หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ (ร่วมเรียนรู้จุดเด่นและเติมเต็มส่วนที่ขาดของชุมชน)


ความสำเร็จในมิติของการเลือกพื้นที่การเรียนรู้คู่บริการที่มีจุดเด่นในเชิงศักยภาพอยู่แล้ว เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้จากผู้รู้ในชุมชนโดยตรง ผสมผสานกับการหนุนเสริม หรือเติมเรื่องใหม่ๆ ให้กับชุมชนควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ และเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน

การบริการวิชาการแก่สังคม ภายใต้นโยบาย 1 หลักสูตร 1 ชุมชน  ไม่ใช่การดำเนินการที่ยึดติดกับการนำเอาศักยภาพหรือ “จุดแข็ง”  ของหลักสูตรไป “ถ่ายทอด” ให้กับชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว  รวมถึงการไม่ยึดติดกับการใช้โจทย์
อันเป็น “จุดอ่อน”  ของชุมชนมาเป็นประเด็นการทำงาน  หากแต่ยังเปิดกว้างถึงการใช้  “จุดเด่น” หรือ “ศักยภาพ”  ของชุมชนมาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้  ผ่านระบบและกลไกของการเรียนรู้ร่วมกันเป็นที่ตั้ง

กรณีดังกล่าวนี้ปรากฏชัดเจนในโครงการ "ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ" ของสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์  ด้วยการขับเคลื่อนหลักของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนันทา เลาวัณย์ศิริ และคณะ  ซึ่งดำเนินการในชุมชนบ้านส่องเหนือ  ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ชุมชนดังกล่าวถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องของการรวมกลุ่มกันในชุมชนในมิติต่างๆ มีกระบวนการจัดการชีวิตภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ค่อนข้างเข้มแข็งอยู่แล้ว เช่นการปลูกผักปลอดสารพิษ  การจัดการขยะ เป็นต้น






การเลือกพื้นที่เช่นนี้  จึงเป็นการเลือก “เรียนรู้คู่บริการ” ในพื้นที่อันมีจุดแข็งที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับ “หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร”  โดยพุ่งประเด็นไปสู่การจัดการขยะให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นหัวใจหลัก

ผมเคยได้ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การทำงานของหลักสูตรนี้ในระยะแรกเริ่ม  เห็นได้ชัดว่ามีการทำงานแบบมหกรรมจริงๆ อันหมายถึงนิสิตแทบทุกชั้นปีลงเรียนรู้ร่วมกันอย่างคึกคัก  มีการแบ่งงานให้แต่ละชั้นปีเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องที่ต้องนำไป “แลกเปลี่ยนเรียนรู้”  ร่วมกับ “ชุมชน”  ใน 5 เรื่องหลัก คือ คือการคัดแยกขยะ  ธนาคารขยะ  ปุ๋ยหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์  ปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดิน และการจัดทำก๊าซชีวภาพ





ตอนนั้นนิสิตจะแบ่งหน้าที่กันในแต่ละชั้นปี  เพื่อจัดเตรียมข้อมูล  จัดทำเอกสารเผยแพร่  จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ “สาธิต” หรือจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  รวมถึงการลงพื้นที่หารือร่วมกับชุมชนเกี่ยวกับกระบวนการที่จะจัดขึ้นร่วมกัน  โดยมีอาจารย์ในหลักสูตรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยกำกับและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

การลงพื้นที่ในระยะต้นนั้น  ผมมองดูแล้ว  เสมือนการ “รายงาน”  หน้าชั้นเรียนดีๆ นั่นเอง โดยภาคเช้า- นิสิตจะเน้นการบอกเล่า อธิบาย คล้ายรายงานหน้าชั้นเรียนนั่นแหละ  เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังจากนิสิตไปสู่ชาวบ้านแทน  พอเสร็จสิ้นการรายงานก็นำเข้าสู่กระบวนการสาธิตให้ชาวบ้านได้ดูได้ชม  พอถึงภาคบ่ายก็แบ่งกลุ่มไปปฏิบัติการจริงร่วมกับชาวบ้านในสถานีหรือแปลงปฏิบัติการที่ชุมชนได้จัดเตรียมไว้รองรับ  อันหมายถึงศูนย์การเรียนรู้นั่นเอง


 

 


จะว่าไปแล้วเรื่องราวต่างๆ ที่นิสิตสื่อสารหรือถ่ายทอดไปนั้น  ต้องยอมรับความจริงว่าชาวบ้าน หรือชุมชนแห่งนี้ค่อนข้างมีความรู้  ความเข้าใจในดังกล่าวอยู่มากโขพอสมควร  ดังจะเห็นได้จากการมีชื่อเสียงในเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว 

  • การนำนิสิตลงสู่ชุมชนเช่นนี้จึงเป็นการมาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านโดยแท้  เมื่อปฏิบัติการจริง ชาวบ้านจึงพลิกสถานะจากผู้รับมาสู่ผู้ให้ความรู้แก่นิสิตแทน  รวมถึงในระหว่างทาง  ต่างฝ่ายต่างก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  สิ่งใดที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้เรียนรู้ร่วมกับนิสิตและอาจารย์ เช่น  การทำปุ๋ยจากไส้เดือนดิน  การทำก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์  เป็นต้น




ครับ- ที่สุดแล้วโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ"  ได้กลายมาเป็น 1ใน 9 โมเดล (9 หลักสูตร 9 โครงการ 9 ชุมชน) ของการบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ซึ่งผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ประเมินผลการดำเนินงานในรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555

จากการจัดวงโสเหล่ในวันประเมินผลนั้น   ค้นพบชัดเจนว่านี่คือกระบวนการของการเลือกพื้นที่ในมุมของการหยิบจับเอา “จุดแข็ง” (ศักยภาพ)  ของชุมชนออกมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัย  กล่าวคือ  ชุมชนมีความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วในระดับหนึ่ง  รวมถึงมีการรวมกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะมาแล้วระยะหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้กระบวนการที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการในเชิงการ “ต่อยอด”  ให้ศักยภาพที่ดีร่วมกัน  พร้อมๆ กับการเติมศักยภาพในเรื่องใหม่เข้าไป ผ่านระบบและกลไกเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  

  • เป็นการเรียนรู้ “แบบลูกแบบหลาน”  ไม่ใช่เรียนรู้แบบ “ครูกับลูกศิษย์”  ซ้ำยังก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนิสิตกับแกนนำเยาวชนในชุมชนด้วยเช่นกัน






ครับ-สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านและนิสิตสะท้อนให้เห็นภาพที่ตรงกันก็คือ  
...มีการลงพื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่องเป็นระยะๆ  ศูนย์การเรียนรู้ในหมู่บ้านกลายมาเป็นเสมือน “ห้องเรียน” อีกห้องของ “นิสิต”  ...มีการไปมาหาสู่ "เหมือนลูกเหมือนหลาน"

นอกจากนั้นชาวบ้านก็สะท้อนถึงความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย  นั่นก็คือ

“...การจัดทำระบบบัญชีธนาคารขยะ, การทำปุ๋ยชีวภาพจากไส้เดือนดิน,การจัดทำก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์...”  

  • ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในวิถีชีวิตของแต่ละครัวเรือน  รวมถึงการนำไปใช้ในภาพรวมของชุมชน  ยกตัวอย่างเช่นบุญกฐินที่ผ่านมา  ก็ใช้ก๊าชชีวภาพเป็นตัวหนุนในเรื่องเชื้อเพลิง




ครับ-นี่คือความสำเร็จเล็กๆ ที่เริ่มฉายเด่นออกมาจากการขับเคลื่อนโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนอันเป็นมิติใหม่ของงานบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วยหลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ”

รวมถึงความสำเร็จในมิติของการเลือกพื้นที่การเรียนรู้คู่บริการที่มีจุดเด่นในเชิงศักยภาพอยู่แล้ว  เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้จากผู้รู้ในชุมชนโดยตรง  ผสมผสานกับการหนุนเสริม   หรือเติมเรื่องใหม่ๆ  ให้กับชุมชนควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ และเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน

และนั่นยังรวมถึง "ความหวัง"  ของการมีพื้นที่ต้นแบบในการ "จัดการขยะ"  ขึ้นในชุมชนอย่างเป็นระบบและเข้มแข็ง  เพื่อขยายผลไปยังชุมชนรอบข้างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง




สำหรับนิสิตนั้น  ผมเชื่อว่าได้รับความรู้และทักษะในวิชาชีพเพิ่มเติมจาก "ห้องเรียน" อันเป็น "ชุมชน"  อย่างไม่ต้องสงสัย  และยังจะมีความสุขใจกับการได้ทำงานเพื่อสังคม (จิตอาสา)  ผ่านวิชาชีพของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ก่อเกิดเป็นทุนอันสำคัญบ่มเพาะและขัดเกลาสู่การมีทักษะชีวิตของการเป็น “คนเก่ง คนดีและมีความสุข” ได้ในอนาคต


หมายเลขบันทึก: 513608เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ห้องเรียนชุมชน ..... เรียนรู้ร่วมกันกับปราชญ์ ชาวบ้านดีมาก นะคะ

การบริการวิชาการแก่สังคม ภายใต้นโยบาย 1 หลักสูตร 1 ชุมชน

ไม่ใช่การดำเนินการที่ยึดติดกับการนำเอาศักยภาพหรือ “จุดแข็ง”  ของหลักสูตรไป “ถ่ายทอด” ให้กับชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว 

รวมถึงการไม่ยึดติดกับการใช้โจทย์อันเป็น “จุดอ่อน”  ของชุมชนมาเป็นประเด็นการทำงาน 

หากแต่ยังเปิดกว้างถึงการใช้  “จุดเด่น” หรือ “ศักยภาพ”  ของชุมชนมาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ 

ผ่านระบบและกลไกของการเรียนรู้ร่วมกันเป็นที่ตั้ง


ขอบคุณ "คุณแผ่นดิน" เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับชุดความคิด ที่ตอบโจทย์ที่ค้างคาใจข้าพเจ้ามานานแสนนาน

ขอบคุณจริงๆ

ชื่นชมค่ะท่านแผ่นดิน  เป๊ะมากสมกับ เป็น blogger ขวัญใจชลัญนะนี่

  • เป็นการถักทอ..ที่ควรค่าแก่การชื่นชมมากครับ

มาชื่นชมกิจกรรมสู่ชุมชนของท่านอาจารย์นักพัฒนาค่ะ

หลายๆ โครงการสามารถนำไปต่อยอดให้เข้ากับหลายๆ ชุมชนได้ดีเยี่ยมเลยค่ะ


ขอบคุณค่ะ


เป็นอีก 1 เรื่องดี ๆ ที่ขออนุญาตนำไปใช้ในชุมชนด้วยจ้ะท่านอาจารย์ ขอบคุณจ้ะ

ขอบพระคุณ อ.ดร.เปิ้ล. ที่แวะมาให้กำลังใจ และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน. ซึ่งเรียนรู้โดยตรงกับปราชญ์ชาวบ้าน.  

กระบวนการเหล่านี้ เป็นการเสริมพลังให้กันและกันไปในตัว..

เชื่อว่าเมื่อนิสิตได้ลงมือทำเองมันจะเป็นสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจ.....และเป็นพลังที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท