คำตอบของครู


คุณเป็นครูแบบไหน ลองมาดูคำตอบกันค่ะ

แว่นขยาย

ก่อนอ่านคอลัมน์นี้ กรุณาตอบคำถาม โปรดเลือกข้อ A1 – A6 ที่ตรงใจกับท่านมากที่สุดในแวบแรก มาดูคำถามและคำตอบกันค่ะ

Q : “คุณมาเป็นครูเพราะอะไรคะ”

A1 : “ไม่รู้สิ ก็ไม่รู้จะเรียนอะไร เห็นว่าครูเรียนจบง่ายดี เลยลองมาเป็นครู”

A2 : “เป็นครูก็ดีเพราะสบาย กลับบ้านเร็ว เหมือนครูที่ต่างจังหวัด สอน ๆ แป๊บเดียวบ่ายก็ได้กลับบ้านแล้ว แถมมีปิดเทอมได้พักเหมือนเด็กด้วย”

A3: “ต่อไปครูจะรวย เพราะเขาจะยกระดับวิชาชีพให้เท่าแพทย์ เดี๋ยวนี้เขา Start 15,000 บาทแน่ะ ต่อไปก็จะมีวิทยฐานะ อีก กว่าจะเกษียณนะก็ปาเข้าไปตั้งครึ่งแสนแล้ว”

A4: “อยากให้ชีวิตที่ดี ๆ กับนักเรียน คือ ให้ทั้งความรู้และความดี อยากจะลองสร้างคนดี ๆ ให้เกิดขึ้นดูบ้าง”

A5 : “อยากเป็นครูเพราะเห็นตัวอย่างของครูที่ประทับใจสมัยมัธยม เลยรู้สึกว่าอยากเป็นครูที่ดีแบบนั้นบ้าง”

A6 : “ชอบอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนอื่นเข้าใจมาตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบอ่านหนังสือเอามาสอน มาติวเพื่อน อยากให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เราอธิบาย”

ดูคำตอบแล้ว มาดูคำเฉลยกัน

 

ใครที่เลือกข้อ A1 – A3 อาจจะต้องปรับความคิดเกี่ยวกับการเป็นครู เพราะวิชาชีพครูต้องอาศัยความอดทน พยายามที่จะถ่ายทอดทั้งความรู้และคุณธรรมให้แก่ศิษย์ ดังนั้น “ความสบาย” และ “เงินเดือน” จึงไม่ควรเป็นตัวแปรสำคัญในการเป็นครู

  ส่วนผู้ที่เลือกข้อ A4 – A6 ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ ว่าคุณมีลักษณะของครูต้นแบบที่ดี มีความเป็นครู ที่พร้อมจะพัฒนาศิษย์ให้เป็นคนดีต่อไป

  เมื่อพูดถึงความเป็นครู ก็ต้องพูดถึง “จรรยาบรรณวิชาชีพครู” เพราะในฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึง “วิชาชีพครู” ว่าจะเป็นวิชาชีพได้ ต้องมีจรรยาบรรณครู แล้วจรรยาบรรณครู คือ อะไร

 

จรรยาบรรณครู คือ ประมวลพฤติกรรมที่กำหนด ลักษณะมาตรฐานการกระทำของครู อันจะทำให้วิชาชีพครูก้าวหน้าอย่างถาวร โดยที่ครูจะต้องดำเนินการเรียนการสอนโดยการยึดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพต่อผู้ เรียน และต่อตนเอง ในการทำหน้าที่ของครูให้สมบูรณ์

 

จรรยาบรรณในวิชาชีพ หมายถึงประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อผดุงเกียรติและสถานะ ของวิชาชีพนั้นก็ได้ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จะต้องได้รับโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้

 

จรรยาบรรณในวิชาชีพ จะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะจำแนกอาชีพว่าเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาชีพที่เป็น “วิชาชีพ” นั้นกำหนดให้มีองค์กรรองรับ และมีการกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพซึ่งเรียกว่า “จรรยาบรรณ“ ส่วนลักษณะ “วิชาชีพ ” ที่สำคัญคือ เป็นอาชีพที่มีศาสตร์ชั้นสูงรองรับ มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวิชาชีพมีการจัดการสอนศาสตร์ดังกล่าวในระดับ อุดมศึกษาทั้งการสอนด้วยทฤษฏีและการปฏิบัติจนผู้เรียนเกิดความชำนาญ และมีประสบการณ์ในศาสตร์นั้น นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนมี “จรรยาบรรณในวิชาชีพ” เพื่อให้สมาชิกในวิชาชีพดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานดังกล่าวหลักที่กำหนดใน จรรยาบรรณวิชาชีพทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง และต่อสังคม

 

คุรุสภาได้ปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของครูขึ้นใหม่ โดยตัดข้อความที่มีลักษณะเป็นวินัยออกไปเหลือเพียงบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็น จริยธรรมหรือจรรยาบรรณ  เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วย  จรรยาบรรณครู  พ.ศ.2539  โดยประกาศใช้ตั้งแต่  วันที่  7  พฤษภาคม  2539 

อ้างอิงจากพระราชบัญญัติครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี จรรยาบรรณครูพ.ศ. 2539 คู่มือการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา สภาครู และบุคลากรทางการศึกษา

   
 
   
 
   
   
   
 
   
 
   
   
   

ที่กล่าวถึงจรรยาบรรณครูว่ามี ๙ ข้อ ๕ ด้าน คือ ด้านการพัฒนาตน ด้านการพัฒนาวิชาชีพ ด้านต่อผู้รับบริการ ด้านเพื่อนครู และด้านสังคม แต่ดิฉันเห็นว่าอาจจะยาวและจำยาก จึงมาร้อยเรียงเป็นเพลงที่ร้องง่าย ๆ (แต่บางวรรคอาจไม่สัมผัสกัน จึงขอเรียกว่าเพลงจะดีกว่า) ดังนี้

 

                ๑ ครูต้องรักและเมตตาศิษย์   ๒ ครูต้องคิดอบรมและสั่งสอน

        ๓ ประพฤติตนดีงามอย่างถาวร       ๔ ไม่บั่นทอนความเจริญของศิษย์เรา

        ๕ ไม่แสวงหาอามิสและสินจ้าง      ๖ เร่งสร้างความรู้ทันโลกเขา

        ๗ รักศรัทธาวิชาชีพเนิ่นนานเนา      ๘ ที่คอยเฝ้าช่วยเพื่อนครูและชุมชน

        ๙ ทั้งยังเป็นผู้นำนักอนุรักษ์            ที่ประจักษ์เทิดภูมิปัญญาไทย

        หน้าที่ครูจึงประเสริฐเลิศวิไล           สร้างสังคมชาติไทยให้เจริญ

 

       หากครูทุกท่านทำหน้าที่ของครูได้ทั้ง ๙ ประการนี้ จะถือว่ามีความเป็นครูที่สมบูรณ์ ควรแก่การยกย่องบูชาของศิษย์ แต่ถ้ารู้สึกว่ากว่าจะจำทั้ง ๙ ข้อได้ คงยาก จึงขอให้ทำแค่ ๒ ข้อ ก็ถือว่ามีความเป็นครูแล้ว นั่น คือ “แนะ” และ “นำ”

 

       แนะ คือ สอนให้ทำ แต่สิ่งที่ดี ๆ โดยสอนความรู้ที่ถูกต้อง และสอนการใช้คุณธรรมในวิชาที่เราสอน เพราะทุกวิชาย่อมมีข้อเสีย คือ นำมาทำร้ายคนอื่นได้ การสอนคุณธรรมในวิชาของเรา จึงเป็นการ “เตือน” ไม่ให้ลูกศิษย์นำความรู้ไปทำความชั่ว

       นำ คือ ทำให้ดู ครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ศิษย์ เราสอนอย่างไร ควรประพฤติตนอย่างนั้น เพราะการกระทำ ศักดิ์สิทธิ์กว่าคำพูด ทั้งกิริยาท่าทาง คำพูด ความตรงต่อเวลา และคุณธรรม สิ่งเหล่านี้ที่ครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับศิษย์

       เพราะฉะนั้นครูที่ดี จึงต้องมีศีล ๕ ครบถ้วน และต้องคอยสอนให้ศิษย์มีปกติของความเป็นมนุษย์ คือ ศีล ๕ และ “ครู” คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะสอนเขา ในสังคมที่วุ่นวาย ผู้คนแล้งน้ำใจ เรื่องเพศและความรุนแรง นับวันยิ่งจะรุมเร้าลูกศิษย์ของเราให้เสียคนง่ายขึ้น หากครูยังรักษาศีล ๕ ได้ไม่สมบูรณ์ แล้วศิษย์จะไปหาต้นแบบที่ดีมาจากไหน

  ดังนั้น จึงอยากจะขอร้องให้ครูทุกท่าน ช่วยกันฟื้นฟูสังคมโลก ด้วยตัวของ “ครู” เอง โดย แนะ และ นำ แต่สิ่งดี ๆ ในที่สุด สังคมของเราก็จะมีแต่คนดี เพิ่มขึ้น

หมายเลขบันทึก: 516498เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2013 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท