Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย : ทำอย่างไร ?


มีคนหลายคนจากหลายฝ่ายได้ก้าวเท้าเข้ามาร่วมงานกับคณะนักวิจัยและพัฒนา และส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้ก็เข้ามาทำหน้าที่ของ “ผู้สำรวจข้อเท็จจริง (Fact Finder)” ในโครงการเด็กไร้รัฐ โดยการทำงานของคนกลุ่มนี้ ในวันนี้ เรามีคำร้องของเด็ก เยาวชน ครอบครัวจำนวนมากในมือเรา ซึ่งแต่ละครั้งที่เราให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เราก็ได้ทำ “บันทึกการปฏิบัติการของเรา” (Our Practices) ซึ่งเบื้องต้น ก็คือการสอบสวนการสืบสวนข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุของความไร้รัฐความไร้สัญชาติ หรือเป็นสาเหตุแห่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเหล่านั้น

      แล้วสำหรับการทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราจะสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างไร ?

         แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสำรวจสถานการณ์

          ในแง่ของสาระของเรื่อง เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติภายใต้โครงการนี้เป็นงานที่ต่อยอดจากงานเดิมของเรา เราจึงมีความเข้าใจในสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงอยู่ในระดับหนึ่งที่ทั้งกว้างและลึก ดังนั้น ภายใต้โครงการนี้ เราต้องการเพียงแต่ทบทวนสถานการณ์เท่าที่เกี่ยวกับขอบเขตที่เฉพาะเจาะจงของโจทย์วิจัย

         แต่ในแง่ของรูปแบบของกิจกรรมเพื่อเอื้อต่อการสำรวจสถานการณ์ด้สนข้อเท็จจริง เรากำหนดที่จะทำกิจกรรมเพื่อการดังกล่าวใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรในพื้นที่ที่พบตัวเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐในประเทศไทย (๒) การทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว และ (๓) การตั้งเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงซึ่งบุคคลดังกล่าวประสบ ตลอดจนสถานการณ์ด้านองค์ความรู้ซึ่งบุคคลดังกล่าวใช้ในการจัดการปัญหาที่พวกเขาประสบ

         อยากทำความเข้าใจอีกครั้งว่า สำหรับเราซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย งานสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเป็น งานจำเป็น ที่จะต้องทำในแต่ละครั้งที่จะมีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ถึงไม่มีผู้ใดมาสนับสนุนทุนการวิจัย เราก็ต้องทำ มิฉะนั้น เราก็จะวินิจฉัยให้ความช่วยเหลือมิได้ เพียงแต่หากมีโครงการวิจัยที่มีทุนสนับสนุนเข้ามา เราก็จะต้องเขียนรายงานการวิจัยเพิ่มขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง

         ในช่วงที่เราเริ่มต้นโครงการเด็กไร้รัฐนี้ กล่าวคือ ในราวกลางปี พ.ศ.๒๕๔๗ เราเพิ่งเสร็จการสรุปสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ เพราะเราต้องทำ รายงานเพื่อการตรวจสอบและการประเมินสถานการณ์ด้านคนไร้รัฐในประเทศไทย [1] ตามคำร้องขอของคณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ.๒๕๔๖ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเรากำลังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลให้เราเข้าสนับสนุนการยกร่างยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย และเพื่อการนี้ เราจึงต้องนำทางบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลและสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อสำรวจสถานการณ์ที่เรามองเห็นอยู่แล้วและเห็นว่าสำคัญ ดังนั้น การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่ต้องทำ

           กิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสำรวจสถานการณ์โดยการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตร

             ในรอบ ๑๒ เดือนของโครงการเด็กไร้รัฐ (๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึง ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘) เราก็ได้ใช้วิธีการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งเราอาจจำแนกเป้าหมายของการเยี่ยมออกเป็น  ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การเยี่ยมภาคราชการ (๒) การเยี่ยมเจ้าของปัญหา และ (๓) การเยี่ยมภาคการเมือง

         กิจกรรมที่ ๑ : การเยี่ยมภาคราชการ

        ในช่วงเวลาของโครงการเด็กไร้รัฐ เราได้ทำการเยี่ยมภาคราชการ  ๓ ครั้ง กล่าวคือ (๑) การเยี่ยมจังหวัดน่านเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗[2] เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ด้านการจัดการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ชาวม้งไร้รัฐหรือไร้สัญชาติที่เมืองน่าน  ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับภาคราชการจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอเมือง และประชาสงเคราะห์จังหวัด ทั้งนี้ เป็นการทำกิจกรรมร่วมกับ ฯพณฯ นายจาตุรน ฉายแสง ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  (๒) การเยี่ยมจังหวัดพังงาเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่ประสบภัยสึนามิ ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาและทีมงานของจังหวัด และ (๓) การเยี่ยมอำเภอคุระบุรีเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ ถึงปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของชาวมอแกนในพังงาและผลกระทบที่คนเหล่านี้ได้รับเมื่อเกิดภัยสึนามิ

          กิจกรรมที่ ๒ : การเยี่ยมภาคเจ้าของปัญหา

          สำหรับการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านเจ้าของปัญหา เราได้เยี่ยมคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา ๕ ครั้ง กล่าวคือ (๑) การเยี่ยมศูนย์อพยพผู้ลี้ภัย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘  เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพชีวิตของคนหนีภัยความตายจากพม่า ซึ่งอาศัยในค่ายพักพิง ทั้งนี้ เป็นการทำกิจกรรมร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านเด็ก  เยาวชนและครอบครัว ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านราชทัณฑ์และสถานพินิจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (๑๖/๓/๒๕๔๘) (๒) การเยี่ยมคลีนิกแม่ตาวของ พญ.ซินเธีย ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อสำรวจสถานการณ์เกี่ยวกับการแจ้งเกิดของบุตรคนจากพม่า ซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลโดยรัฐ (๓) เยี่ยมชุมชนไทยพลัดถิ่นที่บ้านปากเตรียม จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘  เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาของคนเชื้อชาติไทยที่อพยพกลับจากมะริด และปัญหาเมื่อประสบภัยสึนามิ  (๔) การเยี่ยมชุมชนมอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ อำเภอกุยบุรี จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาความเป็นคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติของบุคคลดังกล่าว และปัญหาเมื่อประสบภัยสึนามิ  และ (๕) การเยี่ยมชุมชนมอแกนที่ค่ายผู้ประสบภัยสึนามิที่คึกคัก จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาความเป็นคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติของบุคคลดังกล่าว และปัญหาเมื่อประสบภัยสึนามิ 

        กิจกรรมที่ ๓ : การเยี่ยมภาคเมือง

         ในส่วนการเยี่ยมภาคการเมืองนั้น คณะนักวิจัยได้เข้าหารือกับ ฯพณฯ ดร.โภคิน พลกุล เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองไม่ถาวร อันทำให้ประสบความไร้สัญชาติโดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

         กิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสำรวจสถานการณ์โดยการทำกรณีศึกษา

           หลังจากการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรเพื่อสำรวจสถานการณ์แต่ละครั้ง เราก็จะพบเรื่องราวจริงๆ ซึ่งควรจะต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แต่ก่อนที่จะให้ช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะต้องดำเนินการกระบวนการสอบปากคำมนุษย์ที่เราพบว่าประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ ในขั้นตอนนี้เอง ที่เรามีโอกาสสำรวจสถานการณ์อีกครั้งโดยผ่านปากคำของเจ้าของปัญหา ขอให้สังเกตต่อไปว่า ภายใต้โครงการวิจัยเด็กไร้รัฐ เราได้ใช้ เรื่องจริงจากปากคำของเจ้าของปัญหาเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างของสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่เราได้นำมาทำรายงานประเภทหนึ่งที่เราเรียนว่า รายงานการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง โดยรายงานนี้ เราจะตรวจสอบว่า ในวันนี้ ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติปรากฏที่ไหน ? และปรากฏอย่างไร ? และเราจะวิเคราะห์ให้รู้ว่า สาเหตุแห่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจะอะไร ? และส่งผลกระทบต่อผู้ประสบปัญหาอย่างไร ?

          ในหลายปีที่คณะนักวิจัยและพัฒนาทำงานเพื่อขจัดปัญหาคนไร้สัญชาติ มีคนหลายคนจากหลายฝ่ายได้ก้าวเท้าเข้ามาร่วมงานกับคณะนักวิจัยและพัฒนา และส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้ก็เข้ามาทำหน้าที่ของ ผู้สำรวจข้อเท็จจริง (Fact Finder)” ในโครงการเด็กไร้รัฐ โดยการทำงานของคนกลุ่มนี้ ในวันนี้ เรามีคำร้องของเด็ก เยาวชน ครอบครัวจำนวนมากในมือเรา ซึ่งแต่ละครั้งที่เราให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เราก็ได้ทำ บันทึกการปฏิบัติการของเรา (Our Practices) ซึ่งเบื้องต้น ก็คือการสอบสวนการสืบสวนข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุของความไร้รัฐความไร้สัญชาติ หรือเป็นสาเหตุแห่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเหล่านั้น

          ขอให้สังเกตว่า การสะสมบันทึกข้อเท็จจริงของแต่ละกรณีศึกษา ก็คือ การสร้างฐานข้อมูลด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย เมื่อเรานำบันทึกข้อเท็จจริงที่เราสะสมเอาไว้มาจำแนกประเภท เราก็จะเห็นภาพรวมของสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย

          ในส่วนที่ว่า เราจะแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นที่จะต้องศึกษาต่อไป แม้เราจะแก้ไขปัญหาได้ เราก็ไม่อาจทราบได้ว่า เราจะผลักดันการแก้ไขปัญหาได้จนหมดไหม ? เราค้นพบว่า การสอนให้เจ้าของปัญหารู้จักวินิจฉัยปัญหาของตนเองนั้น จะเกิดให้เกิดศักยภาพในตัวเจ้าของปัญหาเองที่จะรู้จักการแก้ไขปัญหาของตนเอง ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และการสร้าง ต้นแบบ ของการแก้ไขปัญหาโดยเจ้าของปัญหาเอง ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุด

           ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ กระบวนการใช้กรณีศึกษาเป็น หนูทดลองในห้องทดลองทางสังคม นั้น  เริ่มต้นตั้งแต่ในขั้นตอนของการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งทำกันใน ๒ ขั้นตอนย่อย (๑) การสอบปากคำเจ้าของปัญหาเพื่อสรุปข้อเท็จจริงอันแสดงจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งผลของการสอบปากคำนี้จะทำให้ทราบว่า เจ้าของปัญหาควรจะเป็นคนของรัฐใด ? และ (๒) การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบปากคำ อันจะทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้ให้ปากคำว่า ทำไมเขาเหล่านั้นจึงตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐนั้น ?

         ในประการแรก การสอบปากคำย่อมเป็นการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อย่างชัดเจน ในแต่ละชีวิตที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ เราจึงเรียกผู้สอบปากคำว่า ผู้แสวงหาข้อเท็จจริง (Fact Finder) ขอให้ทราบว่า คนที่เข้าทำหน้าที่สอบปากคำของเจ้าของปัญหานั้นอาจถูกจำแนกได้เป็น ๒ พวกย่อยๆ กล่าวคือ (๑)  คนในเครือข่ายการทำงานที่อยู่ใน ชุมชนที่แวดล้อมเจ้าของปัญหา ซึ่งคนที่อาสาเข้ามาสอบปากคำนั้น ส่วนหนึ่งก็คือ คนในชุมชนที่ตัวของเขาเองก็ยังเป็นเจ้าของปัญหา หรือเป็นอดีตคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ หรือเป็นครอบครัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ (๒) แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นคนในเครือข่ายประเภทองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา แต่อาสาเข้ามาช่วยเหลือเจ้าของปัญหา องค์กรในลักษณะนี้มักจะอยู่นอกชุมชนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ แต่เข้าไปทำงานในชุมชนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

          เราสังเกตเห็นความเข้าใจปัญหาของเครือข่ายองค์กรในชุมชนจะมีมากกว่าเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาจากนอกชุมชน แต่ความกล้าหาญในการเสนอปัญหาที่บางครั้งอาจล่อแหลมนั้น  เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาจากนอกชุมชนย่อมจะมีมากกว่าเครือข่ายองค์กรในชุมชน  ความเป็นคนไร้รัฐย่อมหมายถึงความเป็นคนผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยข้อสันนิษฐานของกฎหมายนี้เอง  ดังนั้น คนในชุมชนที่มักเกี่ยวกับกับเจ้าของปัญหาหรือเป็นเจ้าของปัญหาเอง จึงมักจะมีทัศนคติที่หวาดกลัวที่จะปรากฏตัวในสังคม

         ในประการที่สอง การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อเท็จจริงนั้นย่อมเป็นการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่มักปรากฏอย่าง แอบแฝง ในแต่ละชีวิตที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ เราจึงเรียกผู้สอบปากคำว่า ผู้แยกแยะปัญหา (Problem Analysis Maker)” ซึ่งแทบจะทั้งหมดเป็นนักนิติศาสตร์ที่เป็นลูกศิษย์เก่าของผู้วิจัยหลัก พวกเขาเข้ามาทำงานนี้ และต่อมา ได้ลงหลักปักฐานอย่างจริงจังที่จะทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ

        เราเสนอ มสช. ที่จะเข้าไปสอบปากคำและแยกแยะปัญหาให้แก่เจ้าของปัญหาเพื่อทำกรณีศึกษาอย่างน้อย ๒๐๐ กรณี เพื่อเป็น ต้นแบบ หรือจะเรียกว่า ตัวอย่าง ของเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในประเทศไทย โดยเราแบ่งงานสำรวจและวิเคราะห์กรณีศึกษาปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติออกเป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) กรณีศึกษานอกภาคเหนือ และ (๒) กรณีศึกษาในภาคเหนือ ทั้งนี้ เพราะเราพบในประสบการณ์ของการทำงานว่า ความไร้สัญชาติปรากฏตัวมากแก่บุคคลในภาคเหนือ ดังนั้น จึงต้องเน้นการศึกษาสำหรับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งให้เป็นความรับผิดชอบของอาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ส่วนกรณีนอกภาคเหนือ ซึ่งพบว่า ปรากฏมีลักษณะกระจัดกระจายในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งให้เป็นความรับผิดชอบของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

           ณ ที่นี้ เราอยากบันทึกตัวอย่างของกรณีศึกษาซึ่งเราได้ขอใช้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติของพวกเขาในการทดลองสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง และนำเสนอเรื่องราวของเขาเป็น ผลงานวิจัย ต่อสังคม เป็นการ แจ้งเพื่อทราบ ต่อสังคม อาทิ

           กิจกรรมที่ ๑ : การทำกรณีศึกษาเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของคนบนพื้นที่สูงและคนในท้องทะเล

         กรณีเด่นที่เราได้ศึกษาในขณะที่ทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ก็คือ (๑) การสอบข้อเท็จจริงของคุณบุญธรรม ศรีบุญทอง เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (๒) การสอบข้อเท็จจริงของนายจอบิ ที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ และที่ บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน เพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ (๓) การสอบข้อเท็จจริงของชาวมอแกนแห่งเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘  (๔) การสอบข้อเท็จจริงของนายพรหมีและนายบัวภา เยาวชนไร้สัญชาติ จากสังขละบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ (๕) การสอบข้อเท็จจริงของชาวมอแกนแห่งเกาะเหลา จังหวัดระนองที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘ และเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ (๖) การสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มลั๊วะไร้สัญชาติแห่งอำเภอนาสะอุ้ง จังหวัดเพชรบูรณ์และแห่งอำเภอหมันขาว จังหวัดเลยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ 

            กิจกรรมที่ ๒ : การทำกรณีศึกษาเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของคนหนีภัยความตาย

              กรณีเด่นที่เราได้ศึกษาในขณะที่ทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ก็คือ (๑) การสอบข้อเท็จจริงของครอบครัวศิลปวงศ์เจริญเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ และเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (๒) การสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มคนไทยใหญ่ซึ่งเข้ามาทำงานในร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของ กทม. เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (๓) การสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มโรฮินยาซึ่งหนีภัยความตายมาจากรัฐอารากันในประเทศพม่า เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘  (๔) การสอบข้อเท็จจริงของกลุ่มคนเชื้อชาติไทยในมะริดซึ่งหนีภัยความตายเข้ามาในไทยเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘ และเมื่อวันที่ ๑ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘

             กิจกรรมที่ ๓ : การทำกรณีศึกษาเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของคนชายแดน

              กรณีเด่นที่เราได้ศึกษาในขณะที่ทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ก็คือ (๑) การสอบข้อเท็จจริงของชาวบ้านริมโขงที่ถือบัตรลาวอพยพ และตกหล่นทางทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ และเมื่อวันที่ ๑๓ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ อำเภอเชียงของ (๒) การสอบข้อเท็จจริงของคนไร้สัญชาติแห่งอำเภอแม่อายซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยและพม่า เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ และเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ ณ อำเภอแม่อาย (๓) การสอบข้อเท็จจริงของคนไร้รัฐแห่งบ้านห้วยแห้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยและพม่า เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ และเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ วุฒิสภา

          กิจกรรมที่ ๔ : การทำกรณีศึกษาเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของคนไร้รากเหง้า

               กรณีเด่นที่เราได้ศึกษาในขณะที่ทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ก็คือ (๑) การสอบข้อเท็จจริงเพื่อทราบสาเหตุของความไร้สัญชาติของแม่ชีสุริยาเพราะไม่อาจพิสูจน์รากเหง้าของตน เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๒) การสอบข้อเท็จจริงเพื่อทราบสาเหตุของความไร้สัญชาติของนางสาวปัทมา สังสิทธยากร เพราะไม่อาจทราบถึงรากเหง้าของตนเอง ที่วุฒิสภา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ (๓) การสอบข้อเท็จจริงเพื่อทราบสาเหตุของความไร้สัญชาติของกลุ่มคนไร้บ้านเพราะไม่อาจพิสูจน์รากเหง้าของตน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘  ณ สนามหลวง และเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ ริมคลองหลอดข้างศาลฎีกา (๔) การสอบข้อเท็จจริงเพื่อทราบสาเหตุของความไร้สัญชาติของนายอนันต์ หูมแพงเพราะไม่อาจพิสูจน์รากเหง้าของตน เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          กิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสำรวจสถานการณ์โดยการตั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

             ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราได้พยายามตั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย  และคนหนีภัยความตาย ทั้งนี้ เพราะเรารู้สึกไม่มั่นใจในองค์ความรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มดังกล่าวที่สังเคราะห์ได้จากการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตร และการทำกรณีศึกษา เราประสบความสำเร็จที่จะตั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาดังกล่าว ๓ ครั้ง  กล่าวคือ  (๑)  เวทีเสวนากับภาคราชการและภาคเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ (๒) เวทีเสวนากับเครือข่ายฟ้ามิตรซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ (๓) เวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสิทธิในการเรียนภาษาไทยของเด็กผู้หนีภัยในค่ายพักพิงแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก  เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งในเวทีหลังนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี  เยาวชนและผู้สูงอายุ  วุฒิสภา  และภาคราชการที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงศึกษาธิการ 



[1] รายงานเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, ๒๐ หน้า
 http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=17&d_id=17
http://www.archanwell.org/office/download.php?id=54&file=44.pdf&fol=1 (ฉบับ pdf)

[2] http://www.archanwell.org/gallery/show_room.php?h=72&id_dir=47

ที่มา : งานเขียนอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 51216เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 04:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท