การสะสมทุนในระบบครอบครัวบ้านนอก


50 ปีที่ผ่านมา ในชนบทก็มีกระแสแนวคิดของการพัฒนาการเกษตรที่สามารถพึ่งตนเองได้ดีกว่าการอพยพแรงงานแบบถาวร โดยอย่างเป็นรูปธรรม ที่เป็นแนวคิดทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการชีวิตอิสระ พึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

ในสมัยเด็กๆ
ผมอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมาก และชีวิตอยู่กับความเสี่ยงต่อการ “ขาดแคลน”
ไปแทบทุกองค์ประกอบของการดำรงชีวิต ทำให้ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้
ว่าปัจจัยในการดำรงชีวิตที่จำเป็นต้องมีนั้น มีวิธีการหามาได้โดยวิธีใด
ทั้งจากการสอบถามพ่อแม่ และญาติพี่น้องผู้มีประสบการณ์ตรง
เพื่อหาทางเลือกในการพัฒนาและดำรงชีวิตให้รอด และพ้นจากภาวะขาดแคลนในด้านต่างๆของชีวิตที่เผชิญอยู่ในช่วงนั้นๆ



จากการพยายามสอบถามหาทางเลือก
ที่อาจจะตรงกับใจ และความชอบของตัวเองบ้าง และผมชอบแอบฟังการพูดของผู้มีประสบการณ์ทั้งในชุมชนที่ผมอยู่
และชุมชนอื่นๆ ก็ได้ฟังทั้งนิทาน และความที่น่าจะจริงในหลายๆยุค หลายๆแบบ



เช่น ในอดีต จะมีการกล่าวอ้างถึงคนที่สะสมทุนเก่ง
พัฒนาครอบครัวได้เร็ว ก็มาจากความสามารถในการหาของป่า การล่าสัตว์แล้วนำสิ่งที่ได้มาเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นๆ เป็นเงิน
เป็นที่ดิน เป็นบ้าน และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ที่ต้องอาศัยความรู้
ความสามารถ ความกล้าเสี่ยง รวมถึงสิ่งที่เชื่อกันในอดีตก็คือ คาถาอาคม  ที่กล่าวกันว่า มีบางคนเท่านั้นที่จะทำได้



ในระบบโบราณ
ยังมีการกล่าวถึงการใช้ระบบทาส จากคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขายตัวเข้ามาเป็นทาส
เป็นระบบที่นายทุนได้สั่งสมความมั่งคั่งจากแรงงานทาส
ที่ตระกูลเดิมของปู่และย่าของผมนั้น ทำงานกันแทบไม่เป็น มีอะไรก็ทาสทำให้
และยังมีการได้รับแต่งตั้งเป็นนายอากรเก็บส่วยส่งไปกรุงเทพฯ
ที่จะหักส่วนที่ตัวเองควรได้ไว้ตามอำเภอใจ
ก็เป็นสะสมทุนในรูปแบบของการปกครองชุมชนที่เสมือนหนึ่งเป็นชุมชนของตนเอง โดยใช้ระบบทาสเป็นเครื่องมือ



แต่แม่จะมีการเลิกทาสแล้ว
ก็ยังมีระบบเมือง ที่จะมีการเก็บภาษีจากประชากรที่เป็น “ไพร่” ของเมือง
ที่ทำให้แต่ละเมืองพยายามขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ที่มีคนอยู่
หรือกวาดต้อนผู้คนเข้ามาอยู่ในอาณัติของตน เพื่อการเก็บภาษี เกณฑ์แรงงาน
และเป็นกำลังต่อสู้กับคู่แข่งในระดับเดียวกัน ซึ่งก็เป็นการสะสมทุนในระบบการทำตัวเป็นผู้ปกครองเมือง



เมื่อทั้งระบบเมือง
และระบบทาสถูกยกเลิกไป ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านการทำมาหากินอย่างเป็นอิสระมากขึ้น
ที่วัดกันด้วยความสามารถเฉพาะตัวด้านการทำอยู่ทำกิน
ที่ส่วนใหญ่จะทำนาเพื่อการบริโภค และหากินจากธรรมชาติ แบบพออยู่พอกิน
แต่สำหรับคนที่ต้องการพัฒนาการสะสมทุนก็ยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง ก็คือ การ เลี้ยงสัตว์ที่สามารถสะสม และเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง
แทบไม่ต้องลงทุนด้านอาหาร เช่น การเลี้ยงวัว และควาย
ที่นอกจากจะเลี้ยงไว้ใช้แรงงานแล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหาร
แหล่งปุ๋ยคอกในการทำการเกษตรต่างๆ ขายยามจำเป็น
หรือแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นๆได้โดยง่าย



สัตว์ที่นิยมเลี้ยงเพื่อการสะสมทุนระยะกลางๆ
ก็อาจจะเป็น สุกร ที่จะอาจจะต้องลงทุนด้านอาหารบ้าง ถ้ามีแหล่งอาหารมากอาจเพิ่มจำนวนได้
หรือถ้าเก่งขึ้นไปหน่อยก็เลี้ยงแม่พันธุ์ขายลูก ก็จะได้เรื่อยๆ ก็จะได้ผลตอบแทนดีพอสมควร
สำหรับผู้มีทุนซื้อลูกสุกร มีเวลาเลี้ยง และหาอาหารสุกร
ที่ในอดีตทุกครัวเรือนจะตำข้าวและมีรำ มีปลายข้าวเป็นของตนเอง
ที่สามารถเลี้ยงสัตว์จากแหล่งอาหารเหลือเหล่านี้ได้



แต่สำหรับผู้ที่มีทุนน้อย
มีอาหารไม่มาก เวลาไม่มาก ก็อาจเลี้ยงไก่บ้านที่แทบไม่ต้องให้อาหารเลย
ถ้ามีพื้นที่ของธรรมชาติมากพอ หรือการเลี้ยงเป็ดถ้ามีแหล่งน้ำมากพอ
ก็จะเป็นการลงทุนในเบื้องต้นสำหรับผู้มีทุนน้อย สำหรับสัตว์อื่นๆนั้น
เป็นการนิยมและพัฒนาขึ้นมาในระยะหลังๆ ที่ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติเสื่อมโทรม ไม่เหลือให้เก็บหรือหาเองจากธรรมชาติแล้ว
เช่น การเลี้ยงกบ และปลา และสัตว์อื่นๆ ที่เคยเป็นสัตว์ป่า



การสะสมและขยายทุนสำหรับคนในสมัยก่อนที่ยังเป็นสมัยที่ยังไม่มีธนาคารที่สะดวกพอที่จะไปฝาก  ที่ค่อนข้างจะอันตรายมาก
และเสี่ยงต่อการถูกปล้นและถูกขโมย ดังนั้นการมีทรัพย์สมบัติเก็บไว้มากจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสบายใจนัก



ตามที่มีข้อมูลก็คือ คนที่พอจะมีเงินทุนสะสมสำรองจ่ายไว้บ้าง
ในสมัยโน้นจะพยายามเก็บเงินไว้น้อยๆ สร้างระบบป้องกันทรัพย์สินทางออกก็คือการซื้อที่ดิน
หรือไม่ก็นิยมการปล่อยเป็นเงินกู้ในชุมชน ที่ส่วนใหญ่จะใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน
เช่นโฉนดบ้าน หรือโฉนดที่นา ที่ถ้าไม่นำเงินมาคืนหรือจ่ายดอกตามกำหนด
ก็จะมีการยึดที่ดินที่ค้ำประกันไว้
ที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียที่ดินสำหรับคนที่เป็นหนี้
และการสะสมทุนสำหรับเจ้าของเงิน



ในระยะที่มีการสร้างถนน
และทางรถไฟ ก็เริ่มมีการซื้อ-ขายสินค้า ก็จะมีการสะสมทุนจากการค้าขายทั้งสินค้าท้องถิ่น
และสินค้าจากภายนอก ที่ทำให้ผู้มีความสามารถในการค้าขายสามารถสะสมทุนได้
เช่นสมัยที่พ่อผมค้าขายจนมีเงินไปซื้อวัวมาเลี้ยง ซื่อที่สวนที่กุดปลาเข็ง
และนาโคกจำนวน 6 ไร่ และใช้เป็นที่ขยายทุนเลี้ยงครอบครัวในระยะต่อมา



บางครอบครัวอาจทำด้านหัตถกรรม
จักสาน ที่ส่วนใหญ่จะแค่ระดับเสริมรายได้ แลกเปลี่ยน แต่ไม่ถึงระดับสะสมทุน
ยกเว้นจะมรการพัฒนาไปถึงขั้นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ที่มักจะเป็นการพัฒนามาในระยะหลังๆ



ในครอบครัวที่มีความสามารถในเชิงการค้าแต่มีทุนไม่มากนัก
อาจจะใช้วิธีหาของไปแลก แล้วนำมาขายต่อทุนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการประกอบอาชีพเชิงแลกเปลี่ยนเพื่อระบบธุรกิจ



หรือในครอบครัวที่มีแรงงานเหลือ
ก็อาจออกไปรับจ้างในช่วงว่างงานที่จะทำให้ทีเงินทุนและรายได้เข้ามาเสริมกับกิจกรรมที่ทำอยู่ในระบบบ้านนอก
ที่อาจมีพอที่จะนำไปขยายพื้นที่ทำนาหรือ การขยายพื้นที่ทำพืชไร่จัดหาเครื่องมือเพื่อการขยายพื้นที่ปลูกผักการขยายพื้นที่ทำสวนที่พบว่าเป็นการสะสมทุนเพื่อการพัฒนาระบบการพึ่งตนเอง
โดยมิได้เน้นการหลุดจากฐานไปพึ่งคนอื่น
หรือระบบอื่นที่ตัวเองควบคุมการใช้ทรัพยากรไม่ได้อีกต่อไป ที่เรียกว่า “การหลุดจากฐานชีวิต”
หรือไปล่องลอยอยู่กับฐานชีวิตใหม่



เหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการหลุดฐาน
แต่ยังอยู่ในกรอบของการสร้างฐานชีวิตก็คือ การขายที่ทำกินเดิม แล้วอพยพไปหาที่ทำกินที่ถูกกว่า
แต่เท่าที่พบจะเป็นการไปหาที่ใหม่ก่อนจนแน่ใจแล้วจึงนำกลับมาขายที่เก่าเพื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่อย่างสมบูรณ์
ที่ถือว่าเป็นการอพยพที่ค่อยๆเป็นค่อยๆไปเช่น
ญาติพี่น้องของผมจะย้ายบ้านและครอบครัวไปอยู่ทางโนนสูง ภูเขียว ปากช่อง กลางดง
และวังน้ำเขียวกันมากมายหลายสิบครัวเรือน และไปตั้งชุมชนใหม่ที่นั่น
บางชุมชนนั้นคนก่อตั้งเป็นพี่น้องปู่และย่าของผมเอง



แต่การอพยพที่เตรียมพร้อมที่จะหลุดจากฐานทรัพยากรอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ก็คือ
ระบบการศึกษา เพื่อเปลี่ยนอาชีพ และวิถีชีวิต โดยมีเจตนาที่จะไม่กลับมาอีก (ถ้าไม่จำเป็น)
ที่เป็นค่านิยมทางสังคมชนบท ในระยะหลายปีที่ผ่านมา
ทำให้คนที่เดินทางไปเส้นนี้มักไม่คิดจะกลับสู่ระบบฐานทรัพยากรเดิม
และแม้จะมีคนคิดที่จะกลับ ก็จะถูกต่อต้านจากชุมชนและญาติพี่น้อง
ทั้งๆที่ใจของพ่อแม่อยากจะให้ลูกกลับบ้านมาอยู่กับตัวเอง
ก็ยังเกรงว่าญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะนินทา
ที่เป็นวิบากกรรระดับสังคมทำให้คนที่อพยพเพื่อการศึกษากลับบ้านได้ยากกว่าการอพยพแบบอื่น
ไม่ว่าจะเป็นอพยพแรงงานตามโรงงาน ตามชุมชนเมือง หรือแม้กระทั่งการอพยพไปหางานทำในต่างประเทศ



ในระยะเมื่อไม่เกิน
50 ปีที่ผ่านมา ในชนบทก็มีกระแสแนวคิดของการพัฒนาการเกษตรที่สามารถพึ่งตนเองได้ดีกว่าการอพยพแรงงานแบบถาวร โดยการพัฒนาระบบการเกษตรผสมผสานเกษตรพึ่งตนเองเกษตรอินทรีย์และวนเกษตร
ที่มีรูปแบบมากมาย ทำให้มีรายได้และความมั่นคงของชีวิตดีกว่าการอพยพแรงงานแบบถาวร
อย่างเป็นรูปธรรม ที่เป็นแนวคิดทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการชีวิตอิสระ
พึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง
ที่ก็เป็นแนวคิดใหม่ที่ปรับมาจากระบบธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
เพียงแต่ย้ายระบบธรรมชาติมาไว้ในที่ทำกินของตนเองเท่านั้นสิ่งเหล่านี้ได้มีตัวอย่างให้เห็นทั้งในกลุ่มเกษตรกรที่ทำสำเร็จแล้ว
และในกลุ่มบัณฑิตคืนถิ่นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นตัวอย่างในทุกมิติของชีวิต
สุขภาพ ชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ดี



นี่ก็คือตัวอย่างและการพัฒนาการของการพัฒนาการการสะสมทุนและการดำรงชีวิตของครอบครัวเกษตรกรยากจน
ที่เริ่มต้นจากแทบไม่มีอะไรเลย แต่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตั้งใจ
ที่จะทำเพื่อตนเอง ครอบครัว และสังคมชนบท
เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่บางคนก็พัฒนาแบบหลุดฐานไปเลย
กลับไม่ได้ ที่แล้วแต่ความถนัด ความเชื่อ และความชอบในวิถีชีวิตที่ตนเลือกครับ

 

ที่ผมเรียบเรียงมาก็เพื่อให้เห็นภาพรวม และพัฒนาการทางความคิดที่ผมเห็นมาครับ



หมายเลขบันทึก: 512641เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2012 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การสะสมทุน ในระบบครอบครัว ในอดีต ... คือ การสร้าง "ความมั่นคง ทางชีวิต และจิตใจ" ของ เจนเนอเรชั่น รุ่นต่อไป ให้ครอบครัว....  ผู้ "มีต้นทุนดี" ในปัจจุบัน ... คงเป็นผู้ โชคดี คนหนึ่ง.... ในขณะที่หลายคน " ไม่มีต้นทุนใดใดเลย  จากอดีต"..... มีเพียงอย่างเดียว คือ "ต้นทุนทางปัญญา"  ที่นำพาชีวิต ให้รอด และ ปลอดภัย อย่างยั่งยืน...

ขอบพระคุณ อาจารย์ ในการแบ่งปันค่ะ 

"ที่ตระกูลเดิมของปู่และย่าของผมนั้น ทำงานกันแทบไม่เป็น มีอะไรก็ทาสทำให้
และยังมีการได้รับแต่งตั้งเป็นนายอากรเก็บส่วยส่งไปกรุงเทพฯ
ที่จะหักส่วนที่ตัวเองควรได้ไว้ตามอำเภอใจ"

พอตกมาถึงรุ่นอาจารย์ทำไมจึงถือว่าเกิดในครอบครัวยากจนครับ  ต้องขอโทษที่ผมอาจจะยังไม่ได้อ่านประวัติของอาจารย์อย่างครบถ้วน 


 

พ่อผมไปบวชช่วงที่เขาแบ่งสมบัติกันครับ เลยไม่ได้อะไรครับ อิอิอิ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท