การศึกษาในมุมมองของผู้นำโลก


ผู้นำโลกกล่าวถึงการศึกษาในฐานะสิ่งที่จะช่วยทำให้เยาวชนรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและสังคมที่เขาดำรงอยู่

         

                          การศึกษาในมุมมองของผู้นำโลก


                                                                                                      เฉลิมลาภ  ทองอาจ
                                                     โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
                                                                    คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



                 สุขสวัสดีปีใหม่ พุทธศักราช 2556  เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศของการเปิดศักราชใหม่และ  การเปิดศักราชแห่งความคิด ผมขออนุญาตใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ  (ซึ่งกระผมไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนักในการเรียบเรียงงานเขียนที่ควรจะใช้  “ภาษาเขียน” มากกว่า)  ในการเรียบเรียงบทความเรื่อง  “การศึกษาในมุมมองของผู้นำโลก” เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านงานของผม ได้เพลิดเพลินไปกับงานเขียนเรื่องนี้ตามวาระโอกาสอันสมควรนี้ครับ 


                เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสรับชมปาฐกถาของผู้นำในระดับโลกสองคนผ่านสื่อในโลกออนไลน์  คนหนึ่งเป็นผู้นำประเทศ อีกคนหนึ่งเป็นผู้นำทางความคิด แต่ยังขาดอำนาจในการปกครอง ทั้งสองได้พูดถึงประเด็นการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผมคิดว่าผมควรจะนำมาบอกเล่าเก้าสิบไว้ตรงนี้ครับ 


  

                 คนแรกคือประธานาธิบดีผิวสีของสหรัฐอเมริกา คือ ฯพณฯ บารัก ฮุสเซน โอบามา ที่ 2 หรือเราเรียกอย่างง่ายๆ ว่า บารัก โอบามา  ที่เพิ่งมาเยือนไทยและส่งสายตาหยาดเยิ้มกับ ฯพณฯ ท่านนายกของบ้านเรา  โอบามาได้พูดถึงสิ่งสังคมอเมริกาจะต้องทำเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ นั่นคือ การทำให้เด็กในอเมริการู้ว่า การศึกษาของพวกเขาคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และความรับผิดชอบที่มากนี้ จะนำมาซึ่ง   การทำงานหนัก (hard works) ในระหว่างการเรียนด้วย  กล่าวคือ  นักเรียนจะต้องรับผิดชอบต่อการเรียน การทำการบ้านและงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายเป็นภาระงานแรก ก่อนที่จะไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะการชมโทรทัศน์และการเล่มเกม  ทั้งนี้ โอบามายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ไม่มีหรอก คนที่ประสบความสำเร็จในด้านศึกษาและการเรียน ที่จะไม่ทำงานหนัก” หรือก็คือ ไม่มีใครหรอกนะ  ที่จะเรียนแบบสบายๆ หรือชิลๆ (ตามภาษาวัยรุ่น) แล้วจะกลายเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตรงกันข้าม  ทุกคนกลับต้องทำงานหนัก รับผิดชอบในงานที่ยาก และอ่านหนังสือมาก ท่านสมาชิกครับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า โอบามากล่าวได้ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง  เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคนให้เจริญงอกงาม แต่ความงอกงามนั้นไม่ใช่ความสบาย  ประเทศที่ผ่านวิกฤตการณ์หรือการแข่งขันหลายประเทศ  แต่เดิมเคยส่งเสริมเรื่องความเป็นสุขในการเรียน คือ ทำอะไรก็ได้ให้เด็กมีความสุข แนวคิดนี้อันตรายยิ่ง เพราะการให้เด็กชินกับความสุข แต่ไม่เคยให้เด็กรับรู้ว่า โลกเป็นทุกข์นั้น ถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับความจริงของชีวิต  ก้าวแต่ละก้าวของการก่อเกิดนั้น มาจากความยากลำบากทั้งสิ้น แนวคิดใหม่ของการศึกษา ซึ่งโอบามาเน้น คือ การรับผิดชอบต่อเป้าหมายของตนเอง และทำทุกวิถีทางเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม  แต่น่าเสียดายว่า การศึกษาของเราในปัจจุบัน กลับไม่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของเด็ก ถ้าสุ่มนักเรียนขึ้นมาสักคนว่าเขาอยากเรียนอะไรหรือเป็นอะไร หลายคนจะตอบได้ทันทีว่า “แล้วแต่คะแนน” และแม้จะเลือกคณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยที่ตนเองชอบแล้ว บางคนก็ตอบไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่า “ชอบ” หรือ “รัก” สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ ณ จุดนี้หรือไม่  ที่กล่าวมานี้  จริงๆ แล้วจะโทษเด็กก็ไม่ถูก  เพราะเราเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอาจจะไม่ได้สอนให้พวกเขาจับจ้องที่จุดหมายและการค้นหาตนเองให้พบก็เป็นได้ 




                   ผู้นำอีกคนหนึ่งที่ผมชื่นชมเป็นการส่วนตัวและติดตามความคิดของเธอมาตลอดคือผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาของพม่า นั่นก็คือ ฯพณฯ ท่าน ดอว์ อองซาน ซูจี เมื่อปลายปีที่แล้ว เธอได้ไปแสดงปาฐกถา เนื่องในพิธีฉลองการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด  ประเทศสหราชอาณาจักร  อันเป็นมหาวิทยาลัยที่เธอเคยศึกษาอยู่  ทั้งก่อนและช่วงที่จะมาทำงานการเมืองในพม่า สิ่งที่ซูจีพูดถึงเป็น  อย่างแรกคือ  เมื่อเธอกลับมายังอ๊อกซฟอร์ด  เธอได้เห็นความน่ารักสดใส (nice) ของนักศึกษาทุกคนที่เป็นวัยรุ่นวัยเรียน  เธอยกย่องว่า ความน่ารักและความกระตือรือร้นต่อโลก ความกระหายที่จะเรียนรู้ ตั้งคำถาม ค้นคว้าและศึกษาของนักศึกษา คือพลังที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตนเอง  ท่านผู้อ่านครับ  ธรรมชาติของวัยเรียนวัยรุ่น คือวัยที่อยากลอง อยากรู้ และเป็นวัยที่เต็มไปด้วยคำถาม  ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนของท่านสมาชิก นักเรียนไม่อยากรู้ ไม่มีคำถาม ไม่คิดอะไร ปล่อยให้ครูพูดผ่านๆ ไปจะได้ไปทำอย่างอื่น  นั่นคือสัญญาณของความสูญเปล่าที่กำลังจะเกิดขึ้น ซูจีเห็นว่า ความน่ารักอันมีอยู่ในนักศึกษาที่เธอสัมผัสได้เมื่อเหยียบย่างเข้ามายังอ๊อกซฟอร์ด  กลายเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เธอไม่ท้อถอยต่อการปฏิรูปการเมืองในประเทศเผด็จการทหาร  คราวนี้มาถึงคำถามสำคัญของกระผมก็คือ  นักเรียนของเราทุกวันนี้ ยังน่ารัก และใฝ่รู้   มองโลกด้วยสายตาสงสัยและตั้งคำถามอยู่หรือไม่? ท่านสมาชิกที่เป็นครูอยู่แล้ว ท่านย่อมตอบคำถามของกระผมได้ครับ


                   ผู้นำโลกสองคน ได้กล่าวถึงการศึกษาว่า การศึกษาคือการสร้างคนให้รับผิดชอบต่อเป้าหมายของตัวเองและมุ่งมั่นทำงานหนักไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ความรับผิดชอบและมุ่งมั่นมีฐานมาจากความใฝ่รู้และกระตือร้นของผู้เรียน  ผมว่าแนวคิดนี้ตอบโจทย์ปัญาการศึกษาในบ้านเราได้มาก ในฐานะที่ผมและท่านผู้อ่านเป็นครู เราเห็นนักเรียนส่วนหนึ่งขาดเป้าหมาย หาตนเองไม่พบ  ไม่ชอบทำงานหนัก ของานสบายๆ ทำให้เสร็จๆ ผ่านๆ ไปโดยมิได้คำนึงว่านั่นคือสิ่งที่ฝึกฝนตนเอง  เราเห็นนักเรียนที่ขาดความสนใจใคร่รู้ สนใจแต่เรื่องอื่น ที่ไม่ใช่การแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงตนเอง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมและครอบครัวหรือไม่ ผมว่าน่าจะใช่ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งการศึกษาและระบบโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย  ความรับผิดชอบและความใฝ่รู้ตลอดชีวิต นี่เป็นประเด็นที่สำคัญ โรงเรียนจะทำอย่างไร ให้กลายเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศกระตือรือร้น  มีชีวิตชีวา ไม่จืดชืด น่าเบื่อ ห้องเรียนจะเป็นชั้นเรียนแห่งการถกเถียง คิดค้นและประสานพลังความคิดที่จะทำงานเพื่อผู้อื่น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก


                   ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ก่อนที่จะหมดยุคของเราๆ ท่านๆ ไป ลองพิจารณาประเด็นที่กระผมฝากไว้ข้างต้นบ้างก็ได้ว่า  เราเองนี้จะมีส่วนอย่างไรบ้างในการพัฒนาการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นคนรุ่นต่อไป เผื่อว่าท่านจะสร้างชั้นเรียนของท่านตามที่ผู้นำทั้งสองเสนอแนวคิดไว้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้บ้าง 


________________________________________



ความเห็น (1)

"การศึกษาของพวกเขาคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม"  ขอบคุณอาจารย์ที่เขียนบทความนี้ให้อ่าน 


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท