สัญชาติกับความเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป (Nationality and European Citizenship)


สัญชาติกับความเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป

Nationality and European Citizenship

  ดร. รัชนีกร ลาภวณิชชา*



ความนำ

เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า “รัฐ” จะต้องประกอบด้วยดินแดนที่แน่นอน ประชากร และอำนาจอธิปไตย เป็นเหตุให้รัฐสมัยใหม่ (Modern State) นำสัญชาติมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการจัดการประชากร และเพื่อแยกให้ชัดเจนว่าบุคคลใดมีสัญชาติของตน รัฐจำเป็นต้องอาศัย “จุดเกาะเกี่ยว” ระหว่างบุคคลกับรัฐนั้นมาเป็นเกณฑ์ให้การให้สัญชาติ และการที่บุคคลใช้สิทธิในสัญชาติของรัฐหนึ่งๆย่อมนำมาซึ่งประโยชน์ตลอดจนความคุ้มครองในทางระหว่างประเทศ แม้แต่ในสหภาพยุโรปก็นำสัญชาติมาใช้เพื่อกำหนดผู้ทรงสิทธิในสถานะพลเมืองสหภาพเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์จะเป็นอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่บทความนี้ต้องการจะคลี่คลาย นอกจากนี้ยังมุ่งจะตอบคำถามที่ต่อเนื่องมาจากประเด็นแรกว่าสัญชาติถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิในทุกเรื่องหรือไม่

๑. “สัญชาติ” ในฐานะของฐานแห่งสิทธิบางประการ

  ๑.๑ สัญชาติ : เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสถานะพลเมืองสหภาพยุโรป

  บุคคลผู้มีสถานะพลเมืองสหภาพยุโรปหรือที่เรียกว่า European citizen นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น เรื่องนี้ได้รับการรับรองอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ยุคของสนธิสัญญา Maastricht 1992 (Treaty on European Union) โดยได้บัญญัติไว้มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๒๒ จากนั้นเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวก็ยังคงหลักการเดิมนี้ไว้ตลอดมา ดังที่ปรากฏให้เห็นในมาตรา ๒๐ แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยวิธีบริหารงานของสหภาพยุโรป (Treaty on the Functioning of the European Union : TFEU)[1] ความว่า

  “(...) บุคคลทุกคนที่มีสัญชาติของรัฐสมาชิก ย่อม (มีสถานะ) เป็นพลเมืองสหภาพ ทั้งนี้สถานะพลเมืองสหภาพเพียงแต่เป็นส่วนเพิ่มเติมและมิได้แทนที่สถานะของพลเมืองของรัฐที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ”[2]

  ด้วยเหตุนี้ในเรื่องเงื่อนไขของการเป็นผู้ทรงสิทธิในความเป็น “พลเมืองสหภาพยุโรป” นั้น จึงเป็นที่ยุติว่า บุคคลดังกล่าวต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิกสหภาพรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น และความเป็นพลเมืองสหภาพยุโรปจะเป็นสถานะคู่ขนานไปกับสถานะคนชาติของรัฐสมาชิก นอกจากนี้ยังสามารถสรุปได้อีกประการหนึ่งจากบทบัญญัติเหล่านี้คือ สถานะพลเมืองสหภาพนั้นได้ถูกสงวนไว้ให้แต่เฉพาะคนชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น โดยมิได้รวมถึงคนชาติของรัฐที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แม้ว่าคนเหล่านี้จะได้รับสิทธิอาศัยถาวรในรัฐสมาชิกสหภาพ และการได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปรัฐใดรัฐหนึ่งย่อมทำให้บุคคลนั้นเป็นพลเมืองสหภาพโดยผลของสนธิสัญญาที่กล่าวมา  

  อย่างไรก็ดี การเปิดประเด็นด้วยเรื่องสัญชาติ และการย้ำในตอนท้ายว่าต้องเป็นผู้ “มีสัญชาติ” เท่านั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า เพราะเหตุใดในยุโรปซึ่งดูเหมือนมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นที่ซึ่งมีการริเริ่มและเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึง “สิทธิมนุษยชน” จึงได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญาฉบับสำคัญอันเป็นเสาหลักของสหภาพยุโรปในลักษณะที่ให้ความสำคัญต่อสัญชาติถึงขั้นที่ให้เฉพาะแต่ผู้ที่จะมีสถานะพลเมืองสหภาพยุโรปได้นั้นจะต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิกเท่านั้น โดยเฉพาะบรรดานักกฎหมายสัญชาติหรือ NGOs ที่เป็นมนุษย์นิยมทั้งหลายคงพากันตั้งคำถาม ผู้เขียนจึงขอคลี่คลายในลำดับถัดไปว่าอันที่จริงการระบุไว้ในสนธิสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ

  ๑.๒ พลเมืองสหภาพยุโรป : เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิเลือกตั้ง

  ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าการบัญญัติให้ใช้ “สัญชาติของรัฐสมาชิก” เป็นเกณฑ์นั้นก็เพื่อประโยชน์บางประการ กล่าวคือ ถ้าเราพิจารณาจากตัวบทมาตรา ๒๐.๒ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยวิธีบริหารงานของสหภาพยุโรป (TFEU) ซึ่งเกี่ยวด้วยสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง จะพบว่าทั้งสองมาตรากล่าวถึง

  ก. สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป (Member of the European Parliament) โดยคนต่างด้าวซึ่งเป็นพลเมืองสหภาพแม้ว่าจะมิใช่คนชาติของรัฐที่ตนอาศัยอยู่ ก็มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปในรัฐสมาชิกที่ตนมีถิ่นที่อยู่ได้ ทั้งนี้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกันกับคนชาติของรัฐนั้นทุกประการ ยกตัวอย่างเช่น นายบี คนสัญชาติเยอรมัน เดินทางไปทำงานในปารีส ประเทศฝรั่งเศสและมีถิ่นที่อยู่ประจำที่นั่น เมื่อถึงคราวเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป นายบี ย่อมมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้เช่นเดียวกับคนฝรั่งเศส ทั้งๆที่นายบีเป็นคนสัญชาติเยอรมัน เห็นได้ว่า “สัญชาติเยอรมัน” เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้นายบีเป็นพลเมืองสหภาพยุโรปและมี “สิทธิเลือกตั้ง” ในระดับสหภาพนั่นเอง ในขณะที่บุคคลที่มีสัญชาติของรัฐอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปนั้น แม้ว่าจะมีสิทธิอาศัยถาวรก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ประโยชน์ที่ได้รับคือ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่พลเมืองสหภาพผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ใช้สิทธิโดยสะดวก ไม่ต้องเดินทางกลับไปยังรัฐเจ้าของสัญชาติของตน อีกทั้งยังเป็นการรับรองการเคลื่อนย้ายเสรีของบุคคลในสหภาพยุโรป (Free circulation of persons) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มสหภาพด้วยอีกทางหนึ่ง

  ข. สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับสหภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในสนธิสัญญาเช่นกัน กล่าวคือ ทุกคนที่เป็นพลเมืองสหภาพยุโรปมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสมาชิกใดของสหภาพยุโรปก็ได้ หากไม่ใช่รัฐที่ตนมีสัญชาติ ก็ต้องเป็นรัฐที่บุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่ประจำ ดังตัวอย่างข้างต้น นายบี สัญชาติเยอรมัน ย่อมมีสิทธิที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปในพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศส (ปารีส) เช่นเดียวกันกับคนสัญชาติฝรั่งเศส  

  เมื่อได้คำตอบในเบื้องต้นแล้วว่า “การมีสัญชาติ” ของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อบุคคล คำถามที่ตามมาก็คือ ความเป็นคนชาติจะเป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ อย่างไร

   

๒. “สัญชาติ” และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในสหภาพยุโรป

  หากถามว่าการมีและได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปนั้น ผู้ทรงสิทธิจะต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิกหรือไม่  ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องเริ่มจากการพิเคราะห์ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ก่อนว่าหมายรวมถึงสิทธิประเภทใดบ้าง หากเราไม่อาจจำแนกสิทธิที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานออกจากสิทธิอื่นๆ (หากมี)ได้ เราจะไม่สามารถตอบได้ว่าสิทธิใดบ้างที่เป็นของคนชาติ สิทธิใดบ้างที่ใช้เกณฑ์ “ความเป็นมนุษย์” ในการพิจารณาผู้ทรงสิทธิ  

๒.๑ ความหมายของคำว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน” 

  ยังมีความสับสนระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) อยู่บ้าง สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ เมื่อเรากล่าวถึงสิทธิมนุษยชนมักจะเป็นการกล่าวอย่างกว้างค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น สิทธิในเสรีภาพ สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน แต่สิทธิมนุษยชนจะปรากฏตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้นในลักษณะของ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและทำให้สิทธิเหล่านี้ได้รับการเคารพโดยผ่านทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) กฎหมายประชาคม (Community Law) หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าการรับรองคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ในตราสารระหว่างประเทศนั้นนอกจากจะเกิดผลผูกพันรัฐสมาชิกโดยตรง ยังมีผลไปถึงรัฐที่มิได้เป็นภาคี (ในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ) ในขณะที่การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานโดยกฎหมายภายในประเทศ คือ รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการย้ำให้เห็นว่าสิทธิขั้นพื้นฐานมีลำดับศักดิ์เหนือกฎหมายอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพอย่างแท้จริง คือ การมีองค์กรบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเหล่านี้ หากเทียบกับต้นไม้ก็กล่าวได้ว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นรากแก้ว และสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นกิ่งก้านสาขาก็คงไม่ผิดนัก  

๒.๒ คนต่างด้าวในฐานะผู้ทรงสิทธิในสิทธิขั้นพื้นฐาน

สิทธิในการรักษาพยาบาล คนต่างด้าวแม้มิได้มีสัญชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป ก็มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนชาติของรัฐนั้น ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสที่คนต่างด้าวไม่ว่าจะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม มีสิทธิไม่ต่างจากคนสัญชาติฝรั่งเศส[3] ซึ่งระบบประกันสุขภาพของฝรั่งเศสนั้นครอบคลุมในเรื่องสำคัญเกือบทุกเรื่อง 

สิทธิในเสรีภาพสำหรับการเดินทาง มิได้ถูกจำกัดโดยสัญชาติของคนเดินทางแต่อย่างใด กล่าวคือ ในกรณีของคนชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีภายในดินแดนของสหภาพ หากเป็นกรณีของคนต่างด้าวคือคนชาติของรัฐนอกสหภาพ เมื่อขอวีซ่าเพื่อเข้ามายังประเทศที่เป็นสมาชิกความตกลงเชงเก้น (Schengen Visa) ย่อมสามารถเดินทางได้โดยเสรีไปยังรัฐสมาชิกทุกรัฐของความตกลงนี้ โดยมิต้องขอวีซ่าแยกเป็นรายประเทศ

สิทธิในการมีส่วนร่วมหรือการเคลื่อนไหว สิทธิในการประท้วง หรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ผู้ทรงสิทธิคือผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นๆโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติแต่อย่างใด

สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ ล้วนมีสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในฝรั่งเศสและถูกวิ่งราวทรัพย์ สามารถแจ้งความ และฟ้องคดีต่อศาลภายในของประเทศฝรั่งเศสได้ ไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าปัจเจกชนจะเป็นผู้ร้องในศาลระดับสหภาพคือ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (European Court of Justice)[4] ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับสัญชาติแต่อย่างใด เพียงแค่มีจุดเกาะเกี่ยวกับคดีและรัฐเจ้าของศาลก็สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน และท้ายที่สุดหากจะกล่าวถึงด้านสิทธิมนุษยชนในยุโรป เห็นได้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights: ECHR)[5] ก็มิได้ใช้สัญชาติของบรรดารัฐสมาชิกมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดผู้ทรงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมแต่ประการใด[6]    


ความส่งท้าย

  จากที่ได้ศึกษาบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปมาข้างต้น เห็นได้ว่าการเข้าถึง การได้มาซึ่งสิทธิ และการใช้สิทธิในหลายกรณีซึ่งเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของมนุษย์นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับ “สัญชาติ” แต่อย่างใด การที่สหภาพยุโรปกำหนดให้พลเมืองสหภาพต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิกนั้นเป็นเพียงกรณีเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการกำหนดหน้าที่บางประการในการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับสหภาพเท่านั้น



*อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[1]เดิมคือ สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป (Treaty establishing the European Community หรือ Treaty of Rome)

[2] Article 20 TFEU : (…) Every person holding the nationality of a Member State shall be a citizen of the Union. Citizen of the Union shall complement and not replace national citizenship.

[3]โปรดดู รัชนีกร ลาภวณิชชา, ภาพรวมของกฎหมายประกันสังคมสำหรับคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานในระดับสหภาพ, เผยแพร่ใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/483133 และ การประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวซึ่งมีสถานะผิดกฎหมายในฝรั่งเศส, เผยแพร่ใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/483136

[4]เป็นกรณีที่ถูกจำกัดไว้โดยเงื่อนไขบางประการ คือ เมื่อปัจเจกชนนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากบทบัญญัติของกฎหมายสหภาพยุโรป สามารถร้องขอต่อศาลสหภาพให้เพิกถอนคำตัดสินดังกล่าวได้ (โปรดดูมาตรา 230 §4 TEC) เช่น กรณีที่ปัจเจกชนถูกกระทบโดยคำตัดสินของศาลภายในว่าได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายสหภาพ เป็นต้นว่าขัดต่อ regulation

[5]ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผลของ European Convention on Human Rights ภายใต้ Council of Europe ซึ่งบรรดารัฐสมาชิกของ Council of Europe ทั้ง ๔๗ รัฐเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้

[6]ดู Article 1 The European Convention on Human Rights ซึ่งบัญญัติว่า “ รัฐสมาชิกต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ใน Section 1 ของอนุสัญญานี้ ให้แก่บุคคลทุกคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน” หมายความว่าบุคคลใดก็ตามที่ปรากฏตัวอยู่ในดินแดนของรัฐสมาชิกจะได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ในกรณีที่บุคคลนั้นถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยรัฐสมาชิกดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 515657เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2013 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2013 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฉบับที่ให้ชาวบ้านอ่าน ก็ควรเอามาลงค่ะ ของ อ.แหวว ก็อยากเอามาเผยแพร่ แต่ยังทำไม่ทันค่ะ ตอนนี้ ต้องเอาด่วนๆ ก่อนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท