พิษของผึ้ง


พิษของผึ้ง

ใครเคยถูกผึ้งต่อยบ้างเอ่ย ???  เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยถูกผึ้งต่อยกันมาบ้างแล้วนะค่ะ  รู้สึกเป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย  คงจะเจ็บน่าดูเลยใช่ม้า……  ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยถูกผึ้งต่อย  แต่มันก็นานมากแล้วเลยจำไม่ค่อยได้ว่าผึ้งต่อยแล้วเจ็บขนาดไหน  แล้วรู้รึเปล่าเอ่ยว่าที่ผึ้งต่อยเรานั้นเป็นเพราะอะไร  เราได้ไปรบกวนมันรึเปล่าน้า  มันถึงได้ต่อยเราเข้าน่ะ  ที่นี้เรามาดูสาเหตุที่ผึ้งต่อเรากันดีกว่านะคะ      

1.        เพื่อป้องกันตัวเองเมื่อถูกศัตรูคุกคาม

2.        เพื่อป้องกันรัง

3.        เมื่อผึ้งได้รับเฟอโรโมนเตือนภัย (alarm  pheromones) 

ส่วนมากผึ้งที่ต่อยจะเป็นผึ้งงานที่อายุ 15 วันขึ้นไป  ซึ่งกำลังทำหน้าที่ป้องกันรังและหาอาหาร  การต่อยของผึ้งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทั่วไปแต่ละวันด้วย  เช่นวันที่ท้องฟ้ามืดสลัว  ฝนตก  แม้แต่ตอนกลางคืน  ถ้าผึ้งถูกรบกวนก็มีโอกาสที่จะต่อยผู้บุกรุกได้  ผึ้งจะสงบไม่ก้าวร้าวในวันที่ท้องฟ้าโปร่งใส  มีแดดออกดีเพราะผึ้งจะมุ่งอยู่แต่ในเรื่องหาอาหาร  มีผึ้งงานบินออกจากรังจำนวนมาก  แต่มีผึ้งทหารเฝ้าหน้ารังน้อย  ผึ้งงานต่อยโดยแทงเหล็กในลงสู่ผิวหนังของผู้ที่ถูกต่อย  เหล็กในมีลักษณะเป็นเงี่ยง  ซึ่งส่วนของเหล็กในและพิษจะติดอยู่ที่ผิวหนัง  เมื่อผึ้งดึงตัวออกจะทำให้ปลายท้องของผึ้งแตกและไม่สามารถปิดลงมาตามปกติได้ ต่อมาผึ้งงานตัวนั้นจะตาย  ส่วนผึ้งนางพญาปกติจะไม่ต่อยนอกจากถูกรบกวนจากศัตรู  เหล็กในของผึ้งนางพญาไม่มีเงี่ยง  ดังนั้นเมื่อต่อยแล้วจึงสามารถดึงเหล็กในกลับมาเก็บไว้ในช่องเก็บเหล็กในได้ดังเดิม  ด้วยเหตุนี้ผึ้งนางพญาจึงต่อยได้หลายครั้งในชีวิต  แต่ผึ้งงานต่อยได้ครั้งเดียวเท่านั้น  

พิษของผึ้ง      

       พิษของผึ้งมีลักษณะเป็นของเหลวใส  มีรสขม  มีกลิ่นของสารอโรมาติกคล้ายดอกนมแมว  มีฤทธิ์เป็นกรด  และมีความถ่วงจำเพาะ 1.313  พิษของผึ้งเป็นสารอินทรีย์เคมีที่ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงต่อผิวหนังอ่อนๆ เช่น  ที่ตาและจมูก  ตลอดจนเนื้อเยื่อต่างๆ ของมนุษย์และสัตว์  พาจากผึ้ง 1 ตัว  สามารถทำให้แมลงบางชนิดตายหรืออัมพาต  ผึ้งงานที่เจริญเป็นตัวจากดักแด้ใหม่ๆ ยังไม่มีพิษ  ต่อมาพิษจะถูกสร้างจากต่อมพิษ (venom  gland)  แล้วถูกนำไปเก็บไว้ที่ถุงเก็บพิษ (venom  sac)  ซึ่งถุงนี้จะติดต่อกับส่วนบนของเหล็กใน  พิษของผึ้งจะผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผึ้งงานอายุ 10-14 วัน  และจะมีปริมาณคงที่เมื่อผึ้งงานอายุ 15 วันขึ้นไป  โดยจะมีปริมาณ 0.05-0.3 มิลลิกรัม  ส่วนผึ้งนางพญาเมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ก็จะมีปริมาณพิษเต็มที่เพื่อความเป็นผู้นำของรัง  โดยธรรมชาติผึ้งนางพญาที่เกิดใหม่จะค้นหานางพญาที่เกิดมาพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกันเพื่อต่อสู้และต่อยให้ตายจนเหลือนางพญาตัวเดียว  พิษของผึ้งนางพญาเมื่อถูกปล่อยออกจากเหล็กในจนหมดแล้ว  ต่อมที่สร้างพิษจะสามารถสร้างพิษขึ้นมาเพิ่มให้ได้อีกในระยะเวลาต่อมา

         แล้วคราวหน้าเราจะบอกวิธีการรักษาเมื่อถูกผึ้งต่อย  และประโยชน์ของพิษผึ้งกันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 51150เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากรู้ว่าผึ้งมีชนิด


ประโยชน์ของผึ้งล่ะคะมีอะไยบ้าง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท