ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยเริ่มในพื้นที่/ชุมชน



          เรามักจะติดกรอบความคิด ว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ต้องเริ่มที่โรงเรียน  จริงๆ แล้วเริ่มได้หลายที่ ที่หนึ่งคือในชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ เอง  และเริ่มโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่บำรุงสุขของคนในพื้นที่ คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

          ตัวอย่างของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ มีมานำเสนอในการประชุมเสวนา “การปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ที่จัดโดย สสค. หลายครั้ง

          ในบ่ายวันที่ ๔ ธ.ค. ๕๕ ก็มีการนำเสนอผลงานของ ๒ อบต. ในหัวข้อ ถักทอพลังชุมชน (ตำบล) เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของพลเมืองรุ่นใหม่”  คือ อบต. หนองสาหร่าย  อ. ดอนเจดีย์  จ. สุพรรณบุรี  กับ อบต. หนองอียอ  อ. สนม  จ. สุรินทร์

          โดยที่หนองสาหร่าย ใช้วิธีการ “โรงเรียนครอบครัว”ทำที่บ้านห้วยม้าลอย  แก่เด็กในระบบโรงเรียน  ส่วนที่หนองอียอ  ทำแก่เด็กนอกระบบการศึกษา  ทั้งสองที่มี อบต. เป็นกำลังผลักดัน และให้งบประมาณสนับสนุน  ท่านที่สนใจเรื่องราวของทั้งสองเรื่อง ขอ วีซีดี จาก สสค. ได้ 

         นี่คือการเรียนรู้จากการลงมือทำ (กิจกรรม) ของเด็ก  โดยลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตนเอง   เน้นที่การเรียนทักษะชีวิต หรือการพัฒนาบุคลิก หรือลักษณะนิสัยของตนเอง   พ่อแม่ของเด็กบอกว่า ลูกของตนมาเข้ากิจกรรมแล้วนิสัยใจคอเปลี่ยนไป  กลายเป็นคนรับผิดชอบ ขยัน  และมีน้ำใจ 

          ทั้งสอง “โรงเรียน” ไม่ได้สอน “วิชา”  แต่จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ฝึกฝน “ทักษะชีวิต”  และเห็นผลทันตา  แต่ นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผู้เชี่ยวชาญ brain-based learning บอกว่า  จะให้ได้ผลจริงๆ ต้องให้กิจกรรมมีลักษณะ ๓ ประการ คือ (๑) เด็กจัดการเอง  (๒) มีการดำเนินการต่อเนื่อง  ไม่จัดเป็น event  และ  (๓) มีการสืบทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

          จากเรื่องเล่าของหนองสาหร่าย ผมปิ๊งแว้บว่า  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่/ชุมชน ตามแบบที่นำเสนอในวันนี้  ก่อผลกระทบต่องานของหลายกระทรวง  ดังคำบอกเล่าของ “หมอสมนึก” (สมนึก พลเสน) แห่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยม้าลอย  ต. หนองสาหร่าย  ว่าจุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้เริ่มต้นจากสถานีอนามัยบ้านห้วยม้าลอย  ที่ในปี ๒๕๔๙ ได้รับเงินจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพจาก สปสช.  แล้วหาทางดำเนินการโดยไปเชิญฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่นัดคุยกับ นายก อบต. เพื่อหาทางร่วมมือกันจัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อสร้างสุขภาวะในชุมชน  ซึ่งนายก อบต. เอาด้วยทันที  เชื่อมต่อไปสู่การสนับสนุนโรงเรียนครอบครัว  ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้ว เกิดผลตามเป้าหมายของหลายกระทรวง  เช่นด้านสุขภาพ  ด้านการส่งเสริมการอ่าน  ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ต้องการ “คุณอำนวย” ทำหน้าที่จัดกระบวนการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ  และ “คุณอำนวย” ใน ๒ กรณีนี้ คือคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ แห่ง สรส.   โดยได้รับทุนสนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล 

          ดังนั้น ในตอนเช้าวันเดียวกัน จึงมีการนัดหมายหารือความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น  สรส.  และมูลนิธิสยามกัมมาจล  เพื่อร่วมกันจัดการฝึกอบรมทักษะการเป็น “คุณอำนวย” การเรียนรู้ แก่บุคลากรของ อปท.  เพื่อขยายผลการปฏิรูปการเรียนรู้แนวนี้ไปทั่วประเทศ  โดยที่การอบรมต้องส่งคนเข้าเป็นทีม  แล้วกลับไปฝึกปฏิบัติ และกลับมา ลปรร. ผลของการปฏิบัติ  สลับไปมา  จนครบ ๑ ปี  หวังว่าจะได้ผล ๔ ชั้น  คือ (๑) คนของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น มีทักษะในการฝึกอบรม “คุณอำนวย” ด้านการเรียนรู้ในพื้นที่ ให้แก่ อปท.  (๒) คนของ อปท. ที่มาเข้ารับการอบรม ไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ได้  และ (๓) เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะชีวิต  (๔) คนในพื้นที่ได้เรียนรู้หลักการและแนวทางฝึกอบรมบุตรหลานของตน  และรู้วิธีรวมตัวกันจัด “โรงเรียนครอบครัว” 

          นี่คือความเคลื่อนไหวปฏิรูปการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ให้แก่สังคมไทย


วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 514151เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาแบ่งปันกัน และส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๖ ค่ะ

  ภาพจากสายบริหารงานสื่อสารองค์กร SCB  

ขอบคุณอาจารย์ หมอ เรียนรู้ปฎิรูปการศึกษา ขากพื้นที่ หลากหลายวิธิของชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท