ข่าวสารการศึกษา


ถึงเวลาจัดระเบียบ โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนหรือยัง
  ถึงเวลาจัดระเบียบ โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนหรือยัง
โดย matichon วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 07:14 น.
 
  ภาพวิดีโอคลิปนักเรียนหญิงชั้นมัธยมตบตีเพื่อนนักเรียนอย่างป่าเถื่อน เผยแพร่สู่สาธารณชนก็เพราะเพื่อนของคนที่เป็นฝ่ายตบตีคนอื่น ต้องการเอาภาพ ที่น่าอดสูเช่นนี้ไว้ประจานคนที่ถูกทำร้าย โดยเข้าใจผิดและแยกไม่ออกว่า ระหว่างคนที่ทำร้ายผู้อื่นกับคนที่ถูกทำร้าย ใครกันควรอดสูและระอายกับการกระทำเช่นนี้มากกว่ากัน เพียงแค่นี้ก็ยังคิดไม่ออก น่าเศร้าใจกับเยาวชนไทยยิ่งนัก

ปัญหานักเรียนหญิงตบตีกัน คงไม่ได้เกิดจากการมีโทรศัพท์มือถือ

บางทีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน ที่ทำให้รู้เห็นความเป็นไปของปัญหาเยาวชนของชาติ

แต่เจตนาที่เด็กใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพคนอื่นเพื่อต้องการประจาน ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ภาพเด็กตบตีกันเท่านั้น อาจมีภาพอื่นๆ เช่น ภาพนักเรียนหญิงถูกวัยรุ่นรุมโทรม แล้วส่งวิดีโอคลิปนี้ไปตามมือถืออื่นๆ แม้ว่าตำรวจจะพยายามหาต้นตอ แล้วเชื่อว่านักเรียนหญิงที่ปรากฏตัวในภาพไม่ได้เป็นนักเรียนจริงๆ และเป็นภาพที่จงใจถ่ายทำขึ้น เพื่อหวังผลทางธุรกิจก็ตาม

ไม่ว่าเด็กในภาพจะเป็นนักเรียนจริงหรือไม่ แต่การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร หรือประจานคนอื่น ก็ถือเป็นปัญหาที่แสดงถึงความเสื่อมทรามของคนในสังคม

รัฐจึงควรมีมาตรการป้องกันปัญหาความเสื่อมถอยของจิตใจของผู้คนในสังคม หรือจะปล่อยให้เกิดขึ้น แล้วตามแก้ปัญหาเป็นรายๆ ไป แบบยอมรับชะตากรรมที่จะต้องเกิดขึ้นแค่นั้นเอง

ปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพอันไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนดังกล่าวแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หรือแม้แต่เกิดขึ้นแต่ยังไม่เป็นข่าว รวมทั้งการที่เด็กในโรงเรียนใช้โทรศัพท์มือถือกันเกลื่อนกลาด แทบจะตลอดเวลาที่ว่างเว้นจากการเรียน ภาพที่เห็นคือนักเรียนจะใช้โทรศัพท์เกินความจำเป็น เสมือนเป็นนักธุรกิจติดต่อกับลูกค้าตลอดเวลา โดยไม่สนใจคำตักเตือนของครู อาจารย์

หากครูจะห้ามปรามไม่ให้มีการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน บางทีอาจขัดแย้งกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะเป็นคนซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกใช้ แต่ไม่สามารถวางกฎเกณฑ์กติกาการใช้โทรศัพท์ของลูกได้ รวมทั้งโทรศัพท์ที่ซื้อให้ลูกก็มีราคาแพงเกินความจำเป็น ไม่ใช่โทรศัพท์ที่ใช้เพื่อการติดต่อธุระสำคัญกับพ่อแม่เท่านั้น แต่มักมีลูกเล่นอื่นๆ อีกมาก ทั้งถ่ายรูปได้ เล่นเกม โหลดภาพ โหลดเพลง และอื่นๆ ที่เกินความจำเป็น

นอกจากโทรศัพท์จะใช้เพื่อติดต่อสื่อสารแล้ว เด็กนักเรียนยังใช้โทรศัพท์เพื่อฟังเพลง เวลาโหลดเพลงก็ต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อย รวมทั้งการไม่รู้จักกาละเทศะของเด็ก ที่บางคนนำมาเปิดฟังในระหว่างที่ครูสอน

เมื่อครูลงโทษด้วยการเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ แล้วให้ผู้ปกครองมารับคืน ผู้ปกครองบางคนก็มองไม่เห็นปัญหาของการใช้โทรศัพท์มือถือของลูก หรือบางครั้งถึงผู้ปกครองว่ากล่าวตักเตือนลูกไม่เชื่อฟัง

การมีโทรศัพท์มือถือใช้ โดยเฉพาะที่มีคุณภาพดีๆ ราคาแพงๆ เป็นแฟชั่นของเด็กวัยรุ่นทั้งเด็กที่มีฐานะดี และเด็กยากจนบางคนนำเงินทุนการศึกษาส่วนหนึ่งไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อบัตรเติมเงิน แล้วใช้โทรศัพท์แบบฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลือง

การใช้โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นวัฒนธรรมของความฟุ้งเฟ้อของผู้คนในสังคมไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ตาม พากันช่วยส่งเสริมให้บริษัทมือถือต่างร่ำรวยไปตามๆ กัน

ในส่วนของผู้มีวุฒิภาวะมีรายได้เป็นของตัวเอง หากจะใช้โทรศัพท์มือถือฟุ่มเฟือยก็ยังอนุโลม เพราะรู้ผลของการกระทำว่าจะทำให้เกิดความสิ้นเปลือง และต้องเดือดร้อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องส่วนตัว

แต่ในส่วนของเยาวชนผู้อ่อนด้อย ไร้เดียงสา หากตกเป็นทาสของการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถหามาตรการป้องกันแก้ไขได้ ก็เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง

ลำพังจะให้ครูแต่ละโรงเรียนออกกฎเกณฑ์กติกามารยาทการใช้โทรศัพท์ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนการใช้โทรศัพท์ของลูก ครูคงมิอาจไปวิวาทะกับผู้ปกครองในเรื่องนี้ได้

ควรที่กระทรวงศึกษาธิการจะวางมาตรการการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนร่วมกัน ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ที่ถ่ายรูปได้เท่านั้น ควรจะครอบคลุมถึงการนำโทรศัพท์มาใช้ที่โรงเรียน ว่าจะใช้ได้เมื่อไรอย่างไร

โดยคำนึงถึงความพอเพียง เพราะการปล่อยให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือ หรือพกพามือถือมาโรงเรียนโดยไม่จำเป็น ก็เหมือนส่งเสริมให้เด็กฟุ่มเฟือยตั้งแต่เยาว์วัย

หากพ่อแม่จะอ้างว่า เพื่อให้ลูกได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับพ่อแม่ตอนเดินทางกลับบ้าน มีนักเรียนส่วนน้อยมากที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อพูดคุยเรื่องไร้สาระ บางทีเรื่องที่คุยหากพ่อแม่ได้ยินได้ฟัง อาจจะตกใจจนช็อกก็เป็นได้ อีกทั้งการมีโทรศัพท์มือถือ ก็เหมือนเป็นการต่อแขนต่อขาให้ลูก

ดีไม่ดีหากเป็นเด็กที่อ่อนเยาว์ต่อโลก และไม่รู้จักคิด (สังเกตจากนักเรียนที่ทะเลาะกัน มักเป็นเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย และเรื่องที่ทะเลาะกันก็มีไม่กี่เรื่อง ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งสิ้น) โทรศัพท์มือถืออาจเป็นช่องทางให้เกิดพิษภัยแก่เด็กได้

พิษภัยของการใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ ยังก่อให้ผลเสียต่อสุขภาพแล้ว โทรศัพท์มือถือยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้เกิดวัฒนธรรม การเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์ การบริหารงานทางโทรศัพท์ การฟังแต่การรายงานทางโทรศัพท์ การพูดคุยตอบโต้กันอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็ดี บางทีก็ทำให้คนไทยคิดอะไรน้อยลง เพราะไม่มีเวลาคิดใคร่ครวญ ย่อมทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ รวมทั้งการคิดอะไรน้อยๆ ทำให้ความฉลาดในการใช้ชีวิตลดลง

เราคงไม่อาจหวนกลับไปสู่สังคมแบบเดิมๆ ที่พ่อแม่ลูกมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่านี้ คนในสังคม ในชุมชน ในที่ทำงานมีเวลาเรียนรู้กัน ใช้ตาดู ใช้สมองคิด ใช้สติปัญญาใคร่ครวญผลของการทำงานอย่างที่เห็นและเป็นไปจริงๆ มากกว่าแค่ฟังเสียงรายงานทางโทรศัพท์เท่านั้น หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์อบรมสั่งสอนลูก

เมื่อเราไม่อาจกลับไปสู่สังคมแบบเดิมๆ ที่ผู้คนในสังคมและครอบครัวมีเวลาใกล้ชิดกันมากกว่าเดิมได้ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการจัดระเบียบการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในโรงเรียน เพื่อมิให้เยาวชนตกเป็นทาสวัฒนธรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

หรือใช้ไปเพื่อแสดงความต่ำทรามทางจิตใจของตนเอง

 

 

http://news.sanook.com/education/education_09682.php

หมายเลขบันทึก: 51280เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นแนวความคิดที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท