Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำอาเซียน (พ.ศ. 2551-2552)


ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

นอกจากบทบาทมากมายที่ประเทศไทยได้เป็นผู้นำ ผู้ร่วมและมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมอาเซียนในด้านต่างๆ ข้างต้น ในช่วงที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน (กรกฎาคม 2551- ธันวาคม 2552) ยังได้เสนอและผลักดันข้อเสนอและการดำเนินการต่างๆ ซึ่งมีผลเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมาอีกมากมาย  จึงขอแยกกล่าวไว้ในส่วนท้ายนี้อีกประเด็นหนึ่งโดยสรุปบทบาทสำคัญนั้นมี ดังนี้

1. การมีผลบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียน และการรับรองแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียน

2. ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ใน 3 ด้าน คือ โครงสร้างด้านพื้นฐาน กฎระเบียบ และด้านประชาชน โดยแผนงานเน้นความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนในเบื้องต้นจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเชื่อมโยงไปภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ต่อไป

3. กองทุนพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่(Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM) วงเงินทุนตั้งต้นจำนวน 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศ+3 (จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น) สมทบร้อยละ 80 (9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประเทศสมาชิกอาเซียนร้อยละ 20 (2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

4. การสร้างอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมภูมิภาค และผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) และให้รัสเซียกับสหรัฐฯ เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS)

5. ผลักดันการจัดตั้งกลไกสำรองข้าวฉุกเฉินในระดับภูมิภาคแห่งแรกของโลก(ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve-APTERR) ซึ่งมีปริมาณสำรองข้าวรวมกัน 787,000 ตัน (การสำรองข้าวของไทยเท่ากับ
15,000 ตัน)

6. การส่งเสริมวาระประชาชน เช่น ผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights- AICHR) คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission for the Promotion and Protection of the Rights of Women and  Children-ACWC)

7. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการสร้างอาเซียน โดยการจัดการพบปะระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคประชาสังคม รวมทั้งการเน้นความสำคัญต่อการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนเพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรสำหรับประชาชน

8. ผลักดันการลงนามความตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) เพื่อใช้แทน AFTA  โดยในปัจจุบัน อาเซียนได้ลด/เลิกภาษีสินค้าระหว่างกันแล้ว โดยอาเซียน 6 ประเทศ ลดภาษีแล้วเสร็จตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 (ไทยลดภาษีสินค้า 8,287 รายการ ลงเหลือร้อยละ 0)

9. ผลักดันการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุน ASEAN Comprehensive Investment  Agreement (ACIA) ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำลังจะดำเนินการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาต่อไป

10. ผลักดันบทบาทของประธานอาเซียนและเลขาธิการอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียนได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม G-20 เมื่อปี 2552 และปีต่อๆ มา ผู้นำเวียดนามและอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม G-20 ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบและบทบาทต่อประชาคมโลก  โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนพฤษภาคม2554 ผู้นำอาเซียนได้กำหนดแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกันในประเด็นสำคัญระดับโลก(common platform on global issues) เช่นการจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเลเป็นต้น


จากที่กล่าวมาทั้งหมด สะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงของประเทศไทยในการสร้างสรรค์ภูมิภาคอาเซียนให้เกิดสันติสุขและความเจริญมั่นคงอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยจึงควรมีความตระหนักในบทบาทต่างๆ ที่ผ่านมาและร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์อันดีนี้สืบต่อไป




คำสำคัญ (Tags): #ประธานอาเซียน
หมายเลขบันทึก: 517904เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท