การใช้ภาษาไทยในโลกออนไลน์


ผมขอตั้งคำถามก่อนว่าท่านให้ความสำคัญกับภาษาไทยแค่ไหน

ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ มีจุดกำเนิดและพัฒนาการเรื่อยมาอย่างน่าสนใจ  แต่ละภาษาก็จะมีหลักเกณฑ์ทางภาษาต่าง ๆ มีทั้งง่ายทั้งยาก  แต่โดยทั่วไปแล้วการจะเข้าใจภาษาอื่นสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ต้องบอกว่าภาษาเป็นเรื่องยาก  แต่มนุษย์ก็เก่งมาก  เพราะแม้ว่าภาษาจะยากแต่ก็มีภาษาใช้กันนับพันภาษาทั่วโลก  ถ้าจำตัวเลขไม่ผิด  ที่ประเทศอินเดียอย่างเดียวก็มีภาษาถิ่นต่าง ๆ มากกว่า 800 ภาษาเข้าไปแล้ว  ภาษาไทยเราก็เช่นเดียวกันแม้ว่าจะยังมีความเห็นแตกต่างในเรื่องจุดกำเนิดที่แท้จริงอยู่บ้างว่าใครเป็นผู้สร้างสรรค์คนแรกกันแน่ แต่ก็ควรจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าบรรพบุรุษไทยได้ช่วยกันถ่ายทอดมาให้รุ่นหลังได้ภาคภูมิใจว่าเรามีภาษาเป็นของตัวเองครบทั้งเพื่อการพูดการฟังและการอ่านการเขียน  มีเอกลักษณ์และความสามารถในการประยุกต์เข้ากับพัฒนาการสมัยใหม่ได้อย่างดี

ผมอยากทราบว่าเราคนไทยที่กำลังใช้ภาษาไทยอยู่ทุกวันเคยเห็นคุณค่าของภาษาไทยที่ใช้ในแต่ละวันแค่ไหน
และเรามีส่วนที่จะช่วยรักษาพัฒนาหรือถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้ถ่ายทอดไปสู่คนไทยรุ่นต่อไปได้อย่างดีแค่ไหนและอย่างไรได้บ้าง

ทุกวันนี้พวกเราที่สามารถติดต่อกันได้ออนไลน์หลีกไม่พ้นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษเพราะว่าเราไม่ใช่คนออกแบบระบบคอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์ต่าง ๆ เอง  มีหลายคนเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาตรีแต่ก็ยังบอกว่าไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเท่าไหร่  ซึ่งก็อาจจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น  อย่างไรก็ตามอย่างน้อยผมคิดว่าทุกคนที่จบชั้นมัธยมขึ้นไปก็ควรจะคุ้นเคยกับตัวเขียนหรือคำทักทายเบื้องต้นในภาษาอังกฤษ  ในยุคหนึ่งภาษาญี่ปุ่นก็มีผู้สนใจเรียนมากเพราะจะสามารถช่วยให้หางานทำในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นได้ง่าย  พอเกิดปรากฏการณ์
เคป๊อบวัยรุ่นไทยจำนวนหนึ่งนิยมเรียนภาษาเกาหลี  บางส่วนมีความนิยมให้ลูกหลานเรียนภาษาจีนเพราะว่าจีนกำลังก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของโลก  จะได้รองรับการทำงานกับบริษัทของจีนจำนวนมากต่อไป
ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบว่านักศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านของเราส่วนหนึ่งกำลังตั้งใจเรียนภาษาไทยเพื่อให้มีโอกาสทำงานกับบริษัทสัญชาติไทยในประเทศของตนหรือเตรียมความพร้อมที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียนในปี 2558 ในประเทศต่าง ๆ จึงมีการเรียนการสอนภาษาต่าง ๆ กลายเป็นธุรกิจเอกชนมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี

ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่าภาษาไม่ใช่เพียงแค่สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งทางวัฒนธรรมเท่านั้นแต่ยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย  ทั้งนี้ผมเคยได้ยินพิธีกรทางโทรทัศน์บางท่านกล่าวเลยว่าภาษาไทยเป็นส่วนสำคัญในงานอาชีพที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จตลอดมา

การเรียนการสอนภาษาต่าง ๆ โดยทั่วไปก็ต้องเรียนรู้ทั้งโครงสร้างทางไวยากรณ์หรือหลักภาษาและการฝึกใช้จริงทั้งฟัง พูด อ่านและเขียน  เหนื่อยทั้งคนเรียนคนสอนแถมคนเรียนเสียเงินด้วย  แต่ในหลายกรณีก็ยังใช้งานได้ไม่มากหรือไม่ได้ใช้นานเข้าก็ลืมเกือบหมด  ในขณะเดียวกันภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ (แม้ว่าบางคนจะบอกว่าไม่ใช่เพราะว่าตัวเองพูดภาษาถิ่นแต่ภาษาถิ่นเองก็ไม่มีตัวอักษรให้ใช้)ได้มาฟรีตั้งแต่เกิด  ที่จริงจะว่าฟรีก็ไม่ถูกถ้าท่านคิดให้ดีว่าแม่และคนในครอบครัวหรือสังคมรอบข้างต้องช่วยสอนพูดในช่วงวัยเด็กอย่างไรบ้าง  เงินเดือนให้คุณครูที่สอนภาษาไทยและถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ เป็นภาษาไทยนั้นคิดรวมแล้วกี่บาทบวกภาษีให้ครบด้วย

คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจเพราะถือว่าไม่มีผลกระทบอะไรในการใช้ชีวิตประจำวัน  ไม่คิดว่าจะทำให้ใครเดือดร้อนถ้าเขียนหรือพูดไม่ถูกต้องตามหลักภาษา  ผมคิดว่าถ้าไม่ใช่อาชีพผู้ประกาศข่าวก็คงไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน  และไม่มีใครอยากตามไปต่อว่า  ถ้าเปรียบเทียบกับการขี่จักรยานแล้วก็เท่ากับว่าขี่เป็นแล้วไปไหนมาไหนด้วยจักรยานได้ไม่ต้องเป็นห่วง  ท่าทางหรือการแต่งกายยังไงก็ได้  จักรยานสภาพไหนก็ไปได้
ถ้าใส่ใจอีกนิดก็จะเปรียบเหมือนการใช้ภาษาที่ตั้งใจให้ถูกต้องเป็นหลักคือตรวจสอบอุปกรณ์ทุกอย่างทุกอย่างมีครบใส่ชุดที่เหมาะสมพร้อมหมวกกันน็อคแถมด้วยท่าทางขี่จักรยานที่แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัยก็จะดูสุขุมทะมัดทะแมงดี  อีกด้านหนึ่งคือคนที่หัดขี่จักรยานเปรียบเทียบได้กับนักศึกษาต่างชาติฝึกเรียนภาษาไทย  ก็ต้องฝึกอย่างหนักกว่าจะพอได้บ้าง  พูดถึงคนต่างชาติที่เรียนภาษาไทยโดยทั่วไป  ถึงเรียนเก่งแค่ไหนตอนพูดภาษาไทยออกมา
เราก็จะบอกได้ไม่ยากว่ามีเสียงที่ผิดเพี้ยนอยู่

ผมมีโอกาสอ่านข้อความที่มีการตอบกระทู้กันไปมาหรือในบทความออนไลน์ในที่ต่าง ๆ เห็นได้ว่ามีหลายคนที่ตั้งใจเขียนอย่างสุภาพและถูกต้องตามหลักภาษาน่าชมเชยมาก  บางท่านอาจจะมีพิมพ์ตกหล่นบ้างซึ่งน่าจะไม่ได้ตั้งใจ
ควรจะให้อภัย  แต่มีบางส่วนที่คิดว่าตั้งใจเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่ เช่น

  • “เด๋ว” หรือ “เด้ว” แทนคำว่า “เดี๋ยว”

  • “ก้” แทนคำว่า “ก็” 

  • “อ่ะ / หน่ะ” ไม่จำเป็นต้องมีไม้เอกเพราะออกเสียงเอกอยู่แล้ว

  • “คร๊าบ” ใส่ไม้โทจะได้เสียงตรีอยู่แล้ว

  • “นู๋” ไม่อยากใช้หอหีบนำหรืออยากให้ดูเท่ถูกใจคนเขียนและคนอ่าน

  • และอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่จริงการมีหลักภาษาจะช่วยอธิบายที่มาของคำหรือการใช้ได้ ไม่ทำอะไรตามใจชอบเพราะจะติดกับความเคยชินแล้วก็เลยคิดว่าถูกต้องแล้ว  ผลต่อมาคือผู้ใช้ภาษาเองก็จะใช้ผิดไปเรื่อย ๆ และจะถ่ายทอดที่ผิดไปเรื่อย ๆ ด้วย และถ้าคนส่วนใหญ่เห็นชอบให้ใช้ผิดตามกันไปเรื่อย ๆ ภาษาก็จะหดสั้นเข้าเนื่องจากหลักเกณฑ์มีน้อยลงเพราะคนไม่ชอบ  ต่อไปก็ต้องเดาเอาเองว่าถ้าพูดหรือเขียนคำว่า “คับ” ตอนนี้ให้เข้าใจว่าหมายถึง “ครับ” หรือตอนนั้นให้เข้าใจว่า “ตรงข้ามกับหลวม” เพราะไม่อยากใช้คำควบกล้ำ การพูดโดยออกเสียง ร. เรือ กับ ล. ลิงให้ถูกต้องเรื่องเดียวก็ยากมากสำหรับบางคน  ฟังคนระดับผู้นำประเทศบางคนพูดแล้วรู้สึกคันหู

ที่จริงเราต้องยอมรับกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ภาษาจะเกิด จะอยู่ หรือจะตายไปก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเพียงแต่สนใจและอยากนำเสนอความคิดและข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโลกออนไลน์ในปัจจุบันให้ท่านลองพิจารณาอีกสักนิดเพื่อให้เห็นว่าภาษาไทยที่บรรพบุรุษบรรจงสร้างสรรค์พัฒนามานี้มีคุณประโยชน์และเราแต่ละคนก็น่าจะมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่านี้ต่อไป



หมายเลขบันทึก: 511440เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2012 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณเรื่องราวที่แบ่งปันนะคะ 

และขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมอ่านบันทึกค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท