วันสำคัญของปวงชนชาวไทย.....วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2555


วันสำคัญของปวงชนชาวไทย.....วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2555

  วันสำคัญที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศจะต้องตระหนักและระลึกถึงวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของชาติ ในปีนี้คือปีพุทธศักราช 2555 วันพ่อแห่งชาติตรงกับวันพุธที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2555 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 12  ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 85 พรรษา จึงยึดถือเอาวันสำคัญนี้เป็นวันพ่อแห่งชาติของทุกปี

  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 587) พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า “พ่อ” ไว้ดังนี้

พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน

  ในทางพระพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า “พ่อ” หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูกมีใช้หลายคำ เช่น

  - บิดา (พ่อ)

  - ชนก (ผู้ให้กำเนิด)

  - สามี (ผัวของแม่) เป็นต้น

  วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันพ่อแห่งชาติ  ของทุกๆปี หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมให้ลูก ได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรักความเคารพต่อพ่อโดยจัดเป็นกิจกรรมต่างๆกันไป ล้วนเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการฉุกคิดถึงพระคุณของพ่อเป็นอย่างดี การคิดถึงพระคุณท่านนั้นดีแล้ว แต่จะให้ดียิ่งๆขึ้นไป ต้องพร้อมไปด้วยการปฏิบัติต่อท่านตลอดไปชั่วชีวิต ในสิ่งที่ลูกพึงกระทำ นั่นคือทำหน้าที่ของลูกที่พึงปฏิบัติต่อผู้ให้กำเนิด ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหน้าที่ของลูกพึงปฏิบัติต่อพ่อ และแม่ 5 ประการ ดังนี้[1]

1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบแทน  ข้อนี้มิได้หมายถึงว่าพ่อแม่เลี้ยงเรามา ก็เพื่อหวังมาเอาคืนในภายหลัง ความรู้สึกนั้นไม่มีแน่นอนกับพ่อแม่อย่างแท้จริง แต่ให้เราคิดว่าถ้าเราไม่เลี้ยงท่านแล้วใครจะเลี้ยง เหมือนเช่นเราครั้งเป็นทารก ถ้าหากท่านไม่เลี้ยงเราใครจะเลี้ยง แม้นปล่อยทิ้งๆขว้างๆก็คงลำบากยากแค้นไปแล้ว

2.ทำกิจธุระของท่าน  งานของท่านที่ได้ทำมาแล้ว และยังคงดำเนินการอยู่ หรือภาระใดๆที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ลูกควรต้องสอบถาม แสดงน้ำใจทั้งช่วยท่านแบ่งเบาภาระ เพราะอายุท่านก็เยอะแล้ว คนอื่นทำก็คงไม่ทำให้ท่านสบายใจได้มากเท่ากับลูกของท่าน

3.ดำรงรักษาวงศ์สกุล ให้คงอยู่และไม่เสื่อมเสียหาย การได้กำเนิดลูกมาคนหนึ่ง อย่างน้อยก็หวังให้ได้สืบทอดวงศ์สกุล ไม่ให้สังคมได้ดูแคลนว่าลูกบ้านนั้นบ้านนี้ไปทำเสื่อมเสีย จนต้องออกมาถามว่า “ลูกใครหนาช่างเป็นเช่นนี้” การที่จะให้สกุลคงอยู่ได้ลูกจึงต้องคบหาแต่เพื่อนที่ใฝ่ดี ไม่ชักชวนไปในทางเสื่อม โดยเฉพาะต้องทำหน้าที่ของตน ในเบื้องต้นคือเชื่อฟังคำสั่งสอนท่าน เรียนและศึกษาตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แม้ไปทำงานจะมีครอบครัว ก็ต้องปรึกษาท่านเพื่อให้ได้มาซึงสามีภรรยาที่ดี

4.ปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นผู้สมควรรับมรดก มรดกสมบัติที่ท่านมีอยู่ สุดท้ายก็มอบให้กับผู้เป็นลูก แต่ก็จะเป็นผู้รับมรดกนั้น ต้องทำตนให้สมควรรับ เพื่อให้ท่านได้สบายใจว่าสมบัตินี้จะไม่สูญไปเมื่อมอบให้ นั้นคือต้องเป็นผู้อยู่ในศีล ในธรรม อย่างน้อยก็ศีล 5  นอกจากนั้นก็ต้องศึกษาวิชาการที่เหมาะสมกับมรดกนั้นว่า จำเป็นต้องใช้ศิลปวิทยาใดบ้างจึงจะรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องศึกษาเรื่องนั้นๆอย่างเต็มที่

5.เมื่อท่านล่วงลับ ทำบุญอุทิศให้  เป็นหน้าที่ของลูกโดยตรง ที่จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน เพราะนอกจากจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแล้ว ยังได้รู้จักบริจาคทาน เข้าหาพระ เข้าหาวัด นี้เองที่จะเป็นสิ่งไม่ให้เราเสื่อมไป แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว [2]

กล่าวโดยสรุป หากแม้นวันนี้ไม่มีพ่อแม่อยู่กับเราแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้ที่ปกครองดูแลเรานั้นแหละคือพ่อแม่ของเราเช่นกันที่เราก็ควรต้องปฏิบัติไม่ต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใดเราคนไทยทุกคนมี “พ่อแม่” คนเดียวกัน ที่ทุกคนในพื้นแผ่นดินไทยรับรู้ด้วยใจว่าท่านคือ “พ่อและแม่แห่งแผ่นดิน” นอกจากหน้าที่ทั้ง 5 ที่ลูกควรทำกับพ่อแม่แล้ว ความสามัคคีคือสิ่งสำคัญที่พ่อและแม่

แห่งแผ่นดิน หวังให้ลูกหลานไทยทุกภาคส่วนและทุกสีเสื้อก่อเกิดและรักษา นั่นคือ “รู้รักสามัคคี”

   “ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ” นอกจากดอกมะลิ หรือพวงมาลัยที่จะให้ท่านแล้ว ก็ขอฝากหน้าที่ทั้ง 5 นี้ไว้เป็นพื้นฐานหน้าที่ ธรรมะที่เราจะพึงปฏิบัติต่อท่านตลอดไปแล้ว “ความเจริญ” ต่อท่านและคนรอบข้างรวมถึงประเทศไทย ก็อยู่ไม่ไกล แค่ลงมือทำ



[1] www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?...read... - แคช

[2] วิกูล  โพธิ์นาง.  [email protected]  www.oknation.net/blog/wikulponang

หมายเลขบันทึก: 510784เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท