ผังชุมชน : การสร้างกระบวนการเรียนรู้ตนเอง "ด้วยตนเอง"


ถ้าเราเห็นภาพแผนผังที่ตั้งของสหกรณ์ก่อนหน้าที่จะแบ่งงาน เราคงไม่ต้องวิ่งรถสวนกันไปสวนกันมาอย่างเช่นทุกวันนี้

เครื่องมือในการที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้ตนเองนั้นมีอยู่อย่างมากมาย แต่เครื่องมือที่ผมเคยใช้และประสบความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตนเองได้ดีอันหนึ่งนั้นก็คือ "ผังชุมชน"


"ผังชุมชน" ผมได้รู้จักครั้งแรกเมื่อครั้งได้ทำงานวิจัยแบบ PAR (Participatory Action Research) ซึ่งได้ใช้ในการจัดทำผังโครงสร้างองค์กรชุมชนรวมถึงแผนผังทรัพยากรและป่าไม้ในชุมชน

เมื่อครั้นได้มาทำเวทีจัดการความรู้ จึงได้มีโอกาสประยุตก์ใช้ผังชุมชนนี้มาเพื่อให้ทุก ๆ ท่านในเวทีได้ร่วมกิจกรรมในการเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองได้มากขึ้น



ครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจอย่างไม่มีวันลืมก็คือ การทำผังชุมชนในเวทีจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมกับพี่ ๆ ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงขออนุญาตนำกราบเรียนทุก ๆ ท่านเพื่อร่วมรับทราบความประทับใจจากกิจกรรมง่าย ๆ ที่เราร่วมกันทำในวันนั้น


ขั้นตอนแรก ในวันนั้นเราเริ่มกิจกรรมด้วยการเปิดประเด็นพูดคุยในเรื่องของ "ความหมายของสหกรณ์"


เป็นคำสั้น ๆ แต่มีความหมาย "สหกรณ์คืออะไร"


ในวันนั้นทั้งพี่ ๆ รุ่นใหญ่และน้อง ๆ รุ่นเล็ก ร่วมช่วยกันตอบคำถามกันอย่างหน้าตาเคร่งเครียด เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ ครับ แต่บางครั้งก็อาจจะมองข้ามไป

ทุก ๆ คนก็ร่วมกันคิด ร่วมกันตอบ ทำให้น้องใหม่ ๆ หลาย ๆ ท่านที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานที่สหกรณ์จังหวัดฯ

ไม่นานเราได้ทราบความหมายของสหกรณ์จากพวกพี่ ๆ

รวมถึงพี่ ๆ ก็ได้ทบทวนสิ่งที่ตนเองทราบอยู่แล้วให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยครับ



ขั้นตอนที่ 2 กับคำถาม "สหกรณ์มีกี่ประเภท" และ "ในจังหวัดอุตรดิตถ์มีสหกรณ์ประเภทใดบ้าง"


คำถามนี้เป็นเพื่อทบทวนเชื่อมโยงความรู้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ (หน่วยส่งเสริมสหกรณ์) เพื่อทบทวนถึงสหกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบและเป็นคำถามนำเพื่อก้าวไปสู่การจัดทำ "ผังชุมชน"



ขั้นตอนที่ 3 ร่างผังชุมชน
 
ในวันนั้นผมได้รับความร่วมมือแบบจงใจและแบบบังเอิญในการหาผู้มีความสามารถในการ "ร่างผังชุมชน" เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการลงจุดของสหกรณ์ในจังหวัด

 


วันนั้นผมได้อาสาสมัครในการวาดรูปก็คือ พี่อัมพร มาร่วมกันหาแผนที่ของจังหวัดก่อนหน้าวันอบรม 1 คืน และฝากให้พี่อัมพร (เสื้อคลุมสีดำ) ไปทดลองวาดมาจากบ้าน
 

 


เมื่อถึงวันจริง พี่อัมพรก็รับอาสาในการร่างผังชุมชนโดยใช้ดินสอ โดยใช้สถานที่ด้านหน้าของห้องประชุมสหกรณ์จังหวัดฯ ซึ่งในขณะที่วาดอยู่นั้นได้มีพี่ ๆ เข้ามาช่วยเหลือและร่วมกันทำงานจนได้เป็นร่างของผังชุมชนออกมา



ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมสัญลักษณ์ (ตัดกระดาษ)


หลังจากที่เราได้คำตอบจากขั้นตอนที่ 2 ว่า สหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์มีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีจำนวนเท่าใด


เราก็ได้โจทย์คร่าว ๆ ว่า


เราจะต้องใช้กระดาษกี่สี เพื่อให้ครบตามจำนวนประเภทสหกรณ์ที่มีอยู่


เราจะต้องใช้สีและสัญลักษณ์อะไร เพื่อแทนแต่ละประเภทของสหกรณ์


เราจะต้องใช้สีและสัญลักษณ์แต่ละประเภทจำนวนเท่าใด เพื่อให้เพียงพอตามจำนวนสหกรณ์ที่มีอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์


จากนั้น อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปในสำนักงาน "กรรไกร" ก็ถูกนำมาใช้เพื่อตัดเป็นสัญลักษณ์ให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ



 
ขั้นตอนที่ 5 การลงสัญลักษณ์ตามตำแหน่งที่ตั้งของสหกรณ์

 

หลังจากที่ได้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แทนประเภทและจำนวนของสหกรณ์ในจังหวัดแล้ว

ทุก ๆ คนที่มี "ความรู้" เกี่ยวกับที่ตั้งของสหกรณ์ ก็จะมาช่วยกันติดกระดาษ ลงจุดต่าง ๆ ให้ตรงกับสถานที่ตั้งของสหกรณ์ที่มีอยู่โดยแยกเป็นประเภทและอำเภอ

 


ใครรับผิดชอบสหกรณ์ประเภทใด รับผิดชอบอำเภอไหน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ชำนาญการด้านพื้นที่ ว่าสหกรณ์แต่ละแห่งนั้น ตั้งอยู่ทิศใดของแผนที่
 


วันนั้นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก ๆ นั้นก็คือ "ความร่วมไม้ร่วมมือ" และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในขณะที่ติดกระดาษแผ่นเล็ก ๆ นั้นมีอยู่มากมาย


ทั้งในเรื่องตำแหน่งของที่ตั้งสหกรณ์ อยู่บนถนนเส้นไหน อยู่ฝากใดของอำเภอ

 


ทุก ๆ คนช่วยกันเก็บรายละเอียดคนละเล็ก คนละน้อย ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ


 
จากนั้น ช่วยกันเขียนรายละเอียด ชื่อสหกรณ์และที่อยู่ลงไปตรงสัญลักษณ์ตามจุดที่อยู่ของแต่ละสหกรณ์นั้น ให้ได้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
 


เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ผนวกกับการร่วมแรงร่วมใจจากทุก ๆ ท่านในเวทีวันนั้นก็ทำให้เราได้ "ผังชุมชน" ที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของสหกรณ์ทั้งหมดของจังหวัดอุตรดิตถ์ออกมา



 
ขั้นตอนที่ 6 แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปรายละเอียดของแต่ละสหกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้

 หลังจากที่เราร่วมกันสร้าง "ผังชุมชน" เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการมอบหมายของตัวแต่ของแต่ละ Mobile (หน่วยส่งเสริมสหกรณ์) ได้ออกมาบรรยายสรุปถึงรูปแบบ ลักษณะ ตำแหน่ง ที่ตั้ง ปัญหา และสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับสหกรณ์ที่ตนเองได้รับผิดชอบอยู่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นทำให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงกันในการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการมากขึ้น

"ถ้าเราเห็นภาพแผนผังที่ตั้งของสหกรณ์ก่อนหน้าที่จะแบ่งงาน เราคงไม่ต้องวิ่งรถสวนกันไปสวนกันมาอย่างเช่นทุกวันนี้" (คำพูดจากผู้เข้าร่วมเวทีท่านหนึ่ง)

ผังชุมชนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพชุมชนในภาพกว้าง เพื่อเรียนรู้ตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง

อุปกรณ์ที่ใช้

  1. กระดาษพรู๊ฟ 1แผ่น
  2. กระดาษสี 6 สี
  3. กรรไกร
  4. กาว
  5. ดินสอ
  6. ปากกาเคมีหรือสีเมจิ
  7. ใจและความรู้ของทุก ๆ คน
หมายเลขบันทึก: 51213เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 03:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (self direct learning) เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าทุกคนมีลักษณะนี้ในตัวเอง จะทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้เรียนได้ตามความชอบและความถนัดของตนเอง แต่ในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ยังอาจประกอบไปด้วย รูปแบบการเรียน (Learning styles) ของผู้เรียนอีกด้วย เพราะผู้เรียนแต่ละคนจะมีความชอบและพฤติกรรมในการเรียนแตกต่างกัน และมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แต่ในกระบวนการเรียนรู้ในแบบของคุณปภังกร ..// นิวเข้าใจว่าน่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative)มากกว่า ซึ่งผู้เรียนแบบนี้จะมีลักษณะเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยการแลกเปลี่ยนความคิดหรือความสามารถซึ่งกันและกัน โดยอาจร่วมมือกับอาจารย์ กลุ่มเพื่อน และมองเห็นชั้นเรียนเป็นสถานที่สำหรับสังคมปฎิสัมพันธ์ (Social Interactions) ขอบคุณคะ :
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท