ประวัติการยึดอำนาจ


รัฐประหาร ครั้งที่ 10 วันที่ 19 ก.ย. 2549

ประวัติการยึดอำนาจ 


                นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 เคยมีการยึดอำนาจจากคณะผู้บริหารประเทศหรือรัฐบาล ทั้งที่เรียกว่า “รัฐประหาร” “ปฏิวัติ” หรือบางครั้งคณะผู้ก่อการก็ใช้คำว่า “รักษาความสงบเรียบร้อย” “ปฏิรูป” รวมครั้งล่าสุดนี้ก็ 10 ครั้ง ดังนี้คือ...

ครั้งที่ 1 วันที่ 20 มิ.ย. 2476 ยุค พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้นำการยึดอำนาจ ครั้งนั้น ไม่มีการตั้งชื่อเฉพาะของคณะผู้ก่อการ เหตุผลกล่าวอ้างในการยึดอำนาจคือ ต้องการให้เปิดสภา โดยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ต่อไป

ครั้งที่ 2 วันที่ 8 พ.ย. 2490 ยุค พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ ใช้ชื่อว่า “คณะทหารของชาติ” ซึ่งนำสู่การกลับคืนอำนาจของฝ่ายทหารบก

ครั้งที่ 3 วันที่ 29 พ.ย. 2494 ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ ใช้ชื่อ “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” เหตุผลคือ รัฐบาลคุมเสียง ส.ส.และวุฒิสมาชิกไม่ได้

ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ก.ย. 2500 ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ ใช้ชื่อ “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” เหตุผล ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลเพราะเลือกตั้งไม่สะอาด

ครั้งที่ 5 วันที่ 20 ต.ค. 2501 ยุค พล.ท. (ยศขณะนั้น) ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ ไม่มีการตั้งชื่อคณะผู้ก่อการ เหตุผลคือ รัฐบาลไม่สามารถคุมเสียง ส.ส.ได้

ครั้งที่ 6 วันที่ 17 พ.ย. 2514 ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิวัติโดยจอมพลถนอมเอง ไม่มีการตั้งชื่อคณะผู้ก่อการ เหตุผลคือ รัฐบาลควบคุมเสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้

ครั้งที่ 7 วันที่ 6 ต.ค. 2519 ยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำ ใช้ชื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เหตุผล ภัยคอมมิวนิสต์ กระทบความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์

ครั้งที่ 8 วันที่ 20 ต.ค. 2520 ยุค นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำ ไม่มีการตั้งชื่อคณะผู้ก่อการ เหตุผลคือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของคนในชาติ

ครั้งที่ 9 วันที่ 23 ก.พ. 2534 ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นผู้นำ ร่วมกับนายทหารระดับสูง เช่น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ครั้งนี้ใช้ชื่อ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” เหตุผล ขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์

การยึดอำนาจครั้งที่ 3 ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 เป็นการ “ปฏิวัติเงียบ” หรือการ “ปฏิวัติตัวเอง” เพื่อที่จะใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยการเปลี่ยนแปลงซึ่งอำนาจการปกครองดังที่ว่ามาไม่นับรวมการสิ้นอำนาจของรัฐบาล กรณีรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ที่ถูกจี้บังคับให้ลาออกใน 24 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2491, กรณีรัฐบาลยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ที่จำต้องลาออกเนื่องจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ต.ค. 2516, กรณีรัฐบาลยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ลาออกจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ช่วงระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535

และที่ว่ามาก็ไม่รวมกรณี “กบฏ” ยึดอำนาจไม่สำเร็จ ที่มี 12 ครั้ง คือ... กบฏ ร.ศ.130, กบฏบวรเดช(11 ต.ค. 2476), กบฏนายสิบ(3 ส.ค. 2478), กบฏพระยาทรงสุรเดชหรือกบฏ 18 ศพ(29 ม.ค. 2482), กบฏเสนาธิการ(1 ต.ค. 2491), กบฏแบ่งแยกดินแดน(พ.ย. 2491), กบฏวังหลวง(26 ก.พ.2492), กบฏแมนฮัตตัน(29 มิ.ย. 2494), กบฏสันติภาพ(8 พ.ย. 2497), กบฏ 26 มี.ค. 2520, กบฏยังเติร์ก(1 เม.ย. 2524), กบฏทหารนอกราชการ (9 ก.ย. 2528)

สำหรับการยึดอำนาจล่าสุดที่เป็น ครั้งที่ 10 วันที่ 19 ก.ย. 2549 ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการที่บ้านเมืองแตกแยกแบ่งฝ่าย การเคลือบแคลงการบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวกับทุจริตประพฤติมิชอบ องค์กรอิสระถูกครอบงำ และที่สำคัญมีสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นเบื้องสูง

หมายเลขบันทึก: 51077เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากรู้จักนายกทุกคนจังเยยยย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท