Thanachart
นาย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

รวันดา : บทเรียนของโลกหรือบทเรียนของใคร (จบ)


        รวันดา  บทสรุปของความขัดแย้ง : บทเรียนของโลกหรือบทเรียนของใคร  (จบ)

                                                                                                ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

                                                                                                นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง

                                                                                                เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข

 

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนนั้นมีมาอย่างยาวนานแล้ว ประชาชนหลายเผ่าพันธุ์ต่างก็สู้รบกันมานับพันๆปี ซึ่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามที่ต่อเนื่องยาวนานส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกรีกกับเปอร์เซีย  อังกฤษกับสเปน สหภาพโซเวียตกับประเทศในอาณานิคม และอื่นๆอีกมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ความแตกต่างของการสังกัดภายใต้ประเทศที่ต่างกัน หรือต่างเผ่าพันธุ์กันเท่านั้นที่ได้สู้รบต่อกัน  แม้แต่กลุ่มคนที่แตกต่างกันทางด้านศาสนาไม่ว่าชาวคาธอลิกกับโปแตสแตนท์ในไอร์แลนด์เหนือ ชาวคริสต์กับมุสลิมในบอสเนีย และชาวพุทธกับชาวฮินดูในศรีลังกา ล้วนแล้วก็ขัดแย้งกันทั้งสิ้น  บ่อยครั้งที่เผ่าพันธุ์ ภาษา และศาสนาซึ่งเป็นความแตกต่างกันในสาระสำคัญของแต่ละวัฒนธรรม
ได้เป็นตัวกำหนดปรากฏการณ์ทางสังคมที่ทำให้มีการสร้างอัตลักษณ์ แบ่งแยกลักษณะของแต่ละฝ่ายแต่ละพวกออกจากกันเป็นกลุ่มๆ เป็นพวกเขาพวกเราตามมา


เป็นต้นว่าคนส่วนใหญ่ของกรีกนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ และพูดภาษากรีก ในขณะที่คนอิตาลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกและพูดภาษาอิตาเลียน หรือในบางพื้นที่วัฒนธรรมอย่างหนึ่งทรงสถานะเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ชาวเซิร์บและชาวโครแอธ ต่างก็พูดภาษาเดียวกันแต่ก็ยังแยกออกเป็นสองกลุ่มเพราะว่าชาวโครแอธส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก  ส่วนชาวเซิร์บส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธ ดอกซ์ เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าตามที่กล่าวมานั้นความเชื่อด้านศาสนาสำคัญกว่าการใช้ภาษาในการแบ่งแยกฝ่ายแยกเขาแยกเรา

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆนั้น มีเหตุผลหลัก สามประการที่สำคัญคือ

ประการแรกการมีอาณาจักรขนาดใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าภายในอาณาเขตประเทศที่กว้างใหญ่หรืออาณานิคม
มักประกอบด้วยประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์  และเมื่ออยู่รวมกันมักจะมีการแต่งงานข้ามเผ่าเกิดการผสมข้ามชาติพันธุ์กันสูงมาก การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยมีทั้งกระจัดกระจายและอยู่รวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น  ต่อมาเมื่ออาณานิคมได้ล่มสลายลง มีการจัดตั้งอาณาจักรขึ้นมาใหม่ แต่อาณาจักรใหม่นี้มีอาณาเขตไม่สอดคล้องกับชุมชนหรือที่อยู่ของชนเผ่า ประเทศใหม่จึงถูกก่อตั้งขึ้นบนแผ่นดินซึ่งตั้งอยู่บนข้อขัดแย้งทางอาณาเขตและปัญหาของชาติพันธุ์ ซึ่งล้วนแล้วได้จัดตั้งภายใต้การบงการของประเทศมหาอำนาจเสมอ  ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ตามมา  แต่ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ถูกบดบังไว้ชั่วคราวเพราะประเทศมหาอำนาจยังมีอิทธิพลทั้งทางด้านสังคม
เศรษฐกิจ และการเมือง ครอบคลุมอยู่  แต่ปัญหาที่ตามมาในภายหลังคือประชาชนหลายๆกลุ่มมักจะออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่องว่าอาณาเขตของตนนั้นมีชนกลุ่มอื่นมาอาศัยอยู่

หากดูแผนที่โลกจากปี 1900  1950 และ 1998  เราจะเห็นได้ว่าประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจยังเรืองอำนาจ และประเทศเกิดใหม่ยังดำรงอยู่ได้โดยไม่มีความขัดแย้งนั้นเพราะผู้ปกครองที่มีอำนาจได้ระงับความขัดแย้งต่างๆไว้ได้ชั่วคราว  ทั้งความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์  ด้านศาสนา รวมทั้งด้านอื่นๆ ด้วย 

มหาอำนาจบางประเทศใช้อำนาจทั้งการบังคับและออกคำสั่งให้ประเทศอาณานิคมของตนปฏิบัติตามโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ส่งผลให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  ประกอบกับประชาชนก็เกิดความไม่พอใจรัฐบาลของตนโดยเฉพาะเจ้าหน้าทีทั้งหลายได้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม  ไม่ว่าอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีอาณาจักรออตโตมันตุรกี และประเทศภายใต้อาณานิคมขนาดใหญ่ในเอเชีย แอฟริกา รวมทั้งสหภาพโซเวียต  ที่มักจะพบกับการล่มสลายลงในที่สุด

ประการที่สอง อุดมการณ์ที่ต้องการมีเสรีภาพ และความเสมอภาค  ในสหรัฐอเมริกาเมื่อพูดถึงคำว่าเสรีภาพแล้วเรามักจะนึกถึงเสรีภาพของแต่ละปัจเจกเท่านั้น  มักไม่มีใครนึกถึงเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้เพราะหากเราทุกคนต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันแล้วเราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ นั่นหมายถึงเสรีภาพโดยรวมของประชาชนซึ่งเป็นเสรีภาพที่แท้จริง  หรือกรณีการที่เราเป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยและรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มก็จะสำคัญสำหรับเรา ซึ่งที่จริงก็คือหากเราไม่มีเสรีภาพในชนกลุ่มแล้วนั่นหมายถึงเราก็ไม่อาจมีเสรีภาพส่วนบุคคลได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

หากมองย้อนกลับไปในอดีต  หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ฝ่ายพันธมิตรโดยการนำของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (WoodrowWilson) ประธานาธิบดีคนที่ 28ของประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามที่จะทำให้กลุ่มชนที่ประกอบด้วยความหลากหลายชาติพันธุ์พึงพอใจจึงมีนโยบายให้การสนับสนุนสิทธิของชนกลุ่มน้อย
รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันคือความเป็นอเมริกัน มีการแพร่กระจายของลัทธิชาตินิยมออกไปอย่างกว้างขวาง ความแตกต่างก็ค่อยๆเงียบหายไปตามลำดับ แต่หายนะจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ( 1939-1945 )  ส่งผลให้มีการนำปรัชญาวิลสันมาใช้อีกครั้ง (Wilsonian Philosophy) เพราะหลังจากปี 1945 สิทธิของกลุ่มชนได้ลดระดับลงโดยมีการคาดคะเนกันว่าการรับรองสิทธิของบุคคลน่าจะเพียงพอแล้ว

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีประเทศที่เกิดขึ้นใหม่โดยการนำบุคคลหลายๆชาติพันธุ์มารวมกันกำหนดอาณาเขตประเทศ เช่นเชคโกสโลวาเกีย ยูโกสลาเวีย และสหภาพโซเวียต การรวมกันของหลายๆชาติพันธุ์ของประเทศเหล่านี้
ส่งผลให้มีการแบ่งแยกกลุ่มกันภายในประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป  เพราะชนเผ่ามีความต้องการประชาธิปไตยและสิทธิส่วนบุคคล  และขณะเดียวกันก็ต้องการสิทธิของชนกลุ่มด้วย ซึ่งนั่นหมายความถึงความขัดแย้งได้เริ่มก่อตัวมากขึ้นและเป็นการเริ่มขึ้นของวัฏจักรแห่งความขัดแย้ง
และความต้องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้เพราะชนกลุ่มน้อยก็ต้องการอำนาจอธิปไตยของตนเองและปกครองตนเองเพื่อความเป็นอิสระเหมือนๆกัน สิ่งเหล่นี้ทำให้ผู้นำของโลกในหลายประเทศต้องตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

การลุกฮือของความขัดแย้งที่รุนแรงมักจะเกิดจากการโหมกระพือให้เพิ่มขึ้นจากสื่อสารมวลชนซึ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระต่อการปกครองตนเอง การเชิดชูการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ชาวปาเลสไตน์ที่เข่นฆ่าชาวอิสราเอล  รวมทั้งชาวคาชมิริส ชาวทามิล และชาวบอสเนียที่ต้องการจะทำลายและเข่นฆ่าศัตรูของตน ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ และสื่ออื่นๆเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชิดชูการกระทำเหล่านั้น สื่อเหล่านี้ได้ทำให้วิกฤตที่รุนแรงอยู่แล้วขยายรุนแรงมากกว่าที่เป็นจริง การนำเสนอและการยกย่องทั้งฝ่ายกบฏหรือฝ่ายที่ปราบปราม  ช่วยทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น

ประการที่สามคือปัจจัยทางด้านสังคมและภูมิศาสตร์  เราสามารถไปไหนก็ได้ที่ต้องการจะไปหรือทำอะไรก็ได้ที่เชื่อว่าสามารถทำได้ ในสิ่งที่เราต้องการ ทุกๆวันโทรทัศน์ได้นำเสนอข่าวยั่วยุและยั่วเย้าให้เห็นรางวัลที่ควรได้รับในการดำรงชีวิต ส่งผลให้มนุษย์ทั้งหลายต่างก็อยากแสวงหาส่วนแบ่งของตนเองให้มากขึ้น ความทะเยอทะยานความอยากมีอยากได้นำไปสู่การต่อสู้ดิ้นรนเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการอยากมีอยากได้เหล่านั้นหมายถึงการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การเป็นปรปักษ์ต่อกันในที่สุด ความเป็นปรปักษ์ต่อกันทำให้ต่างฝ่ายต่างแสวงหาแนวร่วมซึ่งสิ่งแรกก็คือสร้างความรู้สึกให้ยึดติดกับกับชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์
เชื้อชาติ หรือศาสนา เป็นการแยกเขาแยกเราที่ง่ายที่สุด

ตัวอย่างเช่นหากเราเป็นแอฟริกันอเมริกันซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองและคนขายของชำแถวบ้านเผอิญเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเกาหลีเราอาจเห็นว่าคนเหล่านั้นแต่ละคนแตกต่างจากตัวเรา กลุ่มของเรา บุคคลอื่นเหล่านั้นจะเป็นผู้รุกรานมากกว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้สึกเดียวกัน  ดังนั้นคำว่า พวกเรา” “พวกเขา” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ไปทั่วโลก

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งของมนุษยชาติในหลายๆพื้นที่ของโลกใบนี้มักจะประกอบไปด้วยสาเหตุหลักๆสามประการตามที่กล่าวได้มาแม้บางครั้งจะได้รับการแก้ไขด้วยสติปัญญา การมีผู้นำที่รับผิดชอบ และแก้ด้วยวิธีที่การที่หลากหลาย  แต่โชคร้ายของสังคมมนุษย์ที่ยังมีนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่ใช้ความไม่พอใจของประชาชนเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้จะคอยกระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังในหมู่ประชาชน เป่าหูประชาชน ปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังกัน  รวมทั้งยุยงเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้เกลียดชังกันเอง ซึ่งเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดหากเกิดขึ้นก็คือเมื่อเพื่อนบ้านด้วยกันเป็นศัตรูต่อกัน นั่นคือหายนะของชีวิตที่มีแต่ความรุนแรงทุกรูปแบบจะตามมาจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้อีกต่อไป  ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นญาติและมีความไว้วางใจต่อกันทั้งสิ้น  เมื่อใดที่ขาดความไว้วางใจต่อกันสังคมนั้นย่อมมีแต่ความขัดแย้งที่ไม่มีวันจะยุติลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วทั้งในบอสเนีย เลบานอน และรวันดา  รวมทั้งในหลายๆพื้นที่นับไม่ถ้วน

ความโหดร้ายของการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง มักจะทำให้แต่ละฝ่ายทำทุกวิถีทางที่จะได้มาซึ่งอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ  แม้แต่สื่อสารมวลชนอย่างสถานีวิทยุที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่มีไว้เพื่อควบคุมความคิดของประชาชน เพราะสิ่งที่เสนอออกมาล้วนมีผลต่อการครอบงำทางด้านอุดมการณ์(Hegemony)  นั่นคือสื่อเป็นเครื่องเมือในการกระจายวัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นปกครอง มาเป็นเครื่องมือทำลายล้างต่อกัน ทั้งการสร้างข่าวโคมลอยกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความเคียดแค้นชิงชัง
สร้างสถานการณ์แห่งความสับสนอลหม่านและความกลัว สิ่งเหล่านี้ได้กระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาพกอาวุธต่อสู้เข่นฆ่ากัน ประชาชนที่เคยอาศัยและทำงานด้วยกันและแม้กระทั่งแต่งงานระหว่างลูกหลานที่มีเชื้อชาติศาสนาต่างกันก็อาละวาด เข่นฆ่า ข่มขืน และปล้นซึ่งกันและกันด้วยความเพลิดเพลินใจ

หากการเข่นฆ่าทำลายล้างในรวันดาของสองชาติพันธุ์ได้สอนอะไรเราได้บ้างนั้น จุดเริ่มต้นที่เป็นบทเรียนก็คือเราควรจะต้องไม่แยกพวกเขาพวกเราและที่สำคัญต้องไม่เห็นอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งขัน เป็นศัตรู และต้องยอมรับให้ได้ว่าอีกฝ่ายว่าเป็นคนเหมือนกัน ซึ่งบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ได้รับจากความขัดแย้งในรวันดา เป็นสิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าทำไมความขัดแย้งถึงได้เกิดขึ้นและจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร.........

 
“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””





หมายเลขบันทึก: 514742เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2013 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2013 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท