ประวัติผู้ไท(ภูไท)มองผู้ไท....ย้อนแต่ครั้งหนหลัง (เป็นการสวัสดีปีใหม่ 2556 ครับ)


 

มองผู้ไท....ย้อนแต่ครั้งหนหลัง

(เป็นการสวัสดีปีใหม่ 2556 ครับ)






​                      


ในภาพ สาวผู้ไทตำบลเหล่าใหญ่ แต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้านผู้ไท มางาน"ผู้ไทลงข่วงเข็นฝ้าย" ในช่วงงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติครั้งที่ 1

ซึ่งงานผู้ไทลงข่วงได้จัดไปเมื่อ 9 มี.ค. 55 เมื่อตอนต้นปี

ที่ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

ผลงานภาพโดยมณีรัตน์ ศรีสุวรนันท์

ผ้าแพรวา เป็นชื่อเฉพาะที่เรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงของชาวผู้ไท ซึ่งใช้ในงานเทศกาล บุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ เป็นผ้าที่ทอด้วยมือ

แพร หมายถึง ผ้า

วา หมายถึงความยาวของผ้า 1 วา

คำว่าแพรวา จึงมีความหมายว่า ผ้าที่มีความยาวประมาณ 1 วา

ชาวผู้ไท จะแต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้านผู้ไท ห่มสไบเฉียงด้วยผ้าแพรวา จนแพรวานี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวผู้ไท



           



ชาวผู้ไทในประเทศไทย เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศ สปป.ลาว บริเวณแขวงคำม่วน (เมืองบก) และแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว(มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองวัง ซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองวีละบุรี แขวงสะหวันนะเขตในปัจุบัน)เมื่อประมาณเกือบ 200 ปี มาแล้ว ตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองในเขตฝั่งขวา แม่น้ำโขงในหลายพื้นที่ เช่น กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหารฯ ซึ่งมีทั้งอพยพมาโดยสมัครใจ และถูกกวาดต้อนมา

ก่อนหน้านั้น เมื่อกว่า300ปีที่แล้วและหรือก่อนหน้านั้น มีตำนานเล่าขานว่าคนผู้ไทได้อพยพมาจากเวียดนามตอนเหนือ ต่อกับจีนตอนใต้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ การอพยพโยกย้ายว่ามาจากที่ไหนแน่ อพยพมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่เล่ากันมานั้นมักบอกว่ามาจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู ซึ่งคือเมืองแถน หรือเมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนามปัจจุบัน แต่เท่าที่ศึกษาในสภาพแวดล้อมแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนนัก ยังขาดร่องรอยที่เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์สำหรับสนับสนุนตามตำนานนี้(ผู้ไทอาจมีบทบาทกับเมืองแถนในช่วงสั้นๆ เช่นผมเคยเห็นเอกสารว่าผู้ไทได้ตีเมืองแถน คืนจากกลุ่มลื้อเชียงรุ้ง)

การอพยพมาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนู ของผู้ไทอาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น(กลุ่มที่อยู่นาน คือไทดำ) แล้ว แตกกระจายออกไป รวมทั้งการอพยพต่อมายังบริเวณ ตอนเหนือของลาว (อุดมไชย หัวพัน(หัวพันห้าทั้งหก เมืองขึ้น หรือเมืองบริวารของเมืองแถน) เชียงขวาง) และอพยพลงมายังแขวงสะหวันนะเขตและแขวงคำม่วน สปป.ลาว ตามลำดับในหลายครั้งหลายครา ครั้งล่าสุดคือเมื่อกว่า300ปีที่แล้ว(สมัย เจ้าอนุรุทธ แห่งหลวงพระบาง)

การค้นคว้าหาร่องรอยบรรพบุรุษผู้ไท นั้นยังเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบขาดเอกสารสำคัญประกอบการค้นคว้า





​​    




ในรอบปี 2555 นอกจากการศึกษาค้นคว้า หาร่อยรอย ผู้ไทในจีน(มณฑลยูนาน และมณฑลกว่างซี) และเวียดนามแล้ว การค้นคว้าหาร่องรอยการอพยพของผู้ไท

จากเขต เวียตนาม เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ผมสนใจ

ผมขอสรุปความคืบหน้าการค้นคว้าเรื่องผู้ไทไว้ ให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับชาวผู้ไทและคนที่สนใจเรื่องผู้ไท

ดังนี้......

1. ผู้ไทยุคตำนานการตั้งถิ่นฐานในจีน ผู้ไทตามตำนานมีคำบอกเล่าตำนานคนผู้ไทสืบต่อกันมาว่า........

แต่เดิมชาวผู้ไท เคยอาศัยอยู่ในดินแดน ตอนใต้ของจีนแถบ มณฑลยูนนาน , กวางสี ครั้นเมื่อมีปัญหาศึกสงคราม ผู้ไทจึงได้พากันอพยพลงมาลงมาทางใต้เรื่อย ๆ มาอยู่ในแถบแผ่นดินทางเหนือของเวียดนาม ทำให้ชุมชนหนาแน่นขึ้น โดยได้ตั้งถิ่นฐานมาอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู หรือเมืองแถน (บริเวณเมืองเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน) ผู้ไทในยุคตำนานนี้น่าจะเกิน 1,500 ปี มาแล้ว(ความเป็นผู้ไทขาว ผู้ไทดำ มีการแยกกัน ตั้งแต่ครั้งอยู่ในจีนตอนใต้แล้วครับ ตามข้อเสนอ ของศาสตราจารย์คำจอง ดังนั้น ผู้ไทน่าจะแยกตัวต่างกับ ผู้ไทดำ ผู้ไทขาว ตั้งแต่ครั้งอยู่ที่จีนตอนใต้แล้วเช่นกัน)

2. ผู้ไทยุคตำนานการตั้งถิ่นฐานในเวียดนามตอนบน

มีหลักฐานที่มีการบันทึกถึงการตั้งถิ่นฐานผู้ไทในยุคการตั้งถิ่นฐานของผู้ไทในเวียดนามตอนบน อย่างน้อยสองแห่ง คือในพงศาวดาร เมืองแถน และพงศาวดารเมืองไล (นี่เป็นยุคผู้ไทในยุคตำนานประมาณ 1,500 ปี มาแล้ว ก่อนการตั้งเมืองชวา หรือเมืองหลวงพระบาง ยุคนี้ผู้ไทหลายๆกลุ่มอพยพมาตั้งบ้านเรือนแถบเวียดนามตอนบน และลาวตอนบน ตามความเห็นของผม กลุ่มพวน ก็คือผู้ไทอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบเมืองโพน หรือเมืองพูโพน)

2.1 ในพงศาวดารเมืองแถน(เดียนเบียนฟูในปัจจุบัน) ได้กล่างเป็นตำนานการตั้งถิ่นฐานยุคแรกของคนผู้ไทที่เมืองปุงตามตำนานบอกว่า.....

เมืองปูงนั้น อยู่ใกล้ภูเขาเรียก “ภูเต้าปุง” ที่ทุ่งนาเตา “ภูเต้าปุง” นั้นอยู่เขตแดนเมืองฝั่งข้าง ทิศตะวันออกแห่งเมืองแถน ระยะทาง เดินเท้าไปจากเมืองแถน วันหนึ่ง จึงถึง และ เต้าปุง นั้นเป็นภาษาพวกผู้ไท เรียกผลน้ำเต้า ครั้นภายหลังคนทั้งหลายเรียกภูเขานั้นว่า ภูเต้าปุง มาจนทุกวันนี้(เป็นเมืองตามตำนานน้ำเต้าปุงของผู้ไท) ผู้ไทจากนาน้อยอ้อยหนู อพพยพมาลาวตั้งแต่เมื่อไหร่ อพยพมาอยู่ที่ไหนบ้างก่อนมาอยู่เมืองวัง ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก มีตำนานไว้ว่า ได้มีการอพยพอีกครั้งหนึ่งในสมัย เจ้าอนุรุทธ แห่งหลวงพระบาง

2.2 ในพงศาวดารเมืองไล(ไลโจวในปัจจุบัน) ได้กล่าวถึงตำนาน ผู้ไท ว่า....

ผู้ไทเป็นกลุ่มที่มาตั้งเมือง เป็นเมืองไล ในครั้งแรก ต่อมาผู้ไทอพยพเข้ามาอยู่ในลาว(ในแขวงอุดมไชยในปัจจุบัน ในตำนานยังบอกอีกว่า เมืองไชยนี้ เป็นเมืองที่ผู้ไทตั้งขึ้นมา)




     



3. ผู้ไทในตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง แม้ในหนังสือตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางจะไม่ได้พูดถึงคำว่าผู้ไทโดยตรง แต่จากการวิเคราะห์ ของ ดร.ไพโรจน์ เพชรสังหาร บอกว่าเมืองฟ้่าแดดสงยางตำนานนั้นเป็นผู้ไทกลุ่มหนึ่ง(ประมาณ 1200ปีที่แล้ว)

4. ผู้ไทในประวัติศาสตร์ลาว

4.1 ข้อมูลบันทึกในประวัติศาสตร์ลาว ที่กล่าวถึงผู้ไทชิ้นแรก คือข้อมูล ว่ามีคนผู้ไท เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพ พระเจ้าไชยเชรษฐาธิราช(ในช่วง 2091-2114 ยุคพระมหาจักรพรรดิ ของอยุธยา ในบั้นปลายรัชกาลพระองค์ยกทัพไปตีหัวเมืองทางใต้(ผมเคยอ่านมานานแล้ว นั่นแสดงว่าผู้ไทมาอยู่ลาว ก่อนสมัยพระมหาจักรพรรดิ ของอยุธยา)

4.2 ข้อมูลบันทึกในประวัติศาสตร์ลาว ที่กล่าวถึงการมาบูรณะองค์พระธาตุพนมเจ้าราชครูหลวงพ่อโพนสะเม็ก หรืออัญญาครูขี้หอมตอนหนึ่งว่า.....

ครั้นต่อมา พ.ศ.2233 "ท่านราชครู"ก็เป็นที่ระแวงของ"เจ้ามหาชีวิต"แห่งนครเวียงจันทน์เกี่ยวกับ ความมั่นคงของราชบัลลังก์ "ท่านราชครู"จึงออกอุบายให้คณะศิษย์ประมาณ 3,000คน จากนครเวียงจันทน์ไปอัญเชิญ"เจ้าหน่อกษัตริย์"และพระมารดา(จาก"โพพันลำงิ้ว สมสนุก") ออกเดินธุดงค์โดยทางเรือไปตามลำน้ำโขง มุ่งไปยัง"เมืองมรุกขนคร"เพื่อบูรณะองค์พระธาตุพนม(ยุคในในสมัยพระเทพราชาของอยุธยา)

มีผู้รู้ประวัติศาสตร์ลาว ท่านหนึ่งบอกว่า ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ลาวได้บอกว่า ครึ่งหนึ่งของคณะศิษย์ประมาณ 3,000 คน นั้น เป็นชาวผู้ไทครับ ผู้ไทกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่ง ตั้งบ้านเมืองดูแลพระธาตุพนม ส่วนหนึ่งไปตั้งบ้านเมืองที่เมืองหนองบก(คำม่วน) ส่วนหนึ่งติดตามอัญญาครูขี้หอม ไปตั้งบ้านเมือง ที่เมืองแสนล้านช้าง(พนมไพร)และจำปาศักดิ์ตามลำดับ(มีคำบอกเล่าว่าในยุคเดียวกันนี้ได้มีผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเขตเทพสถิต (ชัยภูมิ) และต่อมาอพยพมาตั้งบ้านเรือนที่เมืองพระยืน(จังหวัดขอนแก่น อีกกลุ่มอยู่ยางสีสุราช(มหาสารคาม) ข้อมูลนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบ)

4.3 ข้อมูลบันทึกในประวัติศาสตร์ลาวสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (ยุคในในสมัยพระเทพราชาของอยุธยา) ได้กล่าวถึงผู้ไทว่า.... ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์หล่อ) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ได้มีหัวหน้าชาวผู้ไทซึ่งมีนามว่า พระศรีวรราช ได้มีความดีความชอบในการ ช่วยปราบกบฏในนครเวียงจันทน์จนสงบราบคาบกษัตริย์เวียงจันทน์ จึงได้ปูนบำเหน็จ โดยพระราชทานพระราชธิดาชื่อนางช่อฟ้า ให้เป็นภรรยา ในกาลต่อมาจึงได้แต่งตั้งให้บุตรซึ่ง เกิดจากพระศรีวรราชหัวหน้าชาวผู้ไท และเจ้านางช่อฟ้ารวม 4 คนแยกย้ายกันไปปกครองหัวเมือง ชาวผู้ไท คือ เมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) (ปัจจุบัน เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) อยู่ใน แขวงสุวรรณเขตของลาวติดชายแดนเวียดนาม ส่วน เมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ อยู่ในแขวงหัวพัน) พร้อมกับอพยพชาวผู้ไทส่วนหนึ่งลงไปทางใต้ของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ (เรียบเรียงจากบทพระนิพนธ์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าประดิษฐาสารีในหนังสือชื่อพระราชธรรมเนียมลาว ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2479 ซึ่งพระองค์เป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาดวงคำ เจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นราชนัดดาของเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์ ) ต่อมาชาวผู้ไทยได้ แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองเชียงฮ่ม, เมืองผาบัง, เมืองคำอ้อคำเขียว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ของลาว




    



5. งานประวัติศาสตร์ผู้ไท ในบันทึกของ กองทัพสยามที่ไปปราบฮ่อในแถบ หัวพัน และเชียงขวาง (ในช่วงเวลาเดียวกันกับการสำรวจ ของฝรั่งเศส) ซึ่งบันทึกโดย พระยาฤทธิรงค์รณเฉท(ศูข ชูโต) แต่ครั้งยังเป็นนายจ่ายวด เป็นพันตรีปลัดทัพ ยกทัพไปปราบฮ่อในแว่นแคว้น หัวพันทั้งห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท ในรัชกาลที่ 5 ที่มีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แต่ครั้งยังเป็นพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ เมื่อปี พ.ศ. 2428ในข้อมูลของกองทัพสยาม ก็ระบุชัดเจนถึงการพบหมู่บ้านผู้ไท ว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าน และกองทัพสยามก็แยกชัดเจน ว่ากลุ่มไหนที่เป็นผู้ไทดำ เป็นผู้ไทขาว และผู้ไท เช่นได้มีระบุการพบหมู่บ้านชาวผู้ไทที่เมืองซ่อน(คือเมืองซ่อนลาว กับเมืองช่อนไท เมืองซ่อนไทเป็นเมืองผู้ไท ปัจจุบัน คือเมืองซ่อนเหนือ และเมืองซ่อนใต้)

6 .งานประวัติศาสตร์ผู้ไท ในรายงานของคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสในหนังสือ

"ล้านซ้าง ก่อนฝรั่งเข้ามาปกครอง" ของท่าน ทงสะหวาด ปะเสิด (ฉบับภาษาลาว) ในหนังสือเล่มนี้ ในกล่าวถึง เรื่อง ผู้ไท ในหลายตอนครับ

ในเนื่อหา เล่มนี้ได้เป็นบันทึกนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ก่อนลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส หลายคณะ ทั้งนี้ได้เน้นที่คณะสำรวจที่นำโดย ปาวี (Auguste Pavie) เป็นพิเศษ โดยมีรายละเอียดที่คณะสำรวจได้ เดินทาง ทั่วเขต ภาคอิสานปัจจุบัน (หลายพื้นที่ทั้งโคราช ชัยภูมิ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลฯ) ไปหลวงพระบาง ไปทางเชียงขวาง หัวพัน สิบสองเจ้าไท บอลิคำไช ทุละคม เลาะลงลาวทางใต้ เซโปน สาละวัน จำปาศักดิ์ อัตตะปือ ตลอดจนบางส่วนของเวียดนาม และกัมพูชา

คณะสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้มีการกล่าวถึงว่า ได้พบ คนผู้ไทตลอดการเดินทางในหลายตอนมากครับ

ทั้งใน ซำเหนือ เชียงขวาง ทุละคม บริคัน มหาไช เมืองวัง เมืองพิน เมืองนอง สองคอน และเซโปน(คณะสำรวจมีหลายคณะย่อยที่สำรวจ)ครับ

คณะสำรวจชาวฝรั่งเศส ยังได้ระบุึง หมู่บ้านชาวผู้ไท (ที่แยกจากไทดำ ไทขาว ) เช่น ที่เมืองHang เมืองHai (เมืองนี้ขึ้นกับเมืองXang (Moc -Chau ) จากนั้นไปพื้นที่ เป็นสันภูเพียง แบ่งปันเขตอ่างน้ำระหว่าง แม่น้ำดำ และแม่น้ำม้า ผ่านบ้านบ่อ(Ban Bo ) เป็นพูเพียง มีความสูงประมาณ 950 เมตร จากน้ำทะเล พวกผู้ไทและจีน พากันตั้งบ้านอยู่ พวกเขาหาทองคำ อยู่ตามลำน้ำที่พูบ่ อยู่ตามเมิมพูบ่ ใกล้ๆพูแดนดินและแถบนั้น น้ำสงมา และน้ำดำอยู่ใกล้กันปัญหาของผม คือในเมื่อ ทั้งคณะสำรวจ ของฝรั่งเศส ได้พบคนผู้ไท ทั้ง ในเวียดนาม ซำเหนือ เชียงขวาง บริคัน มหาไชมากมาย แล้วผู้ไทเหล่านั้นในตอนนี้หายไปไหนหมด

(เอกสารชิ้นนี้ ยืนยันชัดเจนว่า ผู้ไท ไม่ได้อยู่เฉพาะย่าน สะหวันนะเขต คำม่วน ของลาวเท่านั้น หากแต่มีทั้งใน ซำเหนือ เชียงขวาง ทุละคม และบริคัน ผมได้รับการยืนยันจากเพื่อนชาวลาวว่ายังมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ผู้ไททั้งที่อุดมไชย หัวพัน และเชียงขวาง และได้รับคำยืนยันจากเพื่อนชาวเวียดนามว่า ยังมีผู้ไทในจังหวัด แทงหวัว ของเวียดนามครับ)




    




7.งานประวัติศาสตร์ผู้ไท ในเอกสารในลาน หรือที่คนผู้ไท เรียก “บั้งจุ้ม” ผมได้อ่านเอกสารของ อ.นรเก (น้อม) โทธิเบศร์วงษา ที่ท่านเรียบเรียงจากหนังสือใบลานเก่า หรือที่คนผู้ไท เรียก “บั้งจุ้ม” มากกว่า 10 เล่ม เอกสารของท่านบอกว่า ผู้ไทน่าจะอยู่แถวลำน้ำเซบั้งไฟมานานแล้ว ก่อนที่จะมีผู้ไท(กลุ่มผู้ปกครองใหม่) อพยพมาจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู มาเมืองวัง เมือประมาณ250 ปีที่แล้วมา

และในเอกสาร ได้กล่าวถึงอพยพของผู้ไทแต่ละกลุ่มที่อพยพมาเมืองไทย(สยาม) เมื่อประมาณ 180 ปีที่แล้ว นั้นอย่างละเอียด

ประเด็นที่น่าสนใจ ในงานของท่านคือ การที่ท่านเสนอว่ามีผู้ไทอยู่เก่าตามบริเวณลุ่มน้ำเซบั้งไฟ มานานแล้วโดยท่านอ้างถึงเอกสารบั้งจุ้มเมืองนครพนม ที่มีการกล่าวถึงกลุ่มผู้ไท มาก่อนสมัยเกิดเมืองวังนอกจากนี้ ท่าน อ.นรเก (น้อม) โทธิเบศร์วงษา ยังได้บอกว่า ตัวเมืองสกลนครเก่า มีหลายคุ้มวัดที่เป็นชาวผู้ไท เพียงแต่ตอนหลัง ความเป็นผู้ไทในตัวเมืองสกลนครถูกกลืนไป





     

8. การศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ไท จากหนังสือที่ว่าด้วย “ผู้ไท” ซึ่งผมได้อ่านกว่า 10 เล่ม เล่มที่เก่าแก่ และน่าสนใจ มีรายละเอียดเยอะ คืองานเขียนของ ถวิล เกษรราช ในหนังสือ”ประวัติผู้ไทย” ครับเอกสาร ที่เป็นหนังสือที่แต่งในบ้านเราผมจะไม่ลงรายละเอียด นะครับเราะสามารถหาอ่านได้ทั่วไปข้อสังเกตุของผม มีเพียง ส่วนใหญ่แล้วจะสับสน เหมารวมผู้ไทเป็นกลุ่มเดียวกับไทดำครับ แต่เวลารายงานว่ามีผู้ไทที่ไหนบ้างกลับไม่รวมกลุ่มไทดำในประทศไทยเข้าไปด้วย

9. การศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ไท จากการได้พบปะผู้คนทั้งนักวิชาการชาวไทย และชาวต่างประเทศ ได้สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นอกจากนี้ผมยังได้เดินทางไปพบพี่น้องเครือญาติผู้ไท ทั้งในไทและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว รวมทั้งครั้งล่าสุดที่เดินทางไปเวียงจันทน์และหลวงพระบาง แม้ไม่ได้พบคนผู้ได้แต่ก็ได้ความรู้เรื่องผู้ไทเพิ่มขึ้นมากมาย

ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์





      



เวลาผมนำเสนอเรื่องผู้ไทไป อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เนื่องจากข้อเสนอของผม คือ ผู้ไทมีหลายกลุ่ม ครับ

กลุ่มผู้ไทที่ผมนำเสนอ ในบันทึกนี้ เป็นเพียงกลุ่มย่อยหนึ่งของผู้ไท ที่เรียกว่า ผู้ไท(ภูไท) ซึ่งหมายรวมความถึงผู้ไทวัง ผู้ไทเซโปน(ผู้ไทเหญ่อ) และผู้ไทกะตะเท่านั้นครับ ไม่ได้รวมถึงผู้ไทดำ(ไทดำ) ผู้ไทขาว(ไทขาว) หรือผู้ไทกลุ่มอื่นๆแต่อย่างใด

ผมเขียนบันทึกนี้ เป็นของขวัญปีใหม่ ให้พี่น้องชาผู้ไท และคนที่สนใจเรื่องผู้ไท เป็น “ลายแทง”ไว้ เพื่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องผู้ไทกันต่อ รายละเอียดผมจะเขียนเรื่องนี้ในประวัติความเป็นมาคนอิสาน ร่วมกับ อ.ไผท ภูธา Pathai Pudha ต่อไปครับ


ขอบคุณครับ

สวัสดี ปีใหม่2556 ครับ

หมายเลขบันทึก: 514050เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2012 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 ขอบคุณครับอาจารย์โสภณ เปียสนิท

ขอบคุณหลายๆเด้อค่าอ่าจ่ารย์..สุเทพ ไชยขันธุ์

..โม้นหลายได้อ่านค่ะ ซับเพิ้งลูกหลานผู้ไทยเฮา..

..เซ้อผ้าผู้ไทกะซับแถ่ได๊..

..คึดฮอด..พ้อแม้..ปู่ย้า ต๋านาย ลุงป้า น้าอา พี้น้องเฮาเด้..ค่า..

..ลูกหลานผู้ไทบ้านหนองสูง..

 


 

กุดหว้า หนองสูง(บ้าน เป่า บ้านภู) เขาวง หนองห้าง ยังความเป็นภูไท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท