Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณวรัญญูเรื่องสิทธิของคนอาข่าแห่งอำเภอแม่ฟ้าหลวงในบัตรประจำตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ


เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๑๒.๑๙ น. คุณวรัญญูได้ตั้งคำถามผ่าน learners.in.th มาหารือผู้บันทึกเกี่ยวกับปัญหาสิทธิในบัตรประจำตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ ซึ่งผู้บันทึกเห็นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขออนุญาตให้ความเห็นแก่คุณวรัญญูเป็นบันทึกที่เผยแพร่สาธารณะดังที่จะปรากฏต่อไป

--------

คำถาม

--------

เมื่อ 29 ธันวาคม 2555, 12:19,

<[email protected]> เขียนว่า:

จาก: วรัญญู 

หัวข้อ: การขอทำบัตรประจำตัวประชาชนของเผ่าอาข่า

  "สวัสดี ครับ ท่านอาจารย์

  ผมมีข้อสงสัยอยากจะซักถามท่านอาจารย์อาจจะเป็นคำถามเก่าครับ

  คือ ผมมีน้องอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นคนเผ่าอาข่า ที่อาศัยอยู่ที่ อำเภอเเม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

  ถามเลยนะครับ น้องผมสามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้หรือไม่ครับ เขาบอกว่า พ่อแม่เสียตั้งแต่ยังเล็ก เเต่เกิดในประเทศไทย อาศัยอยู่กับพี่น้อง  แต่เขามีใบรับรองออกนอกพื้นที่ครับ ว่าเป็นคนที่ไหน

  น้องผมเคยไปติดต่อขอทำบัตร แต่ยังไม่ได้รับคำตอบเลย มีพนักงาน บางคนบอกว่า ต้องใช้เงินหลักหมื่น ผมสงสัยว่าทำไมต้องใช้เงินด้วยครับทั้งๆ ที่น้องผม ก็เกิดในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย

  ทำได้ไหมครับ ถ้าทำได้สามารถทำต่างจังหวัดได้เลย หรือไม่ครับ

  ตอนนี้ น้องผมอายุ ๒๐ ปีเเล้วครับ ไปไหนมาไหนก็ลำบาก สวัสดิการอะไรก็ไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรบ้างครับ

  ช่วยไขข้อข้องใจให้ผมหน่อยนะครับท่านอาจารย์"

----------------

ประเด็นคำถามที่คุณวรัญญูอยากได้คำตอบ

----------------

ประเด็นคำถาม ก็คือ น้องชาวอาข่าของคุณวรัญญูมีสิทธิในบัตรประชาชนหรือไม่ ?

--------

คำตอบ

--------

เมื่ออ่านข้อเท็จจริงที่คุณวรัญญูให้มา อ.แหววจึงขอตอบคุณวรัญญู ดังนี้

  ในประการแรก “บัตรประจำตัวประชาชนของเผ่าอาข่า” ซึ่งคุณวรัญญูถามถึงไม่มีอยู่ตามกฎหมายไทยค่ะ แต่น้องผู้นี้อาจได้รับการออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายไทย หากน้องผู้นี้มีสิทธิในสัญชาติไทย หรืออาศัยอยู่จริงในประเทศไทย เมื่อฟังข้อเท็จจริงจากคุณวรัญญูว่า น้องผู้นี้เป็นชาวเขาเผ่าอาข่าที่เกิดในประเทศไทย และอาศัยอยู่ ณ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อ.แหววก็สันนิษฐานว่า อย่างน้อย เขาก็น่าจะได้รับการบันทึกตัวบุคคลแล้วในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายไทย จึงน่าจะไปถามน้องผู้นี้ดูนะคะว่า มีความเป็นมาอย่างไร ? มีบิดามารดาเป็นใครมาจากไหน ? ถือเอกสารอะไร ? ในยุคนี้ คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจน

  ในประการที่สอง การมีใบอนุญาตออกนอกพื้นที่โดยไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรนั้น เป็นไปไม่ได้ตามกฎหมายค่ะ นอกจากจะไปซื้อเอกสารนี้มา ลองไปหารือหาความจริงดูนะคะ

  ในประการที่สาม คุณวรัญญูเล่าว่า น้องผู้นี้มีอายุประมาณ ๒๐ ปี จึงน่าจะเกิดในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งยังน่าจะมีพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดและการเติบโตในชุมชน จึงไม่น่าจะยากที่จะพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย จึงขอให้รวบรวมพยานหลักฐานมาให้ช่วยดูในรายละเอียดนะคะ แนะนำให้เล่าความเป็นมาของน้องผู้นี้ตั้งแต่เกิดมาให้ทราบค่ะ จะได้พิจารณาแนะนำทางแก้ไขให้ต่อไปค่ะ

  ในประการที่สี่ ที่คุณวรัญญูเล่าว่า “น้องผมเคยไปติดต่อขอทำบัตร แต่ยังไม่ได้รับคำตอบเลย มีพนักงาน บางคนบอกว่า ต้องใช้เงินหลักหมื่นน้องผมเคยไปติดต่อขอทำบัตร แต่ยังไม่ได้รับคำตอบเลย มีพนักงาน บางคนบอกว่า ต้องใช้เงินหลักหมื่น” นั้น ก็แสดงว่า น้องผู้นี้โชคร้ายที่ไปตกอยู่ในขบวนการทุจริตขายบัตรประชาชน ซึ่งหากยอมจ่ายเงินไป ก็อาจถูกเพิกถอนภายหลัง และอาจตกเป็นผู้ผิดกฎหมายอาญาฐานปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะทำให้ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติมีความซับซ้อนและแก้ไขยากมากขึ้น

  ในประการที่ห้า หากสอบถามน้องผู้นี้แล้ว ก็ไม่พบว่า เคยถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยบนโลก ก็ร้องขอให้กรมการปกครองบันทึก “ตัวบุคคล” ของเขาใน “ทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ค่ะ หากนายอำเภอแม่ฟ้าหลวงไม่ยอมรับคำร้อง ก็อาจร้องทุกข์ไปยังประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติค่ะ

  ในประการสุดท้าย หากฟังได้ว่า น้องผู้นี้มีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า มีสิทธิในสัญชาติไทย เขาก็จะได้รับการบันทึกใน “ทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย” และจะได้รับการออก “บัตรประชาชน” ให้ถือ แต่ถ้าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า เขามีสิทธิในสัญชาติไทยและก็ฟังไม่ได้ว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐอื่นใด เขาก็จะได้รับการออก “บัตรประจำตัวบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” ซึ่งอาจมีชื่อแตกต่างกัน สุดแต่ข้อเท็จจริงส่วนบุคคลของเขาค่ะ

  กรุณาพยายามเล่าข้อเท็จจริงของน้องผู้นี้กลับมาให้ทราบนะคะ โดยเฉพาะวันที่เกิด สถานที่เกิด เรื่องราวของบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ตลอดจนเอกสารที่รัฐไทยออกให้พวกเขาทั้งหมด แล้วจะช่วยวิเคราะห์ทางออกของปัญหาให้อีกที กรุณาตระหนักว่า การให้ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาจะแก้ไขปัญหาง่ายที่สุดและยั่งยืนที่สุดค่ะ ความเป็นมนุษย์นั้นก็เพียงที่จะกำหนดเป็น “หน้าที่ของรัฐไทย” ที่จะแก้ไขปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่น้องผู้นี้ได้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 514448เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๖ ให้เช่นกันค่ะ 

ท่านคะ ปัจจุบันจำกัดสิทธิของเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 ไหมคะ

กฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติที่จะเลือกปฏิบัติต่อคนเพราะเลขประจำตัวค่ะ

แต่ข้อจำกัดน่าจะมาจากสาเหตุอื่นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท