503. AI คือ ศาสตร์ที่ไม่แคร์จุดอ่อน?


คำถามนี้ เป็นคำถาม Top Hit ติดดาวของผู้สนใจ Appreciative Inquiry (AI) ครับ ว่าเอ๊ ไม่สนใจจุดอ่อนเลยเหรอ ถึงกับมีคนตั้งข้อสังเกตว่า “นี่ถ้างั๊นก็เหมือนกับครูบางคนที่เคยเจอน่ะสิ สนใจแต่เด็กเก่งที่เป็นจุดแข็งของชั้นเรียน  แต่ไม่สนใจเด็กอ่อน ที่เป็นจุดอ่อนของชั้นเรียนใช่ไหม”

คำตอบคือ “ไม่ใช่ครับ”เริ่มเลยนะครับ มาว่ากันที่สมมติฐานของ AI ซึ่งคือ เราเป็นศาสตร์ที่มีความเชื่อว่าทุกคนทุกระบบ ทุกองค์กรมีเรื่องราวดีๆ “ซ่อนเร้น” อยู่ครับ เรื่องราวดีๆ ดังกล่างเป็นสาเหตุให้ ระบบเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” จากนั้นขออนุญาติตอบอย่างละเอียดโดยแตกเป็นสี่ประเด็นดังนี้ครับ

1.  จุดแข็งคือเรื่องราวดีๆที่ซ่อนเร้นอยู่ครับ ตรงนี่ว่ากันตามสมมติฐานของ AI เลย  ถ้าไม่ทำอะไรบางอย่างเรื่องราวดีๆ หรือจุดแข็งที่ว่า มักจะรอดหูรอดตาเราไปครับ ต้องบอกตรงๆ ว่าตั้งแต่ทำ AI มาหลายปีนี่มันเป็นจุดที่ซ่อน พลางตัวเราอยู่ครับ ถ้าไม่ถาม ไม่นึก ไม่ผ่านกระบวนการการตั้งคำถาม การตั้งข้อสังเกตด้วยคำถามเชิงบวก ก็ยากที่จะเจอมันครับ เพราะฉะนั้นที่คนตั้งข้อสังเกตว่า  “นี่ถ้างั๊นก็เหมือนกับครูบางคนที่เคยเจอน่ะสิ สนใจแต่เด็กเก่งที่เป็นจุดแข็งของชั้นเรียน  แต่ไม่สนใจเด็กอ่อน ที่เป็นจุดอ่อนของชั้นเรียนใช่ไหม” นี่ต้องบอกเลยครับ ยังไม่ผ่านการตั้งคำถามเพื่อดึง “จุดแข็ง” ของเด็กแต่ละคนออกมาครับ วิธีการคือให้เด็กแต่ละคนเล่าเรื่องราวดีๆ ออกมาครับ อาจตั้งคำถามว่า ตั้งแต่เรียนมาภาคภูมิใจอะไรที่สุด ชอบครูคนไหนมากที่สุด ชอบวิชาไหนมากที่สุด เรื่องราวดีๆ แต่ละเรื่องนี่คือ “จุดแข็ง” ถ้าเราถามแค่คนละสามคำถามนี่ (จริงๆ สามารถถามด้วยคำถามมากกกว่านี้ แล้วแต่โจทย์ครับ) 


Credit: http://coachingcommons.org/guest-contributors/strengths-based-coaching-only/

ถ้านักเรียนมีสามร้อยคน ก็จะได้เก้าร้อยเรื่อง หมายความว่าโรงเรียนมีจุดแข็งถึง 900 เรื่องครับ จุดแข็งเหล่านี้แหละครับ จะจุดประกายแนวคิดให้เกิดภาพดีๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆขึ้นมาได้ครับ นอกจากนี้ยังถามครูได้ครับเช่นในโครงการ AI โครงการหนึ่ง เราถามคำถามเด็กๆ ว่าชอบคุณครูคนไหนบ้าง เด็กก็ให้รายชื่อมา เราก็เชิญคุณครูเหล่านั้นมาเล่าเรื่องดีๆ ไหนลองเล่ากันสิครับว่าคุณครูมีดีอะไร เด็กๆ เขาบอกว่าชอบคุณครูมากๆ ปรากฏว่าได้เทคนิค เช่นคุณครูภาษาอังกฤษคนหนึ่ง เล่าว่าเห็นเด็กเวลามาคุยกับครู ให้พูดภาษาอังกฤษก็เขิน แต่พอไปคุยกับพี่ป สามแล้วเห็นคุยเล่นกันได้ คุณครูเลยพัฒนาแนวคิดเอาพี่ป. 3 มาพูดกับเด็ก ป. 2 ปรากฏว่าเด็กสามารถคุยภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น พัฒนาการดีขึ้น นี่ไงครับ เราได้ “จุดแข็ง” ซึ่งก็คือเรื่องราวดีๆนี้แล้วครับ เราก็สามารถไปถามต่อว่า ใครมีเทคนิกดีกว่านี้ไหม หรือใครจะลองเอาแนวคิดนี้ไปขยายผลต่อก็เอาเลย สรุปแล้วการตั้งคำถามดีๆ กับคนทุกคนในองค์กร (รวมไปถึงลูกค้าได้ด้วย เช่นผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งศิษย์เก่าเมื่อยี่สิบปีก่อน)  คุณจะเจอเรื่องราวดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ แล้วทำให้คนในองค์กรอยากเอาเรื่องราวดังกล่าวไปขยายผลเอง


Credit: http://www.futurity.org/society-culture/in-us-immigrants-kids-are-head-of-the-class/

2.  ประสบการณ์ดีๆของแต่ละคน จะฉายเรื่องราวที่เป็นจุดอ่อนคือด้านตรงข้ามออกมาเอง เปรียบเสมือนเวลาเราส่องไฟฉายไปในที่มืด คุณจะเจอจุดสว่าง จุดมืด และจุดเทาๆ ครับ เช่นผมเองประสบการณ์ที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการศึกษาคือเรื่องการทานข้าวเช้าครับ  สอนมาหลายปีพบเลยครับไม่ทานข้าวเช้ามานี่เป็นเรื่องเรียนตกเรียนแย่ไปเลยคุยไม่รู้เรื่อง (ดูบทความผมเรื่อง “ขบวนการอาหารเช้า ” แค่ประสบการณ์ดีๆ ของผมเรื่องเดียวนี่ก็ทำให้เห็นแล้วครับ  เพราะเล่าไปทีไร คนก็จะบอกมาเอง “อ๋อ อาจารย์ ที่อาจารย์พูดน่ะ พฤติกรรมลูกดิฉัน/ ลูกผมเลย” เจอมานับร้อยรายแล้วครับ จากนั้นคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะอะไรครับ ประสบการณ์เชิงบวก มักเป็นคำตอบของประสบการณ์เชิงลบครับ ประมาณว่า เรื่องราวดีๆมันสะท้อนปัญหา ในขณะที่ก็มีคำตอบให้ด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร และจากการติดตามหลายๆปีที่ผ่านมา 

3.  เราสนใจจุดอ่อนครับ เรื่องราวดีๆ คือจุดแข็งที่ “ซ่อนเร้น” เป็นเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นจริงมาแล้ว มักทำให้เราเห็น “จุดอ่อน” จุดใหญ่ๆ ขึ้นมา ซึ่งราวครั้งกลายเป็น “จุดอ่อนมากๆ อย่างน่ากลัว ระดับภัยคุกคามไปเลย” แต่ขณะเดียวกัน เนื่องจากมันมาจากจุดแข็งครับ จึงทำให้เห็นทางออก หรือโอกาสได้ไม่ยาก เรื่องทานข้าวเช้านี่ เป็นอะไรที่ผมเจอมากจนบอกได้เลยว่า มันคือ “จุดอ่อนที่สำคัญมากๆ และเป็นอะไรที่ถูกมองข้ามที่สุด” แต่คุณลองดูให้ดี มันพลิกสถานการณ์ได้ง่ายไหมครับ เรียกว่าคุณเห็น “โอกาส” ขึ้นมาทันที มันง่ายๆ เท่านั้นครับ ก็แค่ทำให้คนชินกับการทานข้าวเช้าเท่านั้นเอง ผมเองในชั้นเรียน ก็จะพูดและส่งเสริมให้คนกินข้าวเช้าตลอด ถึงขั้นอนุญาตให้ไปทานเข้าเช้าสัก 40 นาที ถึงแม้ชั้นเรียนจะเริ่มแล้ว แต่ถ่ายภาพมาส่งเป็นระยะๆ ขึ้น Facebook ไปเลย

4.  คุณอาจเริ่มที่จุดอ่อนก่อนก็ได้ครับ แต่เนื่องจากทุกระบบนี่มีเรื่องราวดีๆ ซ่อนเร้นอยู่ เราก็สามารถเอาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจุดอ่อน มาค้นหาเรื่องราวดีๆ ที่จะสามารถพัฒนาเป็นจุดแข็งได้เลย เช่นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ผมไปสอนที่เชียงใหม่ ผมก็ให้คุณครูเล่าเรื่องดีๆ ครับ ก็มีตอนหนึ่งเราคุณเรื่องพฤติกรรมเด็กๆ แน่นอนคุณครูก็พูดครับ ว่าเด็กบางคนเกเร ผมก็เลยถามว่า “เอ๊ เคยทำอะไรสักอย่างแล้ว เราสามารถเปลี่ยพฤติกรรมเกเรเขาได้ไหมครับ ก็นึกกันก็บอกครับ “งานอาสาจราจรค่ะอาจารย์ มีช่วงหนึ่งพวกเราให้เขามาช่วยเป็นอาสาจราจร ขนาดฝนตก ยังทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม เห็นเขาออกมาดูแลอย่างดี” นี่ไงครับ จุดแข็งในแง่ของระบบ จิตอาสาทำให้เด็กเกเร เปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงครับ” ขยายผลได้เลย ผมยังเล่าเรื่องที่เคยได้ยินมาอีกว่า “เคยได้ยินกรณีของเด็กคนหนึ่งที่เกเรมากจนแม่กลุ้ม วันหนึ่งโรงเรียนพาไปเยี่ยมเด็กป่วยหนัก ประเภทมะเร็งครับ แล้วให้เด็กๆ พาน้องทำกิจกรรม เจ้าเด็กคนนี้ไปเล่นกีต้าร้ให้น้อง ปรากฏว่าเด็กป่วยชอบ ตอนหลังเลยมาเล่นกีต้าร์ให้เด็กป่วยเป็นประจำ แล้วอยู่ๆพฤติกรรมเด็กคนนี้ก็เปลี่ยนไป จนกลายมาเป็นเด็กขยันแล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ครับ” เห็นไหมครับ เราเจอเรื่องราวดีๆกัน ที่สุดก็มีโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาเด็กเกเรครับ


Credit: http://teamhoneysuckle.wordpress.com/2012/04/16/699/

เขียนมาถึงตอนนี้จะเห็นว่าเราไม่ได้ไม่สนใจจุดอ่อนครับ จริงแล้วเราสนใจมันมากๆ หากแต่เราจะพลิกมันด้วยคำถามดีๆ ด้วยความเชื่อว่ามีอะไรดีๆซ่อนเร้นอยู่ แล้วเราก็มักเจอเรื่องราวดีๆ ที่คนมองข้ามอยู่จริงๆ เมื่อเราเจอ เราก็สามารถนำมันมาแก้ปัญหา หรือ จุดอ่อนนั้นได้ในที่สุดครับ  

เพียงเล่าให้ฟัง ลองพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 514221เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หาจุดเด่น  พบเห็นปัญหา พัฒนาเป็นจุดเด่น

ถึงเวลาประเมินผลปลายปีทีไร เจ้านายจะบอกให้คิดถึงจุดเด่นของตัวเองในปีที่ผ่าน และวางแผนพัฒนาจุดนั้นในปีต่อไปค่ะ

ขอบคุณบทความดีดีค่ะ

ขอบคุณ ความรู้ดีดีนี้นะคะ 

ประทับใจคำนี้ครับ
"เราไม่ได้ไม่สนใจจุดอ่อนครับ จริงแล้วเราสนใจมันมากๆ หากแต่เราจะ"พลิก"มัน"ด้วยคำถามดีๆ ด้วยความเชื่อว่ามีอะไรดีๆ"ซ่อนเร้นอยู่"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท