Thanachart
นาย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

รวันดา : ปัญหาผู้ลี้ภัยนำไปสู่การยึดอำนาจในแซร์ ตอนที่ 8


                                      รวันดา :  ปัญหาผู้ลี้ภัยนำไปสู่การยึดอำนาจในแซร์* ( 8 )

                                                                                             ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

                                                                                             นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง

                                                                                             เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข

 

วิกฤตซ้ำซากในการกลับมาของผู้ลี้ภัย 

เมื่อกลางปี 1995 สถานการณ์ผู้ลี้ภัยยังคงเป็นปัญหาที่ตึงเครียดที่สุดUNHCR และ คณะกรรมการของสหรัฐอเมริกาเพื่อผู้ลี้ภัย(USCR)ได้เสนอว่าขั้นตอนแรกที่จะอพยพผู้ลี้ภัยกลับมาคือการจับกุมชาวฮูตูหัวรุนแรงเพราะกลุ่มดังกล่าว นี้กีดกันไม่ให้ประชาชนผู้ลี้ภัยอพยพกลับบ้านทั้งได้ประโคมข่าวโคมลอยหมุนเวียนกระจายไปทั่วในแคมป์ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการอพยพกลับประเทศผู้ลี้ภัยในแคมป์ไม่รู้ว่าข่าวของใครที่ควรจะเชื่อและข้อมูลไหน ที่ถูกต้องกันแน่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับฟังข่าวสารในทางบวก และมีความเชื่อว่าข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่จะอพยพกลับรวันดาได้โดยไม่ได้รับอันตรายนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกับดักหรือกลลวงของรัฐบาลใหม่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะล่อลวงให้ประชาชนชาวฮูตูกลับเข้าประเทศแล้วรวมหมู่สังหาร ซึ่งหลายคนก็ยังเชื่อว่าตนและคนอื่นๆจะถูกสังหารหากกลับไปรวันดา

ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดความหวาดกลัวเหล่านี้และเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกปลอดภัยขึ้นการสร้างสถานีวิทยุแห่งใหม่ จึงจำเป็นเพื่อการกระจายเสียงบอกข้อมูลข่าวสารปัจจุบันที่ถูกต้องและเป็นไปในทางบวก  รายงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ได้รับการต้อนรับให้กลับบ้านโดยไม่ได้รับอันตรายซึ่งการรายงานข่าวเหล่านี้ไดนำเสนอข่าวเกี่ยวกับระบบยุติธรรมของรวันดาสิทธิมนุษยชน และโครงการทั้งหลายที่กำลังพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้อพยพว่าจะได้รับความปลอดภัย  นอกจากนั้นยังเสนอแนวทางในการอ้างสิทธิและการคืนสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ถูกยึดครองไปกลับคืนหากกลับไปเป็นต้น

พนักงานขององค์กรเอกชน(NGO)หลายคนในโกมาขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของรวันดา
หลงเชื่อไปกับข่าวโคมลอยด้วยจึงเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมากในการนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา  ดังนั้นเมื่อเดือนตุลาคม 1995 UNHCRในโกมาได้ร่วมงานกับสถานีวิทยุอกาทาเชีย(Agatashya)ในแซร์ที่ได้ตั้งขึ้นใหม่เพื่อกระจายเสียงส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นไปของการแก้ไขปัญหาในรวันดาUSCR ก็ได้จัดหาข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่องค์กรเอกชนเหล่านี้เพื่อที่ว่าบุคคลากรเหล่านั้นสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือและขจัดเรื่องร้ายและข่าวโคมลอยที่สร้างขึ้นมาให้หมดไป

สหประชาชาติได้ใช้ยุทธการหลายอย่างในการโน้มน้าวผู้ลี้ภัยให้กลับบ้าน และเพื่อที่จะกระตุ้นให้มีการอพยพ UNHCR พยายามที่จะทำให้ความเป็นอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยย่ำแย่ลงโดยปิดกั้นสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น ร้านอาหารและบาร์เพื่อที่จะซ่อมแซมแคมป์ พร้อมทั้งยังขอร้องให้องค์กรเอกชนหยุดสร้างห้องน้ำ โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นด้วย UNHCR ยังห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยสร้างบ้านและทำธุรกิจนอกแคมป์และขัดขวางไม่ให้ได้รับงานในโกมา สกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เมือง เป็นต้น แต่ยังไม่เป็นผลมากนัก

ประธานาธิบดีคนใหม่ของรวันดา พาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu)กล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 1995 โดยกล่าวว่ารัฐบาลจะต้อนรับผู้ลี้ภัยกลับบ้าน และรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา ความพยายามทั้งหลายจะไม่ถูกปิดกั้นและเพื่อทำให้แน่ใจว่าชาวรวันดาทุกคนจะพบกับความสุข รื่นรมย์กับสิทธิของการเป็นพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน  และทุกคนจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลรวันดาอย่างเสมอภาคกัน

อย่างไรก็ตามการอพยพของผู้ลี้ภัยนั้นรวันดาไม่อาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวและเป็นที่แน่ชัดว่ารวันดานั้นต้องการความช่วยเหลือจากผู้นำในภูมิภาคเดียวกันเพื่อเร่งรัดกระบวนการอพยพผู้ลี้ภัยอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จิมมี คาร์เตอร์(Jimmy Carter)ได้พบผู้นำจากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
เมื่อวันที่19 พฤศจิกายน 1995 สถานที่พวกเขาได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเพื่ออพยพชาวรันดาจากแคมป์ในแซร์และแทนเซเนีย แต่หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายค้นพบก็คือการที่ทั้งชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่ เคืองแค้น เหินห่างต่อกันมานานจนไม่อาจไว้วางใจกัน เกรงว่าต่างฝ่ายต่างถูกจัดการด้วยความรุนแรงดั่งที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงการอพยพจึงไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก ทำให้ผู้นำทั้งหลายเห็นร่วมกันว่าการทำให้ผู้ลี้ภัยอพยพกลับนั้นทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันหาช่องทางให้ผู้ลี้ภัยเชื่อมั่นในความปลอดภัย  และต้องนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านให้เรียบร้อยโดยไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก

ในข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลรวันดาทำให้ทุกฝ่ายแน่ใจว่าจะไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดได้รับอันตรายระหว่างที่อพยพกลับเข้าประเทศ รัฐบาลยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้คืนสิทธิในทรัพย์สินกลับมา
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกยึดและถูกครอบครองไปโดยชาวตุ๊ดซี่ในรวันดาและผู้ลี้ภัยชาวรวันดาที่กลับเข้ามาในประเทศก่อนแล้ว ข้อตกลงยังให้ความสำคัญกับแผนการให้อพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากคือตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1 หมื่นคนต่อวัน

การตัดสินใจที่จะนำผู้ลี้ภัยกลับ  เกิดขึ้นก่อนแผนการอพยพที่แซร์ เพียง 1 เดือน ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko )ของแซร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1995 ว่าเขาจะเริ่มปิดแคมป์และจะบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์กลับรวันดาโดยเร็ว  องค์กรเอกชน(NGO) เกรงว่าการกดดันโดยกองกำลังแซร์จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การสังหารและความวุ่นวายตามมาอีก และเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านคือด้วยการช่วยเหลือและจัดการของรัฐบาลแอฟริกันตะวันออกร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN)

ปัญหาและอุปสรรคในการอพยพผู้ลี้ภัย

ความพยายามในการอพยพได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1996 แม้รัฐบาลรวันดาจะได้รับการสนับสนุนให้อพยพผู้ลี้ภัย แต่ความคิดเห็นต่างๆก็ยังไม่ลงตัว ความคิดแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เกรงว่าจะรับมือกับสภาพปัญหาและสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะเป็นที่ทราบกันว่าชาวตุ๊ดซี่หัวรุนแรงในกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)  ยังคงต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวฮูตูอยู่ในระยะห่างจากประเทศเพื่อชาวตุ๊ดซี่จะสร้างประเทศของชาวตุ๊ดซี่ขึ้น  แต่สมาชิกที่ประนีประนอมในรัฐบาลมีความเห็นว่าผู้ลี้ภัยควรได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศ และสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าแคมป์ทั้งหลายต้องปิดตัวลงเพื่อขับไล่กองกำลังชาวฮูตูออกไป กระนั้นก็ตามหลายฝ่ายยังเกรงว่าการอพยพกลับของผู้ลี้ภัยจะนำมาซึ่งการกลับมาของกองกำลังชาวฮูตูอีกอีกครั้ง

กองกำลังชาวฮูตูยังคงขู่ขวัญอย่างต่อเนื่องและทำร้ายชาวตุ๊ดซี่และผู้สนับสนุนรัฐบาลรวันดาจากกองทัพของตนภายในแคมป์ผู้ลี้ภัยโดยเชื่อว่าชาวฮูจะสามารถกลับเข้ามาในประเทศได้จากการโค่นล้มรัฐบาลชาวตุ๊ดซี่ และกลับเข้ามามีอำนาจเพื่อกำจัดชาวตุ๊ดซี่ออกไปอีก  จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าพันเอก เธโอเนสเต้ บากาซอรา (Theoneste BaGasora )นายทหารของรัฐบาลรวันดาที่ถูกขับไล่ออกไปอ้างว่ากลุ่มคนของเขาวางแผนจะเข้าร่วมสงครามกับชาวฮูตูด้วยซึ่งสงครามคงจะยืดเยื้อยาวนานและอาจเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนกว่าชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่จะหมดสิ้นและถูกขับไล่ออกจากประเทศรวันดา

อย่างไรก็ตามทัศนคตินี้เพียงแต่สะท้อนความเห็นของประชาชนและผู้นำชาวฮูตูบางคนบางกลุ่มเท่านั้นไม่ใช่ว่าผู้นำชาวฮูตูหรือพลเมืองคนอื่นจะเห็นเช่นนี้ด้วยเพราะคนอื่นๆยังเชื่อว่าชาวฮูตูคงจะพ่ายแพ้ในการรบครั้งอื่นๆ และหลายคนต้องการกลับมาอย่างสงบเพื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสนับสนุนรัฐบาลที่แบ่งปันอำนาจกันซึ่งเป็นรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็คือชาวฮูตูเป็นผู้ปกครอง

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ยังคงมีอยู่ก็คือความหวาดกลัวของผู้ลี้ภัยที่จะกลับเข้าประเทศ เพื่อที่ทำให้แน่ใจและปกป้องผู้ลี้ภัย ระหว่างการอพยพ จิมมี คาร์เตอร์ และผู้นำแอฟริกันอีกสี่คน จากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดา ได้เรียกร้องให้กองกำลัง UNAMIRII ยังคงอยู่ในรวันดาต่อไป และสหประชาชาติยังให้องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกว่า 100 องค์กรเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะได้แน่ใจว่ามีความสงบสุขเกิดขึ้นในหมู่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ จริงๆนอกจากนั้นองค์กรเหล่านี้ยังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรวันดาในปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ประเทศและองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ก็ได้ส่งองค์กรสิทธิมนุษยชนมาตรวจสอบรวันดาเช่นเดียวกัน

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยผู้ที่กลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัยเห็นว่าผู้ลี้ภัยทั้งหมดควรอพยพกลับเข้ามา หลังจากนั้นจึงมีเรื่องเล่าหลายอย่างเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยซึ่งกลับมาโดยไม่ได้รับอันตราย และได้รับการต้อนรับจากชุมชนทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นอย่างดี  แต่การอพยพกลับประเทศได้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ  โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานใหม่  และเพื่อที่จะทำให้ปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการอพยพบรรเทาลง USCR แนะนำว่ารัฐบาลรวันดาควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวรวันดาใหม่เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองอื่นๆที่กำลังกลับเข้าประเทศไปพร้อมๆกัน

ผู้ลี้ภัยชาวรวันดานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแซร์

การปรากฏขึ้นของผู้ลี้ภัยชาวรวันดาจำนวนมากได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแซร์โดยเฉพาะเมืองโกมา
ในขณะที่ผู้ลี้ภัยบางส่วนปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแซร์  พวกเขาก็ยังได้แย่งงานและที่ดินซึ่งชาวแซร์อ้างว่าเป็นของพลเมืองในประเทศส่วนในโกมานั้นผู้ลี้ภัยลอบตัดไม้เป็นเชื้อเพลิงและสร้างบ้าน นอกจากนั้นภายในแคมป์ขาดแคลนระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ ดินและน้ำในพื้นที่นั้นก็เริ่มจะเน่าเสีย การปรากฏตัวของผู้ลี้ภัยยังนำไปสู่ภาวะประชาชนล้นหลามองค์กรช่วยเหลือจึงได้ก่อตั้งแคมป์อีก 4 แคมป์ ห่างจากตัวเมือง 10– 14 ไมล์

ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์ผู้ลี้ภัยก็ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในบางกรณีแก่เจ้าหน้าที่และทหารของแซร์ ผู้ซึ่งได้เงินจากการที่มีผู้ลี้ภัยและมีองค์กรช่วยเหลือในประเทศ รวมทั้งการเรียกรับสินบนบางครั้งเจ้าหน้าที่ของแซร์  ได้ยึดรถยนต์ ขององค์กรเอกชนอยู่เนืองๆโดยเหตุผลเพียงเล็กน้อยหรือบางครั้งก็ไม่มีเหตุผล หลังจากที่สินบนได้จ่ายไปแล้ว เจ้าหน้าที่สนามบินแซร์ก็ยังเรียกเก็บภาษีจากการที่เครื่องบินที่เข้าออกเพื่อขนยารักษาโรคและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหลาย

ผู้ลี้ภัยรวันดา กับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในแซร์

การลุกฮือของแซร์เมื่อปี 1996 เกิดขึ้นจากปัญหาทางด้านชาติพันธุ์ในทางตะวันออกของแซร์ ชาวบานยามูเลงจี ( Banyamulenge  )เป็นชาวแซร์ชาติพันธุ์ ตุ๊ดซี่ซึ่งอาศัยในดินแดนแถบนั้นมาเกือบสองร้อยปี คนเหล่านี้หลายคนที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนเผ่าอื่นทางตะวันออกของแซร์ เมื่อกลางปี 1996 ผู้นำชาวแซร์และสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาศัยความไม่พอใจนี้เพื่อที่จะเป็นเหตุให้ก่อความรุนแรงต่อชาวบานยามูเลงจี ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 1996 เจ้าหน้าที่ชาวแซร์ได้ออกคำสั่งขับไล่ให้ชาวบานยามูเลงจีจำนวน
4 แสนคนออกไปจากพื้นที่นั้น

กองทหารรวันดา กังวลเกี่ยวกับชาวฮูตูหัวรุนแรงสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่ได้ระดมพลติดอาวุธ  และฝึกซ้อมอย่างลับๆ กองทหารรวันดาจึงได้ส่งกองกำลังข้ามดินแดนเข้าไปในแคมป์ผู้ลี้ภัยในแซร์เพื่อที่จะขับไล่เคลื่อนย้ายสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูออกไปความขัดแย้งครั้งนี้อีกครั้งที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติของยึดอำนาจในแซร์

เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งเน้นย้ำถึงผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ในแอฟริกากลาง ด้วยการที่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่อาศัยอยู่ในเบอรันดี แซร์ แทนเซเนีย และอูกันดา อย่างหลากหลายการต่อสู้ในพื้นที่หนึ่งมีผลกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งแม้อยู่ในพื้นที่อื่นซึ่งก็ยิ่งเป็นเชื้อให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ขยายผลยาวนานขึ้นไปอีก

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในแซร์เริ่มย่ำแย่มากขึ้นเมื่อลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila )  ของแซร์เริ่มก่อกบฏขึ้นในเดือนตุลาคม1996 โดยมีจุดมุ่งหมายเริ่มต้นเพื่อกำจัดผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์ ให้หมดไป  คาลิบาได้ก่อตั้งกองทัพขึ้นมา  ที่เรียกว่า “พันธมิตรกองกำลังประชาธิปไตยเพื่ออิสรภาพแห่งคองโก-แซร์”(The Alliance of Democratic Forces for the Liberation of Congo-Zaire) ซึ่งเป็นศูนย์รวมชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่ไว้จำนวนมาก รัฐบาลรวันดาปฏิเสธการเกี่ยวข้องใดๆต่อการกระทำของกลุ่มดังกล่าว แต่ต่อมาปรากฏว่ากองกำลังชาวแซร์ได้รับการสนับสนุนทางทหารและเสบียงจากรวันดา เพราะหลังจากการเกิดกบฏเพียง 9 เดือน รองประธานาธิบดีรวันดาและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พอล คากาเม ( Paul Kagame )ยอมรับว่ารัฐบาลรวันดาได้วางแผนและมุ่งก่อให้เกิดการกบฏในแซร์
โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของปัญหาผู้ลี้ภัยเท่านั้น  แต่ท้ายที่สุดแล้วการก่อกบฏ ของลอว์เรน คาบิลา(Laurent Kabila )  นี้ได้ขยายตัวเติบโตขึ้นจนกลายเป็นกบฏเพื่อชาติ  ต้องการจะโค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko ) ตามมา

ลอว์เรน คาลิบา (Laurent Kabila ) ต้องการขับไล่ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาออกจากแซร์  เพระเชื่อว่ากองกำลังชาวฮูตู     ในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาวุธจากรัฐบาลแซร์ เพื่อช่วยประธานาธิบดีโมบูทู(Mobutu)ให้คงอำนาจต่อไป นอกจากนั้นกองกำลังก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำร้ายชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่อีกด้วย ความขัดแย้งขยายตัวกลายเป็นการสู้รบกันระหว่างผู้สนับสนุนลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) กับผู้สนับสนุนโมบูทู(Mobutu) ซึ่งรวมถึงกองกำลังชาวฮูตูด้วย
คาบิลา กล่าวว่าหากผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไม่ออกไปจากแซร์ เขาจะใช้กองกำลังบังคับให้ออกไป

เมื่อเดือนตุลาคม 1996 กองกำลังคาบิลาโดยการช่วยเหลือจากประชนในหมู่บ้านของแซร์ซึ่งต้องการกำจัดผู้ลี้ภัยได้โจมตีแคมป์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแซร์ ระหว่างที่มีการโจมตี มีผู้ลี้ภัยชาวฮูตูไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนได้หลบหนีไปอยู่ในป่าของแซร์และเทือกเขาเพราะไม่ต้องการถูกส่งตัวกลับประเทศ กองกำลังของคาบิลาตามผู้ลี้ภัยเข้าไปทั้งในป่าและเทือกเขา และได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไปหลายพันคน ประชาชนเกือบ 1 แสนคนสูญหายไปอย่างไร้ร่องลอยไม่สามารถมีใครตอบได้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร 

ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน คาบิลาสั่งให้หยุดยิงและยอมให้ผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ แต่ขณะที่ผู้ลี้ภัยเริ่มจะอพยพกลับกองกำลังของคาบิลาได้ยกขบวนไปที่  แคมป์มูกันกา(Mugunga)ที่โกมา(Goma)เพื่อสังหารสมาชิกกองกำลังชาวฮูตู การกระทำดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความโกลาหลและเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาของผู้ลี้ภัยในรวันดาอย่างมหาศาล โดยเมื่อ 17 พฤศจิกายน ชาวรวันดาเกือบ 2 แสน 5 หมื่นคนอพยพกลับเข้ารวันดาโดยใช้เวลาเพียง 4
วัน  นับเป็นการอพยพที่มีผู้อพยพมากที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด  ผู้ลี้ภัยบางคนถูกกองกำลังของแซร์ใช้ปืนจ่อหัวบังคับให้กลับบ้าน แต่บางคนก็มีความสุขดีที่ได้กลับบ้านเพื่อจะได้พ้นจากเงื้อมมือของกองกำลังชาวฮูตู ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน 

อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ลี้ภัยก็กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้แซร์เปลี่ยนผู้ปกครองเพราะหลังจากนั้น ในที่สุดลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) ก็โค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู(Mobutu)ได้สำเร็จและตั้งชื่อแซร์ใหม่เป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก” (Democratic Republic of the Congo, DRC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 1997

ประธานาธิบดีพาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu)ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาที่ชายแดนรวันดาและกล่าวประกาศผ่านทางโทรโข่งขนาดใหญ่ต้อนรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการปิดแคมป์และการกลับมาของผู้ลี้ภัย นั่นหมายถึงกองกำลังชาวฮูตูจะไม่สามารถใช้แคมป์เป็นฐานที่มั่นเพื่อที่จะเตรียมการสู้รบกับรัฐบาลอีกต่อไป หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมาผู้ลี้ภัยอีกจำนวน 5 แสนคนจากแทนเซเนียได้เดินทางกลับเข้ามาในรวันดา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกบังคับโดยรัฐบาลแทนเซเนียเช่นกัน จนเมื่อถึงต้นปี 1997 ผู้ลี้ภัยจำนวน 1ล้าน 3 แสนคนได้กลับเข้าประเทศรวันดา

ความรุนแรงที่มากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลรวันดาจะเชื่อว่าการกลับมาจำนวนมากของผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนจากแซร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก)  และแทนเซเนีย  จะช่วยให้ประเทศกลับฟื้นคืนได้ แต่ความรุนแรงในรวันดาก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่การปะทะเกิดขึ้นระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นระยะ การต่อสู้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) กับกองกำลังชาวฮูตู ที่เหลืออยู่ ซึ่งก็ยังคงมีกองกำลังในทางเหนือของรวันดา พลเมืองหลายพันคนติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบ คาดกันว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปี 1997 พลเรือนมากกว่า 2 พัน 3 ร้อยคนทั้งบุรุษ สตรีและเด็ก ถูกสังหารในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา และเมื่อเดือนกันยายน ปี 1997 พลเมืองมากกว่า 6 พันคนถูกสังหารจากการใช้ความรุนแรง

กบฏชาวฮูตูมักจะโจมตีและฆ่ากองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) พลเมืองชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูที่พวกเขากลัวว่าจะให้เห็นใจรัฐบาลรวันดา  ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม 1997 กองกำลังชาวฮูตูได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ 3 ร้อยคนในแคมป์มูเดนดี(Mudende)ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา การโจมตีส่วนใหญ่ไม่มีมูลเหตุจูงใจทางการทหาร แต่เป็นการกระทำอันเนื่องมาจากความเคียดแค้นต่อเนื่องจากการใช้ความรุนแรงเมื่อปี1994 ที่มีสาเหตุจากชาติพันธุ์ ส่งผลให้กบฏชาวฮูตูและกองกำลังเพื่อชาติรวันดา(RPA) ยังพยายามที่จะสร้างความขัดแย้งกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดมา

นอกจากนั้นกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)  เองยังไม่ลดละเรื่องความรุนแรงเพราะได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์และยังก่อความรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ทั้งได้สังหารประชาชนชาวฮูตูจำนวนมาก  ตลอดปี 1997 ทั้งได้ลักพาตัว ทรมาน และ สังหารพลเมืองที่ไม่มีอาวุธหลายพันคนในปี 1998 ซึ่งจากข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมสากล พบว่าพลเมืองถูกสังหารโดยกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)  เมื่อปี 1997 จำนวนมากกว่าจำนวนที่ถูกฆ่าโดยกบฏชาวฮูตู ซึ่งความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการลาดตระเวนตรวจสอบความปลอดภัยของกองกำลังเพื่อชาติรวันดา(RPA)  ส่วนในช่วงเวลาอื่นการสังหารได้กระทำลงเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ก็มาจากความแค้น การทำร้าย  การสังหาร หลายครั้งที่ถูกปกปิดไม่ให้ประชาชนรับทราบ  รวมทั้งถูกปิดบังซ่อนเร้นโดยกองกำลังของรัฐบาล.....

..................................................................

  *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart . Manufactured in the United States of America.  By Lerner Publications Company



หมายเลขบันทึก: 514453เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท