วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี


                (ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 28 เมษายน พ.. 2549  ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ)

วิกฤตที่ให้บทเรียนมีคุณค่า

                เมื่อไม่นานมานี้เราก็มีวิกฤตทางธรรมชาติเหตุการณ์สึนามิ เรามีวิกฤตเกี่ยวกับน้ำท่วมอาคารถล่มก็มีอยู่เสมอ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นวิกฤต แต่ถ้าเรามองโดยยกตัวเองขึ้นเหนือเหตุการณ์ แล้วมองอย่างวิชาการ หรือมองแบบธรรมะ ธรรมะคือความเป็นจริง คือธรรมชาติ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือปรากฏการณ์ เป็นปรากฏการณ์ที่ย่อมผันแปรจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง และในปรากฏการณ์นี้ก็มีพัฒนาการ อาจถึงขั้นที่ผมเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ มีพัฒนาการใหม่ๆอยู่ในปรากฏการณ์ด้วย 

                เมื่อสักครู่ผมเรียนถามท่านอธิการบดีว่ามีคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหรือไม่ ท่านบอกว่ามี เป็นภาควิชา ผมคิดว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงการเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับคนไทยและสังคมไทย โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์  ยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทำให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่าง เกิดความเขัาใจ หรือคิดว่าเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการประเทศ การบริหารจัดการสังคม ที่เราอาจจะเรียกว่ารัฐศาสตร์ 

                ผมเชื่อว่าอาจารย์หลายๆ ท่านคงคิดแบบเดียวกับผม ว่าบทเรียน ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเมืองไทยมีมากทีเดียว จริงอยู่เรามีต้นทุน คือความเครียด ความกังวล ความขัดแย้ง การต่อสู้ ความรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกเดือดร้อน รู้สึกเป็นทุกข์ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป การพัฒนาประเทศเกิดภาวะสะดุดหยุดชะงัก  เหล่านี้คือ ต้นทุนของสิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตทางการเมือง 

                ท่ามกลางวิกฤตได้เกิดพัฒนาการ ความรู้ความเข้าใจ ความตื่นตัวของคนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม บทบาทของภาคประชาชน จริยธรรม ความถูกต้อง ความชอบธรรม เหล่านี้คือการเรียนรู้ เป็นพัฒนาการทางปัญญา ของคนไทยและสังคมไทยเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ที่ผมเห็นว่ามีคุณค่ายิ่ง และที่อาจเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ ได้เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ขึ้นมา การใช้รัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมาย การใช้กระบวนการทางสังคม การค้นหาทางออก โดยเฉพาะที่ได้รับอานิสงส์และพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นส่วนหนึ่งของนวพัฒนาการ ในเรื่องการเมืองการปกครองของสังคมไทย

                โดยสรุปแล้ว ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักวิชาการ ผมจึงอยากจะเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องมองว่าสังคมไทยหรือการเมืองไทยเกิดวิกฤต แต่มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง มีทั้งปัญหา และความเสียหาย พร้อมกับมีโอกาส และพัฒนาการ เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วผมคิดว่าคงไม่ติดลบ อาจจะเป็นบวกพอประมาณ ที่พูดเช่นนี้อาจเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ผมคิดว่าการมองโลกในแง่ดีน่าจะเป็นคุณมากกว่ามองโลกในแง่ร้าย หรือถ้ามองให้เป็นสัจธรรมก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้ามองเป็นสัจธรรมจะไม่มีอะไรดีไม่มีอะไรร้าย ที่พระพุทธทาสบอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเองหรือ ตถตา

ความขัดแย้งกับสันติวิธี

                ท่ามกลางความขัดแย้งและวิกฤตได้มีความพยายามที่จะนำสันติวิธีมาใช้ ผมเองก็ได้เขียนบทความในเรื่องสันติวิธี โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เขียนไปเพื่อแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง ปรากฏว่ามีคนขานรับ มาชวนผมไปช่วยดำเนินการให้มีการพูดจากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ทำได้รอบเดียว เพราะสถานการณ์พลิกผันไปเร็วมาก เท่าที่ทำไปก็เห็นว่า สันติวิธีเป็นไปได้ โดยจัดให้คนที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน ไม่ถึงระดับสูงสุดแต่เป็นระดับกลาง มาคุยกันว่าสิ่งที่เราต้องการร่วมกันคืออะไร จะมีทางไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ลองตั้งประเด็นว่าอะไรบ้างที่เราสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ อะไรที่ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน ปรากฏว่าหลายข้อเห็นพ้องต้องกันได้ แม้กระทั่งข้อที่บอกว่าน่าจะมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบกรณีการขายหุ้นชินคอร์เปอร์เรชั่น คิดว่าข้อนี้ตกลงกันได้นะครับ แต่ไม่สามารถจะสานต่อได้ เนื่องจากว่าเหตุการณ์พลิกผันเร็วมาก ในที่สุดเหตุการณ์อย่างอื่นก็มามีกระแสเหนือกว่าความพยายามในเรื่องสันติวิธี 

                ที่จริงได้มีฝ่ายอื่นพยายามอยู่เหมือนกันที่จะใช้กระบวนการสันติวิธี สันติวิธี หมายถึงมาพูดคุยกันไม่ใช่มาเถียงกัน ไม่ใช่มาโต้กัน หรือโต้กันคนละเวทีก็ไม่ใช่สันติวิธี แต่ความพยายามที่ว่านั้นก็ยังไม่สำเร็จเช่นกัน

                กลับมาดูว่าในสังคมเรา เรื่องของความขัดแย้งย่อมมีเป็นธรรมดา และขณะนี้เราเห็นความขัดแย้งระดับใหญ่ก็คือ ความขัดแย้งในสังคม อาจจะถือว่าเป็นความขัดแย้งที่แบ่งคนได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย แบ่งเป็นสองข้างเลย และแบ่งย่อยไปถึงว่าในแต่ละจังหวัดก็มีสองข้าง ในแต่ละหน่วยงานก็มีสองข้าง ในกลุ่มก็มีสองข้าง แม้กระทั่งในระดับครอบครัวก็ยังมีสองข้าง 

                ความขัดแย้งสามารถมีอยู่ทั่วไป ในมหาวิทยาลัยอาจมีความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องของท่านเอง ในโรงเรียนก็อาจมีความขัดแย้งระหว่างครูด้วยกัน ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน  ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ในบางประเทศมีความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรง อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีผิวสีที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้สังคมจึงคิดค้นวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง และท่ามกลางโอกาสที่จะมีความขัดแย้งเมื่อใดก็ได้ 

                ความพยายามที่จะใช้กระบวนการสันติวิธีมีมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้มีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หรือระหว่างรัฐที่มีเรื่องขัดข้องกันอยู่

สันติวิธีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น

                กล่าวโดยทั่วไป กระบวนการสันติวิธีนี้ ผมได้เคยแยกไว้ให้ฟังง่ายๆ ที่จริงเรื่องมันซับซ้อน แต่ผมพยายามพูดให้ง่ายๆ สันติวิธีมีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขาก็อ้างว่าเป็นกระบวนการสันติวิธี เป็นวิธีอหิงสา ถ้าไปดูประกาศของเขายังแถมคำว่า อโหสิ อีกด้วย อหิงสามาจากมหาตมะ คานธี หรือ Non-violence วิธีการที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้เป็นสันติชั้นเดียว ก็คือใช้กระบวนการที่ไม่รุนแรง ไม่ใช้อาวุธ ขนาดบอกว่าถ้าถูกตีจะไม่ตีตอบ แต่ที่ว่าชั้นเดียวก็คือ เป็นสันติวิธีเพื่อที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเอานายกออกให้ได้ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมจำนน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งต่างจากที่ทางใต้นะครับ ทางใต้นั้นใช้ความรุนแรง เช่น กรณีตากใบเป็นต้น แต่ครั้งนี้ไม่ใช้ความรุนแรง ตำรวจไม่ถืออาวุธ แต่รัฐบาลก็พยายามจะเอาชนะเหมือนกัน คือพยายามให้พันธมิตรต้องสลายไป ต้องเลิกไป แถมมีการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วย ก็ถือเป็นสันติวิธีเพราะไม่ได้ใช้อาวุธ แต่วิธีอย่างนี้เรียกได้ว่า เป็นสันติวิธีชั้นเดียว 

                สันติวิธีที่ไม่ใช่ชั้นเดียว แต่เป็นสันติวิธีสองชั้น หมายถึง การใช้กระบวนการที่เป็นสันติเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นสันติ นั่นคือมีความตกลงร่วมกัน หรือพอใจร่วมกัน หรือชนะด้วยกันนั่นเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสันติวิธีที่สมบูรณ์แบบ คือเป็นกระบวนการสันติและเกิดสันติตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ 

                ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจะได้มาซึ่งสันติวิธีสองชั้น ในการนี้ควรพิจารณาถึงสถานการณ์สองแบบ แบบที่หนึ่ง ได้แก่ในสถานการณ์เย็น คือไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งรุนแรง ในสถานการณ์แบบนี้การใช้สันติวิธีสองชั้นดูจะไม่ยากนักแม้ไม่ถึงกับง่าย แต่ในสถานการณ์แบบที่สองจะยากกว่า คือในสถานการณ์ร้อน เช่นถึงขั้นต่อสู้กันด้วยอาวุธที่ศรีลังกา ตะวันออกกลาง หรือทางภาคใต้ของเรา

ตัวอย่างสันติวิธีในประเทศไทย

                ตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสันติวิธีที่น่าสนใจ และเป็นสันติวิธีแบบสองชั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาสลัมหรือชุมชนแออัดในเมือง ในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดอยู่ประมาณ 1,000 แห่ง แถวสุขุมวิทนี้ไม่ค่อยมี ที่คลองเตยเยอะหน่อย และทั้งประเทศมีชุมชนแออัดประมาณ 2,000 กว่าแห่ง การแก้ปัญหาชุมชนแออัดเคยทำด้วยวิธีไล่รื้อ เกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง ผมเคยดูวิดีโอเกี่ยวกับการไล่รื้อ เขาบันทึกภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดูแล้วสะเทือนใจมาก เพราะว่าตำรวจเข้าไปรื้อย้ายโดยใช้กำลัง ชาวบ้านก็วิ่งวุ่น กอดข้าวกอดของ ไม่ยอมไป ตำรวจลากไป ลูกหลานเห็นพ่อแม่ถูกลากไปก็วิ่งมากอด เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก เหตุเกิดเพราะเจ้าของที่ดินเขาต้องการที่ดินมาทำประโยชน์ แรกๆ ก็ให้อยู่ ต่อมาที่ดินแพงขึ้นจึงต้องการให้ชาวบ้านออกไป ชาวบ้านไม่ยอมออกเพราะว่าอยู่มานานแล้ว และยังไม่มีที่ไปที่ลงตัว เกิดเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อในหลายกรณี และบางกรณีในอดีตได้กลายเป็นความรุนแรง

                ถามว่าปัญหาชุมชนแออัดเช่นนี้ จะใช้กระบวนการสันติวิธีแบบสองชั้นได้ไหม คำตอบคือ ได้ เมื่อเช้านี้ผมอยู่จังหวัดขอนแก่น ไปทำพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ผมเคยเป็นประธาน เดี๋ยวนี้เป็นประธานที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสนับสนุนโครงการนี้  ด้วยวิธีเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวางแผนด้วยกัน พัฒนาด้วยกัน ทุกฝ่ายมีใครบ้าง สำคัญที่สุดคือชาวบ้านที่อยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด ให้เขาเป็นแกนกลางในการพัฒนา แต่กว่าจะให้เขามาคิดที่จะพัฒนาได้นี้ ต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการทางสังคม 

                กรณีของสลัมที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่และผมได้ไปทำพิธีเปิดเมื่อเช้านี้ เขาใช้เวลาประมาณสองปี เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ที่น่าสนใจคือ มีนักพัฒนาชุมชนเข้าไป มีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมไปช่วยคิดในเรื่องการวางผังวางแปลน มีอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ไปช่วยดำเนินการในทางสังคม มีเจ้าหน้าที่เทศบาล มีเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีผู้นำชุมชน ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาสองปี จนกระทั่งสามารถพัฒนาโครงการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ เจ้าของที่เดิม เจ้าของที่ใหม่ เทศบาลที่ดูแล และชาวบ้านเอง สามารถตกลงกันได้ ไม่ต้องมีการไล่รื้อ ไม่ต้องทำให้ประชาชนต้องย้ายออกไปก่อนเวลาที่เขาพร้อม แต่สามารถที่จะมีโครงการร่วมกัน และเกิดเป็นความพอใจร่วมกันขึ้นมาได้ เมื่อเช้าผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไป นายกเทศมนตรีก็ไป อธิการบดีส่งรองอธิการบดีไป อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นสันติวิธี ทำให้เรื่องซึ่งเป็นปัญหาได้รับการคลี่คลายแก้ปัญหาแล้วมีความเห็นพ้องต้องกันได้โดยสันติ อย่างไรก็ดี กรณีที่กล่าวมานี้เป็นการใช้สันติวิธีในสถานการณ์เย็น ที่ว่าเย็นเพราะว่าแม้เป็นปัญหาแต่ก็ยังไม่มีความขัดแย้งแบบปะทะกันหรือต่อสู้กัน

ตัวอย่างสันติวิธีในต่างประเทศ

                ตัวอย่างที่น่าสนใจในต่างประเทศก็มี เช่นที่ประเทศเเคนนาดา ซึ่งได้เคยมีการพาประธานรัฐสภาไทยกับส..และส..บางท่านไปดูงาน ที่แคนาดา เขามีกระบวนการที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue ซึ่งได้มีผู้ใช้ภาษาไทยว่า สานเสวนาประชาชน หรือสานเสวนาประชาคม ก็คือการพูดคุยกันในหมู่ประชาชน เขาจะเลือกประชาชนที่สนใจและเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 40 - 50 คน ทำหลายพื้นที่ ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ มีตัวอย่างที่ไปดูมาเช่นว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศแคนาดาจะไปทางไหน หรือว่าระบบบริการสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร เขาก็จัดให้คนมาพูดคุยกัน จนกระทั่งได้มีความเห็นร่วม ซึ่งความเห็นร่วมจะต้องมีการสังเคราะห์และก็พูดคุยกันยกระดับขึ้นไป ในที่สุดก็ไปพูดคุยกันในระดับนโยบายแล้วได้ความเห็นร่วมออกมา นี่ก็เป็นสันติวิธีอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue หรือที่แปลเป็นไทยว่า สานเสวนาประชาคม

                ในประเทศสวีเดนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาจะพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพหรือ Health Promotion รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว คณะกรรมาธิการก็ไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงข้าราชการและรัฐบาลท้องถิ่นอันได้แก่ เทศบาลทั้งหลาย ใช้เวลารวมประมาณสามปี ใช้วิธีการหลากหลายและระดมความคิดกันหลายรอบหลายมิติมาก จนกระทั่งได้ความเห็นร่วมออกมา แล้วจึงไปเสนอในรัฐสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ออกมาโดยเรียบร้อย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบการสร้างเสริมสุขภาพของสวีเดน เมื่อปีที่แล้วเขานำเสนอเรื่องนี้ในการประชุมที่จัดโดยองค์การอนามัยโลกในประเทศไทย น่าสนใจมาก

                ประเทศไทยเราเองก็มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนจำนวนมาก มีการพูดคุยกันในระดับชาวบ้าน ระดับคนชั้นกลาง ระดับนักวิชาการ ข้าราชการ นักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง หลายรอบมาก ซึ่งนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันที่จะมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ แล้วดำเนินการจนเรื่องเข้ารัฐสภา ผ่านวาระแรกแล้วเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง บังเอิญเกิดยุบสภาเรื่องจึงจะต้องถอยไปหน่อยหนึ่ง คือกลับไปตั้งคณะกรรมาธิการใหม่

สันติวิธีในสถานการณ์ร้อน

                ตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นการใช้กระบวนการสันติวิธี ซึ่งมีเทคนิค มีวิธีการมากพอสมควร แต่เป็นการใช้ในสถานการณ์เย็น ทีนี้ในเป็นสถานการณ์ร้อนจะเป็นยังไง สถานการณ์ร้อนคือมีความขัดแย้งแล้ว สู้กันแล้ว บางแห่งใช้อาวุธแล้ว กรณีประเทศไทยความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ได้มีการใช้อาวุธ แต่ก็สู้กันด้วยวาจา สู้กันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในจิตใจมีความเป็นปฎิปักษ์ ไม่เป็นมิตร อย่างนี้เรียกว่า สถานการณ์ร้อน 

                แต่แม้ในสถานการณ์ร้อนก็มีกระบวนการสันติวิธีได้ ที่ใช้กันอยู่เราเรียกว่ากระบวนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือ Conflict Resolution through peaceful means หรือ Conflict Management บ้างก็เรียกว่า Conflict Transformation เป็นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง แปรเปลี่ยนให้ไปในรูปที่จัดการได้ แม้ในกรณีที่รบพุ่งกันมาเป็นสิบๆปี เช่นที่ตะวันออกกลาง เขาก็ได้จัดให้มีการเจรจากันเพื่อจะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี คือ แก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้อาวุธ แต่ด้วยการพูดจากัน ที่ศรีลังกาขัดแย้งกันมาคงไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็กำลังมีชาวนอร์เวย์มาเป็นคนกลางช่วยให้มีการเจรจากัน แต่ว่าคุยกันไปทีนึงแล้วก็หยุด คุยกันใหม่แล้วก็หยุด มีการมาคุยกันที่ประเทศไทยครั้งหนึ่งท่านอาจจะจำได้ ได้ความคืบหน้าไปบ้างแล้วก็หยุด 

                คงต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นแบบที่ศรีลังกาหรือที่ตะวันออกกลาง หรือที่บางประเทศในอัฟริกา มันก็ยาก แม้ในประเทศไทยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ยังไม่ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่สามารถจัดกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้ เพราะยังหาคู่ขัดแย้งไม่เจอ ถ้ามีคู่ขัดแย้งชัดก็สามารถชวนมาคุยกันได้ แต่นี่หาไม่เจอว่าคู่ขัดแย้งคือใคร รู้แต่ผลของการกระทำของเขา คือ มีการทำร้าย มีการฆ่า มีการทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเรารู้ว่าใครคือคู่กรณี สามารถจะเชิญชวนมาเจรจากันได้

สันติวิธีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

                ในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนั้น มีวิทยาการอันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ผมเองเคยไปร่วมกระบวนการนี้ในกรณีของการวางท่อก๊าซไทย - พม่า ไม่ใช่ไทย - มาเลเซีย แต่เป็นไทย พม่า ที่กาญจนบุรี โดยเป็นผู้จัดกระบวนการร่วมกับคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ให้บริการทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ให้การเรียนรู้ และให้บริการที่จะไปดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี 

                ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากท่อก๊าซไทย พม่า ถือเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่พอสมควร ตอนนั้นผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาและอยู่ในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม มีการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับการวางท่อก๊าซไทยพม่า คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมเห็นว่าน่าจะลองใช้กระบวนการสันติวิธีและติดต่อสถาบันสันติศึกษาให้ช่วยดำเนินการ เมื่อถามไปยังฝ่ายรัฐ ฝ่ายรัฐเห็นด้วยตอบตกลง ครั้นเมื่อไปติดต่อชาวบ้าน ชาวบ้านบอกขอดูก่อนว่าใครจะมาจัดการ ต้องใช้เวลาคุยกับชาวบ้านสามรอบถึงตอบตกลง จากนั้นจึงจัดกระบวนการเจรจาระหว่างคู่กรณี ซึ่งฟากของฝ่ายรัฐบาลมอบหมายให้ปตท.ดูแล สถาบันสันติศึกษาได้จัดให้ ปตท.และชาวบ้าน เข้ากระบวนการเรียนรู้เรื่องสันติวิธี ใช้เวลาฝ่ายละสองวัน แยกกันยังไม่เจอกัน ต้องเรียนรู้ว่าสันติวิธีเป็นอย่างไร และเขาจะต้องเตรียมตัวอย่างไร 

                พอทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้เริ่มต้นแล้ว จึงให้มาเจอกัน ใช้เวลาอีกสองวันเจรจากันว่า จะเจรจากันอย่างไร หรือเจรจาหาข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีเจรจา คือยังไม่พูดว่าปัญหาเรื่องท่อก๊าซเป็นอย่างไร แต่พูดว่าจะคุยกันแบบไหน จะนั่งกันอย่างไร ใครดำเนินการ จะเปิดให้ใครเข้าร่วมบ้าง ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร และอื่นๆ  ขั้นตอนนี้คล้ายๆ กับที่ ทปอ. หรือที่ประชุมอธิการบดี และ P – NET พยายามจะจัดให้มีการเจรจากันระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ แต่วิธีการที่เขาทำเขายังไม่สามารถคุยเรื่องกระบวนการให้จบ เขาไปคิดอะไรบางอย่างแล้วเสนอออกไป ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเห็นด้วยแค่นี้แต่มีเงื่อนไขอย่างนั้น อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีเงื่อนไขอย่างนี้ ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ในขั้นกระบวนการ จึงไม่สามารถเปิดการเจรจาได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรื่องการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนี้ มีศาสตร์ มีศิลป์ มีกระบวนการ มีวิธีการ ที่ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ให้เพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 51072เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณท่านอาจารย์ไพบูลย์

เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ก่อนครับ นำไปย่อย ยังไม่ได้แสดงข้อคิดเห็นครับ

เป็นบทความที่มีคุณค่ามากครับ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ใหเกำลังใจอาจารย์ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท