การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ


การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบในคดีอาญา

15 ธันวาคม 2555

แนวคิดเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ[1]

สหรัฐ ถือว่าการแสดงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันมิชอบขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญพยานหลักฐานที่ได้มาจึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบตามหลักผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ (Fruit of poisonous tree) กล่าวคือ การได้มาซึ่งพยานหลักฐานชิ้นแรกโดยมิชอบเป็นต้นไม้ที่เป็นพิษส่วนพยานหลักฐานอื่นที่สืบเนื่องจากพยานหลักฐานชิ้นแรกที่ได้มาโดยมิชอบเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังด้วย

อังกฤษ พยานหลักฐานเป็นเรื่องของการพิจารณาข้อเท็จจริงดังนั้นหากพยานนั้นสามารถแสดงถึงข้อเท็จจริงคู่ความต้องการนำสืบแม้พยานดังกล่าวจะมีปัญหาในเรื่องการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ศาลก็ย่อมรับฟังได้

ภาคพื้นยุโรป ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบเว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะมาจำกัดดุลพินิจของศาลเท่านั้น

ไทยการห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 [2], มาตรา 226/1[3]

หลักดอกผลของต้นไม้มีพิษ (Fruit of poisonous tree) ถ้าเป็นหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ ประเทศอังกฤษและอเมริกาจะใช้อย่างเคร่งครัด การค้นและการจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมายจะทำให้เสียไปทั้งหมดส่วนในประเทศเยอรมันถ้าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงแล้วมากระทำการไม่ชอบจะใช้หลักดอกผลของต้นไม้มีพิษอย่างเคร่งครัดแต่ถ้าเป็นเรื่องของเอกชนจะพิจารณาจากความรุนแรงของการกระทำ สำหรับประเทศไทย ไม่ใช้หลักดอกผลของต้นไม้มีพิษ(Fruit of poisonous tree) แต่จะตัดสินตามแนวคำพิพากษาซึ่งศาลเห็นว่าการจับกุมกับการสอบสวนเป็นการกระทำคนละขั้นตอนกัน แม้จะจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่กล่าวคือ พยานหลักฐานที่เกิดจากการจับไม่ชอบ ค้นไม่ชอบ ถ้าพนักงานสอบสวนเอามารวบรวมโดยชอบก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ดังเช่นคำพิพากษาฎีกา ที่ 1362/2537, 3099/2543, 2775/2544 เป็นต้น [4]

พยานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตรงกับหลักการตัดพยาน (ExclusionaryRule) ของคอมมอนลอว์ซึ่งศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้วางหลักไว้ในคำพิพากษา 2 เรื่องคือ (1) คดีระหว่าง Weeks V.S. United States ค.ศ.1914 (2) คดีระหว่าง Mapp V.S. Ohio ค.ศ.1961 กล่าวคือ ถ้าเป็นพยานที่ได้มาจากการค้นไม่ชอบ จับไม่ชอบจะถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ไม่ได้เป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [5]

ข้อยกเว้นของหลักการตัดพยาน[6] คือ เป็นการกระทำโดยเจตนาสุจริต(Good FaithException) กรณี (1) คดีระหว่าง United States V.S. Leon (ค.ศ.1984) (2) คดีระหว่าง ArizonaV.S. Evans ค.ศ.1995


ตามกฎหมายไทย การห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบใน4 กรณี [7]

1. พยานหลักฐานที่มิได้เกิดขึ้นโดยสมัครใจ

2. พยานหลักที่เกิดขึ้นโดยมิชอบประการอื่น

3. พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ

4. พยานหลักที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบประการอื่น


แยกพิจารณาดังนี้

1.พยานหลักฐานที่มิได้เกิดขึ้นโดยสมัครใจ  ตาม ป.วิอาญา มาตรา 226, 135 [8],133 วรรคสาม[9]

2.พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบประการอื่น

เช่น การล่อให้กระทำความผิด (ล่อซื้อ) มี 2 ลักษณะ

1. การไปก่อ ล่อ หรือชักจูงให้คนบริสุทธิ์กระทำผิดโดยผู้นั้นไม่มีเจตนากระทำผิดมาก่อนซึ่งถือเป็นการกระทำความผิด (entrapment)

2. การไปก่อ ล่อหรือชักจูงให้ผู้ที่มีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนให้แสดงออกมาซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดหรือการล่อเพื่อจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี (undercover operation)

3.พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ

หมายถึงพยานหลักฐานที่โดยตัวของมันเองแล้วดำรงอยู่หรือเกิดขึ้นโดยมิได้มีผู้ใดไปกระทำการเสริมแต่งให้เกิดขึ้นแต่ในเวลาที่จะนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้นได้มีการใช้วิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้น

เช่น พยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการค้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการค้นเคหสถานที่รโหฐาน หรือค้นตัวบุคคลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 93[10] หรือพยานหลักฐานที่ได้จากการดักฟังทางโทรศัพท์หรือลักลอบเปิดจดหมาย หรือใช้กำลังบังคับในการตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

4.พยานหลักที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ตามป.วิอาญา มาตรา 226/1

ข้อมูลเกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ  แล้วนำข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยมิชอบนั้นนำไปให้ได้พยานหลักฐานมา โดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย

เช่นเจ้าหน้าที่ชักจูงให้ผู้กระทำความผิดบอกข้อมูลโดยสัญญาว่าจะไม่ดำเนินคดีเพื่อนำมาไปสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอีกคนหนึ่ง

หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ต้องหาจนให้การรับสารภาพคำให้การรับสารภาพนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ชอบรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้แต่ในคำให้การรับสารภาพบอกให้รู้เบาะแสว่าได้นำเอาอาวุธที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดไปซ่อนไว้ที่ไหนเก็บไว้กับใครพนักงานสอบสวนก็ตามไปยึดอาวุธที่ใช้ในการกระทำความผิดและทรัพย์สินที่ได้ไปจากการกระทำความผิดมาโดยมีหมายค้นถูกต้อง



[1] ข้อสอบคัดเลือกเข้าศึกษานิติศาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนครราชสีมา รุ่นที่ 4 (พ.ศ.2555) ดู “การสืบสวนสอบสวนกับปัญหาการรับฟังพยานหลักฐาน.” www.law.cmu.ac.th/law2011/goto.php?action=document&id=485

[2] มาตรา 226“พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นและให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน”

[3] มาตรา 226/1“ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้นเว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานบุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน”(ต่อมาในปี 2551 ได้มีการแก้ไข ป.วิ.อาญาฉบับที่ 28 บัญญัติมาตรา 226/1)

[4] อ้างอิงจาก คำบรรยายศาสตราจารย์พิเศษปัญญาสุทธิบดี วิชา LA 794 “กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ.”มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2554.

[5] Loc.cit.

[6] Loc.cit.

[7] Ibid., “การสืบสวนสอบสวนกับปัญหาการรับฟังพยานหลักฐาน.”

[8] มาตรา 135“ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น”

[9] มาตรา 133 วรรคสาม “ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน พูดให้ท้อใจหรือใช้กลอุบายอื่น เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ”

[10] มาตรา 93“ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดหรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”

หมายเลขบันทึก: 512142เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2018 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท