เรียนรู้ ๓ ชั้น


....................................................................ที่สำคัญที่สุดคือสังเคราะห์ประเด็นจากการประมวลความรู้ โยงสู่การตั้งโจทย์วิจัยไม่เป็น ผลลัพธ์จากการวิจัยในปัจจุบันจึงไม่มีอะไรใหม่ ไม่ตอบโจทย์สำคัญที่มีอยู่มากมายในพื้นที่


          ในการประชุมระดมความคิดเพื่อพัฒนางานวิจัยรับใช้สังคม ที่ สคช. จัดโดย สกว. เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ย. ๕๕  เริ่มด้วยประเด็นวิธีการสอนเทคนิคการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีรายวิชาสอนไม่ใช่น้อย แต่บัณฑิตที่จบส่วนใหญ่ทำวิจัยไม่เป็น  ที่สำคัญที่สุดคือสังเคราะห์ประเด็นจากการประมวลความรู้ โยงสู่การตั้งโจทย์วิจัยไม่เป็น  ผลลัพธ์จากการวิจัยในปัจจุบันจึงไม่มีอะไรใหม่  ไม่ตอบโจทย์สำคัญที่มีอยู่มากมายในพื้นที่

          ที่จริงการประชุมนี้ เชื่อมโยงกับแผนงานสนับสนุนงานวิจัยในชุมชน/ท้องถิ่น ของ สกว.  และเชื่อมโยงกับเครือข่ายวิจัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ  การพูดคุยจึงเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ในระดับปริญญาตรี  ที่จะช่วยให้ นศ. มีการเรียนรู้ในรูปแบบของ 21st Century Learning  และ นศ. ได้ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและอนาคต ที่เรียกว่า 21st Century Skills  ซึ่งหมายความว่า นศ. ต้องเรียนให้เลย “ความรู้” ไปสู่ “ทักษะ”  การเรียนของ นศ. จึงต้อเน้นลงมือทำ

          ผมจึงปิ๊งแว้บว่า เรื่องที่กำลังคุยกันอยู่นั้น เป็นเรื่องการเรียนรู้ ๓ ชั้น  คือ (๑) การวิจัยแก้ปัญหา หรือเพื่อพัฒนา ในพื้นที่  (๒) การเรียนวิชาหรือทฤษฎี ในมิติความเข้าใจที่ลึก และเชื่อมโยงกับชีวิตจริง  และ (๓) เรียนรู้วิธีพัฒนาทักษะด้านการวิจัย 

          ที่สำคัญคือ สามารถทำกิจกรรมเดียว ได้ผลทั้ง ๓ ด้าน  ในทำนองยิงกระสุนนัดเดียว ได้นก ๓ ตัว

          กิจกรรมนี้ อาจเรียกว่า “การเรียนโดยทำโครงการ” (Project-Based Learning - PBL)  โดยจะเรียนในวิชาใดก็ได้ แต่อาจารย์ผู้สอนต้องคิดโจทย์ที่จะช่วยให้ นศ. คิดโครงการของตนได้  โดย นศ. ควรทำงานนี้เป็นทีม ทีมละ ๓ - ๕ คน  และจะยิ่งดีหากโครงการนั้นเข้าไปทำในที่จริง สถานการณ์จริง  และมีการปรึกษาผู้นำชุมชนหรือผู้ทำงานในสถานที่นั้นๆ ด้วย  กรณีนี้จะได้การเรียนรู้ ข้อ ๑ ข้างบน

          จะยิ่งดี ถ้าอาจารย์ ๒ - ๓ คน ที่สอน นศ. กลุ่มเดียวกันในต่างวิชา  จะรวมตัวกันคิดโจทย์PBL โจทย์เดียว ที่ใช้เรียน ๓ วิชาได้  และในขั้นตอนการทำโครงการ ทีม นศ. แต่ละกลุ่มทำ BAR และ AAR เป็นระยะๆ  ว่าที่ทำงานนั้น ต้องการเรียนรู้อะไรในเชิงทฤษฎี  และเมื่อทำไปแล้ว เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง  ยังไม่ได้ความเชื่อมโยงกับทฤษฎีใดบ้าง  ก็จะได้การเรียนรู้ ข้อ ๒ 

          การเรียนรู้ ข้อ ๑ และ ๒ เกิดแก่ นศ.  ส่วนข้อ ๓ หวังให้เกิดแก่อาจารย์

          อาจารย์ควรเขียน “บันทึกครูสอนวิจัย” (Teacher Log Book on Research Teaching)  ตอบคำถามชุดหนึ่งที่ โค้ช ของอาจารย์จัดกระบวนการให้อาจารย์ร่วมกันกำหนด  เป็นคำถามเกี่ยวกับทักษะ หรือขีดความสามารถ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ช่วยให้ทำวิจัยได้ดี  และทบทวนวิธีดำเนินการที่ช่วยหรือไม่ช่วยฝึกทักษะ หรือขีดความสามารถนั้นๆ 

          เมื่อเอา “บันทึกครูสอนวิจัย” ของครูหลายๆ คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  โดยมีผู้ที่รู้เรื่องวิจัยพอสมควร ทำหน้าที่ Sharing / Learning Facilitator  จะเกิดความรู้ความเข้าใจวิธีพัฒนาทักษะด้านการวิจัย  ตามวัตถุประสงค์ข้อ ๓

           ในที่ประชุม มีผู้เสนอให้จัดหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความรู้ความสามารถในการเป็นนักวิจัยระดับเทพ  ผมชี้ว่า ไม่มีทางที่การเรียนเทคนิคการวิจัยแบบรับการฝึกอบรม จะทำให้ได้นักวิจัยขั้นเทพ  อย่างมากก็ได้แค่ขั้นเริ่มต้น  แล้วต้องไปฝึกฝนโดยการลงมือทำ และเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์สูง เอาเอง  จึงจะค่อยๆ พัฒนาเป็นนักวิจัยขั้นเทพได้

           ผมลืมบอกไปว่า ผมเองไม่คิดว่าตนเองเป็นนักวิจัยขั้นเทพ

          การเรียนรู้สมัยใหม่ สามารถออกแบบให้ “ทำงานน้อย ได้เรียนมาก” ได้


วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ย. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 511700เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

ต้อง....เรียนให้เลย “ความรู้” ไปสู่ “ทักษะ”  การเรียน ....จึงต้อง .... เน้น...ลงมือทำ

 

ขอบคุณมากค่ะท่าน อจ.หมอ

 ขอบพระคุณ อาจารย์ มากค่ะ

ได้ความรู้ และ แนวคิด ในการหันกลับมามองตนเอง ได้มากทีเดียว ว่า  "บทบาท การเป็นอาจารย์ สอนหนังสือ" ต้องทบทวน  พัฒนา ตนเอง ให้มากขึ้น ตลอดเวลา....

  " สังเคราะห์ประเด็นจากการประมวลความรู้ โยงสู่การตั้งโจทย์วิจัยไม่เป็น  ผลลัพธ์จากการวิจัยในปัจจุบันจึงไม่มีอะไรใหม่  ไม่ตอบโจทย์สำคัญที่มีอยู่มากมายในพื้นที่"....

 PO/PBL(project oriented/problem based learning) can be used in every level of education

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท