jagsan
นาย จักรสันต์ เลยหยุด เลยหยุด

Human resource management


 สรุปบทเรียน Human resource management

ผู้บรรยาย : รศ.ดร.มานพ คณะโต

ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


           การจัดการทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้องค์กร มีทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ตลอดจนสามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ประกอบกระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การสรรหาและการคัดเลือก  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การบริหารค่าตอบแทน  สวัสดิการ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การพ้นออกจากงาน  การดำเนินงานต่างๆ  เกี่ยวกับบุคลากร  มีรายละเอียดดังนี้

  1)  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์  หมายถึง  การคาดคะเนความต้องการกำลังคนขององค์กรล่วงหน้าว่าต้องการคนประเภทใด  ระดับใด  จำนวนเท่าไร  และต้องการเมื่อไร  และมีปัจจัยใดบ้างเป็นเครื่องกำหนดการวางแผนกำลังคน

  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นกระบวนการในการพิจารณากำหนดทิศทางและวิเคราะห์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์การ

2)  การสรรหาและการคัดเลือก  การสรรหาและการคัดเลือกหมายถึง  กระบวนการการดำเนินงานขององค์กรจัดทำขึ้นเพื่อ มุ่งจูงใจผู้สมัครที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานในองค์กรของตน  อันได้แก่  แหล่งที่ใช้ในการสรรหา ระยะเวลาในการสรรหา  วิธีการที่ใช้ในการสรรหาบุคลากร  และการตัดสินใจคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน

  การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากรเป็นวิธีการที่จะให้ได้บุคลากรมาร่วมงาน  จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด  ทั้งนี้เพราะว่าการได้มาซึ่งคนดี  มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานมาทำงานก็จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ  ดังนั้นองค์การแต่ละองค์การจึงต้องให้ความสนใจในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ จากแหล่งต่างๆ โดยเพื่อทำการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานให้เข้ามาร่วมงานกับองค์การได้อย่างเหมาะสม

  3)  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  หมายถึง  กระบวนการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคลากรได้เรียนรู้  ปรับทัศนคติในการทำงาน  และให้มีความชำนาญในการปฏิบัติงานมากขึ้น

  ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะครอบคลุมใน 3 เรื่องด้วยกันคือ การฝึกอบรม (training) การศึกษา (education) และการพัฒนา (development)

ขั้นตอนการพัฒนาบุคลากรมี  5 ขั้นตอน  ดังต่อไปนี้  การสำรวจความต้องการ  การกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาบุคลากร  การกำหนดรูปแบบในการพัฒนาบุคลากร  การดำเนินการพัฒนา  การประเมินผล

  4)  การบริหารค่าตอบแทน  การบริหารค่าตอบแทน  หมายถึง  การกำหนดปัจจัยต่างๆ  เป็นหลักเกณฑ์กำหนดค่าจ้างเงินเดือน รวมถึงการจัดสวัสดิการให้แก่บุคลากร การบริหารค่าตอบแทนถือเป็นกลไกสำคัญในการธำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ให้อยู่กับองค์กร  นอกจากนี้ค่าตอบแทนยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรและความพึงพอใจในการทำงานอีกด้วย

ค่าตอบแทน (Compensation) เป็นคำกว้างๆ หมายถึง ค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่องค์กรให้แก่พนักงาน เพื่อตอบแทนการทำงาน หรืออาจหมายถึง ค่าทดแทนที่องค์กรจ่ายเป็นค่าตอบแทนความสูญเสียต่างๆ ของพนักงาน ซึ่งรวมทั้งจ่ายทางตรงและทางอ้อมเป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนั้นการบริหารค่าตอบแทน จึงมีความหมายรวมถึง ค่าจ้างเงินเดือน ผลประโยชน์และบริการ  และค่าตอบแทนทางสังคม

5) สวัสดิการ  สวัสดิการ หมายถึง  ผลประโยชน์อื่นๆ  ของบุคลากรที่องค์กรจ่ายนอกเหนือจากเงินเดือนและค่าจ้าง  ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจจ่ายเป็นเงินสด  สิ่งของ หรือบริการ  เช่น  อาหาร  ค่าพาหนะ  ภาษีเงินได้ที่องค์กรออกให้  เสื้อผ้า  ที่พักอาศัย เป็นต้น

  สวัสดิการเป็นสิ่งที่องค์การหรือนายจ้างเป็นผู้จัดหาให้แก่บุคลากร เช่น ที่อยู่อาศัย ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล อาหารกลางวัน และวันหยุดพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดหาในสิ่งที่นอกเหนือจากค่าจ้างที่จ่ายให้โดยตรง โดยถือเสมือนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่องค์การสมควรปฏิบัติ เพื่อธำรงรักษาและจูงใจบุคคลที่มีความสามารถให้ร่วมงานกับองค์การ ปัจจุบันการจัดสวัสดิการในองค์การมีความสำคัญต่อขวัญ กำลังใจ การธำรงรักษาบุคลากร และความทุ่มเทที่บุคลากรมีให้กับองค์การ 

  6)  การประเมินผลการปฏิบัติงาน  การประเมินผลการปฏิบัติงาน หมายถึง  ระบบที่องค์กรจัดทำขึ้นมา  เพื่อหาคุณค่าของบุคลากรในแง่ของการปฏิบัติงาน  อันได้แก่  การกำหนดบุคคลที่ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงาน  วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน  และวัตถุประสงค์ของการประเมินผลการปฏิบัติงาน

  การประเมินผลการปฏิบัติงาน  เป็นระบบ  (Systematic  Process)  ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำการวัดคุณค่าของบุคลากรในการปฏิบัติงานภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด  ว่าเหมาะสมกับมาตรฐานที่กำหนดและเหมาะสมกับรายได้ที่บุคลากรได้รับจากองค์การหรือไม่  ตลอดจนใช้ประกอบการพิจารณาศักยภาพของบุคลากรในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป 

7)  การพ้นออกจากงาน  การพ้นออกจากงาน หมายถึง  ขั้นตอนกระบวนการที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อ  เตรียมความพร้อมในการเกษียณอายุหรือการต้องออกจากงานที่มิใช้การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

  ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ  การพ้นออกจากงานของบุคลากร  การที่บุคลากรได้พ้นสภาพการทำงานในองค์การ  เป็นแนวความคิดด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่มีการตระหนักถึงความสำคัญของคนมากขึ้น


คำสำคัญ (Tags): #human resource#management
หมายเลขบันทึก: 514981เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2013 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท