เพลินภาวนา (๒)


เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องขยัน ต้องมีวิริยะ ความพากเพียร และศรัทธาที่ถูกต้อง การปฏิบัติธรรมง่าย แค่ “รู้แล้ววาง”


การภาวนาคือการฝึกอบรมตัวเองให้มีที่พึ่งที่จะดับทุกข์ได้ จะอยู่อย่างผู้ที่ปราศจากทุกข์ต้องเอาอริยสัจ ๔ มาพิจารณา เอามาเป็นฐานของการดำเนินชีวิต ฝึกหัดตัวเองให้ออกจากทุกข์ให้ได้


ธรรมะของพระพุทธเจ้า ต้องยกอริสัจ ๔ ขึ้นมาพิจารณา ทำไมพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ มองโลกในแง่ร้ายหรือ ถ้าพิจารณาให้ครบจะเห็นว่าท่านไม่ได้สอนอริยสัจ ๑ แต่สอนอริยสัจ ๔ ที่มีทั้งเหตุและหนทางดับทุกข์ เพราะท่านอยากให้เราพ้นจากความทุกข์


เหมือนเราไปหาหมอ เวลาหมอถามว่าเราเจ็บตรงไหน  เราไม่พอใจหรือเปล่า ถ้าหมอรู้ก็จะช่วยเราได้ แก้ไขได้  แต่ถ้าเราปฏิเสธว่าไม่มีโรคก็ช่วยไม่ได้ พูดกันไม่รู้เรื่อง เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความทุกข์ว่ามีอาการอย่างไร เราจะได้เข้าใจในเหตุ


ทุกข์ต้องกำหนดรู้  เหตุต้องละเสีย


หน้าที่ที่ต้องกระทำต่อทุกข์

  • กำหนดรู้ว่ามีลักษณะแบบไหน อย่างไร แสดงออกอย่างไร รู้ให้ชัดเจนจะได้เข้าใจว่าเหตุคืออะไร สร้างความเข้าใจไว้ก่อน
  • ละเหตุ อยากละความทุกข์ ทำลายความทุกข์  ประหารเหตุให้ได้


การวิ่งละความทุกข์แต่อุ้มเหตุไว้ ก็ยังมีปัญหาอยู่ ถ้าเราทำสวนแล้วทำลายวัชพืชด้วยการตัดใบ แทนที่จะถอนรากออก เราถามว่าทำไมจึงยังทุกข์อยู่ ก็เป็นเพราะเราอุ้มเหตุไว้ แล้วจะโทษใคร


ตัณหา คือความอยากได้ในกาม มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ประกอบ มีทั้งความมี ความเป็น และความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น


เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องขยัน ต้องมีวิริยะ ความพากเพียร และศรัทธาที่ถูกต้อง การปฏิบัติธรรมง่าย แค่ “รู้แล้ววาง” ถ้าทำได้แล้วการปฏิบัติจะก้าวหน้า  จิตใจที่เศร้าหมอง ขุ่นมัว เกิดจากอะไร ละสิ่งที่เป็นอุปสรรค วางสิ่งที่ขัดขวาง จะช่วยให้ตั้งใจมั่นได้


ทำให้มีผู้รู้ต่อเนื่องในจิตใจ


เมื่อมีปัญหา แยกให้ออกว่าอะไรเป็นปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาในการมองตัวเอง มองโลก อยากให้โลกแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปไม่ได้ อยากให้มีความสุขตลอดเวลา บังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเรา เป็นไปไม่ได้  อยากให้จิตใจมีความคิดที่ฉลาดๆ อยู่ตลอด เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ ยอมรับความจริงได้ เราก็สบาย


ถ้าทำให้มีผู้รู้ต่อเนื่องในจิตใจได้ ก็สามารถดับทุกข์ได้ เมื่อมีความแจ้ง ทุกข์จะค่อยๆ หายไป ถ้าทุกข์ทับถมมันก็จม ต้องสังเกตความรู้สึกตอนที่เราตั้งผู้รู้ได้ ทุกอย่างอยู่ในธรรมจักรกัปปวัตนสูตร


การทำความรู้สึกให้ต่อเนื่อง ต้องสนใจ เอาใจใส่กับความรู้สึกที่วาง ที่ปล่อย ที่ปลอดโปร่ง ไม่เป็นที่อยู่ของตัณหา ต้องทำผู้รู้ให้เด่นขึ้น ให้อารมณ์นั้นเป็นหนทางของผู้ปฏิบัติ ขยันตรงนี้ ยกผู้รู้ให้เด่น เกิดความต่อเนื่องของความแจ่มใสของจิตใจทีละนิด ปฏิบัติแบบนี้ไม่หลง แต่ไม่ใช่จะได้ผลทันที ต้องยอมฝึกยอมหัดให้ค่อยๆ ลึกขึ้น ขอให้ตั้งใจมั่นกับอริยสัจ ๔  ไม่เป็นทาสของอารมณ์ เมื่อจิตเป็นกุศล ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นกุศล


เมื่อใดที่เกิดดทสะ จิตใจก็ขุ่นมัว ลดโทสะ ยกอารมณ์ที่ดีขึ้นมาสู่จิตใจเพื่อทดแทน เช่นความหวังดีต่อตนเองและผู้อื่น พิจารณาเห็นโทษที่เกิดกับตัวเอง กับผลที่เกิด หาเหตุว่าเกิดจากอะไร


เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราคิด หรือเราอยากได้ นั้นเป็นอุบายที่ดีที่สุดในการเกิดทุกข์ อารมณ์โทสะเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นของเรา จะหวงแหนอารมณ์นั้นไว้ทำไม หลวงพ่อชาสอนโยมให้แก้โทสะด้วยการเอานาฬิกาปลุกมาตั้งไว้ แล้วอธิษฐานว่าจะรักษาอารมณ์โทสะไว้ ๒ ชั่วโมง เพื่อให้โยมเข้าใจว่าอารมณ์ต่างๆ มีความเป็นอนัตตา


หมายเลขบันทึก: 514638เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท