Financial management


การจัดการทางการเงิน

          ด้วยระบบสุขภาพของทุกประเทศในทั่วโลก ต่างประสบกับสภาพปัญหาและความท้าทาย ทางด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพ เนื่องมาจากแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ทั้งจากการค้นพบยาและวิธีการรักษาสมัยใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาแพง ประกอบกับความคาดหวังและอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการด้านสุขภาพและทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศตนเอง อย่างไรก็ตาม แนวทางในการปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านระบบสาธารณสุข ภาระโรค โครงสร้างประชากร และสถานการณ์ด้านการเงินการคลังโดยรวมของแต่ละประเทศ  

         ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ จึงเป็นกระบวนการจัดการทางการเงินในระบบ สาธารณสุขซึ่งส่งผลต่อการผลิตการจัดหาทรัพยากร การวิจัย การจัด   ระบบบริการสาธารณสุข และการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อให้ประชาชน มีสุขภาวะและหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และเนื่องจาก ระบบบริการสาธารณสุข” เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพโดยรวม และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การพิจารณาระบบการเงินการคลังของระบบบริการสาธารณสุข จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น  ระบบการเงินการคลัง หมายถึงกระบวนการให้ทุนสนับสนุนแก่ระบบใดๆ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญหลัก 3 ประการคือ   

          1. การเก็บรวบรวมเงิน (revenue collection) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดหาเงินและทรัพยากรสำหรับสนับสนุนระบบสุขภาพ ให้เพียงพอและมีความยั่งยืน (sustainability) โดยจำเป็นต้องพิจารณาว่าแหล่งการคลังสุขภาพควรมาจากที่ใดและจะจัดเก็บอย่างไร 

          2. การรวมเงินเป็นกองทุน (pooling) และการจัดสรรเงิน (resource allocation) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระจายความเสี่ยงของภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเจือจานรายได้ระหว่างบุคคล และกลุ่มคน รวมทั้ง เป็นการแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ให้บริการ     

          3. การซื้อบริการ (purchasing) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เมื่อมีความจำเป็นด้านสุขภาพ เป้าหมายของระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ จึงต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในระบบบริการสาธารณสุข โดยรวม กล่าวคือ   

             1) เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ทางการเงินของครัวเรือนจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 

             2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมและภราดรภาพ (solidarity) เกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
โดยประชาชนที่มีเศรษฐานะยากจนซึ่งมีความสามารถในการจ่าย ที่ด้อยกว่าควรแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยกว่าคนที่มีเศรษฐานะดีกว่า  

             3) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงและการได้รับประโยชน์จากระบบบริการสาธารณสุขโดยปราศจากอคติทางชาติพันธ์ ถิ่นฐานที่อยู่อาศัย หรือสถานะทางเศรษฐกิจสังคม   

             4) เพื่อให้เกิดความเพียงพอและยั่งยืนของทรัพยากรสุขภาพที่ใช้ในการผลิต การจัดหาและการจัดระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร 

             5) เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพและการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการสาธารณสุข รวมทั้งระบบการบริหารจัดการ    

             6) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนให้มีระบบการตรวจสอบ
สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการและการจัดบริการของระบบบริการสาธารณสุข   

             กองทุนหลักประกันสุขภาพแต่ละระบบเป็นอิสระต่อกัน สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ในขณะที่ระบบประกันสังคมมีคณะกรรมการประกันสังคมที่เป็นตัวแทนจากรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง กำกับภายใต้กฎหมายของตนเอง ในขณะที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการบริหารแบบการเบิกจ่ายงบประมาณตามภารกิจของกรมบัญชีการ นอกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพสามแห่งหลักที่กล่าวข้างต้นยังมีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆที่มีบทบาทในการจัดบริการและจัดการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพรวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ดีในภาพรวมของประเทศ ยังขาดการวางแผนด้านการคลังสุขภาพในภาพรวม รวมถึงขาดระบบข้อมูลที่มีความต่อเนื่องครอบคลุม เพื่อใช้ในการวางแผนและติดตามประเมินผล ประสิทธิภาพของระบบทั้ง ในระดับประเทศและระดับพื้น ที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลการเงินการคลังด้านสุขภาพเพื่อใช้ในการวางแผนระยะปานกลางและระยะยาว และเพื่อบ่งชี้ถึงความยั่งยืนทางการคลังสุขภาพเมื่อมีการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือการกำหนดอัตราเงินสมทบ ของระบบประกันสุขภาพหรือการร่วมจ่ายเมื่อใช้บริการ โดยระบบข้อมูลดังกล่าวควรมีความน่าเชื่อถือเหมาะสม ทันสมัย และพร้อมใช้งานเพื่อการวางแผนและติดตามประเมิน สถานการณ์การคลังของระบบบริการสาธารณสุขในระดับประเทศ




หมายเลขบันทึก: 515067เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท