แพรกหนามแดงการเรียนรู้ไม่จบสิ้น


ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในช่วงปี พ.ศ. 2546 โดยมีภารกิจในการติดตามและหนุนเสริมโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น พร้อมกับการพัฒนากลไกการทำงานและคนทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในโครงการต่างๆ ทั้งพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรีและพระนครศรีอยุธยา ประกอบไปด้วยประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิการและสุขภาวะ ทั้งนี้ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่และในระดับนโยบาย จนเกิดแหล่งศึกษาเรียนรู้ดูงานในประเด็นดังกล่าว พร้อมกับยกระดับองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโจทย์วิจัยที่ต่อยอดจากฐานงานวิจัยเดิมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับชุมชนแพรกหนามแดง ที่ได้เริ่มทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ผ่านโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในลำคลองตำบลแพรกหนามแดง โดยอาศัยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้คนในชุมชนเปิดใจรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน เกิดความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนน้ำจืดและน้ำเค็ม ส่งผลให้สามารถคลี่คลายความขัดแย้งในชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ จนได้รับผลงานวิจัยเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน (สกว.) ในปี 2546 และในปี 2550 ชุมชนแพรกหนามแดงได้ดำเนินการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมหลังจากที่ร่วมมือกันแก้ไข้ปัญหาของชุมชน เริ่มสร้างมูลค่าของชุมชนผ่าน โครงการศึกษากระบวนการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของชุมชนตำบลแพรกหนามแดง ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการนี้ ทำให้กลุ่มคนจากคณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนตำบลแพรกหนามแดงรวมทั้งสมาชิกได้เข้าร่วมเวที กระบวนการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนเริ่มพัฒนาเป็นวิทยากรกระบวนการในการทำเวที มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างชาวบ้านต่อชาวบ้าน จนเกิดความคิดร่วม ที่คนในชุมชนตกผลึกร่วมกันจัดสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เช่น สวัสดิการจากธรรมชาติ การดูแลแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดลำคลองกินได้หรือร่วมกันปลูกต้นไม้กินได้ริมถนนในชุมชน เช่น มะรุม มะขาม สะเดา ขี้เหล็กฯลฯ ทำให้เกิดถนนกินได้ เป็นต้น และด้วยความที่ชาวบ้าน ร่วมทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนเองผ่านการศึกษาข้อมูลสวัสดิการของชุมชน จึงก่อให้เกิดรูปธรรมของงานพัฒนาที่เกิดประโยชน์แก่คน น้ำจืด – น้ำเค็มและหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555นักศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า จำนวน 80 คน ได้ลงพื้นที่ชุมชนแพรกหนามแดง เพื่อศึกษาพัฒนาทักษะ องค์ความรู้และสร้างประสบการณ์ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี รุ่นที่ 9  โดยมีประเด็นหลักที่สนใจดังนี้

·  กระบวนการจัดการความขัดแย้งของคนน้ำจืด-น้ำเค็ม ในชุมชนแพรกหนามแดง ผ่านกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

·  รูปแบบการดำเนินงานของชุมชนแพรกหนามแดงในงานวิจัยท้องถิ่นโครงการต่างๆ 

·  แลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองและแนวคิด ในประเด็นการจัดการความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้าน โรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานของรัฐ ประเด็นการสร้างอำนาจในการต่อรองและการสร้างภาคีเครือข่าย

·  กลไกการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในชุมชน

จากการที่มีคนมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนเห็นมุมมองใหม่ๆโดยเฉพาะการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับในขณะเดียวกัน วิทยากรโดยคุณลุงปัญญา โตกทอง ไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้ที่ดีแล้วในทางกลับกันยังเป็นนักฟังชั้นยอด ที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากการแลกเปลี่ยนซักถาม หรือการนั่งฟั่งผู้รู้ในห้องแอร์อย่างสงบเสงี่ยม สิ่งที่ทำให้ชายที่ชื่อปัญญาลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม มีอยู่ 2 ประการคือ 1.บ้านเรา 2.ทำบุญ สั้นๆแต่ความหมายช่างมากมายนัก ขอคารวะแก่หัวใจนักสู้ดวงนั้น

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชนเข้มแข็ง
หมายเลขบันทึก: 512360เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท