ทำบุญผ่อนส่ง


ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

ทำบุญผ่อนส่ง

อุบาสกและอุบาสิกา สองคน มาเยี่ยมวัดพุทธปัญญาเพื่อสนทนาธรรมไขข้อข้องใจในพุทธธรรมและกิจกรรม ที่พุทธศาสนิกชนได้กระทำกันในรูปแบบต่างๆ ด้วยจุดประสงค์ที่ตรงกัน คือ การบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะพระพุทธศาสนาจจะเจริญขึ้น หรือ เสื่อมลง ขึ้นอยู่กับความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ และการนำพระพุทธศาสนามาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันอย่างถูกทาง 

 อุบาสกและอุบาสิกาทั้งสองได้ ตั้งปัญหาถามว่า การทำบุญผ่อนส่ง ถูกต้องตามหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาหรือไม่

 ก่อนจะตอบปัญหา ได้ถามอุบาสกอุบาสิกาทั้งสองว่าอาตมาไม่เคยทราบเรื่องการทำบุญผ่อนส่งมาก่อน พอจะยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหม ว่า เขาทำกันอย่างไร

 อุบาสกและอุบาสิกาคู่นั้นได้ร่วมกันเล่าให้ฟังว่า มีญาติสนิทกันคนหนึ่ง ไปทำบุญที่วัดวัดหนึ่ง ขณะที่วัดกำลังสร้างศาลา หลังใหญ่ราคาหลายล้านเหรียญสหรัฐ เจ้าหน้าที่ของวัดแห่งนั้นได้ชวนญาติคนนั้นทำบุญโดยนำเอาองค์ประกอบต่างๆ ของตัวอาคารเช่น เสา ประตู หน้าต่าง มาให้ดูแล้วถามว่า จะจองสร้างอะไรดี

 ขณะที่กำลังดูรายการจับจองสิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพนั้น เจ้าหน้าที่ก็โน้มน้าวใจว่า ถ้าสร้างสิ่งนั้นได้อานิสงส์แบบนั้น สร้างส่วนนั้นจะมีโชคอย่างนั้น มีลาภอย่างนั้น องค์ประกอบของศาลาหลังนั้นดูเหมือนว่าจะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่จะบันดาลให้ผู้สร้างมีความมั่งคั่งร่ำรวยมีโชคมีลาภไปเสียทุกอย่าง จนกระทั่งญาติสนิทคนนั้นฟังเพลิน จึงตัดสินใจจองเสาศาลาต้นหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่บรรยายสรรพคุณว่า ใครสร้างเสาศาลาจะมีแต่คนอุปถัมภ์ค้ำจุน ทำการค้าขายก็จะมีคนอุดหนุนกันเนืองแน่น เสาศาลาราคาต้นละ $3,000 ดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา

 เงิน $3,000 ดอลลาร์ ก็มากโข สำหรับคนทำงานรับจ้างทั่วไปที่ต้องนำเงินที่ได้จากการทำงานแต่ละเดือนมาเสียค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมันรถ ค่าประกันรถ ค่าประกันสุขภาพ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องใช้จ่ายให้พอเพียงแก่การดำรงชีพให้รอดในแต่ละวัน

 เมื่อญาติคนนั้นบอกกับเจ้าหน้าที่ทางวัดว่า เงินมากมายขนาดนี้ยังไม่มีจ่ายเลยจะทำอย่างไร

 เจ้าหน้าที่ของวัดก็ตอบอย่างมีไมตรีว่า ค่อยๆ ผ่อนส่งเป็นงวดๆ ไปก็ได้จนกว่าจะครบ $3,0000 ดอลลาร์

 ญาติผู้นั้นเลยถามว่า จะให้ผ่อนส่งเดือนละเท่าไร

 เจ้าหน้าที่ของวัดบอกว่า เดือนละ $100 ดอลลาร์ ก็น่าจะจบภายใน สามสิบเดือน

 ญาติผู้นั้นตกใจที่ค่าผ่อนบุญสูงขนาดนั้นแต่ไม่กล้าปฏิเสธเพราะพูดไปแล้ว จึงนำเงินสดที่ติดตัวไปไม่มากนักออกวางดาวน์ลงไปก่อน $100 ดอลลาร์ เจ้าหน้าที่ก็รับไว้แล้วออกหนังสือรับใบใหญ่ใบหนึ่งเขียนว่า คนชื่อนี้ นามสกุลนี้ ทำบุญ จองเสา ราคา $3,000 ดอลลาร์ จ่ายแล้ว $100 ดอลลาร์ เหลือ ค้างชำระอีก $2,900 ดอลลาร์

 เมื่อญาติผู้นั้นรับเสาศาลามาแล้ว ก็ต้องทำงานรับจ้างมากขึ้น เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปผ่อนชำระบุญที่ตนเองได้ตกลงทำไว้กับวัดหนึ่ง การผ่อนส่งดำเนินไปด้วยดี แต่ความวิตกกังวล ยังไม่หมด หวาดหวั่นใจอยู่เสมอว่า ไม่รู้จะหาเงินผ่อนส่งบุญก้อนนี้ได้หมดหรือไม่อายุก็มากขึ้นทุกวัน จนกระทั่ง ครึ่งปีผ่านไป ญาติผู้นั้นก็ล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง ที่ต้องหยุดงานรักษาอย่างจริงจัง เมื่อหยุดงาน เงินก็ขาดมือและฝืดเคือง ต้องเจียดเงินค่าอาหาร ค่ายาที่มีอยู่น้อยนิดไปผ่อนส่งบุญ เพราะญาติผู้นั้นกลัวว่า หากผ่อนส่งบุญไม่ครบจะไม่ได้ไปสวรรค์ หรือ อาจจะได้แค่ครึ่งทาง หรือ จะต้องตกนรกเพราะรับปากแล้วทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้

 ยิ่งนานวันความวิตกกังวลเรื่องผ่อนส่งบุญก็มีมากขึ้น อาการป่วยก็ยังทรงกับทรุด ได้ปรึกษาญาติว่าจะทำอย่างไรดี เพราะผ่อนส่งบุญไปยังไม่ถึงครึ่งทางต้องล้มป่วยเสียก่อน

 อุบาสกอุบาสิกาทั้งสองคนนั้นเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ก็พอเข้าใจว่า การผ่อนส่งบุญนั้นทำอย่างไร จะถูกหลักการทำบุญไหม

 อาตมาจึงตอบไปตามหลักการแท้ๆ ว่า ในพระพุทธศาสนา การผ่อนส่งบุญด้วยเงินไม่มีแน่ๆ เพราะบุญจะซื้อ หรือ ขายไม่ได้ ต้องทำเอาเอง

 การทำบุญ คือ การทำความดี ทางกาย วาจา และใจ เป็นที่มาของความปลื้มใจ

 ตัวบุญก็คือ ความปลื้มใจ อันเป็นผลจาก การทำดี พูดดี และคิดดี

 การบริจาคเงินเพื่อสร้างถาวรวัตถุ หรือศาสนวัตถุใดๆ นับเนื่องเข้าในอามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ แต่การให้แล้วจะได้บุญหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องวัดใจกันก่อน

 หลักในการวัดใจต้องประกอบด้วย ก่อนที่จะให้ทาน มีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด มีความตั้งใจมากน้อยเพียงใด มีความเต็มใจมากน้อยเพียงใด มีความจริงใจมากน้อยเพียงใด

 ก่อนให้ เป็นสุขหรือไม่ กำลังให้เป็นความสุขหรือไม่ ให้แล้วเป็นสุขหรือไม่

 หากให้ทานแล้วนำใจมาวัดตามหลักเหล่านี้แล้วเข้ากันได้ทุกอย่าง หรือ ตรงกันส่วนมาก ก็พอจะตัดสินได้ว่า การให้ทานนั้นเป็นบุญ แต่ถ้าหากนำมาวัดกันแล้วเข้ากันได้ไม่ถึงครึ่ง เช่น ก่อนให้ก็รู้สึกหนักใจ ขณะที่ตัดสินใจให้ก็หนักใจ ให้ไปแล้วก็หนักใจตลอดเวลา การให้นั้น ก็ไม่น่าจะเป็นบุญ

 การทำบุญผ่อนส่งนี้ถูกต้องตามหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาหรือไม่

 ถ้ามองเฉพาะการให้ การบริจาค ก็กล่าวได้ว่า การให้ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ข้อ ทาน

 แต่การให้แบบผ่อนส่ง นั้น ไม่มีกรณีตัวอย่างในสมัยพระพุทธเจ้าเอาเสียเลย มีแต่ ถ้าตั้งใจจะให้สิ่งใดแล้ว ก็ให้เลย การให้ตามหลักพุทธธรรมนั้น ไม่ได้เพ่งเล็งถึงขนาด หรือ ปริมาณของวัตถุที่จะนำมาเป็นทาน แต่มุ่งสู่การขูดเกลาชำระใจมิให้ตระหนี่ เป็นการให้เพื่อให้ มิใช่ให้เพื่อรับเอาอะไรตอบแทน ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน

 การให้ เป็นเครื่องมือ ชำระความตระหนี่

 แม้ทานที่ให้แล้วมีผล หากให้ด้วยความหวังผลมาก ความบริสุทธิ์ของทานก็จะเจือจางไปเพราะพลังแห่งความโลภ หรือ ความอยากได้มาเบียดบังพลังแห่งทานให้อ่อนกำลังลง เมื่อพูดถึงผลที่จะได้จากการให้ทานพระพุทธเจ้าตรัสพระวจนะอันไพเราะ เหมาะกับคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะที่จะให้ทานไว้ว่า เมื่อใจสม่ำเสมอ วัตถุทาน มากก็ตาม น้อยก็ตาม ไม่เป็นประมาณ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

 หากให้ทานด้วยความรู้สึกว่า จะต้องได้ผลตอบแทนจากทานครั้งนี้ ความรู้สึกนั้นมิใช่ความรู้สึกของทานที่บริสุทธิ์แท้ๆ แต่เป็นความรู้สึกแห่งการลงทุนที่มีสารแห่งความโลภและความตระหนี่เจือปนสูง คุณภาพของทานก็จะน้อยลง กำลังแห่งทานจะอ่อนลง

 แต่ถ้าให้ด้วยความรู้สึกปรารถนาดีที่จะให้ตรงๆ โดยไม่หวังรับผลใดๆ ตอบแทนเลย เป็นทานที่บริสุทธิ์ ไม่มีสารโลภะและความตระหนี่เจือปน พลังแห่งทานย่อมมีมาก ความปลาบปลื้ม อิ่มเอิบ ความเบาใจมีมาก นั้นแหละ ย่อมหมายถึงขณะแห่งใจได้เสวยบุญมากๆ ตามกฎแห่งบุญเอง โดยมิต้องไปคาดหวังหรือเสกสรรปั้นแต่งแต่อย่างใด

 หากพิจารณาตามหลักการให้ทานตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว โครงการให้ทานแบบผ่อนส่งใดๆ ยอ่มไม่ถูกต้องตามหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอนเพราะจะทำให้ผู้ที่ไปรับปากหาเงินมาทำบุยผ่อนส่ง อยู่ในความวิตกกังวลเสียมากกว่าจะอยู่ด้วยปีติปราโมช นอกจากจะไม่พบบุญตามความหมายแห่งความรู้สึกอิ่มเอิบแล้ว เผลอๆหากวิตกมากๆกังวลมากๆ เครียดมากๆ เพราะต้องทำงานหนักขึ้น แบกรับภาระมากขึ้น อาจจะเป็นบาปไปโดยไม่รู้ตัว

 การทำบุญใดๆ ก็ตาม ไม่ควรผ่อนส่งบุญ เพราะจะเป็นการแปลงบุญนิยม ให้เป็นทุนนิยม จะเป็นการแปลงความเสียสละให้เป็นโลภะ แปลง ความโล่งโปร่งเบาสบายสไตล์บุญ เป็นความเครียดดังคนส่วนใหญ่ในโลกทุนนิยมที่กำลังเป็นทุกข์เพราะความเครียดกันมาก

 อย่าทำให้การทำบุญต้องสร้างความเครียดใดๆ เลย จงปล่อยให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้บุญกิริยาวัตถุ เป็นกระบวนการพัฒนา เลิก ลด ละ ความเห็นแก่ตัว ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอิสรภาพ อย่าได้นำเอาวิธีการทางการตลาดมาใช้กับการทำบุญเลย จะเป็นการพันธนาการใจให้อยู่กับความโลภ ความหวัง เสียมากกว่า การให้เพื่ออิสรภาพและความโล่งโปร่งเบา อันเป็นกระบวนการทำบุญที่มีมาแต่ดั้งเดิม

 ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีการทำบุญผ่อนส่ง แต่มีการสะสมบุญ คือ การทำบุญ ตามแบบบุญกิริยาวัตถุ ไม่ว่า จะเป็นการให้ทาน การสมาทานศีล และการเจริญภาวนา ล้วนทำแล้วเสร็จเลย จบเลย ไม่มีการค้างชำระแต่อย่างใด ใครทำมากทำน้อยอีกเรื่องหนึ่ง ก็สะสมกันไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า การสะสมบุญนำสุขมาให้ การสะสมบุญทำได้เรื่อยไป ยิ่งทำยิ่งมีความสุข ทำด้มากก็ยิ่งสุขมาก

 หากใครที่เคยเข้าร่วมกระบวนการผ่อนส่งบุญหรือ ค้าขายศาสนวัตถุต่างๆ ในรูปของการผ่อนส่งบุญแล้วรู้สึกว่า เหน็ดเหนื่อย วิตกกังวล เครียด ทุกข์ จิตใจรู้สึกข้องขัดคับแคบ จงเปลี่ยนมาสะสมบุญเถิด เพราะการสะสมบุญกระทำโดยอิสระ ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ทุกขณะที่ทำไปก็ได้รับความปลาบปลื้มปีติมีสุข ทำได้หลายแบบ กว้างชวาง ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัสถานที่ ไม่จำกัดราคา ไม่จำกัดปริมาณหรือจำนวนแต่อย่างใด

 อุบาสกอุบาสิกาเลยขอบทสรุปว่า ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรกับเสาต้นนี้ ที่ญาตบริจาคเงินไปได้ยังไม่ครบตามจำนวนแต่มาประสบกับความลำบากเสียก่อน จะไปบอกเลิกเขาได้ไหม

 อาตมาจึงแนะนำเขาไปว่า ควรจะไปที่วัดนั้นแล้ว เข้าไปกราบเรียนให้เจ้าอาวาสทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องเลิกผ่อนส่งบุญกลางคัน หวังว่าท่านคงจะอนุญาตให้ยกเลิกได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ไม่พร้อมจะทำต่อไปได้แล้ว

 อุบาสกและอุบาสิกาถามต่อไปว่า เงินที่บริจาคไปแล้วละจะได้บุญบ้างไหม

 อาตมาแนะนำว่า ขอให้ทำใจปลาบปลื้มยินดี ต่อทานที่ได้ตั้งใจทุ่มเทหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้นขอจงสำเร็จเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายที่บ่ายหน้าเข้ามาอาศัยร่มเงาเพราะพุทธศาสนาเพื่อดับทุกข์เข็ญด้วยเถิด

 อุบาสกและอุบาสิกา จึงกราบลาด้วยความหวังว่าจะมีทางออกให้กับญาติที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์ จากบุญผ่อนส่งครั้งนี้

 ขอส่งความปรารถนาดีให้ เรื่องราวยุ่งยากต่างๆ ที่ได้เผชิญ ผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเหตุให้มีความทุกข์ใจคั่งค้างหลงเหลืออีกเลย

 13 มีนาคม 2555 เวลา 3.42 น.

 วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนียบันทึกไว้เมื่อวัย 54 ปี (0/162) 13-01-2013บันทึกการรักษาต่อมลูกหมากตอนที่ 2 (0/64) 07-01-2013บันทึกการรักษาต่อมลูกหมาก (ตอนที่ 1) (0/112) 20-12-2012สงบสุขสดใสในวันปีใหม่ 2556 (0/326) 16-12-2012ศีลสร้างสุข (0/90) 


หมายเลขบันทึก: 518899เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 05:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท