หลักคิดและแนวปฏิบัติ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)


       หลักคิดและแนวปฏิบัติ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

  รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑  โดยมีนโยบายด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมผลิตบุคลากรสาธารณสุข เพื่อกลับไปทำงานในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาบทบาท อสม. ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น นโยบายด้านสาธารณสุขดังกล่าว ได้รับการขานรับจากผู้คนในแวดวงสุขภาพอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนักวิชาการ/นักวิจัยระบบบริการสาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานในโรง พยาบาลชุมชน สถานีอนามัยตำบล เพราะการพัฒนา รพ.สต. เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนจาก เน้นงานรักษาพยาบาลแบบตั้งรับ มาเป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างสุขภาพเชิงรุกของบุคคล ครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะมีผลทำให้ระบบบริการสุขภาพในภาพรวม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดปริมาณผู้ป่วยที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ลง ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติในระยะยาว ที่สำคัญคือลดทุกขภาวะของบุคคลครอบครัว และชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ นำนโยบายด้านสาธารณสุขดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งกลไกทางราชการรองรับนโยบาย รพ.สต. อีกทั้งได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ ๔๐๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและสนับสนุนนโยบาย รพ.สต.
 ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมากตามลำดับ จะเห็นได้จากโรคติดเชื้อสำคัญมีอัตราลดลง อัตราทารกตายและอัตราส่วนมารดาตายลดลงมาก คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ซึ่งถือว่าเป็นผลงานของด่านหน้ากระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ สถานีอนามัย  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลก่อน คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้โดยเท่าเทียมกัน ทว่าระบบบริการที่มีอยู่ยังไม่อาจทำให้คนใช้บริการได้อย่างถูกที่ถูกทาง ประชาชนบางส่วนมักจะเชื่อถือและไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แม้ว่าโรคส่วนใหญ่ไม่ต้องการแพทย์ในการรักษาเลย โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะโรค การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังถูกละเลยมองข้ามไป  มุ่งเน้นการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แท้จริงแล้วลงทุนด้านนี้น้อยมาก ทั้งๆที่ต้นทุนต่ำกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และแนวโน้มการเกิดโรคที่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติก็เปลี่ยนเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การอยู่และเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง การยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงเป็นจุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขครั้งสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ให้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้าโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและ ยึดหลักวิถีพอเพียง


บริการใกล้บ้านใกล้ใจ

 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีรั้วตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล  มีเตียงที่บ้านผู้ป่วยคือเตียงของโรงพยาบาล มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพหรือเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข ทันตาภิบาล นักกายภาพ และอื่นๆ รวมถึงขุมพลังที่สำคัญอีกแรงหนึ่ง คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในตำบล ในหมู่บ้าน หลังคาเรือนที่รับผิดชอบ ดูแลคนไม่ใช่แค่ดูแลโรค การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ใกล้ชิดทั้งกายและใจกับชาวบ้านเข้าใจสภาพการเป็นอยู่ ความต้องการของคนในชุมชน โดยใช้กลยุทธ์การสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยที่ได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่ง รพ.สต.เองจะต้องมีระบบข้อมูล แฟ้มครอบครัว และข้อมูลชุมชนอย่างครบถ้วน เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ  คือ ยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าปกติ เช่น ส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ และการป้องกันโรคทั้งในบุคคลและระดับชุมชน นอกจากนั้นการรักษาโรคซึ่งไม่ได้มุ่งหวังให้มีแพทย์ไปอยู่ประจำที่ รพ.สต.ทุกแห่ง พยาบาลวิชาชีพหรือพยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถให้การดูแลรักษาโรคทั่วไปได้ รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารกับโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่ายก็ทำให้ขีดความสามารถในการดูแลรักษาโรคมีมากขึ้น แพทย์สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยที่ รพ.สต.ได้ วินิจฉัยโรคจากทางไกลได้โดยผ่าน วีดีโอคอนเฟอร์เรนซึ่งทุก รพ.สต.มีระบบนี้แล้วทุกแห่ง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่ได้วิกฤตก็สามารถกลับมารับยาที่ใกล้บ้าน มาอยู่ในความดูแลของทีม รพ.สต. ซึ่งมีความสะดวก สบาย ลดค่าใช้จ่าย แทนที่จะต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลในเมือง หาก รพ.สต. ใกล้บ้านดูแลได้ไม่แพ้กัน แถมยังอยู่แบบใกล้บ้าน ใกล้ใจอีกต่างหาก

 การยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต.

ประโยชน์

1. ให้ รพ.สต เป็นทับหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในตำบล หมู่บ้าน ชุมชน

2. เพื่อเป็นการพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีศักยภาพมากขึ้น เพื่อให้บริการเชิงรุกด้านสุขภาพแก่ประชาชน

3. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม

4. เพื่อให้ประชาชนและผู้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ภายใต้โครงการยกระดับ สอ. เป็น รพ.สต.


ภาระกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

(รพ.สต.) 5 ด้าน

   •  ด้านการส่งเสริมสุขภาพ

    • ด้านการควบคุมป้องกันโรค

    • ด้านรักษาพยาบาล

    • ด้านการฟื้นฟูสภาพ

    • ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ หัวใจ 4 ดวง

หัวใจดวงที่ 1โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

  1. ปรับภาพลักษณ์ (Logo / ป้ายสัญญลักษณ์)

  2. จัดบุคลากรให้พร้อม (เดี่ยว 4 / เครือข่าย 7)

  3. มีระบบข้อมูลและการเชื่อมต่อกับ รพ.แม่ข่าย 

  4. มีคณะกรรมการพัฒนา รพ.สต.

หัวใจดวงที่ 2อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)

  ผู้ที่มาช่วยทำหน้าที่ในหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.)  อสม.เชี่ยวชาญ ทำงานบริการเชิงรุกร่วมกับสหวิชีพ

หัวใจดวงที่ 3แผนสุขภาพตำบล
  - มีแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์

  - เชื่อมโยงกองทุนสุขภาพตำบล

  - เพื่อเป็นทิศทางเดินหน้างานสุขภาพของตำบลภายใต้แผนปฏิบัติงานของ รพ.สต และร่วมกับ อสม.

หัวใจดวงที่ 4กองทุนสุขภาพตำบล

  มีกองทุนจาก สปสช. บวกกับงบสมทบจาก อปท. เกิดกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อมาช่วยดำเนินการตามแผนสุขภาพตำบลตามภารกิจของรพ.สต. และ อสม. ให้ดำเนินการราบรื่นและมีประสิทธิภาพ


ที่มา http://www.salukdaihospital.blogspot.com/p/blog-page_3518.html

หมายเลขบันทึก: 513952เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2012 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท