อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน : เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของลุงตู่


อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษาในวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า หัวข้อ บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : บุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรตสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

                                                           28 มกราคม 2556

เรื่อง  อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน

เรียน  นายทะเบียนท้องถิ่น เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

อ้างถึง  1. หนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอความเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิ  ในสัญชาติไทยและคุ้มครองสิทธิอาศัย รวมถึงสิทธิในการอยู่อาศัย นายชาญ สุจินดา ผู้ทรงสิทธิ  ในสัญชาติไทย แต่กลายเป็นคนเสมือนไร้รากเหง้า โดยโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษา  ด้านสถานะและสิทธิบุคคล ลงวันที่ 7 มกราคม 2556

2. คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 5843/2537

3. คำสั่งนายทะเบียน ตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร. 31) ที่ 302/2556  ของนายชาญ สุจินดา กรอกคำร้องโดยนายสมชาย บำรุงจิตต์ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

  ตามที่นายทะเบียนท้องถิ่น เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งกระทำการในฐานะนายทะเบียนท้องถิ่น ตามมาตรา 8/2[1] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ข้าพเจ้า นายชาญ สุจินดา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2484 แต่บิดาและมารดาไม่ได้แจ้งเกิด เนื่องจากช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าเกิดนั้นอยู่ระหว่างภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ข้าพเจ้าจึงได้มาติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการทางทะเบียนต่อสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และหลังจากได้รับคำแนะนำจากโครงการบางกอกคลินิก ในวันที่ 8 มกราคม 2556 ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิในสัญชาติไทย และคุ้มครองสิทธิอาศัย รวมถึงสิทธิในการอยู่อาศัยของข้าพเจ้า รายละเอียดปรากฏตามเอกสารอ้างถึงลำดับที่ 1 จากนั้นข้าพเจ้าจึงมาขอคำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหากับสำนักงาน  เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556

ในวันที่ 14 มกราคม 2556 สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ข้าพเจ้า ซึ่งสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายได้แนะนำให้ข้าพเจ้ายื่นคำร้องเพิ่มชื่อข้าพเจ้าในทะเบียนบ้าน  (ท.ร. 14) เพื่อบันทึกข้าพเจ้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ในฐานะคนสัญชาติไทย ตามมาตรา 36[2]  แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551  และในวันเดียวกันข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร  (ท.ร. 31) เพื่อขอเพิ่มชื่อข้าพเจ้าในทะเบียนบ้านตามคำแนะนำ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไม่ได้ให้ข้าพเจ้ากรอกคำร้องด้วยตนเอง ซึ่งสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายอ้างว่าต้องกรอกคำร้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้กรอกคำร้องให้ และในคำร้องไม่ได้อ้างถึงบันทึกถ้อยคำพยานจำนวน 4 คน กล่าวคือ บันทึกถ้อยคำพยานของนายชาญ สุจินดา(ข้าพเจ้า) นายประเมิน เกาสละ นางเล็ก แซ่ตั้ง และพันเอกล้วน จันทร์เผ่าแสง ซึ่งข้าพเจ้านำมาด้วยในวันนั้น นอกจากนี้ข้าพเจ้า  ยังได้อ้างแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเรื่องการรับฟังและน้ำหนักของพยานบุคคล ซึ่งปรากฏชัดในแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5843/2537 ด้วย รายละเอียดปรากฏตามเอกสารอ้างถึงลำดับที่ 2

ท้ายที่สุด ภายในวันที่ 14 มกราคม 2556 นี้เอง ท่านได้มีคำสั่งตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร  (ท.ร. 31) ที่ 302/2556 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 ว่า “ไม่อนุญาต ตามคำร้องรายการที่ 2. ขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน และแจ้งให้ผู้ร้องทราบเหตุผลที่ไม่อนุญาตเพราะพยานเอกสารไม่เพียงพอ เห็นควรสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม”รายละเอียดปรากฏตามเอกสารอ้างถึงลำดับที่ 3 โดยท่านยังไม่ได้พิจารณาถึงพยานหลักฐานที่ข้าพเจ้าอ้างถึง ทั้งพยานเอกสาร  พยานบุคคล และคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5843/2537 นอกจากนี้ท่านยังไม่ได้แสวงหาพยานหลักฐานอื่นที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงของข้าพเจ้า เพื่อให้ท่านได้รับข้อมูล ความคิดเห็นอย่างครบถ้วนก่อนการวินิจฉัยออกคำสั่ง

ข้าพเจ้าในฐานะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครอง ตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร. 31) ที่ 302/2556 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 ขอโต้แย้งว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันขัดต่อมาตรา 29[3]  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึงท่านยังไม่ได้เปิดโอกาส  ให้ข้าพเจ้าทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่ให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อข้อสงสัยของท่านก่อนที่ท่านจะมีคำสั่งทางปกครองปฏิเสธสิทธิของข้าพเจ้า อันเป็นการขัดต่อมาตรา 30[4] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ตามคำร้องและบันทึกถ้อยคำพยาน ซึ่งข้าพเจ้าได้ยื่นต่อท่าน ในวันที่ 14 มกราคม 2556 ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าข้าพเจ้ามีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด กล่าวคือ ข้าพเจ้ามีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 3(1)[5] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ข้าพเจ้ามีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 7(1)[6] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 10[7] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2535 และข้าพเจ้ามีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามดินแดน ตามมาตรา 3(3)[8] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 รวมถึงข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาโดยตลอด ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย และเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียน  (ท.ร. 14) ในสถานะคนสัญชาติไทย สาเหตุที่ข้าพเจ้าไม่มีสูติบัตร อันเนื่องมาจากขณะข้าพเจ้าเกิดอยู่ระหว่างภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง และเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร บิดาและมารดาของข้าพเจ้าจึงไม่ได้แจ้งเกิดให้ข้าพเจ้า อันส่งผลให้ข้าพเจ้าไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน  (ท.ร. 14) ในสถานะคนสัญชาติไทย ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้าพเจ้าจะตกสำรวจตรวจสอบเพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร ในปี พ.ศ. 2499 แต่ข้าพเจ้าก็ยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะเพิ่มชื่อข้าพเจ้าเข้าในทะเบียนบ้าน  (ท.ร. 14) ในสถานะคนสัญชาติไทย ตามมาตรา 37[9] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 93[10] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย  การจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

ด้วยเหตุผลข้างต้น คำสั่งทางปกครองตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร. 31) ที่ 302/2556 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556  จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ปฏิเสธและกระทบต่อความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของข้าพเจ้า ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ รวมถึงปฏิเสธและกระทบต่อสิทธิในการเพิ่มชื่อของข้าพเจ้าเข้าในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วย  การทะเบียนราษฎร ในขณะที่ท่านออกคำสั่งทางปกครองไม่อนุญาตดังกล่าว เหตุผลประกอบคำสั่งทางปกครองของท่าน ระบุเพียงว่า “พยานเอกสารไม่เพียงพอ เห็นควรสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม”นั้น คำสั่งทางปกครองดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 37[11] แห่งพระราชบัญญัติ  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพราะในวันที่ 14 มกราคม 2556 ข้าพเจ้า ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลโดยเป็นพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งบันทึกโดยนักศึกษาภาคบัณฑิต  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อท่านแล้ว แต่ท่านกลับไม่นำมาพิจารณาก่อนที่จะออกคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าว และประการสำคัญคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุผลประกอบอย่างเพียงพอ เพราะระบุเพียงว่า “พยานเอกสารไม่เพียงพอ เห็นควรสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม” ถ้อยคำนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ได้อธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพยานเอกสารใดที่ไม่เพียงพอ  และไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้นข้าพเจ้าเกิดก่อนกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร  ปี พ.ศ. 2499 ข้าพเจ้าจะมีพยานเอกสารนั้นได้อย่างไร ดังจะเห็นว่า ศาลฎีกาในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5843/2537 ชี้ว่าในช่วงเวลานั้นการทะเบียนราษฎร์ของประเทศไทยยังไม่เป็นระบบเรียบร้อยดังเช่นทุกวันนี้ การไม่มีสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านจึงไม่ใช่ข้อที่จะพึงตำหนิ  ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะเรียกร้องพยานเอกสารมหาชนจากข้าพเจ้า นอกจากนี้ท่านยังไม่ได้  เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่ให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสโต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อข้อสงสัยของท่านก่อนที่ท่านจะมีคำสั่งทางปกครองปฏิเสธสิทธิ ของข้าพเจ้า ส่งผลให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครองไม่สามารถโต้แย้งหรืออุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการในการพิจารณาก่อนทำคำสั่งทางปกครอง ส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

อย่างไรก็ดี ในการประชุมวันที่ 15 มกราคม  2556 ท่านได้ตอบข้อหารือ  ตามที่ รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าหารือถึงผลคำสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร  (ท.ร. 31) ที่ 302/2556 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 ซึ่งท่านได้กรอกเพื่อข้าพเจ้านั้น ท่านได้ยืนยันว่าคำสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องดังกล่าว เป็นเพียงการไม่อนุญาตเบื้องต้น ไม่ได้เป็นคำสั่งทางปกครอง  อันมุ่งปฏิเสธความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของข้าพเจ้า และสิทธิในการเพิ่มชื่อของข้าพเจ้า  เข้าในทะเบียนบ้านแต่อย่างใด ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ท่านได้ดำเนินการสอบปากคำข้าพเจ้าและพยานบุคคลที่ข้าพเจ้ากล่าวอ้างมาโดยต่อเนื่อง รวมจำนวน 4 ครั้ง กล่าวคือ ลำดับที่ 1 นายชาญ สุจินดา(ข้าพเจ้า) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ลำดับที่ 2 นายประเมิน เกาสละ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ลำดับที่ 3 นางสุวัน แววพลอยงาม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556  ลำดับที่ 4 นางเล็ก แซ่ตั้ง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 นอกจากนี้ท่านได้นัด พันเอกล้วน  จันทร์เผ่าแสง เพื่อสอบปากคำพยานลำดับที่ 5 ในวันที่ 29 มกราคม 2556 อีกด้วย ข้าพเจ้า  จึงตระหนักว่าท่านได้พยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาคำร้องของข้าพเจ้าในการขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน ข้าพเจ้าจึงขอขอบคุณท่านที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดความไร้สัญชาติให้แก่ข้าพเจ้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาสิทธิฟ้องศาลคดีต่อศาลปกครอง และหากการดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐานไม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันสมควร ข้าพเจ้าจึงขอโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร. 31) ที่ 302/2556 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 และขอให้ท่านเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าว รวมถึงขอให้ท่านได้โปรดดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานที่จำเป็นต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของข้าพเจ้าจนแล้วเสร็จตามคำร้องของข้าพเจ้า  ในวันที่ 14 มกราคม 2556 เพื่อพิจารณาประกอบคำร้องขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านดังกล่าว ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายปกครองต่อไป

  

จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการต่อไปด้วย


ขอแสดงความนับถือ

(นายชาญ สุจินดา)


----------------------------------------------------------------------------

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ http://www.mediafire.com/?j30i63tcyyb2nba

----------------------------------------------------------------------------



[1] มาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า“ให้มีนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้

(1)  อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้อำนวยการทะเบียนกลาง มีอำนาจออกระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดแบบพิมพ์เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และแต่งตั้งรองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง และผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง

(2) ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด

(4) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนอำเภอ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ

(5) ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการเขต ปลัดเมืองพัทยาหรือหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนท้องถิ่น และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น

ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตาม (1) จะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือจะมอบหมายให้ข้าราชการสังกัดกรมการปกครองช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดด้วยก็ได้

นายทะเบียนกรุงเทพมหานครตาม (2) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานครหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับกองในสำนักปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนกรุงเทพมหานครก็ได้

นายทะเบียนจังหวัดตาม (3) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนจังหวัดก็ได้

นายทะเบียนอำเภอตาม (4) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ หรือปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนอำเภอก็ได้

นายทะเบียนท้องถิ่นตาม (5) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น รองปลัดเทศบาลผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต รองปลัดเมืองพัทยา หรือรองหรือผู้ช่วยหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้”

[2] มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

[3] มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจง หรือความเห็นของคู่กรณีหรือของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่กรณีกล่าวอ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็นฟุ่มเฟือยหรือเพื่อประวิงเวลา

(3) ขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

(4) ขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(5) ออกไปตรวจสถานที่

คู่กรณีต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และมีหน้าที่แจ้งพยานหลักฐานที่ตนทราบแก่เจ้าหน้าที่

พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

[4] มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง

(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้

(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง

(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ”

[5] มาตรา 3(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(1) บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในราชอาณาจักรก็ดี เกิดนอกราชอาณาจักรก็ดี”

[6] มาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1)   ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

[7] มาตรา 10 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

หมายเลขบันทึก: 517631เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2013 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท