ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๑๘. สงครามกับบาดแผลทางศีลธรรม



          นิตยสาร นิวสวีกประจำวันที่ ๑๐ ธ.ค.​ ๕๕ ลงบทความเรื่อง A New Theory of PTSD and Veterans : Moral Injuryข้อถกเถียงคือ ประสบการณ์ในสนามรบเป็นต้นเหตุของ Post-Traumatic Stress Syndrome (PTSD) ได้หรือไม่  บาดแผลทางศีลธรรม (moral injury) มีจริงหรือไม่ 

          บทความนี้เล่าเรื่องของทหารอเมริกันชุดแรกที่บุกอิรัก  ที่เรียกว่า Fox Company – Second Battalion, 23rd Marine Regimen  ทหารเหล่านี้รอดชีวิตกลับบ้านทั้งหมด  แต่ชีวิตไม่ดีเลย ถ้าเป็นสังคมไทยก็ว่าไปทำบาปมา  บทความบอกว่า ๑ ใน ๔ ของทหารเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD  และครึ่งหนึ่งมีบาดแผลทางจิตใจ  เป็นคนไม่มีงานทำ ไร้บ้าน ติดเหล้า ติดยา หย่าร้าง และแปลกแยกจากตัวตนของตนในอดีต  และฆ่าตัวตาย

          ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร และด้านจิตเวช อธิบายตรงกันว่า อาการเหล่านี้เกิดจากได้ผ่านประสบการณ์อยู่ท่ามกลางความตาย หรือเสี่ยงตายอย่างรุนแรง  และรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง 

          ชื่อเก่าของ PTSD  คือ Post-Vietnam Syndrome มีการทำวิจัยใช้เงินไปเป็นพันล้านเหรียญเพื่อให้เข้าใจโรคนี้  แล้วก็มาเผชิญหนักขึ้นไปอีกในทหารจากสงครามอิรัก

          หลังจากจิตแพทย์คุยกับทหารเหล่านี้บ่อยครั้งเข้า ก็เกิดคำใหม่ขึ้นมา คือ moral injury (บาดแผลทางศีลธรรม)  เนื่องจากทหารเหล่านี้ไม่ได้พูดเรื่องความกลัว  แต่พูดเรื่องความละอาย ความสูญเสีย ความเสียใจ  จากการพลาดไปฆ่าพลเมือง เด็ก หรือคนที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบ  คนเหล่านี้พูดเรื่องความรู้สึกถูกหลอกให้ไปรบ  ถูกหักหลังโดยผู้นำหรือผู้บังคับบัญชา 

          บทความนี้บอกว่า เรื่องบาดแผลทางศีลธรรมที่เกิดจากสงครามมีมาแต่โบราณ  มีเขียนไว้ในมหากาพย์ Iliad และ Odysseyรวมทั้งในบทละครของ Sophocles

          นอกจากความพยายามทำความเข้าใจและเยียวยาปัญหาบาดแผลทางศีลธรรม ด้วยวิธีการทางการแพทย์แล้ว  ทางศาสนาก็ได้ตั้ง Center for Soul Repairขึ้นในมหาวิทยาลัย Texas Christian University

          ผู้เขียนบอกว่า American Psychiatric Association ยังคงระบุใน 2013 Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ว่าสาเหตุของ PTSD คือ fear  ยังไม่เพิ่ม guilt และ shame ลงไป 

          อ่านบทความนี้แล้ว ผม AAR กับตนเองว่า ในคติไทย เราถือว่านี่คือบาปกรรม  และเป็นสภาพ “กรรมตามทัน”  ที่ไปเข่นฆ่าผู้คนที่เขาไม่มีทางสู้  ที่เขาไม่ได้คิดทำร้าย เขาอยู่ของเขาดีๆ  รัฐบาลอเมริกันก็ยกกองทัพไปรบอย่างไร้เหตุผล  ความไร้เหตุผลในจิตใต้สำนึกของทหารเหล่านี้ น่าจะเป็นเหตุให้เกิดบาดแผลทางศีลธรรม  ถ้าเป็นการรบเพื่อป้องกันประเทศ จะไม่เกิดบาดแผลนี้  ผมสงสัยว่า ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ที่ตัดสินใจส่งทหารไปรบ  และได้ประโยชน์ทางธุรกิจเข้าตัว เกิดบาดแผลทางศีลธรรมบ้างหรือไม่ 


วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 514325เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บาดแผลทางศิลธรรม ....  คำนี้ดีจริงๆๆ ค่ะ


ขอบคุณมากค่ะ

บาดแผลทางศีลธรรม 

เป็นคำที่มีความหมายเด่นชัดและสะกิดใจคนได้ดีเลยนะคะ

ชอบบันทึกนี้มากค่ะ หากคนเราคำนึงถึงคำนี้ก่อนลงมติตัดสินใจ ความรุนแรงและบาดแผลทางศิลธรรมก็จะไม่เกิดขึ้นนะคะ 

บาดแผลทางศีลธรรมก็น่าจะเกิดแก่คนที่ไปทำร้ายอื่นโดยไม่มีเหตุผลทุกคน เวลาคุยกับข้าราชการที่มองมนุษย์ในแง่ร้าย ก็เห็นร่องรอยของความรู้สึกผิดศีลธรรมในแววตาของเขานะคะ แต่ถ้าเขาคนหนึ่งอยู่ในพรรคพวกที่คิดเหมือนกัน เขาก็จะยังคงคิดแบบอมนุษย์นิยมได้เรื่อยๆ  มีความรู้ได้กับการเอาชนะประชาชนที่ยากไร้ แต่ก็แปลกที่เราเห็นแววตาที่ลังเล หรือหลบตาเมื่อถูกจ้องตรงๆ เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสำนึกในสิ่งถูกผิดได้เอง แต่ไม่เข้าใจเลยที่ยังคงทำร้ายคิดร้ายต่อคนอื่น กิเลสไหมคะที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท