Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ


ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนประเทศไทยมีบทบาทนำอย่างสม่ำเสมอในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้  เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งและความสงบสุขของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุมครั้งสำคัญต่างๆ ของอาเซียน ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนามในความตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฉบับซึ่งล้วนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมและของไทยเอง อาทิ ปฏิญญาสมานฉันท์แห่งอาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการลงทุน สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน (Preferential Trading Arrangement หรือ PTA) ในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางการค้าด้วยการลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยมีบทบาทนำด้านเศรษฐกิจอาเซียนในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบทบาทที่สำคัญ ดังนี้

  1. การเสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA)

ในการประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 4  ณ สิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 อาเซียนเห็นชอบกับแนวคิดของนายอานันท์  ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ซึ่งเสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน  (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) ขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตสำคัญในการป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก  นับเป็นพัฒนาการของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่การจัดทำความตกลงแม่บทว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนพ.ศ.2535  (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation 1992) โดยตกลงในหลักการเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ค้าขายระหว่างกันให้มีอัตราภาษีต่ำสุดภายในระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536

ในเรื่องดังกล่าวนั้น  ต่อมาที่ประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี  พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) มีมติให้เร่งกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีศุลกากรขั้นต่ำสุดดังกล่าวให้เร็วขึ้นเป็นภายใน  10 ปี กล่าวคือ พยายามลดภาษีสุดท้ายให้เหลือร้อยละ 0-5 % ภายในปี 2546 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนทีพยายามดำเนินการตามพันธกรณีของ  AFTA อย่างเคร่งครัด

บทบาทข้างต้นของประเทศไทยในฐานะผู้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนโดยเริ่มจากเสาเศรษฐกิจ
ซึ่งต่อมา (พ.ศ.2546) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) และนำมาสู่การจัดทำกฎบัตรอาเซียนโดยลำดับ(สำนักงาน ก.พ., 2555: 23)

 

2.การเสนอให้เร่งรัดจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน (ASEAN
Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit)

ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำรัฐบาลอาเซียน  ครั้งที่ 1  ณ กรุงจาร์กาตา เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) ไทยก็ได้มีส่วนผลักดันมติสำคัญต่าง ๆ ในเรื่องเศรษฐกิจ ได้แก่ การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision) ให้ครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและสังคมของอาเซียน โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน ซึ่งต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม 2541 ที่กรุงฮานอย ได้มีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน
(ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) และปัจจุบันไทยยังเป็นประธานคณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกการคมนาคมขนส่งอาเซียน

นอกจากนี้  ไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในส่วนของโครงสร้างขั้นพื้นฐานในระดับภูมิภาค  อนุภูมิภาค และการพัฒนาระบบการคมนาคม ตลอดจนระดมเงินทุนจากประเทศภายนอกภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน

3.การส่งเสริมการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Initiative
for ASEAN Integration หรือ IAI )

ความสำเร็จของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นได้ยาก หากสมาชิกในกลุ่มมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน  ดังนั้นเพื่อให้อาเซียนก้าวขึ้นเป็น”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”ได้อย่างสมบูรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2558 สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจึงต้องลดช่องว่างระหว่างประเทศอาเซียนเก่ากับประเทศสมาชิกใหม่คู่ไปกับการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับภายนอกภูมิภาค  ซึ่งสองประเด็นนี้เป็นภารกิจสำคัญของโครงการ “ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน”  Initiative for ASEAN Integration เรียกย่อๆ ว่า IAI   การริเริ่มแผนงาน IAI เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และบูรไน กับสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ ที่เรียกว่า กลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2543 ต่อมามีการจัดทำ IAI Work Plan เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มประเทศ CLMV ลดปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันบนเวทีโลก โดยมีโครงการพัฒนา 4 ด้านหลัก คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ในเรื่องการค้าสินค้าและบริการ มาตรฐานต่างๆ และการลงทุน

การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้กำหนดให้การลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเป็นเป้าหมายหนึ่งโดยมีการกำหนดแผนงาน เช่น ช่วยให้สมาชิกใหม่ 4 ประเทศพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐในการพัฒนาหรือดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสังคม เป็นต้น(กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2551: รายการวิทยุ)

สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความช่วยเหลือทวิภาคีแก่ CLMV มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน 6 โดยมีมูลค่าเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน) รวมทั้งมีการดำเนินการต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้


- ในกรอบ IAI ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2554 ไทยมีโครงการทั้งสิ้น 18 โครงการ มูลค่ารวม 1,333,662ดอลลาร์สหรัฐ(เป็นมูลค่าที่รวมเงินสมทบจากองค์กรและประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย/สถานะ ณ เดือน3 กรกฎาคม 2554)
ไทยเป็น co-shepherd กับกัมพูชาในสาขาย่อยด้านการคมนาคม  ภายใต้ความร่วมมือสาขาโครงสร้างพื้นฐานและสาขาย่อยด้านบรรยากาศการลงทุน ภายใต้ความร่วมมือเพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจ

- ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 -2554 ไทยได้ดำเนินโครงการ ดังนี้


1) โครงการ An Educational Program to Assist CLMV Countries inImplementing
Multimodal Transport Operations ปี 2551 โดยกรมขนส่งทางน้ำร่วมกับกรมอาเซียน

  2) โครงการ Successful Operationalization of ASEAN Framework Agreement on Multimodal
Transport ระยะที่ 2 ปี 2552 – ปัจจุบัน โดย กรมขนส่งทางน้ำร่วมกับกรมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วครบทั้ง 4 ประเทศ

  3) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในหัวข้อ Enhancing Investment Climate in CLMV Countries โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ BOI และ JICA เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม
2551 ที่กรุงเทพฯ

  4) การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทประจำปีการศึกษา 2552 แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ทุน โดยกรมอาเซียนร่วมกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้พิจารณาคัดเลือกสาขาการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์และสนับสนุนการดำเนินการของ IAI ในการลดช่องว่างเพื่อการพัฒนาในอาเซียน 7 สาขา ได้แก่

(1) Master of Engineering in Civil Engineering

(2) Master of Rural Development Management

(3) Master of Public Health in Health Systems Development

(4) Master of Arts in Sustainable Development

(5) Master of Business Administration in Hospitality and Tourism Management

(6) Master of Science in Information Technology

(7) Master of Science in Renewable Energy

(กรมอาเซียน, 2555: ออนไลน์)


นอกจากไทยจะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อมติและความตกลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง
ๆ ของอาเซียนแล้ว การที่ไทยสนับสนุน ดร. สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง บุคคลสัญชาติไทย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่อง
AFTA  เข้าดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการอาเซียน ตั้งแต่ 1 มิ.ย. พ.ศ. 2510 – 31 พ.ศ. 2542 ซึ่งดูแลรับผิดชอบงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการมีบทบาทอย่างแข็งขันของไทยต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระดับหนึ่งด้วย  และยังไม่รวมถึงบทบาทสำคัญเมื่อครั้งไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน(พ.ศ.2551-2552) ซึ่งจะได้สรุปไว้ในตอนท้ายด้วย




หมายเลขบันทึก: 517902เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท