ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๓๒.ตรวจตาพบต้อ



          หลังการผ่าตัดวุ้นตาเมื่อวันที่ ๑๙ ก.ค. ๕๕  และหมอให้กลับบ้านเมื่อวันที่ ๒๐ และตรวจติดตามผลเมื่อวันที่ ๒๖ ก.ค.  และ ๑๖ ส.ค. ๕๕  ตามที่เล่าไว้ที่นี่  ผมมีนัดตรวจติดตามผลครั้งที่ ๓ ตอนเช้าวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๕๕ ที่ห้องตรวจตาตึกสยามินทร์ชั้นล่าง  ผมเดาว่าเป้าหมายหลักคือดูว่าต้อกระจกที่ตาขวาก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง  ผมลองปิดตาทีละข้างพบว่าตาขวามัวลงไปมากเวลาอ่านหนังสือก็ไม่สะดวกอย่างแต่ก่อน

          คราวนี้โชคดี ผมไปรับบริการแบบคนไข้ธรรมดาไม่ติดตราวีไอพี จึงได้เข้าไปนั่งรอรวมกับคนไข้คนอื่นๆ ทำให้ได้สังเกตว่าคนไข้ที่ไปนั่งรอเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งสิ้น  บางคนสูงอายุมากจนต้องมีลูกหลานมาเป็นเพื่อน

          ผมได้มีโอกาสสังเกตการให้บริการของผู้ช่วยพยาบาลที่ทำหน้าที่ให้บริการเบื้องต้น เช่นเตรียมคนไข้สำหรับการยิงเลเซอร์  การตรวจสายตา  การหยอดยาขยายม่านตา เตรียมให้หมอตรวจตาด้วย slit lamp เป็นต้น

          ได้มีโอกาสสังเกตสภาพห้องตรวจว่ามี slit lamp ๓ ตัว  มีเครื่องวัดความดันโลหิต ๑ เครื่อง  เป็นเครื่องวางพื้นมีล้อเลื่อน เครื่องมือเหล่านี้แตกต่างจากสมัยผมทำหน้าที่แพทย์ตรวจผู้ป่วยเมื่อ ๔๐ ปีก่อนโดยสิ้นเชิง

          เจ้าหน้าที่เรียกคนไข้ไปรับบริการเรียงตามคิว  ทำให้ผมชอบมากเพราะผมได้มีโอกาสไปนั่งเข้าแถวเหมือนคนไข้คนอื่นๆ ได้สัมผัสความรู้สึกในการรอ  ได้สังเกตเหตุการณ์ในห้อง  ได้ฟังถ้อยคำและน้ำเสียงที่เจ้าหน้าที่ระดับล่างพูดสื่อสารกับคนไข้ ซึ่งมักเป็นคนแก่งกๆเงิ่นๆ และรู้สึกชื่นชมที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้พูดจาสื่อสารกับคนไข้อย่างดีไม่มีการขู่ตะคอกอย่างสมัยก่อน  ยุคสมัยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

          ใบนัดบอกว่านัดเวลา ๘.๐๐น.  แต่ให้ไปถึงก่อนเวลา ๓๐นาที  ผมไปถึงเวลา ๗.๓๐น. และได้นั่งรอหน้าเคาน์เตอร์พยาบาล   ก่อน ๘ น. เล็กน้อยก็ได้รับเรียกไปนั่งรอในห้องตรวจ เป็นราวๆคิวที่ ๕   นั่งรอสักครู่ราวๆ ๑๐นาที ก็ถูกเรียกไปวัดสายตาซึ่งผลคือตาขวาของผมมัวลงไปมากจริงๆ  แล้วให้กลับมานั่งรอที่หน้าเคาน์เตอร์อย่างเดิมตอนนี้เวลา ๘.๑๕ น. คนไข้มาเพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มเก้าอี้นั่ง  พอ ๘.๒๐ น. พยาบาลก็มาหยอดยาขยายม่านตา โดยเดินมาบริการถึงที่ คือหยอดกันตรงที่ผมนั่งเก้าอี้รอหน้าเคาน์เตอร์

          ระหว่างนั่งรอนอกจากนั่งสังเกตเหตุการณ์โดยรอบ  ผมก็อ่านหนังสือบ้างจดบันทึกบ้างใน iPad (เป็นการบันทึกณเวลาจริง) อีกสักครู่ อ. วิม (ศ. พญ. วณิชา  ชื่นกองแก้ว) เดินผ่านมาก็ทักทายกันคุยกันเรื่องงานปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ แล้วท่านก็ฉกตัวผมไปตรวจต้อกระจก  และอธิบายรายละเอียดว่าหากผมรำคาญตอนอ่านหนังสือก็ผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออกใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนได้แล้ว

          ผมรีบบอกว่าผมอยากผ่าตัดเลยเมื่อกำหนดเวลาได้โดยอ. วิมบอกว่าต้องนอนพักหยุดงาน๒สัปดาห์อ. วิมใช้กล้องตรวจจอตาที่มีไฟติดหน้าผากและเลนส์มือถือเอามาจ่อใกล้ๆตาและบอกว่าจอตาปกติ (นี่คือข่าวดีสำหรับคนเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอย่างผม)

          พร้อมทั้งชวนเดินไปที่ตึกโอพีดี เพื่อตรวจตา วัดเลนส์เทียม เพื่อเตรียมผ่าตัด  ไปถึงห้องวัดเลนส์เทียมท่านก็เรียก "พี่นก" นักตรวจวัดเลนส์เทียมให้มาช่วยวัดผมหน่อย  พร้อมกับกระซิบบอกว่า "ต้องจองให้มือหนึ่งตรวจจะได้แม่น  หากปล่อยตามคิวอาจได้มือใหม่และผลอาจไม่แม่น" 

          คุณนก นอกจากฝีมือดียังอัธยาศัยดีมากอีกด้วย  ผมไม่ได้สังเกตจากการพูดกับผมนะครับ ต้องสังเกตจากการพูดกับเจ้าหน้าที่ระดับเด็กๆ

          คุณนกตรวจผมด้วยเครื่องมือ๓เครื่องคือเครื่อง auto-refraction, เครื่อง auto-AOL, และเครื่อง ultrasound  คุณนกบอกว่าของอ. วิมต้องตรวจทั้งเครื่อง  AOL และ ultrasound เพื่อให้ยืนยันกันผมได้รับการดูแลอย่างดีเสมอ

          นอกจากนั้นผมยังได้รับการตรวจความดันตาโดยใช้เครื่องอัตโนมัติเช่นกันเอาคางวางตาจ่อกล้องเจ้าหน้าที่บอกว่าโดนลมเป่าตาหน่อยนะขวาทีซ้ายทีและบอกว่าปกติค่า๑๓กับ๑๗

          แล้วคุณนกก็พาผมเดินไปหาอ. วิมที่ห้องตรวจผู้ป่วยที่ชั้นเดียวกันปรึกษาหารือกัน  ครู่หนึ่งก็ได้วันผ่าตัดคือ ๒ เมษายน ๒๕๕๖  อ. วิมจองห้องที่ฉก. ๕ ชั้นเดิมที่ผมเคยนอนโรงพยาบาล ได้ห้องทันทีและให้พยาบาลจัดการทำใบนัดผ่าตัดพาไปนัดห้องผ่าตัด  เสร็จก่อน ๙.๓๐ น.

        จะเห็นว่าผมกลายเป็นวีไอพีไปโดยปริยาย เมื่ออ.วิมมาพบตัว

          เมื่อผมกลับมาที่ห้องตรวจตาตึกสยามินทร์ชั้นล่าง  ผมก็กลายเป็นวีไอพี  พยาบาลถามว่า อ. หมอโสมนัสตามไปตรวจที่โอพีดีพบกันไหม เมื่อไม่พบเขาก็บอกให้ไปรอที่ห้องหัวหน้าพยาบาล และโทรศัพท์ตาม อ. หมอโสมนัสกลับมา  เขาบอกว่าอ. หมอโสมนัส มีนัดคนไข้ที่นี่อีก นั่งรอไม่นานพยาบาลก็มาตามไปตรวจ slit lamp กับอ. หมอโสมนัส  โดยผมแจ้งว่านัดผ่าตัดต้อกระจกแล้วในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ ท่านตรวจแล้วบอกว่าเรื่องจอตาของผมหมดปัญหาแล้ว ไม่มีการนัดต่อ

          ท่านบอกว่าผ่าตัดต้อกระจกข้างขวาแล้ว ผมจะติดใจเพราะตาจะสว่างโล่งจนจะมาขอผ่าข้างซ้ายอีก  ความหมายก็คือ ตาซ้ายของผมก็เป็นต้อกระจกพอจะผ่าตัดได้แล้วเหมือนกัน


วิจารณ์ พานิช

๒๔ ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 516981เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2013 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2013 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านแล้วเห็นทั้ง มิติของภาพเหตุการณ์ เวลา สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างการเขียนเรื่องเล่า "ปัจจุบันขณะ" สำหรับผมครับ

ขอบคุณครับ

สำหรับผม...ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ จากศิษย์...online

หายเร็วๆนะคะ รออ่านตอนผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัดด้วยค่ะ

อ. หมอโสมนัส ท่านคงพบคนไข้ที่ติดใจมาเยอะมากแน่ๆค่ะ เพราะคุณย่าของหลานๆก็ผ่าตัดตาเรื่องนี้ไปแล้วก็ติดใจ ขอทำอีกข้างเหมือนกันค่ะ ตอนท่านอายุ 70 กว่าๆ ตอนนี้ 85 แล้วรู้สึกว่า ตาคืออวัยวะที่"เด็ก"ที่สุดของท่านในตอนนี้ค่ะ เชื่อว่าสำหรับอาจารย์แล้วการผ่าตัดตาของอาจารย์จะยังประโยชน์ให้อาจารย์และพวกเรา"ลูกศิษย์ออนไลน์"ได้อีกอย่างมหาศาลเลยค่ะ

ขอเรียนรู้ต้นแบบชีวิตที่ดี ผ่านงานเขียนของอาจารย์ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท