การจับประเด็น


ขั้นดำเนินการจับประเด็น

 ขั้นแรก

 ที่ต้องนำมาประกอบการจับประเด็น คือ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนั้น เช่น ต้องรู้ว่ารูปแบบขอบกลุ่มเป้าหมาย ลักษณะหรือวิธีการในขณะนั้นคืออะไรกันแน่ เช่น การประชุมหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสนทนากลุ่ม การอภิปรายคณะ เป็นต้น

ขั้นที่สอง

 การตัดสินใจออกแบบ โดยตัดสินใจว่าจะใช้เครื่องมืออะไร เพราะว่าแต่ละเครื่องมือผู้ที่จะทำหน้าที่จับประเด็นต้องเคยมีประสบการณ์ในการใช้มาก่อนแล้วพอสมควร ต้องรู้จุดเด่นจุดด้อยของเครื่องมือ

ขั้นสุดท้าย

 ดำเนินการจับประเด็น ดำเนินการจับประเด็นเพื่อให้ได้เนื้อหาครบทั้ง 3 ส่วน คือ

  • ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา ส่วนสรุป หรือ
  • จับประเด็นหลัก ประเด็นรอง ประเด็นเสริม หรือ
  • ประเด็นหลัก ประเด็นรอง และประเด็นย่อย

หลักการจับประเด็น

 ต้องอาศัยการฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความนั้นออกมา สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะเบื้องต้นที่ทุกคนจะต้องฝึกฝน เราจะต้องติดตามฟัง ดูเรื่องราวโดยตลอด ดังนั้น จึงต้องมีสมาธิในการฟังและสามารถแยกแยะได้ว่าข้อความใดเป็นใจความสำคัญ และข้อความใดเป็นพลความ ถ้าเราเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอดแล้วเราย่อมจดจำเรื่องราวที่ฟังและสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นฟังได้ด้วย

 ในการฟังแต่ละครั้ง เราต้องจับประเด็นของเรื่องที่ฟังได้ คือ รู้ว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไร เป็นประเด็นสำคัญ และรู้จักว่าอะไรคือประเด็นรองซึ่งขยายประเด็นสำคัญ การฟังเช่นนี้เป็นการฟังเพื่อจับใจความสำคัญและใจความรองและรายละเอียดของเรื่อง

มีวิธีการฟังดังนี้

  • ฟังเรื่องราวให้เข้าใจ พยายามจับใจความสำคัญของเรื่องเป็นตอน ๆ ว่าเรื่องอะไร ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
  • ฟังเรื่องราวที่เป็นใจความสำคัญแล้วหารายละเอียดของเรื่องที่เป็นลักษณะปลีกย่อยของใจความสำคัญ หรือที่เป็นส่วนขยายใจความสำคัญ
  • สรุปความโดยรวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญอย่างครบถ้วน

 วิธีการสรุปความจากการฟังนั้น เราจะต้องค้นหาให้พบว่าสารใดเป็นความคิดสำคัญในเรื่องนั้น ๆ แล้วสรุปไว้เฉพาะใจความสำคัญ โดยเขียนชื่อเรื่อง ผู้พูด โอกาสที่ฟัง วัน เวลา และสถานที่ที่ได้ฟังหรือดูไว้เป็นหลักฐานเครื่องเตือนความทรงจำต่อไป

 ขั้นตอนการสรุปความหลังจากจับประเด็นแล้ว

 1. อ่าน ฟังและดูให้เข้าใจอย่างน้อย 2 เที่ยว เพื่อให้ได้แนวคิดที่สำคัญ

 2.คิดเป็นคำถามว่าอะไรเป็นจุดสำคัญของเรื่อง และคิดต่อไปว่า จุดสำคัญของเรื่องมีความสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง จดสิ่งนั้น ๆ ไว้เป็นข้อความสั้น ๆ แล้วคิดวิธีที่จะเขียนสรุปความให้กะทัดรัดและชัดเจน

 3.เขียนร่างข้อความสั้นๆที่จดไว้ ขัดเกลาและตบแต่งร่างข้อความที่สรุปให้เป็นภาษาที่ดีสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งชัดเจน

 ตัวอย่างการสรุปความ

เรื่อง เราคือบทเรียนของเด็ก

 การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ทุกคนเกิดมาจะโง่ จะฉลาด จะดีจะชั่วขึ้นอยู่กับการศึกษา พ่อแม่ทุกคนปรารถนาจะให้บุตรหลานของตนเป็นคนดี จนถึงกับยอมทนลำบากตรากตรำทำการงานหาทรัพย์สินเงินทองมาเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน นับว่าเป็นหน้าที่และสิ่งที่ควรได้รับการยกย่องในการเสียสละนั้น

 แต่ยังมีสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตเด็ก ก็คือบทเรียนอันเป็น จริยศึกษา ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก นั่นคือการประพฤติปฏิบัติดีงาม เพราะสิ่งที่เด็กได้ยินได้ฟัง ได้รู้ได้เห็นจากพ่อแม่ผู้ปกครองของตน เช่นการพูดจาไพเราะ การงานเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นต้น เป็นบทเรียนอย่างสำคัญ ที่จะซึมซาบเข้าไปในจิตใจของเด็กดียิ่งกว่าหนังสือบทเรียนอื่น ๆ นั้นเป็นการให้การศึกษาที่มีค่ายิ่ง เป็นการปลูกสร้างนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก

 ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นคนดี มีนิสัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา มีความยุติธรรม มีความรัก ความสามัคคีในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะทำให้เด็กเอาอย่างในทางดี เป็นคนดีของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง สมความปรารถนาทุกประการ

 ถ้าปรารถนาดี หวังดีต่อบุตรหลาน อย่าเพียงแต่จะให้ทุนการศึกษาอย่างเดียว ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นบทเรียนที่มีค่าของบุตรหลานด้วย แล้วความปรารถนาของเราก็จะสมหวัง

จาก “แสงธรรม” ของมูลนิธิ ก.ศ.ม.

วิธีสรุปความหลังจากการจับประเด็น เรื่อง เราคือบทเรียนของเด็ก

 1. ขั้นอ่าน ฟัง และ คิด จับแนวคิดได้ดังนี้ พ่อแม่ หาเงินทองมาให้ลูกเรียนอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกด้วยจึงจะนับว่าได้ให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่ลูก

 2. ขั้นเขียน

 2.1 ข้อความที่จดไว้ช่วยจำ การศึกษา เรื่องสำคัญ – คนจะดีจะชั่ว โง่ ฉลาดเพราะการศึกษา พ่อแม่หาเงินมาให้ลูกเรียนเสียสละควรยกย่อง สิ่งที่มีค่าต่อเด็ก – บทเรียนจริยศึกษา คุณธรรม การปฏิบัติตนดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดี รักลูกต้องทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย

 2.2 ข้อความที่สรุปแล้ว การศึกษามีความสำคัญต่อชีวิตเด็ก เพราะสามารถทำให้เด็กฉลาดและเป็นคนดีได้ พ่อแม่ที่รักลูก อยากให้ลุกเป็นคนดีนั้น ไม่ควรจะพอใจเพียงการทำหน้าที่หาเงินมาให้ลูกเรียนเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงบทเรียน จริยศึกษาอันมีคุณค่ายิ่งต่อชีวิตของเด็ก อันได้แก่การที่พ่อแม่เป็นผู้มีคุณธรรมและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในทางที่ดีงามแก่ลูกด้วย

 ดังนั้น การจับประเด็น จะต้องฟังเรื่องให้ดีให้ครบถ้วน จดบันทึกสาระสำคัญ รีบถามหากไม่เข้าใจเนื้อหา ตรวจสอบความเข้าใจโดยการลองสรุปเรื่องราวดูก่อน ต้องมีความรู้เดิมและช่างคิดพิจารณา และอาศัยสื่อช่วย เช่น บัตรคำ Mind Map

 ปัจจุบันเราอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล เป็นยุคที่ข่าวสารข้อมูลหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศจนท่วมท้นหูตาไปหมด คนที่เข้าใจเนื้อหาสาระและ จับประเด็นแม่น จะเป็นคนที่ได้เปรียบ เพราะสามารถรับข่าวสารข้อมูลได้มากมาย ในขณะที่คนอื่นรับไม่ไหว การจับประเด็นจึงถือเป็นทักษะสำคัญของการทำงานทางสังคม ช่วยทำให้เราไม่มองเพียงปรากฏการณ์ แต่สามารถทำให้เรามองอย่างวิเคราะห์แยกแยะและจับสาระสำคัญของเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ


ที่มา : คลังปัญญา

คำสำคัญ (Tags): #จับประเด็น
หมายเลขบันทึก: 514839เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2013 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท