การสร้างเสริมสุขภาพ:บทบาทร่วมสหสาขาวิชาชีพ


                       

              ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสองทศวรรษที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง และ เทคโนโลยี ซึ่งทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตัวแทนของวิถีชีวิตที่สะท้อนปัญหาทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ “สุขอนามัยของประชาชน” ซึ่งสามารถเป็นภาพสะท้อนสุขภาพของสังคมด้วย โดยจะเห็นได้จากข่าวสารในช่วงหลังที่เราจะพบปัญหาสุขภาพต่างๆมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดอันเกิดจากความรู้สึกถูกกดดันและความแปลกแยกทางสังคม ปัญหาโรคไม่ติดต่อที่เกิดเนื่องจากการดำเนินชีวิต อาทิ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีโรคติดเชื้อและโรคระบาดต่างๆในอดีตหวนกลับมาเกิดขึ้นในปัจจุบัน และในบางโรคก็เป็นโรคเกิดใหม่ที่มีความรุนแรงกว่าในอดีตมากมาย เช่น โรคซาร์ โรคไข้หวัด 2009
ปัญหาทันตสุขภาพก็เช่นเดียวกันที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งที่ได้มีการระดมทรัพยากรและสรรพกำลังอย่างมากมายในการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี ในท่ามกลางสิ่งรุมเร้าต่างๆ “วิชาชีพทันตแพทย์” ถูกคาดหวังจากสังคมในฐานะเป็นบุคลากรทางสุขภาพ จะมีบทบาท หรือ สามารถยกระดับสุขภาพของผู้คนในสังคมได้อย่างไร? และควรมีบทบาทเช่นใดต่อเพื่อนในสหสาขาวิชาชีพ ในการทำงานร่วมกันจนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสังคมให้มีความน่าอยู่ขึ้น
  การดำเนินงานทางทันตสุขภาพในกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ถูกสังคมตั้งคำถามว่า เรากำลังเดินมาถูกทางหรือไม่? เหตุใดปัญหาทันตสุขภาพยังคงคุกคามประชาชนไทย  ทั้งๆที่เรามีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและยาวนาน


  คำตอบของคำถามข้างต้น  อาจมีแนวทางการตอบได้หลายคำตอบ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำงานของบุคลากรทางทันตสุขภาพ ยังขาดแนวร่วมหรือพันธมิตรเครือข่าย ที่มากเพียงพอต่อการขับเคลื่อนสุขภาพของสังคมให้พัฒนาขึ้นได้ 

หลายๆปัญหาทางทันตสุขภาพเช่น “ฟันผุ” ซึ่งทันตบุคลากร มักจะมองว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทันตแพทย์เท่านั้น และบุคคลที่จะเกี่ยวข้องโดยตรงที่สุดก็คือ ทันตแพทย์ ดังนั้นการทำงานในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ที่ผ่านมาในอดีต ก็ยกถูกหยิบยกว่าเป็นภาระและหน้าที่อย่างผูกขาดของทันตแพทย์ ในการรณรงค์แปรงฟัน ลดการกินขนม ใช้ฟลูโอไรด์ ซึ่งมาตรการต่างๆที่นำมาใช้นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นในลักษณะ โครงการแนวดิ่ง หรือ “Vertical Program” จากกระทรวงสาธารณสุข หรือ กองทันตสาธารณสุขเป็นผู้สั่งการให้หน่วยงานย่อยเช่น แผนกทันตกรรมในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อรับไปดำเนินการ ซึ่งตรงกับลักษณะของการดำเนินงานของโครงการพัฒนาสุขภาพในชุมชนในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ และเป็นการพัฒนาแบบบนลงสู่ล่าง (Top-down development)

  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาฟันผุ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆมากมาย ทั้งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง รายได้และเศรษฐานะของครอบครัว สื่อโฆษณา ลักษณะการเลี้ยงดูของผู้ปกครองฯ เป็นต้น  ซึ่งลักษณะปัญหาที่มี “พหุปัจจัย” เช่นนี้ การจะหวังให้ภาระการแก้ไขปัญหา เป็นของทันตแพทย์วิชาชีพเดียวคงไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวร่วมใน “สหสาขาวิชาชีพ” ในการทำงานร่วมกัน เช่น นักโภชนาการมาร่วมกันทำงานด้านการบริโภคของหวาน นักสื่อสารมวลชนมาดูแลเรื่องสื่อโฆษณาให้ไม่มีสิ่งปลุกเร้าให้เด็กอยากกินขนมมากขึ้น  นักกฎหมายอาจต้องควรช่วยในการพลักดันออกเป็นนโยบายหรือกฎหมายบางอย่างที่บังคับใช้ในระดับ ประเทศ นักการศึกษาก็ต้องวางรูปแบบการศึกษาให้มีความสอดคล้อง และรองรับกับองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  เป็นต้น

  แต่ภาพการทำงานในลักษณะที่มีการสอดประสานและมีส่วนร่วมในลักษณะเป็นพหุภาคี ดังเช่นที่หยิบยกมาข้างต้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้”น้อยมาก”ในการทำงานของทันตแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการลดทอนประสิทธิภาพในบทบาทของวิชาชีพต่อสังคมเป็นอย่างมาก

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเหตุใด?

เราสามารถวิเคราะห์อุปสรรคในการขาดการเชื่อมประสานในการทำงานของวิชาชีพทันตแพทย์กับสหวิชาชีพได้ ซึ่งปัญหาความไม่พร้อมในการทำงานในลักษณะ “ทีมสหสาขาวิชาชีพ” ในปัจจุบันนั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากหลายๆประการ ดังเช่น

  1.ลักษณะการทำงานของทันตแพทย์  ถูกฝึกฝนจากโรงเรียนทันตแพทย์ให้เคยชินกับการเป็นผู้ออกคำสั่ง เป็นผู้วางแผน เป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้ตรวจสอบและประเมินผลด้วยตัวของตัวเอง  ดังจะเห็นจากลักษณะของงานหัตถการต่างๆในวิชาชีพ เช่น การอุดฟัน การถอนฟัน รักษารากฟัน ในทุกๆขั้นตอนของการรักษา “หมอ” จะเป็นผู้ตัดสินใจในการวางแผน เลือกแนวทางการรักษา ลงมือรักษา และเป็นผู้ประเมินผลการรักษาแต่เพียงผู้เดียว โดยอาจจะเปิดโอกาสให้ “ผู้ป่วย” ทราบ แนวทางการรักษาบ้าง แต่ในภาพรวมของการรักษาทั้งหมดแล้ว หมอคงยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการรักษาทั้งหมด  นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่เมื่อทันตแพทย์ลงไปทำงานในพื้นที่หรือชุมชนและ ลักษณะการทำงานแบบเดี่ยว “ Solo Practice“  จึงคงยังฝังอยู่ในระบบความคิดของทันตแพทย์ เนื่องจากความเคยชินดังกล่าว การประสานงาน การสร้างเครือข่าย จึงเกิดขึ้นค่อนข้างยากในวงการทันตสาธารณสุข

  2.ระบบการศึกษาในคณะทันตแพทย์ ในปัจจุบันมีผลลดทอนความสัมพันธ์ต่อการทำงานร่วมกับ สหสาขาวิชาชีพ  เราจะพบในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ทุกคณะในประเทศไทยยังคงมีการเรียนแบบ “ตัดตอนแยกส่วน” ในเนื้อหารายวิชาและโครงสร้าง โดยแยกให้นิสิต/นักศึกษาเรียนวิชาพรีคลินิก  เมื่อสำเร็จการเรียนรู้ในรายวิชาพรีคลินิกทั้งหมดแล้วจึงจะสามารถได้รับอนุญาตให้นิสิตได้พบผู้ป่วยในการทำงานทางคลินิกต่อไปได้ ซึ่งทำให้ระบบการเรียนรู้ของนิสิต/นักศึกษาทันตแพทย์ ขาดความ “เชื่อมโยง” ของการเรียนในภาคทฤษฎีกับการรักษาในผู้ป่วยจริง

ประกอบกับการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชาย่อยที่มีการตัดตอนแยกส่วน เรียนย่อยเฉพาะเป็นรายวิชาที่แตกต่างกันและแยกกันเรียนอย่างชัดเจน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ในหลายๆส่วนวิชาสามารถบูรณาการการเรียนรู้เข้าด้วยกันได้  นอกจากนั้นแล้ว ในการเรียนรู้ 6 ปี ในคณะทันตแพทย์มีโอกาสน้อยมากที่นิสิตนักศึกษาจะได้ทำงานร่วมกับนิสิต/นักศึกษาจาก สหสาขาวิชาชีพอื่นๆ โดยจะพบเพียง 1-2 รายวิชาในชั้นปีแรกๆ ที่อาจมีโอกาสได้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเดียวกัน แต่กระนั้นก็ตาม ในรายวิชาที่ได้เรียนด้วยกันก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำงานกลุ่มหรือลงทำโครงการร่วมกัน ทำให้ขาดโอกาสสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนในสหวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการสร้างเครือข่ายการทำงานต่อไปในอนาคตอย่างน่าเสียดาย การที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันก็ยังคงอิงกับระบบดั้งเดิมดังกล่าว ทำให้กรอบแนวคิดของทันตแพทย์ไทยยังคงเคยชินกับวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบตัดตอนแยกส่วน เคยชินกับลักษณะการเรียนรู้เป็นชิ้นๆที่เป็นอิสระไม่ต้องติดต่อหรือเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ จึงทำให้ความคิดเชื่อมโยงทุกสิ่งอย่างเป็น”องค์รวม” และมีบูรณาการเกิดขึ้นได้ยากเมื่อนิสิต/นักศึกษาจบออกไปทำงานในพื้นที่จริง

3.โครงสร้างของระบบการศึกษาในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยี และการฝึกฝนทางวิชาชีพเป็นหลัก แต่ยังขาดการปลูกฝังให้นิสิต/นักศึกษาเกิดจิตสำนึกของความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ต้องมีภาระหน้าที่และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งขึ้น  ดังนั้นนิสิต/นักศึกษาในปัจจุบันจึงต่างแข่งขันกันเรียนจนบางครั้งละเลยกับบทบาททางวิชาชีพที่ควรปฏิบัติและเอาใจใส่ต่อบุคคลอื่น โดยอาจจะมีแค่การสอดแรกแนวคิดบางอย่างในระหว่างการเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวกับงานทันตกรรมชุมชน แต่กระบวนรายวิชาดังกล่าวก็เป็นเพียงรายวิชาส่วนน้อยในคณะทันตแพทย์ ในขณะที่กระบวนรายวิชาอื่นๆยังคงมุ่งเน้นให้นิสิตเก่งทางวิชาการซึ่งเป็นแรงกดดันให้นิสิต/นักศึกษาต้องแข่งขันกันเรียนเพื่อให้จบการศึกษา ซึ่งจุดนี้ทำให้เมื่อนิสิตนักศึกษาจบเป็นทันตแพทย์แล้ว จึงขาดทักษะและแรงจูงใจในการต้องทำงานเพื่อคนอื่น

แล้วเราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร?

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสลับซับซ้อน และมีความเกี่ยวโยงกันอย่างมาก ทั้งทางด้านระบบการศึกษา ระบบการเมือง และสิ่งแวดล้อมอันเป็นบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ผู้เขียนจะขอเสนอแนะรูปแบบที่น่าจะมีประโยชน์ในการส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ในการทำงานของทันตแพทย์กับพหุสาขาวิชาชีพอื่นๆ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1.  ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรในการผลิตทันตแพทย์

จากปัญหาทางด้านหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เป็นที่แน่ชัดว่าส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดความเชื่อมโยงและขาดการทำงานร่วมกันในระหว่างพหุสาขาวิชาชีพนั้น   เป็นเพราะโครงสร้างหลักสูตร ของคณะทันตแพทย์นั้นไม่เอื้อในเรื่องดังกล่าว  การแก้ไขในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งผู้เขียนขอเสนอการปรับปรุงในระดับโครงสร้างของหลักสูตร ดังนี้

  ในภาพรวมของหลักสูตร ไม่ควรมุ่งเน้นการผลิตทันตแพทย์ที่คิดแบบปัจเจคบุคคล แต่ควรมุ่งเน้นการผลิตทันตแพทย์ที่มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม และต้องเห็นความสำคัญและตระหนักต่อปัญหาในสังคม ซึ่งในส่วนนี้มิใช่ในฐานะและบทบาทของทันตแพทย์เท่านั้น แต่หมายถึงในบทบาทของประชาชนคนในสังคมคนหนึ่งด้วย  ซึ่งการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน อาจจะต้องมีการเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบ “Community-Base Learning” คือ เรียนรู้เพื่อเข้าใจปัญหาและความเข้าใจอย่างแท้จริงของชุมชน และยอมรับในภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้การเรียนรู้ในความแตกต่างเพื่อสร้างความเข้าใจโดยมุมมองจากระดับเดียวกัน ไม่มีการสั่งการ ใช้ฐานของชุมชนที่แตกต่างกันเป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะทำให้นิสิต/นักศึกษาสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถร่วมทำงานกับต่างสหสาขาวิชาชีพได้ โดยควรเป็นไปในลักษณะการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อยเล็กๆ เพื่อให้นิสิต/นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน

  นอกจากนี้แล้ว ในการจัดการเรียนการสอน ควรจัดให้มีการเรียนรู้กระบวนคิด วิเคราะห์ หรือมี “Critical Analysis” และมีการคิดอย่างองค์รวม ( Comprehensive) คือ มองเห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวมในทุกๆสิ่งได้  สามารถบูรณาการ Bio-Psycho-Social Model โดยไม่ยึดติดแต่การมุ่งเน้นให้รักษาโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเชื่อมโยงเรื่องโรค(Disease) เข้าสู่เรื่องของสุขภาพ (Health) ได้ เพื่อในอนาคตจะเป็นการเปิดพื้นที่การทำงาน ให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ได้เข้ามาทำงานร่วมกันได้  ซึ่งอาจจะมีการจัดกระบวนวิชาที่พหุสาขาได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น กระบวนวิชาที่มีการออกพื้นที่ไปศึกษาชุมชน โดยนิสิตแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล โภชนการ ลงไปเป็นทีม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ในแง่มุมจากหลายๆสาขาวิชาชีพ

  การสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมลงไปในทุกๆกระบวนวิชาก็เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ควรจะต้องเปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและการพัฒนาตนเองในแง่มุมอื่นๆนอกจากการทำฟัน เพื่อให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและทำงานกับผู้อื่นได้

2.  เปลี่ยนวีธีการทำงาน ให้สร้างสุขภาพนำซ่อมสุขภาพ เพื่อเพิ่มพื้นที่ (Space) การทำงานให้ทันตแพทย์สามารถทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆได้มากขึ้น

ดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า บทบาทหลักของวิชาชีพทันตแพทย์ คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู แต่การดำเนินการที่ผ่านมา เรามักจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาและฟื้นฟู และเพิ่มเติมด้านการป้องกันโรคเข้าไปด้วย  ซึ่งทั้งสามงานดังกล่าวเป็นลักษณะการทำงานด้านลบ เนื่องจากเป็นไปเพื่อการ”ซ่อมสุขภาพ” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดหรือขจัดโรคเท่านั้น ทำให้เป็นส่วนงานที่”ต้อง”อาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทำ จึงเป็นการปิดประตูรับความช่วยเหลือจากพหุสาขา ซึ่งก็เป็นไปตามลักษณะของบทบาทวิชาชีพในระยะแรกๆ  ซึ่งงานทันตสาธารณสุขของประเทศไทยในระยะแรก เป็นเพียงการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยจากโรคในช่องปากของประชาชนเท่านั้น ทันตแพทย์ที่ผลิตมาในช่วงแรกยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของประชาชนและจำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมือง ชนิดของการให้บริการจึงจำกัดที่การถอนฟัน เพราะทำได้เร็ว ประกอบกับประชาชนเก็บฟันไว้จนโรคลุกลามเกินกว่าจะเก็บรักษาไว้ ทำให้ทันตแพทย์เคยชินกับการให้การรักษา ไม่คุ้นเคยกับงานป้องกัน 

  ด้วยเหตุที่ขาดแคลนทันตบุคคลากร และความชุกของโรคฟันมีสูง ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายบริการบำบัดรักษา ส่งผลให้อัตราการสะสมของโรคสูงขึ้น นอกจากนั้นการให้บริการยังมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถลดการเกิดปัญหาอย่างจริงจัง

แม้กระทั่งในปัจจุบันประชากรประมาณร้อยละ 90 ของประเทศยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคในช่องปากและมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับบริการ แต่บริการที่มีอยู่และที่ผ่านมานั้นมีจำกัดเกินกว่าที่จะสามารถให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่สามารถขอรับบริการทางทันตกรรมได้ วิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคทางทันตกรรมที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานอุดฟัน ถอนฟัน และใส่ฟัน การส่งเสริมทันตสุขภาพและการป้องกันโรคมีน้อยมาก

การแก้ไขปัญหาโรคทางทันตกรรมด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจึงไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดอัตราการเกิดโรคในช่องปาก และทำให้ประชาชนมีทันตสุขภาพที่ดีได้ หากยึดหลักการแห่งความเสมอภาคเกี่ยวกับสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับแล้ว การที่ผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์จะมุ่งความสนใจและเน้นหนักในการให้บริการดูแลทันตสุขภาพเพียงอภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อย โดยไม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยิ่งเป็นการไม่สมควรเพราะในทางสาธารณะแล้ว การได้รับดูแลสุขภาพกลายเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมี

สถิติที่ผ่านมาเกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพชี้ให้เห็นว่าความต้องการบุคลากรทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จนถึงสภาวะปัจจุบันก็ยังไม่สามารถมองเห็นทิศทางที่เหมาะสมได้ชัดเจนนักว่า เรามีทันตแพทย์เป็นจำนวนเพียงพอ มาก หรือน้อยเกินไป เพียงความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนทันตแพทย์ขึ้นเรื่อยๆจะเป็นหนทางที่จะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาในปัจจุบันได้หรือไม่ และเราสามารถที่จะควบคุมการเกิดโรคในช่องปากได้จริงหรือ?

การหาพันธมิตร หรือ ภาคีการทำงานร่วมกัน น่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืนกว่า  โดยถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะการทำงาน”เชิงบวก”  โดยดำเนินงานเป็นไปเพื่อ  ”การสร้างสุขภาพ” เราจะสามารถหาภาคีเครือข่ายร่วมงานได้ชัดเจนขึ้น

โดย “การส่งเสริมสุขภาพ”นั้น หมายถึง  องค์ประกอบของความพยายาม ในการเข้าถึงสุขภาพในเชิงบวกและการป้องกันโรค โดยหัวใจหลักของการส่งเสริมสุขภาพ คือ การเพิ่มพลังให้บุคคล ชุมชน และสังคม ( Empowerment ) ซึ่งการจะทำให้บรรลุดังกล่าวได้จำเป็นต้องอาศัยหลายๆสหสาขาวิชาชีพเข้ามาทำงานร่วมกัน  เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งมากกว่าแค่การป้องกันโรคที่อาจจะใช้เฉพาะวิชาชีพสุขภาพเท่านั้น ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 

จะเห็นได้ว่าถ้าทันตแพทย์ยังคงทำงานแบบเก่า คือ เน้นเฉพาะการทำงานด้านการรักษาหรือป้องกันโรคนั้น  การมีส่วนร่วมในระหว่างพหุสาขาวิชาชีพจะเกิดขึ้นได้อย่างยากมาก เนื่องจากในแต่ละวิชาชีพก็มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร นักการเมือง คงจะไม่สามารถทำงานร่วมกันในการรักษาโรคฟันได้  เพราะ”กระบวนการรักษาและป้องกันโรค” นั้นเป็นกระบวนการแนวคิดทางการแพทย์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่เน้นที่การ”ลดโรค” ซึ่งเป็นมิติที่แคบและจำกัดวงผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ในขณะที่การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพนั้น  เป้าหมายสูงสุด  คือ การบรรลุถึง”สุขภาวะ”ที่เหมาะสม  และเป็นกระบวนการทำงานภายใต้แนวคิดด้านสุขภาพที่เปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามานิยามว่า สุขภาพ  คืออะไร? และสามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อบรรลุสุขภาพภายใต้ความหมายนั้นๆ ซึ่งเมื่อเปิดใจกว้าง  เข้าใจความหมายของปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นองค์รวมที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขของการใช้ชีวิต  และเงื่อนไขทางสังคมสิ่งแวดล้อม  การแก้ไขปัจัยจัยเสี่ยงที่คุกคามก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม การเมือง  และสิ่งแวดล้อม  นั่นหมายถึงต้องใช้บุคลากรมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะเข้ามาร่วมกันคิดหรือดำเนินการ  ดังนั้น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร นักการเมือง ก็อาจมีเวทีที่สามารถทำงานร่วมกันได้

บทสรุปบทบาทของวิชาชีพต่อสหสาขาวิชาชีพ

  จากแนวทางแก้ไขที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาการทำงานร่วมกันในระหว่างสหสาขาวิชาชีพกับวิชาชีพทันตแพทย์  นอกจากการแก้หรือปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนโครง สร้างรายวิชาซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนแต่ยาก และต้องใช้เวลานานพอสมควรในการปรับเปลี่ยน แต่ในอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและสามารถเป็น “จุดแข็ง” ที่สหสาขาวิชาชีพอาจใช้เพื่อเป็นหนทางในการเปิดประตูสู่การทำงานร่วมกัน นั่นคือ การส่งเสริมให้บทบาทวิชาชีพมีการทำงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” ร่วมกัน  ซึ่งอาจจะเป็นจุดโอกาสร่วมในการทำงานร่วมกันระหว่างสาขา ในโอกาสนี้ ผู้เขียนจึงขอทบทวนบทบาทวิชาชีพต่อการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ  ตามแนวทางของกฎบัตรออตตาวา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของแนวทางการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ อย่างพอสังเขปดังต่อไปนี้

Ø  การส่งเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา

ปี 2529 มีการประกาศกฎบัตรออตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (Ottawa Charter) ด้วยการเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ทางด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพไปในทิศทางของ good health approach เป็นกระแสหลัก โดยไม่แยกส่วนสุขภาพออกจากสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่นี้ จะให้ผลตอบแทนด้านสุขภาพที่สูงกว่า และทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้จริงมากกว่า

ในกฎบัตรออตตาวา ได้ให้ความหมายของ “การส่งเสริมสุขภาพ” ไว้ว่า เป็นกระบวนการเพิ่มสมรรถนะให้คนมีความสามารถในการควบคุมและส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ในการที่จะบรรลุสุขภาวะสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลจะต้องมีความสามาถที่จะบ่งบอกและตระหนักถึงความปรารถนาของตนเอง และสามารถเปลี่ยนแปลง ปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพจึงถูกมองในลักษณะทรัพยากร  ที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน และไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรภาคสุขภาพเท่านั้น หากกินความนอกเหนือจากลีลาชีวิตอย่างมีสุขภาพดีไปสู่เรื่องสุขภาวะโดยรวมด้วย

  การผลักดันไปสู่กระบวนทัศน์การส่งเสริมสุขภาพ จำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาเครื่องพื้นฐาน 5 ประการ  ได้แก่

1.  การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ 

2.  การก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ

3.  การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง

4.  การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล

5.  การปรับเปลี่ยนระบบบริการด้านสุขภาพ

จะเห็นได้ว่ากระบวนทัศน์  การส่งเสริมสุขภาพ เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีมองและวิธีดำเนินการทั้งปวงเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และมีสุขภาพดี  รวมทั้งเป็นเรื่องของทุกคนในชุมชนและสังคมที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่จำกัดพื้นที่แค่ทันตแพทย์ แต่บุคลากรสหสาขาวิชาชีพอื่นก็สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยผ่านเครื่องมือพื้นฐานอย่างน้อย 5 ประการ ดังจะขยายความในประเด็นการทำงานร่วมกันในระหว่างสาขาดังต่อไปนี้

1.การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Build healthy public policy)

  นโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่จะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย มาตรการทางเศรษฐกิจ งบประมาณ การเก็บภาษีอากร การปรับปรุงองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าและบริการต่างๆ เป็นบริการเพื่อสาธารณะ ทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย เพื่อการส่งเสริมสุขภาพสู่ประชาชนอย่างแท้จริง

  ซึ่งในส่วนนี้ทันตแพทย์ก็จะสามารถขับเคลื่อนร่วมกับนักกฎหมายหรือนักการเมืองนักการปกครองได้

2.การก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ (Create supportive environment)

การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพมีความหมาย 2 นัย คือ นัยแรก หมายถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งนี้ความสมดุลของธรรมชาติย่อมมีผลโดยตรงต่อการมีสุขภาพมนุษย์ ส่วนอีกนัยหนึ่งคือการจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต  การทำงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และการใช้เวลาว่าง การสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี (healthy society) การสร้างเมืองน่าอยู่ (healthy city) การจัดที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพ (healthy  workplace) และการทำให้เป็นโรงเรียนน่าอยู่ (healthy school)  ชุมชนน่าอยู่จะมีส่วนสร้างเสริมสภาพการดำเนินชีวิต และการทำงานให้มีความปลอดภัยด้านกายภาพ เคมีชีวภาพ รวมทั้งจิตสังคม

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ก็ต้องอาศัยสหสาขาวิชาชีพอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น วิศวกร  สถาปนิก นักอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เข้ามาทำงานกับวิชาชีพทางสุขภาพเพื่อให้สิ่งแวดล้อมในสังคมเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

3.การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง (Strengthen Community Action)

  กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพควรมีส่วนทำให้ชุมชนได้เกิดการปฏิบัติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ นับแต่การประเมินสถานการณ์ปัญหาของชุมชนเอง การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา การตัดสินใจวางแผน กลยุทธ์ในการแก้ปัญหา และการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ หัวใจสำคัญของกระบวนการเพิ่มความสามารถของชุมชน คือการสร้างพลังอำนาจให้กับชุมชนให้สมาชิกในชุมชน เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน และกำหนดเป้าหมายและดำเนินสู่เป้าหมายของชุมชนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง และมีกลไกสนับสนุนทางสังคม  ซึ่งหมายถึงสมาชิกของชุมชนต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยมี ระบบข้อมูลข่าวสาร ที่จะสร้างโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพให้กับสมาชิกในชุมชน ตลอดจนมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง

 

4.การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Develop personal skill)

  ระบบข้อมูลข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลและสังคมเกิดการพัฒนา มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต (life skill) กิจกรรมดังกล่าวสามารถทำได้ในทุกระดับ (วงที่ 3) ควบคู่ไปกับการปลูกฝังความรับผิดชอบในการดูแลและควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ

ในสองประเด็นหลังนี้ ทันตแพทย์ก็อาจจะต้องทำงานร่วมกับสื่อสารมวลชน หรือนักนิเทศศาสตร์ เพื่อการสร้างกิจกรรมและสื่อให้เหมาะสมกับบริบทในแต่และชุมชน  และให้เหมาะสมต่อการเพิ่มทักษะส่วนบุคคลในแต่ละคน ซึ่งอาจจะต้องไปเกี่ยวข้องกับนักการศึกษา ครู อาจารย์ ให้เป็นพันธมิตร หรือภาคีร่วมกันทำงานก็เป็นได้

5.การปรับเปลี่ยนระบบบริการด้านสุขภาพ (Reorient health service)

  การปรับปรุงระบบบริการควรเน้นการส่งเสริมสุขภาพเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่บุคคลากรทางสาธารณสุขประสานงานร่วมมือกันจัดระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่ให้ตอบสนองความต้องการและปัญหาที่มีอยู่ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น  นอกเหนืองานให้บริการทางคลินิก รักษาพยาบาล  การสื่อสารทางสุขภาพควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารและกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งบริการต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ควรจัดบริการแบบเคลื่อนที่ให้เข้าถึงกลุ่มเหล่านี้ และรวมถึง กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ถูกทอดทิ้ง

  ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆสหสาขา ทั้งทางด้านการเมืองการปกครองทางรัฐศาสตร์และการบริหารจัดการ  จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 วิธีในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพนั้น วิชาชีพเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมดแต่เพียงวิชาชีพเดียว หากแต่ต้องอาศัยการทำงาน ร่วมมือกันในหลายๆสหวิชาชพ จึงจะสามารถดำเนินงานได้

  ซึ่งทันตบุคลากรและสหสาขาวิชาชีพอื่นๆสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” จะต้องมีการปรับแนวคิดหรือ “กระบวนทัศน์การทำงานใหม่” ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและพลิกโฉมวงการสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนแนวคิดดังกล่าว เป็นการทลายภาพลักษณ์วิชาชีพทางสุขภาพที่อยู่ชั้นบนในสังคมให้มีฐานะเท่าเทียมกับประชาชนทั่วๆไป และเปิดหนทางการทำงานกับประชาชนในทุกภาคส่วนในชุมชนให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

  มาตรการการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการทำงาน โดยทันตแพทย์และสหสาขาที่จะทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้อุปถัมภ์เป็นผู้กระตุ้น สนับสนุนให้องค์กรชุมชนสามารถดำเนินการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนของตนเองอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการคิด และกระทำกับหลายภาคีจะทำให้ชุมชนมีความตระหนักรู้ถึงความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีการดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจ (empowerment) และเป็นกลยุทธ์ของการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ออตตาวา  ซึ่งสามารถสรุปเป็นกลยุทธ์ในการทำงานได้ดังต่อไปนี้

1.  ก่อกระแสกลุ่มพลังทางสังคม (Advocate)

2.  เอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ (Enable)

3.  เป็นสื่อกลางในกลางประสานงานระหว่างกลุ่มหรือหน่วยงานต่างๆ (Mediate)

โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง 5 วิธีการและ 3 กลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นของการดำเนินการด้าน “สร้างเสริมสุขภาพ” นั้น เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่ช่วยเปิดประตูการทำงานให้เกิดขึ้นในหลายสาขาวิชาชีพ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้วิชาชีพทันตแพทย์และวิชาชีพอื่นๆได้มีโอกาสร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นจุดร่วมที่สำคัญในการพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นงานวิจัย หรือผลงานทางวิชาการอื่นๆที่มีการร่วมผลิตของหลายวิชาชีพ ทำให้การขับเคลื่อนของผลลัพธ์ของการแก้ไขซึ่งเกิดจากความร่วมมือของพหุภาคีดังกล่าว สามารถก่อผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์อันมหาศาลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป.

คำสำคัญ (Tags): #ส่งเสริมสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 511923เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท