เราควรเก็บความรู้สึกหรือปล่อยให้มันแสดงออกมา?


ในห้องเรียนวิชาการรู้จักตนเองที่ผมกำลังสอนอยู๋ในเทอมนี้ มีนักศึกษาถามว่า เราควรเก็บความรู้สึกต่างๆ ไว้หรือปล่อยให้มันแสดงออกมา?

ผมตอบว่า โดยทั่วไปจะไม่ดีกว่าหรือที่เราจะให้คนอื่นได้ทราบว่าในขณะนั้นๆ เรากำลังรู้สึกอย่างไร? กำลังดีใจ กำลังโกรธ กำลังเศร้า ฯลฯ ไปปิดบังซ่อนเร้นไว้แล้วเขาจะเข้าใจเราและปฏิบัติต่อเราถูกได้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม การจะ "บอก" คนอื่นว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรได้อย่างสร้างสรรนั้น 

ประการแรก   เราต้องเปิดใจยอมรับความรู้สึกตนเองก่อน ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้นะ ผมเองเคยมีประสบการณ์ไม่เปิดใจยอมรับความรู้สึกตนเอง เช่น ขณะเศร้าก็ฝืนยิ้ม พอมองกระจกก็เห็นว่ามีแต่ปากเท่านั้นที่ฉีกออกอย่างฝืนๆ แต่ดวงตาเศร้า (เพราะผมควบคุมตาไม่ได้อย่างปาก) รู้สึกสังเวชตนเองมาก ทำให้คิดได้ว่า "แล้วฉันจะไปปิดบังไว้ทำไม" ปัจจุบันจึงไม่ลังเลใจที่ให้คนอื่นเห็นน้ำตา ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาแห่งความปิติหรือความเศร้าเสียใจ แล้วก็รู้สึกตนเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ มากขึ้น ไม่ทำอะไรตามที่คนอื่นบอกว่าควรหรือไม่ควรเกินไป รู้สึกชีวิตมีอิสระขึ้น โดยเฉพาะเป็นอิสระจากการปล่อยให้ความรู้สึกของโลก(คนอื่น)มามีอิทธิพลต่อความรู้สึกของตนมากเกินไป

ประการที่สอง   เราต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตน ในฐานะเจ้าของความรู้สึกนั้นๆ ด้วยความเข้าใจว่าความรู้สึกทุกอย่างของมนุษย์แต่ละคนล้วนเกิดจากความคาดหวังที่สมหวังหรือไม่สมหวังทั้งสิ้น คนอื่นทำได้เพียงตัวกระตุ้นเท่านั้น (ไม่ใช่เหตุที่แท้จริง)   ที่ว่ากระตุ้นนั้น คือ กระตุ้น "อัตตา" หรือตัวตนเก่า ความฝังใจเก่า ประสบการณ์เก่า ความคิด ความเชื่อเก่า ที่เรามีอยู่ (ตัวตน) หากเราไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ ใครกระตุ้นก็ไม่เกิด ความรู้สึกทุกชนิดจึงเกิดจากเราเอง หาใช่คนอื่นไม่ ด้วยเหตุนี้ "ฉันจึงเป็นเจ้าของความรู้สึกของฉัน และฉันพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตัวฉัน" และ "ฉันจึงไม่โทษคนอื่น" (ฉันจึงเลิกตำหนิหรือเพ่งโทษคนอื่นว่าเป็นตัวการทำให้ฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้)

ประการที่สาม   ต้องเรียนรู้และฝึกทักษะการ "บอก" ความรู้สึกที่แท้จริงของเราต่อผู้อื่นอย่างนุ่มนวลอ่อนโยนกว่าการ "แสดง" อารมณ์ดิบๆ (เช่น กระทืบเท้า ด่าว่า กระโดดเข้าชกหน้า ฯลฯ) เช่น "ลูกจ๋า ใจแม่ไม่สงบ รู้สึกมีความโกรธอยู่ภายใน เนื่องจากแม่รักลูกและคาดหวังว่าลูกจะ...  ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของใครหรอกจ๊ะ...แม่อยากให้ลูก...(บอกความต้องการของเรา)..." เทคนิคคือ "บอกความรู้สึก" ในใจตนตรงไปตรงมาอย่างนุ่มนวล ทั้งด้วยคำพูด สายตา และท่าทาง (ที่ไม่คุกคามคนอื่น) แล้วตามด้วย "ความต้องการ" ของเราที่มีต่อเขา โดยความต้องการนั้นเป็นความต้องการหรือความปรารถนาที่พิจารณาแล้วว่าอยู่ในวิสัยที่เขาทำได้ด้วย

ประการที่สี่   ฝึกความอดทนรอคอย ให้โอกาสและเวลาเขาได้คิดพิจารณาด้วยตัวเขาเอง ด้วยความเข้าใจว่า ไม่มีอะไรสายเกินไปในชีวิตนี้ เราแต่ละคนล้วนเป็นนักเดินทาง ชีวิตนี้เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงตนจนดับ(ทุกข์)ไป ใครที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็จะรอคอยได้ว่าชาตินี้เราและเขาได้เท่านี้ แต่ละคนต้องเดินทางกันต่อไปในชาติหน้าจนกว่าจะดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ข้อนี้เกี่ยวข้องกับประการสุดท้าย

ประการสุดท้าย   ฝึกการปล่อยวาง เรื่องของการปล่อยวางนี้ตรงกับข้อธรรมข้อสุดท้ายในพรหมวิหารธรรม คือ อุเบกขา   พรหมวิหารธรรมมี ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดย ๒ ข้อแรกนั้นคนทั่วไปมักปฏิบัติกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เมตตา ก็คือความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น(และต่อตนเองด้วย)   กรุณา คือ การช่วยให้พ้นทุกข์ ทั้งโดยสิ่งของและโดยกาย วาจา ใจ เช่น การกล่าวคำให้อภัยต่อผู้อื่นหรือต่อตนเอง(แสดงความกรุณาต่อตนเอง)ก็เป็นการแสดงความกรุณาอย่างหนึ่ง   ข้อที่ ๓ มุทิตา คือ ชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือเจริญขึ้น แทนที่จะอิจฉาตาร้อน   ข้อที่ ๔ อุเบกขา เป็นธรรมข้อที่ปฏิบัติได้ยากที่สุด แม้ในระดับการคิด จะเข้าใจตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม แต่ในระดับความรู้สึกก็ยังยากที่จะทำใจให้ทันความคิดหรือตรรกะเหตุผล (ในใจยังปั่นป่วน ยังหนัก) 

โดยสรุปคือ ผมเลือกที่จะอนุญาตให้คนอื่นได้เห็นความรู้สึกที่แท้จริงต่างๆ ภายในใจผม เพื่อที่ผมจะสัมพันธ์กับตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น โดยวิธี "บอก" ความรู้สึกของตนอย่างสงบ อ่อนโยน 

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒ มกราคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 514820เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2013 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2013 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท