เหตุใด "ครัวฉัน" จึงสำคัญกว่า "ครัวโลก" ?


ความคิดคำนึงจากการไปเยือนวังน้ำเขียว เกี่ยวกับความมั่นคง ยั่งยืน และการพึ่งตนเอง ของชาวไร่ชาวนา)

บนโต๊ะอาหารเย็นในคืนก่อนที่จะเดินทางไปร่วมเปิดโรงเรียนแก้หนี้-แก้จน มหาวิทยาลัยชีวิต ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่วังน้ำเขียว อันเป็นโครงการร่วมระหว่างสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนกับกับภาคีในท้องถิ่น ลูกสาวเปรยขึ้นมาว่า ถ้าจะทำธุรกิจควรทำธุรกิจอะไร ผมตอบว่า น่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อชีวิต โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ลูกสาวบอกว่าประเทศนี้มีชาวไร่ชาวนาที่ประกอบการผลิตอาหารอยู่มากมาย ทำแล้วมีปัญหาราคาผลผลิตจนต้องปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เช่น ให้นำเงินภาษีมาชดเชยให้ ทำให้ผมแปลกใจว่า พ่อค้าผลิตสินค้าก็กำหนดราคาขาย ชาวนาผลิตข้าวปลาอาหารแล้วพ่อค้าก็กำหนดราคาซึ่งเป็นเรื่องที่ "ผิดปกติ" ในสังคม หรือเปล่า?

นั่งฟังการบรรยายและอภิปรายของฝ่ายต่างๆ ที่วังน้ำเขียวเมื่อวานนี้แล้วก็เกิดความคิดคำนึงเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ยั่งยืน และการพึ่งตนเองของเกษตรกรขึ้นหลายอย่าง ดังนี้

  • ปลูกต้นไม้ด้วยกิ่งตอน ต้นไม้ไม่แข็งแรง หากินไม่เก่ง ต้องพึ่งพาคนปลูกมากกว่าปลูกด้วยเมล็ด
  • ปลูกต้นไม้ด้วยเมล็ด ต้นไม้มั่นคง ยั่งยืน เพราะมีรากแก้ว (แต่หากเพาะเมล็ดแล้วถอนต้นกล้าไปปลูก รากแก้วก็อาจขาดได้ ถ้าจะให้ดีก็ขุดหลุมฝังเมล็ดให้งอกตรงนั้นเลย)
  • ปลูกไม้ยืนต้น คนปลูกได้อาศัย ได้ความมั่นคง แข็งแรง ยั่งยืนไปด้วย คนก็พึ่งไม้ยืนต้นที่ตนปลูกได้
  • ปลูกพืชล้มลุก คนปลูกก็มักล้มลุกไปด้วย ยิ่งพืชล้มลุกอย่างข้าวโพดที่ใช้พื้นที่มหาศาลนับหมื่นนับแสนไร่ (เนื่องจากราคาต่ำ ต้องอาศัยปลูกเยอะๆ ในพื้นที่มากๆ) เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะเริ่มปลูกใหม่ต้องอาศัยซื้อพันธุ์จากบริษัททุกครั้งเพราะเมล็ดที่ได้นำมาปลูกไม่ออกฝักหรือฝักลีบ
  • เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงกุ้ง หรือเลี้ยงอะไรก็ตามที่สัตว์เหล่าน้้นพึ่งตนเองไม่ได้ หรือระดับการพึ่งตนเองในธรรมชาติต่ำ ต้องพึ่งอาหารจากบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ในที่สุดคนเลี้ยงก็จะพึ่งตนเองไม่ได้ และเป็นหนี้เป็นสินกันเป็นจำนวนมาก (หนี้สินระบาด)
  • บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรกล่อมชาวไร่ชาวนาด้วยวาทกรรม "ครัวโลก" ที่ชวนให้หลงไหล เคลิบเคลิ้ม กว่าจะคิดได้ว่า "ครัวฉันก็สำคัญ" และสำคัญกว่าเสียด้วย ฉันก็เป็นหนี้เป็นสิน สูญเสียที่ดินทำกิน อุรุงตุงนัง
  • "ครัวกู" จึงมาก่อน ช่วยตนเองได้ก่อนจึงจะช่วยคนอื่นได้
  • มีความสัมพันธ์ที่แปลกๆ อยู่ระหว่างบริษัทเหล่านี้กับชาวบ้าน นั่นคือ เป็นหุ้นส่วนที่ฝ่ายหนึ่งได้แน่นอน อีกฝ่ายหนึ่งไม่แน่ว่าจะได้หรือเสีย นั่นคือ คนปลูกคนเลี้ยงต้องเสียค่าพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ (ที่ถูกทำให้ขยายต่อเองไม่ได้) ค่าหัวอาหารหรืออาหาร ค่ายา ในราคาที่บริษัทกำหนดอย่างแน่นอน แต่ต้องขายให้กับบริษัทเหล่านั้นหรือขายให้ใครก็ได้ในราคาไม่แน่นอน ณ ราคาตลาดในวันที่ต้องขาย (เพราะถึงเวลาต้องขาย เลี้ยงต่อไปน้ำหนักก็ไม่เพิ่มอีกแล้ว มีแต่จะกินเพิ่มขึ้น)
  • เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงกุ้ง หรือเลี้ยงอะไรที่พึ่งตนเองได้ คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองเป็น ได้เศษอาหารจากเจ้าของบ้างเป็นของแถม คนเลี้ยงก็จะพึ่งไก่ พึ่งปลา และพึ่งตนเองได้

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๓ มกราคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 517225เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2013 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

.... จริงๆ ด้วยนะคะ .... ครัวเราต้องสำคัญกว่า นะคะ ..... ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ ..... 

"สังเกตุ..ว่า..ครัว..คนเมือง..มัก..จะ..ฝากท้องไว้กับ..ครัว..ข้าง..ถนน"....สวน.ครัวบ้าน.สวน.ครัวเมือง..ซื้อจาก..ศูนย์การค้าชื่อดัง..โลทัส..บิกซี..และอื่นๆเป็นต้น.."...โอกาศเกิด..คงจะต้อง..กำหนด..การแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่...อิอิ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท