นิสิตจิตอาสา : นโยบายหลักนำพา (ที่เหลือคือศรัทธาของนิสิต)


การมีนโยบายไล่เรียงจากระดับสูงสู่ระดับปฏิบัตินั้นสำคัญมาก อย่างน้อยก็ช่วยให้เห็นทิศทาง หรือเห็นประเด็นที่ต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ ภายใต้กระบวนการหลากรูปแบบและบูรณาการอย่างมีชั้นเชิง เนื่องเพราะการมีนโยบายเหลือทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนานิสิตนอกหลักสูตร จะช่วยให้ผู้นำองค์กรนิสิตทำงานได้ง่ายขึ้น มีทิศทาง-เป้าหมายหลักร่วมกันอย่างชัดเจน




เปิดเวที : สร้างเวทีพัฒนาศักยภาพบุคลากร


การถอดบทเรียนในเวที “นิสิตจิตอาสา” ล่าสุดค้นพบประเด็นน่าสนใจหลายประเด็นที่เกี่ยวโยงกับระบบและกลไกของการ “พัฒนานิสิต” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ผ่าน “กิจกรรมนอกหลักสูตร” หรือ “กิจกรรมนอกชั้นเรียน”

ในเวทีดังกล่าว ผมรับผิดชอบหลักเกี่ยวกับกระบวนกร หรือกระบวนการถอดบทเรียน  แต่ไม่ลืมที่จะไหว้วานให้บุคลากรในกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต ได้ร่วมทำหน้าที่ “ผอ.” (ผู้อำนวยการกระบวนการเรียนรู้ : FA  )  ขับเคลื่อนในกลุ่มย่อย

การไหว้วานเช่นนั้น คือกระบวนการพิสูจน์ศักยภาพและแนวคิดของการ “สอนงาน สร้างทีม”  ว่าในวันที่ผมก้าวเดินจากพวกเขามานั้น “... บัดนี้เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่ร่วมหว่านเพาะไว้  ได้ผลิบาน แตกใบ และหยั่งรากลงในสายธารปัญญาบ้างแล้วหรือยัง...”

ครับ-แท้จริงก็ไม่ใช่การพิสูจน์ใดๆ หรอกนะครับ หากแต่เป็นกระบวนการของการสร้างเวทีการพัฒนาศักยภาพเสียมากกว่า  -เป็นเวทีลับมีดลับดาบในทางปัญญา  ก่อนที่จะถูกสนิมทั้งจากระบบและนอกระบบเกาะกินจนด้านชา




กรณีดังกล่าว  ผมได้ประชุมเตรียมงานกับบุคลากรอย่างพร้อมสรรพ  อธิบายจุดมุ่งหมายการถอดบทเรียน, บอกเล่าบทบาทหน้าที่เชื่อมร้อยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย,การจัดหาทีมมาช่วยจดบันทึก, รวมถึงการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรนิสิต รูปแบบกิจกรรมขององค์กรนิสิต  และปัญหา อุปสรรคในภาพรวม หรือแม้แต่เชิงลึกแยกเป็นรายองค์กรและรายโครงการ/โครงงานควบคู่กันไป

ผมถือว่าสิ่งที่ชูเป็นประเด็นให้แต่ละคนได้ทบทวนทำเป็น “การบ้าน” มาล่วงหน้านั้น  สำคัญอย่างยิ่งยวด  เสมือนการชวนให้แต่ละคนได้วิเคราะห์บริบทของผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระอันเป็น “ผลพวงการเรียนรู้” ของกิจกรรม หรือโครงการที่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็น “ข้อมูล” หรือ  “แก่นสาร” ของการนำมาถอดบทเรียนในเวทีดังกล่าว –

และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ผมต้องการสะกิดให้บุคลากรในแต่ละคนได้ทบทวน ”บทบาทและทำหน้าที่”  ของตัวเองด้วยเหมือนกันว่า “...ที่ผ่านมา พวกเขาทั้งมีชุดความรู้ใดอยู่ในมือบ้าง...หรือการดูแลนิสิตในรอบที่ผ่านมา  พวกเขาจริงจังและจริงใจต่อการงานแห่งชีวิตแค่ไหน หรือเป็นเพียงวันต่อวันเท่านั้นเอง...”

จนในที่สุดก่อนปิดเวทีของการโสเหล่เตรียมงานในวันนั้น  ผมถือโอกาสส่งมอบภารกิจการบ้านเพิ่มเติม  นั่นคือฝากให้แต่ละคนไปศึกษาตีความเกี่ยวกับคำสำคัญสองคำมาล่วงหน้า คือ “...จิตอาสา-ชุมชน...”  เพื่อนำเข้าสู่การบอกเล่าต่อนิสิต หรือเป็นกรอบกติกาหนึ่งในการถอดบทเรียน





นโยบายหลักนำพา : แต่ที่เหลือคือศรัทธาของนิสิต


การถอดบทเรียนครั้งนี้  สะท้อนภาพที่ไม่อาจละวางไปได้เลย  โดยเฉพาะการที่ผู้นำนิสิตได้พูดถึงประเด็นของ “นโยบายการพัฒนานิสิต” ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังเป็นจุดอ่อนอย่างมากมายเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ข้อมูลที่นิสิตสะท้อนได้สื่อสารชัดเจนว่า “มีทิศทางหรือความเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายระดับมหาวิทยาลัย  แต่ไม่ปรากฏพบความเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร”

·  กล่าวคือ  มหาวิทยาลัยมีการประกาศอัตลักษณ์ว่าด้วย “นิสิตกับเป็นผู้ช่วยเหลือสังคม”  สอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) รวมถึงเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึงของสังคมและชุมชน)

·  แต่ในฝ่ายพัฒนานิสิตนั้นกลับพบว่าไม่มีนโยบายนำทางอย่างชัดเจน  ยิ่งเทียบกับปี 2554  ยิ่งเห็นข้อแตกต่าง  เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธนั้นระบุชัดแจ้งว่าเป็นการขับเคลื่อนในเรื่อง “จิตอาสา”  ทุกองค์กรทั้งในระดับส่วนกลางและคณะต่างสร้างแผนมารองรับในมิติต่างๆ พร้อมๆ กับการทำงานร่วมกันในเชิงเครือข่ายเป็นมหกรรม  เช่น  การช่วยเหลือผู้ประสบภัย  การบริจาคโลหิต  การเรียนรู้และบริการสังคมผ่านประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนรอบมหาวิทยาลัย  โยงใยถึงกระบวนการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิดของการจัดการความรู้ ฯลฯ




ครับ--  เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว  ผมค่อนข้างเห็นคล้อยกับมุมมอง หรือทัศนคติของเหล่าบรรดาผู้นำนิสิตอยู่ไม่น้อย  เพราะในปี 2555  นั้นไม่ปรากฏนโยบายการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างเป็นลายลักษณ์หากจะถือว่าให้ใช้กลยุทธในแผนระยะยาวที่เคยทำไว้  แต่ในความเป็นจริง กลับไม่มีการขับเคลื่อน หรือถ่ายทอดสู่การปฏิบัติเป็นรายปี (ปีนี้เน้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ)  ทำให้ภาพที่สะท้อนออกมานั้น เป็นปัญหาระดับ “การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ”

ในเวทีดังกล่าวนิสิตสื่อสารให้รับรู้ว่า  เมื่อนโยบายการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรไม่ชัดเจน  การทำงานก็เหมือนเรือที่แล่นออกจากฝั่งแต่ปราศจากทิศทาง  ส่งผลให้นิสิตต้องงัดเอาทุนเดิมๆ มาปะติดปะต่อ ผสมผสานกับจินตนาการและระเบียบวิธีปฏิบัติ  หรือธรรมเนียมนิยมของรุ่นพี่  หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานเข้าขับเคลื่อนและประคับประคองไปเป็นระยะๆ 

ครับ-หลายกิจกรรมของปีนี้จึงหายไปจากระบบ  เช่น  การนำนิสิตใหม่ (น้องใหม่)  ลงสู่ชุมชน  ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับคณะ  การปฐมนิเทศนิสิตชาวค่าย การเยี่ยมค่าย การปฐมนิเทศนิสิตโควตาศิลปวัฒนธรรม




อย่างไรก็ดี  เมื่อมองลึกเข้าสู่แผนงานของนิสิตก็ยังพออุ่นใจไม่ใช่น้อย เพราะในระดับองค์กรบริหารหลัก  โดยเฉพาะองค์การนิสิต  ยังพอเห็นกิจกรรมเชิงรุกในเรื่อง “จิตอาสาเพื่อชุมชน”  ลอยเด่นอยู่บ้าง  อันเป็นผลพวงของการหนุนนำจากรุ่นพี่และเจ้าหน้าที่ของกลุ่มงานฯ   และกิจกรรมเหล่านั้น  ช่วยนำพาให้นิสิตได้ลงสู่ชุมชน  ภายใต้การ “เรียนรู้คู่บริการ”  สอดรับกับนโยบายระดับมหาวิทยาลัยไปในตัว เช่น  1 องค์กร 1 ชุมชน  (องค์การนิสิต) และ 1 ชมรม 1 ชุมชน  (มหาวิทยาลัย) 

ถึงกระนั้นก็เป็นที่น่าเสียดายว่ากิจกรรมเชิงรุกในประเด็นหลังนั้น  กองกิจการนิสิต มิได้มีนโยบายในการหนุนเสริมการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น  นิสิตที่ลงพื้นที่จึงดูเหมือนเรียนรู้อย่างเดียวดายอยู่พอสมควร—

กรณีเช่นนี้ถือว่าน่าเสียดายมาก  เนื่องเพราะระดับมหาวิทยาลัยไฟเขียวเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเองร่วมกับชุมชน  แต่หน่วยงานในการรับช่วงนโยบายไปขยายต่อ  กลับชะงักงันที่จะเป็น “พี่เลี้ยง”  ในการหนุนเสริมและเติมศักยภาพแก่นิสิต  วิธีการ หรือชะตากรรมเช่นนั้น  จึงปรากฏในรูป “นโยบายหลักนำพา... แต่ที่เหลือคือศรัทธาของนิสิต”

ครับ- หลายโครงการที่หลุดหายไปในระดับฝ่ายพัฒนานิสิต  จึงหันกลับมาร้องของบประมาณสนับสนุนจากองค์การนิสิตในการเข้าไปหนุนช่วย   เพื่อให้สายธารของการพัฒนาไม่หล่นหาย  หรือแตกดับไปแบบแดกดิบ  ซึ่งปัจจัยอันสำคัญที่ทำให้ระบบและกลไกนี้เดินได้  ต้องยอมรับว่ามันคือ “ทุนเดิม” ล้วนๆ  อันหมายถึงสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนิสิตกับรุ่นพี่ (องค์กรนิสิต) และนิสิตกับบุคลากรในสังกัดกลุ่มงาน นั่นเอง –




แน่นอนครับ  การมีนโยบายไล่เรียงจากระดับสูงสู่ระดับปฏิบัตินั้นสำคัญมาก  อย่างน้อยก็ช่วยให้เห็นทิศทาง หรือเห็นประเด็นที่ต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ  ภายใต้กระบวนการหลากรูปแบบและบูรณาการอย่างมีชั้นเชิง  เนื่องเพราะการมีนโยบายเหลือทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนานิสิตนอกหลักสูตร  จะช่วยให้ผู้นำองค์กรนิสิตทำงานได้ง่ายขึ้น  มีทิศทาง-เป้าหมายหลักร่วมกันอย่างชัดเจน 

ครับ-  ผมเห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับสิ่งที่นิสิตสื่อสารกลับมา---
เพราะนโยบายในระดับปฏิบัติการนั้นสำคัญไม่แพ้นโยบายระดับมหาวิทยาลัย  เพราะคือ “การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ”  มีกระบวนการทำแผนร่วมกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกัน  ส่วนที่เหลือนั้นก็เป็นอิสระของแต่ละองค์กรในการที่จะค้นหาวิธีปฏิบัติผ่านทักษะของตนเอง  รวมถึงออกแบบกิจกรรมหลากโครงการมารองรับนโยบาย  ตลอดจนออกแบบกิจกรรมอื่นๆ มารองรับ “ความฝัน” ของนิสิตเอง

หรือถ้ามีนโยบายอยู่แล้ว ก็ต้องมีเวที/กระบวนการในการถ่ายทอด หนุนเสริมอย่างเป็นระบบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งในระดับนิสิต  อาจารย์ที่ปรึกษา  เจ้าหน้าที่ (กองกิจการนิสิตและคณะ)  มิใช่ปล่อย “ให้คิดให้ทำ”  แล้วมาสะดุดกับเรื่องที่ไม่ควรสะดุด

หรือแม้แต่ทำเวทีกระบวนการแต่พอเป็นพิธี แต่หาใช่การได้มาซึ่งกลยุทธของการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง -

หากเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนของผู้นำนิสิต  จะด้วยการมองว่านิสิตเหล่านี้อยู่ในสถานะใดก็ตาม  ทั้งนิสิต,ผู้นำนิสิต,ลูกหลาน หรือผู้เรียนรู้ก็เถอะ-  ผมเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน 

เรียกได้ว่า  “...ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย...”

หรือไม่จริง !




ปล..
1.จัดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555  ณ อาคารพัฒนานิสิต  กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2.ยังไม่จบ นะครับ (โปรดติดตามตอนต่อไป)


หมายเลขบันทึก: 514004เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2012 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2012 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เห็นหลักการสร้างคนของคุณแผ่นดินแล้วก็ ... คิดถึงมหาวิทยาลัยของตัวเอง
น่าจะมีบ้างครับ ;)..

สวัสดีค่ะ มาเชียรค่ะ 

นโยบายไม่ได้มีไว้กอดเพราะมันใหญ่ และแข็ง

ต้องช่วยกันทุบเป็นก้อนเล็กๆ

บางก้อนกลมบางก้อนเหลี่ยม หลากหลาย

และกระเด็นกระดอนไปในทิศทางตามแรงทุบ

หากทุบแล้วให้อยู่รวมกัน ก็จะมองเห็นความงดงามของนโยบายทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ

ทำงานเพื่อสร้างคน ให้สมบรูณ์มาตลอด..ก็ชอบนะ

 ถึงตามมาอ่านเพราะศรัทธาไงคะ

“นโยบายหลักนำพา... ที่เหลือคือศรัทธาของนิสิต”

จิตที่ให้..นั้นเบาและสุขใจ
ด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธา..ครับคุณแผ่นดิน
ขอบคุณครับ


มาให้กำลังใจค่ะท่าน อาจารย์แผ่นดิน

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn


อยากไปอยู่เมืองเหนือโดยแท้
ขอเป็น จนท.ฝ่ายกิจการนักศึกษาสังกัดคณะศึกษา พอไหว มั๊ย

สวัสดีครับ อ.krutoiting

นโยบายไม่ได้มีไว้กอดเพราะมันใหญ่ และแข็ง

ต้องช่วยกันทุบเป็นก้อนเล็กๆ

บางก้อนกลมบางก้อนเหลี่ยม หลากหลาย

และกระเด็นกระดอนไปในทิศทางตามแรงทุบ

หากทุบแล้วให้อยู่รวมกัน ก็จะมองเห็นความงดงามของนโยบายทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ

...

ถ้อยคำเบื้องต้น  เปรียบเปรยได้ลึกซึ้งและทะลุถึงธรรมชาติและความเป็นจริงในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในองค์กรเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

ขอบพระคุณครับ


สวัสดีครับ อ.นุ

ในฐานะของคนถอดบทเรียนและเคยมีประสบการณ์ด้านดังกล่าว รวมถึงการเฝ้ามองกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนานิสิตในรอบต้นปีที่ผ่านมา  ก็ไม่แปลกใจกับเสียงสะท้อนของนิสิตผ่านเวทีการถอดบทเรียนในครั้งนี้  ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับมหาวิทยาลัย  ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ไปถึงผู้บริหาร  จะรับรู้และรับฟังมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร-

ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ ครูทิพย์

ยังไงๆ ไม่ว่าวิกฤตหรือไม่
ใจยังต้องนำพา
และศรัทธา ยังต้องนำทาง

อยู่ดี---

  • ขอชื่ชมกับการหล่อหลอม-ให้เด็กได้ฝึกฝนการบริหารจัดการ ความรู้ ความคิด การฝึกฝนจิต..นำสู่สุข ครับ

ตามมาชื่นชมการทำงานทั้งระบบ ต้องบอกว่าได้ประโยชน์กับทุกๆๆฝ่ายจริง

เห็นแล้ว.. อยากกลับไปเป็นนักศึกษาใหม่จังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท