เพลินภาวนา (๑)


การทำให้มีคุณธรรมหรือความเจริญไม่ได้มีแต่เรื่องได้หรือเพิ่ม การทำให้ลดลงก็เป็นความเจริญ


เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๓ ธ.ค. ๕๔ ฉันมีโอกาสได้ไปปฏิบัติภาวนากับท่านปสันโน ที่บ้านบุญ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นปีที่สาม


ในคราวนี้ท่านอาจารย์เริ่มกล่าวให้สติกับพวกเราว่า ภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญ  คำว่าพัฒนามาจากคำว่าภาวนา... ถ้าเช่นนั้นคำว่า “เพลินพัฒนา” กับ “เพลินภาวนา” ก็เป็นคำเดียวกันหนะสิ ! เสียงในใจของฉันดังขึ้นมาให้ได้ยินอย่างรวดเร็ว


การมาภาวนาคือการมาพัฒนาจิตใจ การกระทำ และคำพูดของเรา ด้วยการอดเอาไว้ เป็นอีกแง่หนึ่งของการฝึกตัวเอง การทำให้มีคุณธรรมหรือความเจริญไม่ได้มีแต่เรื่องได้หรือเพิ่ม การทำให้ลดลงก็เป็นความเจริญ


การทำให้จิตใจแข็งแกร่งต้องทำให้น้อยลง ให้สงบปราศจากความนึกคิดปรุงแต่ง จากวิตก วิจารณ์ การฝึกตัวเองให้แข็งแรง มีความสงบมากขึ้น ต้องมีขอบเขต หรือสิ่งที่ช่วยประคับประคองไว้ให้เราอยู่ในขอบเขตที่ทำให้เรามีความเยือกเย็น ยกเว้น ถอยออก ระมัดระวัง การพูดให้น้อยลง เว้นจากเครื่องมึนเมา และการมีคนอื่นมาร่วมประพฤติปฏิบัติด้วยก็จะทำให้ง่าย ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นก็ช่วยให้สงบขึ้น


ช่วงเช้า ช่วงเพล อาหารที่รับไว้ก็เป็นของง่าย ความเรียบง่ายภายนอกสนับสนุนความเรียบง่ายภายในให้สงบขึ้น ทำให้สามารถทำความสงบได้ง่ายขึ้น จิตใจไม่ไหลออกไปสู่ข้างนอก นั่งง่าย นอนง่าย ฝึกให้อยู่อย่างผู้เรียบง่าย ไม่เหมือนคนมักง่ายที่เป็นคนไม่ตั้งใจ


ถ้าตั้งใจมีความสงบ ใช้ให้ถูกก็เข้าถึงธรรมะได้ ไม่เหลือวิสัยใครสักคน ณ ที่นี้


ยังไม่ได้ลงมือทำอย่าเพิ่งหาทาง หาอุบายทำลายกำลังใจ เราเลือกได้ว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ สิ่งไหนไม่มีประโยชน์


ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับผล ใครทำใครได้ ใครกินใครอิ่ม ต้องยกคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาทบทวน เพื่อไม่ทำลายโอกาสของตนเองในการปฏิบัติ และเพื่อเป็นกำลังใจ


เราปฏิบัติเพื่ออะไร บางทีคนยึดวิธีการให้ถูกต้องที่สุด แทนที่จะคิดว่าวิธีการนั้นมีขึ้นเพื่ออะไร เป้าหมายของการกำหนดลมหายใจทำไว้เพื่อให้มีที่พึ่งในจิตใจของเรา ให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในจิตใจของเรา ยอมรับให้มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในจิตใจของเราเอง ทำให้มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในจิตใจของเราเป็นพื้นฐาน มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งในทุกกรณี อยู่ในความเป็นจริงของธรรมะที่มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง มีความปรากฏเมื่อมีความแส่ส่ายของจิตใจ ทุกอย่างเป็นสภาวธรรม เราต้องยอมธรรมชาติ เราต้องยอมความจริง


ทำอย่างไรจึงแยกออกว่าอะไรสำคัญ หลวงปู่มั่นแนะนำให้หลวงพ่อชาแยกจิตออกจากอารมณ์ของจิต ต้องฝึกแล้วฝึกอีก ชอบใจ ไม่ชอบใจ ดี ไม่ดี เป็นอารมณ์ของจิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จิตคือผู้รู้ เป็นความสามารถของจิตที่จะรู้อารมณ์ ต้องทำตัวนี้ให้เด่นขึ้นมาเป็นสภาพพื้นฐาน สภาพธรรมชาติของจิต


ชอบเรื่องนี้ก็ตื่นเต้น ไม่ชอบเรื่องนี้ก็เกลียด เคลื่อนไปเคลื่อนมาขึ้นลงตามอารมณ์ ภาษาอิสานเรียก “ผีบ้า” เราปฏิบัติเพื่อเป็นคนปกติที่มีความมั่นคง รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้กำลังดับไป ความสามารถนี้มีอยู่แล้ว ไม่ได้ห่างไกลจากเรา ต้องน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นลักษณะธรรมะของพระพุทธเจ้า การได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส จะก่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ฝึกให้จิตเลือกความสงบแทนความวุ่นวาย ไม่ใช่ทำตามกระแส เราไม่มีหลักเพียงพอก็จะถูกชักลากไป ไม่มีใครอยากเลือกกองทุกข์  เรามาฝึกตนเองให้มีสติปัญญาเพียงพอที่จะเลือกสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณธรรม มีความสงบ เยือกเย็น


เวลาที่เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้ที่ใจร้อน สับสน วุ่นวาย ให้เราให้ความสงบเยือกเย็น ความสงบเยือกเย็นนี้เป็นการให้ที่สำคัญ ให้เขาเข้าใกล้แล้วรู้สึกสบาย ผลไม่ได้จำกัดเฉพาะเรา แต่กว้างขวางออกไป


เรามาปฏิบัติเพื่อเป็นผู้มีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ มีปัญญารอบรู้ในอารมณ์นั้น เมื่อเหตุมี ผลก็ย่อมปรากฏ กุศลธรรมเพิ่มขึ้น อกุศลกรรมลดลง นำธรรมะเข้ามาสู่ใจ ทำให้ใจเบิกบาน มีความสุข ปลอดโปร่ง เยือกเย็น หนักแน่น มั่นคง



หมายเลขบันทึก: 514628เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท