โนโร__ไวรัสลงกระเพาะ(ลำไส้อักเสบ)มาแรง



.
สำนักข่าว Telegraph ตีพิมพ์เรื่อง 'More than a million people struck down by norovirus
' = "(คน)อังกฤษติดเชื้อโนโรไวรัสไปแล้วกว่าล้านคน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.

.
ภาพที่ 1: สาเหตุโรคติดต่อผ่านอาหารในสหรัฐฯ ปี 2006-2010/2549-2553, น้องโนฯ (โนโรไวรัสเป็นสาเหตุ 49%, แบคทีเรีย (บิดไม่มีตัว-อาหารเป็นพิษ) 40% [ CDC ]
.

.
ภาพที่ 2: วิธีป้องกันตัวจากน้องโนฯ (โนโรไวรัส) ได้แก่
  1. ล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
  2. ล้างผักผลไม้ให้ถูกวิธี
  3. ทำความสะอาดหอยก่อนปรุงให้สุก
  4. ทำความสะอาดส่วนที่คนสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตู (ถ้าทำประตูซิกแซกได้จะดีกว่า) ฯลฯ
  5. แยกเสื้อผ้าคนป่วยซักต่างหาก และควรใช้น้ำร้อนซักเครื่อง (ถ้าเป็นไปได้), ไม่ปรุง-เตรียมอาหารให้คนอื่นเมื่อป่วย
.

.
ภาพที่ 3: น้องโนฯ (โนโรไวรัส) แพร่กระจายผ่านคนทำอาหาร-เตรียมเครื่องดื่ม, การสัมผัส ปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำ อาหารทะเล (หอยกินอาหารโดยการสูบน้ำเข้า กรอง เก็บอาหารที่ติดไส้กรองไปกิน ทำให้ปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย) [ cruiselawnews ]
.
เชื้อนี้อาจแพร่ผ่านน้ำ อาหาร ผัก ผลไม้ ผิวไข่ได้, วิธีป้องกันการติดเชื้อผ่านอาหารที่ดี คือ ใช้ฟองน้ำล้างจานกับน้ำยาล้างจานฟอกผิวผลไม้-ผิวไข่ ก่อนนำไปปรุงอาหาร

ไวรัสลงกระเพาะฯ หรือไวรัสลำไส้อักเสบ "โนโรไวรัส" หรือ "น้องโนฯ" ในอังกฤษมักจะระบาดในฤดูหนาว โดยเฉพาะเดือนมกราคม
.
น้องโนฯ ในสหรัฐฯ พบมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน และมีชื่อเรียก เช่น stomach flu = ไข้หวัดใหญ่ลงกระเพาะฯ (จริงๆ ไม่ใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่),
.
โรคนี้อาจทำให้เกิดอาการไข้ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเหลว (ไม่มีมูกและเลือด) ได้
.
ทว่า... อาการคลื่นไส้-อาเจียนมักจะเด่น ทำให้มีชื่อว่า 'winter vomitting bug' = "เชื้ออาเจียน (อ้วก) ฤดูหนาว"
.

.
ปีนี้ ในอังกฤษ (UK) ซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ติดเชื้อน้องโนฯ เพิ่มขึ้น 83%
.
หนาวนี้ติดเชื้อไปแล้ว 1.018 ล้านคน ทำให้ต้องมีประกาศขอร้อง... ไม่ให้คนที่ติดเชื้อโทร.เข้าสายด่วน 999 เพื่อสำรองไว้ใช้ในเรื่องที่ฉุกเฉินจริงๆ เช่น รถชน ฯลฯ
.
สำนักสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (UK) กล่าวว่า น้องโนฯ (โนโรไวรัส) เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย (very contagious) และให้คำแนะนำกับคนอังกฤษอย่างนี้ [ NHS ]; [ NHS ]
.
(1). รักษาอนามัยมือให้ดี (good hand hygiene) เช่น ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ, ก่อนเข้าบ้าน-ก่อนนอน-ก่อนปรุงอาหาร ฯลฯ, หลังเข้าห้องน้ำ-สัมผัสของที่คนอื่นใช้ เช่น คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
.
(2). ไม่ไปโรงพยาบาล โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก-คนสุงอายุ สถานพักฟื้นคนไข้ โดยไม่จำเป็น
.
โรงงานน่าจะให้คนที่เข้าไปล้างมือก่อนเข้า-ก่อนทำงานทุกคน จะช่วยลดการลาป่วยได้
.
(3). ไม่ทำมือซุกซน จับโน่น-จับนี่, ไม่สัมผัสของที่คนอื่นสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตู ฯลฯ โดยไม่จำเป็น
.
(4). หลีกเลี่ยงคนป่วย
.
(5). ระวังอาหาร-น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
.
วิธีที่ดี คือ กินอาหารอะไร... ให้เลือกแบบสุกไว้ก่อน เช่น หลีกเลี่ยงถั่วงอก ผักสด ฯลฯ และอาหารที่เสี่ยงไม่สุก เช่น ยำ สลัด ฯลฯ ในช่วงที่มีการระบาด
.
อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ง่าย คือ ผัก ผลไม้ และหอย (oysters)
.
(6). ระวังภาวะขาดน้ำในช่วงที่ป่วย โดยการกินอาหาร-ดื่มน้ำหรือสารละลายเกลือแร่ ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ หลีกเลี่ยงหรือลดนมลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากโรคกลุ่มลำไส้อักเสบอาจทำให้น้ำย่อยนมลดลงชั่วคราว
.
ภาวะขาดน้ำอาจทำให้เวียนหัว ปวดหัว อ่อนเพลีย ตา-ปาก-คอแห้ง ปัสสาวะ (ฉี่) ออกมาน้อยลง ทั้งปริมาณ และความถี่ของการถ่าย คือ น้อยกว่า 3-4 ครั้ง/วัน
.
(7). ทำใจ
.
คนที่ติดเชื้อนี้เกือบทั้งหมดจะมีอาการเบาลงใน 2-3 วัน, ช่วงที่ยังไม่ทุเลา... ควรใช้ยาทำใจ ไม่บ่นโน่นบ่นนี่ รู้จักรอ ไม่ไปรบกวนคนอื่นโดยไม่จำเป็น
.
(8). ไม่ต้องไปหาหมอ และให้โทรศัพท์ติดต่อหมอใกล้บ้าน เพื่อขอคำแนะนำแทน
.
ข้อนี้ที่อังกฤษจะเน้น เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะคนไข้และญาติที่ไปโรงพยาบาลแล้วไม่ล้างมือด้วยสบู่ ใช้มือจับโน่นจับนี่ ทำให้เชื้อกระจายจาก "คน-สู่-คน" ได้เร็วมาก โดยเฉพาะใน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันแรกที่เป็นโรค
.
ถ้ามีอาการนานกว่า 2 วัน, เชื้อมักจะแพร่กระจายต่อหลังวันที่ไม่มีอาการไปอีก 2 วัน เช่น ถ้ามีอาการ 4 วันจะพบว่า เชื้อจะแพร่กระจายไปได้ = 4+2 = 6 วัน ฯลฯ
.

.
ประเทศที่พึ่งพาอาศัยการท่องเที่ยว-เมดิคัลทัวร์มากแบบไทย น่าจะรณรงค์ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหารให้มาก เพราะเวลานักท่องเที่ยวมีอาการคลื่่นไส้หรือท้องเสีย... ส่วนใหญ่มักจะมองว่า อาหารสกปรก
.
วิธีที่ดี คือ สนับสนุนการล้างมือด้วยสบู่ และเตรียมน้ำ-สบู่ไว้ให้พร้อมทุกแห่ง
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

> [ Twitter ]

  • Thank > http://www.telegraph.co.uk/health/healthnews/9769268/More-than-a-million-people-struck-down-by-norovirus.html
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 29 ธันวาคม 55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
 
หมายเลขบันทึก: 514459เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท