ข้าวโป่งขนมโบราณที่ยังคงความอร่อยตลอดกาล


                                          

ข้าวโป่งขนมโบราณที่ยังคงความอร่อยตลอดกาล

             หลายคนคงคุ้นๆกับขนมชนิดนี้ใช่หรือเปล่าคะ "ข้าวโป่ง" ขนมที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบหลักอีกอย่างของคนไทย โดยเฉพาะชาวอีสานบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่มีข้าวเป็นหลักซึ่งนอกจากข้าวจะกินเป็นอาหารหลักในแต่ละมื้อแล้วบรรพบุรุษเรายังมีแนวคิดที่แหวกแนวออกไปในการนำข้าวมาทำเป็นขนมหวานซึ่งนอกจากข้าวโป่งเเล้วยังมีขนมที่ทำจากข้าวอีกหลายอย่างเช่นข้าวต้มมัด ข้าวตัง กระยาสาท ข้าวทิพย์ ขนมเรียงเม็ดเเละอีกหลากหลายชนิดนับว่าข้าวเป็นอาหารที่อยู่คู่กับชาติเรามานานจริงๆ

              ในที่นี้ดิฉันขอกล่าวถึงข้าวโป่งซึ่งเป็นขนมที่อร่อยทานได้ไม่มีเบื่อซึ่งนอกจากเราได้รับความอร่อยกับขนมชิ้นนี้แล้วยังได้คุณค่าจากคาร์โบไฮเดรตที่มีในข้าวอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นของว่างที่ถูกปากใครหลายคนซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมผู้เขียนอยู่ด้วย การปิ้งข้าวโป่งไว้เยอะหากต้องการให้คงความกรอบคุณเเม่ท่านเคยบอกว่าต้องใส่ไว้ในถุงพลาสติกหรือภาชนะที่มิดชิดห้ามโดนอากาศจะสามารถรักษาความกรอบไว้ได้ซึ่งตอนเเรกเราก็คิดว่าอาจอยู่ได้เเค่วันสองวันเเต่ที่จริงเเล้วมันสามารถคงความกรอบได้เป็นสัปดาห์จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ข้าวโป่งมีที่มาอย่างไรดิฉันได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษามาเพราะเราชอบทานก็ต้องรู้ที่มาของมันซักหน่อย

               ข้าวโป่ง เป็นขนมพื้นบ้านภาคอีสาน  นิยมในฤดูหนาวหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว  การทำเริ่มจากนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำด้วยครกมอง  เมื่อละเอียดแล้วจะเอาใบตดหมูตดหมาหรือย่านพาโหมขยี้กับน้ำแล้วสลัดใส่ครก  เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี  นำน้ำอ้อยโขลกแล้วตำผสมลงในครกจนเหนียวได้ที่นำน้ำมันหมูทามือแล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดงกดก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นให้เป็นแผ่นบางๆแล้ววางบนใบตองที่ทาน้ำมันหมูแล้วตากแดดให้แห้งเมื่อจะรับประทานจึงเอามาปิ้งให้สุก

                  ข้าวโป่งนั้นมีเรื่องเล่าว่าเกิดจากกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่างจากการทำไร่ทำนาจึงได้คิดทำขนมให้เด็กๆได้กินเล่นรวมทั้งได้เป็นเครื่องถวายทานด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้นำไปเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในพีธีบูชาข้าวในบุญเดือนสี่ บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะถวายข้าวจี่ ข้าวโป่ง แด่พระสงฆ์  เพื่อแสดงถึงความเคารพ จากนั้นนำบางส่วนใส่กระทงใบตองเอาแล้วนำไปวางที่หน้าธาตุบรรจุกระดูกของญาติตนเอง เพื่อให้คนที่ล่วงลับแล้วนั้นได้รับประทาน และจะมีการนำไปเป็นเครื่องถวายทานด้วยในบุญผะเหวดโดยจะย่างข้าวโป่งเพื่อใส่ในกันหลอนและถวายเป็นคายเทศ ซึ่งในกันหลอนนั้นจะประกอบไปด้วย ข้าวโป่ง ข้าวสาร หอมหัวแดง พริก และข้าวต้มมัด  ตามประวัติความเป็นมา ในการทำข้าวโป่งนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการทำตั้งแต่สมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้เล่าต่อๆกันมาว่าในสมัยโบราณนั้น เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยมีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ ดังนั้นข้าวจึงถือเป็นอาหารหลักของคนไทย ซึ่งข้าวที่นิยมปลูกก็จะเป็นข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ดังนั้นข้าวจึงเป็นสิ่งที่ถือได้ว่ามีพระคุณต่อชีวิตประจำวันของคนเรา โดยเฉพาะคนอีสานนั้นจะเห็นว่ามีประเพณีที่สำคัญเกี่ยวกับการบูชาข้าว ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีกวนข้าวทิพย์ซึ่งจะทำในช่วงออกพรรษา ประเพณีบุญข้าวจี่  การสู่ขวัญข้าว  ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งประเพณีเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับข้าว นอกจากนี้ในฮิตสิบสองครองสิบสี่ ยังกล่าวถึงการกินข้าวของชาวอีสานว่าต้องทำบุญก่อนปลูกข้าว ทำบุญตอนปักดำ ทำบุญตอนข้าวตั้งท้อง ทำบุญตอนเก็บเกี่ยวเสร็จ ทำบุญขนข้าวขึ้นเล้า ทำบุญก่อนปิดเล้า ทำบุญก่อนเปิดเล้า ซึ่งพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวดังกล่าว เป็นกุศโลบายที่ขัดเกลาให้ชาวนาเคารพข้าวและเห็นคุณค่าของข้าวเป็นอย่างยิ่ง 

                 การทำข้าวโป่งในสมัยก่อนจะมีสูตรและกรรมวิธีอย่างโบราณ และต้องใช้ความอุตสาหะในการทำ คือ จะต้องเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำให้ละเอียดด้วยครกกระเดื่อง ภาษาอีสานเรียกว่า“ครกมอง” เพราะเวลานำข้าวโป่งไปปิ้งจะได้แผ่นข้าวโป่งที่สวยงาม ดังนั้น คนตำจึงต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง เพราะการตำข้าวเหนียวนึ่งสุกยากกว่าการตำข้าวเปลือกหลายเท่า ในการตำต้องใช้เวลานาน เพราะครกกระเดื่องนั้นมีน้ำหนักมาก เวลาใช้เท้าเหยียบปลายครกกระเดื่องแต่ละครั้ง ให้สากโขลกลงไปในครกนั้นต้องออกแรงมาก เมื่อตำข้าวเหนียวนึ่งสุกละเอียดดีแล้ว คนอีสานโบราณจะเอาใบตดหมูตดหมาหรือกระพังโหม ขยี้กับน้ำสลัดกับครกไปพลางตำไปพลาง เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับของชาวอีสานก็ว่าได้  จากนั้นเอาน้ำอ้อยมาโขลกแล้วตำผสมลงไปในครกกระเดื่อง เอาน้ำมันหมูทามือและปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง ต่อไปเอาก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นวางบนไม้แผ่น รีดให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ ตัดใบตองเป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ ทาน้ำมันหมูลงบนใบตอง แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รีดข้าวเหนียวให้มีขนาดเท่ากับใบตอง แล้วนำไปตากให้แห้ง 

                การปิ้งข้าวโป่งจะใช้ฟืนก่อกองไฟขึ้นตรงลานบ้านให้ไฟแรงได้ที่ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกสานห่างๆรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 อัน มีที่จับ เวลาปิ้งเอาแผ่นข้าวโป่งตากแห้งวางบนไม้สานอันหนึ่ง ใช้มือจับชูอยู่เหนือกองไฟพอประมาณ แล้วพลิกไม้ไผ่สานให้แผ่นข้าวโป่งคว่ำลงบนไม้ไผ่สานอีกอันหนึ่ง ซึ่งใช้มืออีกข้างจับเตรียมรออยู่ใกล้ๆ คนปิ้งจะพลิกไม้ไผ่สานสลับกันไปมาจนกว่าข้าวโป่งจะสุก การพลิกข้าวโป่งจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว เพราะข้าวโป่งจะเหลืองเกรียมไม่เสมอกันหรืออาจจะไหม้ได้ ชาวบ้านนิยมทำข้าวโป่งในฤดูหนาว หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพราะเวลาปิ้งข้าวโป่งจะอยู่หน้ากองไฟตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้ทำขนมไว้ทานในครอบครัวและแบ่งปันญาติมิตร 

                ข้าวโป่งอยู่คู่ไทยมานานเราลูกหลานนอกจากจะมีขนมอร่อยๆไว้ทานเเล้วเราควรช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมการกินนี้ให้คงอยู่ไว้ให้เด็กๆรุ่นต่อไปได้มีขนมอร่อยๆทานเช่นเรา ^___^


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

http://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%87&hl=th&tbo=u&tbm=isch&source=univ&sa=X&ei=4usSUafsEMHYrQeZpYCgBA&sqi=2&ved=0CCoQsAQ&biw=1366&bih=667#imgrc=MaFvrFEf9U37XM%3A%3BtUQNaErYVVumrM%3Bhttp%253A%252F%252F2.bp.blogspot.com%252F_kb1CfY_zfeE%252FTUfqKHKQYLI%252FAAAAAAAAA6w%252FXZKaxdOKOEw%252Fs400%252Fwow1.jpg%3Bhttp%253A%252F%252Fkhaopongmsu.blogspot.com%252F2012%252F02%252Fblog-post.html%3B330%3B368


หมายเลขบันทึก: 518759เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขนมวัยเด็กที่ชอบมาก ปัจจุบันหายากแล้ว เพราะสูตรที่แสนอร่อยได้ตายตามหญิงชราผู้ทำไปแล้ว น่าเสียดายจริงๆ ค่ะ

เป็นสิ่งที่ชอบมากๆๆ แต่ตอนนี้หากินได้ยาก


นางสาว ปิยะดา โชติไสว บ้านเขายังพอหากินได้วันหลังถ้ามีโอกาสจะเอามาฝากนะจ๊ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท