การเขียนเชิงสร้างสรรค์ (creative writing)


การพัฒนาทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สามารถทำได้ทั้งในระดับคำและความ

 การเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative  Writing)



เฉลิมลาภ     ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


              ผู้อ่านที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านวรรณกรรมปัจจุบัน  คงเคยได้ยินชื่อของนักเขียนอาทิ  ชาติ  กอบจิตติ  อังคาร  กัลยาณพงศ์  วินทร์  เลียววาริณ  ปราบดา  หยุ่น  เป็นต้น  นักเขียนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write ย่อมาจาก Southeast Asian Writers Award) หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน  อันเนื่องมาจากการสร้างผลงานด้านการเขียนที่มีความสร้างสรรค์ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา 

               คำว่า  “สร้างสรรค์” ในที่นี้  หมายถึง  มีลักษณะริเริ่มในทางดี  เมื่อนำมาใช้กับเขียนจึงหมายถึงการเขียนที่แสดงความริเริ่ม  ซึ่งผู้เขียนจะต้องคิดค้นและเสนอผลงานการเขียนที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลาย  แปลกใหม่และไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบหรือกฏเกณฑ์ต่างๆ  ตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อมา  การเขียนเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า  creative  writing  จึงเป็นการเขียนที่ผู้เขียนสามารถสามารถแสดงอารมณ์  จินตนาการและความคิดได้อย่างอิสระ  และสามารถเลือกใช้วิธีการนำเสนอได้หลากหลายวิธี  โดยส่วนใหญ่มักจะนำเสนอในรูปแบบของ  เรื่องสั้น  นวนิยาย  กวีนิพนธ์  บทละคร  บทภาพยนตร์  เป็นต้น 

  การศึกษาเรื่องการเขียนเชิงสร้างสรรค์  แบ่งได้เป็น  ๓  ระดับ  คือ  ระดับคำ  ระดับความและระดับรูปแบบ  ดังนี้


               ๑.  การเขียนเชิงสร้างสรรค์ระดับคำ  คือ  การเลือกสรรถ้อยคำที่สื่ออารมณ์  ความรู้สึก  หรือรสสัมผัสต่างๆ  มาใช้ในการเรียบเรียงข้อความ  เพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพตาม  ซึ่งคำเหล่านี้มักเป็นคำที่มีเสียงหรือความหมายที่เน้นอารมณ์และความรู้สึก  เช่น  คำซ้ำ  คำซ้อน  คำเลียนเสียงธรรมชาติ  คำวิเศษณ์บอกคุณลักษณะ  เป็นต้น
 
  ตัวอย่างที่  ๑
      “ฟักเปิดประตูเข้ามา  ร่างทั้งร่างเปียกโชก  ขี้โคลนจับเขรอะเป็นรอย  บางแห่ง
  มีดินติดเป็นปื้นๆ  ทั้งเนื้อทั้งตัวเต็มไปด้วยขี้โคลนสีดำๆ  แม้แต่น้ำซึ่งไหลย้อย
  ลงมาจากเส้นผมบนหัวผ่านลงมาบนใบหน้าก็มีสีโคลนเจือปนอยู่ด้วย
                                                                         (คำพิพากษา-ชาติ  กอบจิตติ)


  ตัวอย่างที่  ๒
      “พออากาศฟาดเปรี้ยงเสียงสนั่น                เป็นหมอกควันมืดมิดทุกทิศา
    พวกสู้รบดูเหมือนไม่มีตา                             ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด
    ประเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งเสียงเครงครึก             ลั่นพิลึกโลกาสุธาไหว
  เป็นฝนฟุ้งทุ่งท่าพนาลัย                                ทุกนายไพร่หนาวทั่วทุกตัวคน
                                                                                      (พระอภัยมณี-สุนทรภู่)


                ๒.  การเขียนเชิงสร้างสรรค์ระดับความ  คือ  การเรียบเรียงข้อความให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพหรือรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนมักใช้กลวิธีการเปรียบเทียบ  โดยนำวัตถุ  บุคคลหรือเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้อ่านมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนต้องการสื่อความหมาย  การเรียบเรียบข้อความลักษณะนี้  เช่น  การใช้สำนวน  คำพังเพย  โวหาร  ความเปรียบ  เป็นต้น


  ตัวอย่างที่  ๑
    “แม่น้ำยมข้างหน้าเราเชี่ยวกราก  สีแดงขุ่นข้นของมันบิดเป็นเกลียว  เหมือน  จะม้วนสรรพสิ่งนานาชนิดลงไปกับมัน  ภายใต้น้ำอันขุ่นข้นแดงจัด  มันไหล  เร็วและแรงเหมือนคนโมโหร้าย
                                                                                       (สวนสัตว์-สุวรรณี  สุคนธา)


  ตัวอย่างที่  ๒
    “เดือนตกไปแล้ว  ดาวแข่งแสงขาว  ยิบๆ  ยับๆ  เหมือนเกล็ดแก้วอันสอดสอย
  ร้อยปักอยู่เต็มผ้าดำผืนใหญ่  วูบวาบวิบวับส่องแสง  ใหญ่แลน้อย  ใกล้แลไกล
  บางดวงแสงหนาวดูเย็นนิ่ง  บางดวงกะพริบพร่างพร้อย  ดั่งดาวใหญ่น้อย    แย้มยิ้มหยอกเอินกัน  บางดวงสุขขาวเหมือนตาสาวน้อยลอบแลบ่าวหนุ่ม  อยู่หลังแม่  บางดวงก็เก่าหม่นเหมือนถ่านไฟหมกไหม้  ก็มีพร้อมแล้ว
                                                                                  (เจ้าจันท์ผมหอม-มาลา  คำจันทร์)
  ตัวอย่างที่  ๓
   “ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น              รักเรียน
  ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร             ผ่ายหน้า
  คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน    วนจิต
  กลอุทกในตระกร้า             เปี่ยมล้นฤๅมี
                                                  (โคลงโลกนิติ-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ      กรมพระยาเดชาดิศร)
             

                 ๓.  การเขียนเชิงสร้างสรรค์ระดับรูปแบบ  คือ  การเรียบเรียงข้อความแล้วนำเสนอในรูปแบบที่แปลกใหม่จากรูปแบบที่นิยมมาแต่เดิม  การเขียนเชิงสร้างสรรค์ระดับนี้มักพบในงานเขียนประเภทกวีนิพนธ์  ดังจะเห็นได้จากนักเขียนในปัจจุบันได้ทดลองสร้างฉันทลักษณ์ของ  คำประพันธ์ชนิดใหม่ๆ  นอกเหนือจากร่าย  โคลง  กาพย์ ฉันท์และกลอน  ซึ่งเป็นคำประพันธ์ไทยที่มีมาแต่เดิม นอกจากนี้  ยังพบในงานเขียนประเภทเรื่องสั้น  ซึ่งนักเขียนได้พยายามหากลวิธี  การนำเสนอที่น่าสนใจ  ทันสมัยและแตกต่างจากเรื่องสั้นทั่วไป 

 
  ตัวอย่าง
  ทำไมฉันมาปรากฏกายที่นี่  ทำไมมีผู้คนมากมายเหลือเกิน  ทำไมคนเราต้อง  เดินทาง  ทำไมหลายใบหน้าเศร้าจัง  ทำไมมีคนร้องไห้  ทำไมมีคนกอดฉัน  กอดกัดเพื่อ  จากกันหรือกอดกันที่ได้พบกัน  ทำไมมีคนโบกมือ  โบกมือที่ได้พบกันหรือโบกมือที่ต้องแยกทางกัน  ทำไมพวกเขาร้องไห้  ทำไมพวกเขาหัวเราะ  ทำไมฉันมาที่นี่  ทำไมฉันต้องเดินทาง  ทำไม.....
                                                                                            (ตุ๊กตา-วินทร์  เลียววาริณ)


                การศึกษาเรื่องการเขียนเชิงสร้างสรรค์  และการฝึกหัดเขียนเชิงสร้างสรรค์จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งของเยาวชนโลกในปัจจุบัน  ที่มุ่งเน้นการค้นคว้าและผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ  มาพัฒนาสังคมและโลก


____________________________________

หมายเลขบันทึก: 511359เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2012 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท