คมความคิดการบริหารธุรกิจ


นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เคยล้มเหลวมาก่อน

เปิดประเด็น

ผมมีโอกาสเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาปริญญาโท MBA.ในมหาวิทยาลัยราชภัฏฯมาหลายรุ่น
ทุกรุ่นที่เข้ามาเรียนพบว่ามีนักศึกษาที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จหลายคน  แต่ละคนมาเรียน MBA.ไม่ต้องการใบปริญญา แต่มาเรียนเพราะมีเหตุผลอื่นๆ เช่น ต้องการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และต้องการมีเพื่อน

เป็นคุณอำนวย

ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผมจะสวมบทคุณอำนวย (Facilitator) ทำหน้าที่ประสานงานจัดการความรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดแนวปฏิบัติที่แต่ละคนมีประสบการณ์ ความรู้ฝังลึก (Tacit  Knowledge) นำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมทั้งมีการซักถามถึงแนวทางการปฏิบัติจัดทำที่ดำเนินการมา ซึ่งมีทั้งปัญหา แนวทางแก้ไขและความสำเร็จ

ช่วยกันระดมความคิด

กลเม็ดเด็ดพรายที่ผมใช้ในการระดมความคิด มักจะใช้กรณีศึกษา (Case Study) ที่เป็นสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และใช้คำถามกระตุ้นต่อมความคิดเป็นการท้าทาย
ให้นักศึกษาร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหา/พร้อมทั้งกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการป้องกัน/แก้ไขปัญหา  ซึ่งในระยะเริ่มแรกเครื่องยังไม่ร้อนผู้สอนต้องเปิดประเด็นนำร่องไปก่อน จากนั้นบรรดาความคิดต่างๆก็จะเริ่มพรั่งพรูมาจากทุกๆคน  แต่ไม่สับสนวุ่นวายเพราะจะมีคุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ช่วยกันสรุปประเด็นสำคัญเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา (Knowledge Assets) ที่น่าสนใจและท้าทายต่อการนำไปปฏิบัติทดลองนำไปใช้ในการทำงานจริงๆ

พิชิตความสำเร็จ

สิ่งที่เป็นข้อค้นพบจาการระดมความคิดการบริหารธุรกิจ พบว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการธุรกิจยุคใหม่ (New Economy) ส่วนใหญ่จะมีคุณลักษณะเด่นดังนี้
1. เรียนรู้  - เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ทันโลก ทันสมัย ทันเหตุการณ์
2. สู้งาน - เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน (กัดไม่ปล่อย)
3. ประสานสัมพันธ์ - เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์กับทุกฝ่าย (Stakeholder)
4. ก้าวทันเทคโนโลยี - เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการนำข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยี (ICT) มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ
5. มีวิสัยทัศน์ - เป็นผู้ที่มองการณ์ไกล กำหนดเป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้
6. พัฒนานวัตกรรม - เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตรงตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
7. ดำเนินธุรกิจด้วยจรรยาบรรณ  - เป็นผู้ทีมีจรรยาบรรณ และตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility)

  ดร.ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
          10 ต.ค. 48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5171เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท