที่แท้ คือการถวายผ้าผืนใหม่ประจำปีให้พระสงฆ์แค่นั้นเอง ส่วนญาติโยมจะถวายปัจจัยสี่แก่พระสงฆ์ตามกำลังศรัทธาที่มีแบบธรรมดาๆ ก็ทำกันไป

คำถามต่อไปว่า การบริจาคเอาหน้าดังที่กล่าวมานั้นได้บุญไหม

ตอบฟันธงลงไปอย่างหนักแน่นว่าไม่ได้บุญแต่ได้หน้า เพราะเจตนาเอาหน้าก็ต้องได้หน้า เพราะเจตนาเป็นตัวบ่งชี้การกระทำและผลของการกระทำ

คำถามต่อไปถามมาว่าบริจาคอย่างไรจึงจะได้บุญ

ตอบฟันธงลงไปว่าต้องตั้งเจตนาให้บริสุทธิ์เพื่อให้ความตระหนี่ถี่เหนียวหมดไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน หน้าที่สำคัญของการบริจาคก็คือเอาชนะความตระหนี่    ความละโมบ ที่เก็บหมักหมมถมทับ หนักหน่วงถ่วงอยู่ในหัวใจให้ผ่อนคลายลงไป

ทุกครั้งที่บริจาคทานพึงตั้งใจให้บริสุทธิ์ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตั้งใจถวายทาน เพื่อสิ้นอาสวะ (ความไม่ดีที่หมักหมมในใจ) พบความชื่นบาน สงบสุขยืนนาน เป็นนิพพานเทอญ

เมื่อใดเกิดความรู้สึกตั้งใจ จริงใจ เต็มใจในการบริจาค ก่อนบริจาคก็รู้สึกปลาบปลื้มเป็นสุข กำลังบริจาคก็รู้สึกปลาบปลื้มเป็นสุข บริจาคแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้มเป็นสุข โดยไม่ต้องมีใครมาบอก มาชื่นชม มายกย่อง มาสรรเสริญหรือแม้แต่ขอบใจก็มีความสุขในตัวเอง เป็นความสุขเพราะอาสวะมันลดไป สิ้นไป เวลานั้นก็เป็นเวลาที่บุญครองใจ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่าการสะสมบุญนำความสุขมาให้ ก็คือการสลัดของหนักลง การสะสมความเบา ความโล่ง โปร่งสบายที่มาจากการให้ เหมือนใบไม้สลัดใบลงไปมากเท่าไร ลำต้นก็เบามากเท่านั้น    นำสิ่งของต่างๆ ที่มีค่ามากหรือน้อยไม่เป็นประมาณออกไปจากบ้านเท่าไร บ้านก็มีช่องว่าง หรือมีที่ว่างมากเท่านั้น

ราคาจำนวนประเภทของสิ่งของไม่เป็นประมาณ เมื่อสละออกไปแล้วย่อมได้ความโล่งโปร่งเบา     ความว่างเพิ่มขึ้นทุกครั้ง

เรื่องการบริจาคเป็นภาระทางใจ ไม่ใช่ใครทำแทนกันได้ต้องทำเอง สัมผัสเอง รู้สึกเป็นสุขเอง

ถ้าถามว่าจะทำทานเมื่อไรดี

ตอบว่าเมื่อมีความรู้สึกว่าพร้อม คือไม่รู้สึกเสียดายหรืออยากได้สิ่งใดตอบแทนคืนมาเลย นั่นคือความพร้อมในการบริจาค การให้ทานเป็นเรื่องของการเพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิต เพิ่มความเมตตา กรุณา เพิ่มความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจกว้างขวางเปี่ยมล้นด้วยมิตรภาพ ลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว พึงกระทำให้ถูกต้องตรงประเด็นแล้วจะได้รับผลตามกฎแห่งการกระทำเป็นความสงบร่มเย็น แม้มิได้ต้องการหรือปรารถนา แต่ผลของการกระทำก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ประดุจการอาบน้ำชำระร่างกาย แม้มิได้อธิษฐานจิตว่าการอาบน้ำครั้งนี้ขอให้ร่างกายสะอาดปราศจากความสกปรก แต่เมื่ออาบน้ำอย่างถูกวิธี ร่างกายก็สะอาดทุกครั้งไป

26 กันยายน 2553

Fairbanks, Alaska.

หมายเลขบันทึก: 518900เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท